หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/ ‘สัตว์ป่ากับวันพรุ่งนี้’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมาจิ้งจอก - นักล่าอีกชนิด ซึ่งทำงานอย่างได้ผล

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

‘สัตว์ป่ากับวันพรุ่งนี้’

 

กลางเดือนตุลาคม พ.ศ.2561

บนเส้นทางจากอำเภออมก๋อย สู่อำเภอแม่ตื่น

ใกล้พลบค่ำ เส้นทางคดเคี้ยว ไต่ขึ้นสูง สายหมอกหนาสลับละอองฝน บรรยากาศไม่ต่างจากครั้งที่ผมใช้เส้นทางนี้เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

สิ่งที่แตกต่างคือ เส้นทางราดยางเรียบ ไม่ใช่เส้นทางลูกรังขรุขระ ฝุ่นหนา ดังเช่นช่วงเวลานั้น

นอกจากเป็นเส้นทางซึ่งผมคุ้นเคย เพราะเป็นเส้นทางใช้เสมอ เมื่อจะไปเฝ้าดูกวางผาบนดอย

ผมนึกถึงเส้นทางนี้บ่อยๆ เพราะที่นี่เป็นที่ซึ่งผมมีโอกาสเห็นหมาจิ้งจอกครั้งแรก

วันนั้น บนทางคดเคี้ยว หมาจิ้งจอกตัวหนึ่งวิ่งเหยาะๆ นำหน้ารถไปกว่า 10 นาที แสงไฟส่องให้เห็นหน้าที่หันมามองเป็นระยะ แววตาแข็งกร้าวอย่างไม่วางใจ

วิ่งเหยาะๆ ไปตามเส้นทางคดเคี้ยว ยาวไกลเพียงลำพัง

เป็น “ภาพจำ” ทุกครั้งที่ผมนึกถึงหมาจิ้งจอก

 

ในป่าด้านตะวันตก ผมพบหมาจิ้งจอกบ่อยๆ ส่วนใหญ่พบเจอพวกมันขณะเดินทางในลักษณะคล้ายๆ กัน วิ่งเหยาะๆ นำหน้ารถไปสักพัก ก่อนหลบเข้าข้างทาง

ครั้งหนึ่งราว 3 ทุ่ม เหลือระยะทางอีกราว 8 กิโลเมตรจะถึงหน่วยพิทักษ์ป่า อันเป็นจุดหมาย เส้นทางค่อนข้างดี เพราะเป็นช่วงปลายฤดูแล้ง ไม่มีร่องลึก ไม่มีต้นไม้ใหญ่ล้มขวาง

ผ่านป่าเต็งรัง ข้ามสะพานที่เป็นขอนไม้วางพอดีล้อรถ โค้งไปทางซ้ายก่อนขึ้นเนิน แสงไฟหน้ารถส่องกระทบร่างปราดเปรียวหลายร่าง

ผมหยุดรถ ห่างออกไปราว 10 เมตร หมาจิ้งจอก 4 ตัวยืนนิ่ง หันหน้ามองแสงไฟ

ดับไฟใหญ่ ปรับสายตา ความสว่างจากดวงจันทร์ ขึ้น 14 ค่ำ ทอแสงนวล ผมมองเห็นหมาจิ้งจอกชัดเจน

บางตัวหันไปมา เดินหน้า ถอยหลัง ตัวหนึ่งเดินตรงเข้ามาอย่างสงสัย เข้ามาถึงข้างรถ เงยหน้าสูดกลิ่นด้วยอาการสงสัย

ตัวอื่นหลบเข้าข้างทาง เหลือแต่เจ้าตัวที่อยู่ข้างรถ มันก้มหน้า เงยหน้า เขม้นมอง ขยับตัวไปมาพักใหญ่ ในที่สุดก็หันหลังเดินหลบหายเข้าป่าข้างทาง คล้ายกับเลิกสนใจสิ่งที่เห็นแล้ว

เปิดไฟ เคลื่อนรถต่อ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบหมาจิ้งจอก แต่เป็นครั้งแรกที่ผมไม่ได้เห็นว่าพวกมันอยู่เพียงลำพัง

 

จิ้งจอกเป็นหมาป่าขนาดเล็ก หนึ่งในสองชนิดของหมาป่าที่มีอาศัยอยู่ในประเทศไทย พวกมันมีคุณสมบัติที่ดีในการปรับตัวอยู่ได้ในหลายสภาพป่า ทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง รวมทั้งป่าเสื่อมโทรม ใกล้พื้นที่เกษตร หมู่บ้านคน ไม่แค่ปรับตัวเก่ง แต่งานของมันกับการจัดการกับเหยื่อก็มีหลากหลาย ทั้งพืชบางชนิด สัตว์เลื้อยคลาน ครึ่งบกครึ่งน้ำ นก รวมทั้งซากสัตว์

บ่อยครั้งที่มันเข้ามาคุกคามสัตว์เลี้ยงอย่างเป็ด ไก่ในหมู่บ้าน

การทำงานลำพังทำให้พวกมันมีเทคนิคที่ดี มีประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นและเสียงที่ดี

สำหรับคน เทคนิคของพวกมันดูคล้ายจะไม่เป็นที่น่าชื่นชมนัก

คำว่า “จิ้งจอก” คือ เครื่องหมายแห่งความเจ้าเล่ห์ร้ายกาจ

ไม่ได้หมายถึง นักล่า ผู้เชี่ยวชาญ แต่อย่างใด

 

เปลวเทียนบนโต๊ะไม้สร้างอย่างหยาบๆ ไหววูบวาบ อุณหภูมิในป่าด้านตะวันตกตอนกลางคืนในช่วงฤดูแล้งลดต่ำ

ผมนึกถึงหมาจิ้งจอกที่พบก่อนถึงที่พัก

พวกมันเป็นจิ้งจอกวัยรุ่น เริ่มเติบโต ยังไม่ไปจากแม่ เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ รับถ่ายทอดประสบการณ์จากพ่อแม่

จากงานวิจัยพบว่า หมาจิ้งจอกตัวผู้ ทำหน้าที่ดูแลสมาชิกในครอบครัว แม่มีเต้านม 5 คู่ จะให้นมลูกอยู่ราวสองเดือน

การล่า รวมทั้งทักษะในการดำรงชีวิตต่างๆ จะได้รับถ่ายทอดก่อนลูกๆ จะเติบโต และแยกย้ายไปดำเนินชีวิตของตน

ดูเหมือนว่าหากเติบโตขึ้นโดยปราศจากการเรียนรู้ในวัยเด็ก

วันเวลาที่ผ่านมาคล้ายจะไม่มีความหมายสักเท่าใด

 

ใต้แสงจันทร์นวล ขึ้น 14 ค่ำ ผมเห็นแววตาหมาจิ้งจอกที่ยืนข้างๆ รถ แม้มีท่าทีตื่นกลัวอยู่บ้าง แต่มันก็เป็นแววตาของชีวิตอันเข้มแข็งตัวหนึ่ง

“สัตว์ที่อยู่ตัวเดียวน่ะ ใจมันต้องกล้า ประสาทต้องดี”

คนในป่าพูดถึงสัตว์ป่าที่อยู่ลำพังเช่นนี้

ผมไม่ได้เห็น “หมาจิ้งจอก” ที่เจ้าเล่ห์ร้ายกาจ

ผม “เห็น” เพียงนักล่าตัวหนึ่ง ที่พร้อมจะทำงานของพวกมัน

ในคืนนั้น ผมเข้าใจความหมายบางอย่าง

เมื่อมองสัตว์ป่าด้วยสายตาอันเป็นมิตร เราจะได้รับความเป็นมิตรตอบแทน

และนี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ซึ่งจะทำให้วันพรุ่งนี้ของพวกมันแตกต่างจากเมื่อวาน

 

ซากอันน่าเวทนาของเลียงผาตัวหนึ่งถูกฆ่าในป่าอนุรักษ์ กลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561 ได้รับการเผยแพร่

แม้โลกเดินทางมาถึงวันที่คนจำนวนมากมองสัตว์ป่าด้วยสายตาที่เข้าใจและเป็นมิตร

ทำให้เข้าใจได้ว่า “สัตว์ป่ากับวันพรุ่งนี้”

ชะตากรรมของพวกมันยังไม่เปลี่ยนแปลง

 

บนเส้นทางคดเคี้ยว สายหมอกหนาทึบยิ่งขึ้น

ผมเคลื่อนรถไปได้ช้า เส้นทางราบเรียบ ไม่ได้เป็นทางขรุขระเหมือนครั้งที่มาแรกๆ

สภาพที่เคยพบ ยังเป็นเช่นเดิม