วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /สู่ร่มกาสาวพัสตร์ สีเขียว สีเหลือง สีเขียว

วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์      

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

สีเขียว สีเหลือง สีเขียว

 

วันพระปานออกเดินทางจากวัดในกรุงเทพฯ ไปวัดที่โคราช ระหว่างทางน้องชายขับรถไปส่ง พร้อมโยมแม่และพี่สาว หลังเสียงพูดคุยเมื่อสักครู่สงบลง ทั้งโยมแม่ส้มจีนกับพี่สาวเข้าสู่ภวังค์หลับคอพับพิงเบาะนั่งไปแล้ว

พระปานมองออกไปสองข้างทางกลับหวนคิดถึงเมื่อครั้งเดินทางไปโรงเรียนด่านอุดมระหว่างคบหากับจงจิต ความคิดย้อนมาว่าทำไมต้องเลือกวัดที่เขาใหญ่ ทั้งไม่ได้ตั้งใจต้องมาโคราชอีกนับแต่ห่างเหินจากจงจิต ทั้งที่รู้ว่าเธอต้องลาออกจากครูเพื่อกลับบ้านกรุงเทพฯ …ใช่ เตรียมตัวแต่งงานมีครอบครัว

ก่อนออกจากกรุงเทพฯ เมื่อเย็นวันก่อน รุ้งน้องสาวมาพบที่กุฏิ พร้อมส่งซองสีชมพูให้

“คงจะเป็นการ์ดแต่งงานเพื่อนหลวงพี่ เพิ่งไปถึงบ้านเมื่อบ่ายนี้เอง เห็นจ่าหน้าซองถึงหลวงพี่ ส่งไปที่บ้าน ยังไม่มีใครเปิดอ่าน… เห็นว่าหลวงพี่จะไปจำพรรษาวัดที่โคราช รุ้งเลยรีบนำมาให้ก่อน” รุ้งรายงาน

พระปานได้แต่หยิบขึ้นมาอ่านจ่าหน้าซอง แล้วยิ้มในที ก่อนบอกขอบใจน้องสาว

“มีอะไรอีกไหม” พระปานถาม เมื่อรุ้งสั่นหน้าตอบ จึงพยักหน้าบอกให้หยิบสตางค์ในกระป๋องที่วางใกล้ประตู “เอาไปเป็นค่ารถ” รุ้งยิ้มกว้าง รีบเขยิบตัวผ่านธรณีประตูเข้าไปในกุฏิ หยิบเงินจากในกระป๋องตรงนั้นออกมาเป็นแบงก์ร้อยใบหนึ่ง ชูให้พระปานเห็น “เอาไปอีกร้อยนึงสิ หลวงพี่ให้”

คราวนี้น้องสาวถึงกับหัวเราะชอบใจพร้อมยื่นมือหยิบใบละร้อยบาทออกมาอีกใบหนึ่ง แล้วก้มลงกราบ บอกลาหลวงพี่ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

 

รุ้งกลับออกจากกุฏิไปแล้ว พระปานยังไม่ได้เปิดซองหยิบการ์ดออกมา เคาะซองกับมืออีกข้าง คล้ายกับคิดอะไรในใจ ก่อนตัดสินใจหยิบกรรไกรจากที่วางของใช้สารพัดตัดข้างซอง หยิบการ์ดแข็งออกมาอ่านข้อความ ซึ่งรู้ก่อนหน้านั้นแล้วว่าน่าจะเป็นข้อความงานมงคลสมรส

ใช่ – งานมงคลสมรสของจงจิตกับอุทัย ในอีกสองเดือนข้างหน้า ระหว่างพระปานจำพรรษาวัดที่เขาใหญ่ นครราชสีมา

พระปานจำวันหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่เขาเดินทางขึ้นโคราชไปพบกับจงจิต ก่อนจะถึงวันนั้น วันที่เขาตัดสินใจบวช จำได้ว่า ก่อนรถ บ.ข.ส. จะผ่านเข้าสระบุรี มีด่านทหารเรียกให้รถทุกคันหยุดตรวจ เจ้าหน้าที่ทหารตรงด่านตรวจยังเรียกให้ผู้โดยสารไปแสดงบัตรประชาชนแล้วลงชื่อว่าจะไปไหน

หลังจากลงชื่อเรียบร้อย ปานเดินเตร่ไปคุยกับนายทหารยศร้อยโทที่ยืนคุมตรงนั้น ทั้งยังเปรยถึงการทำงานของทหารว่า “เหนื่อยหน่อยนะครับ” นายทหารคนนั้นยิ้ม ตอบว่า “ครับ ทำตามหน้าที่ ระยะนี้เบาลงไปเยอะ ไม่เหมือนระยะแรกๆ” นายร้อยโทคนนั้นยังขอโทษที่ทำให้ล่าช้าไปบ้าง

วันนั้นปานหวนระลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาเมื่อครั้งเป็นวัยรุ่นยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 17 ประหารชีวิตผู้ต้องหาปล้นรายหนึ่งที่อยุธยา ต้องหาวางเพลิงสองรายในกรุงเทพฯ แต่ยังใช้ผู้ที่ไปศึกษาจากเมืองนอกให้เข้ามาร่วมนำพัฒนาประเทศ ทั้งเป็นผู้ยกเลิกสูบฝิ่น ให้ปิดโรงยาฝิ่นและเผาบ้องสูบฝิ่นกลางสนามหลวง

กระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม เดือนธันวาคม 2506

จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สืบต่ออำนาจ มีจอมพลประภาส จารุเสถียร และลูกชายจอมพลถนอม พันเอกณรงค์ กิตติขจร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมือง บ้านเมืองช่วงนั้นเริ่มมีการเรียกร้องให้รัฐบาลออกรัฐธรรมนูญเพื่อการเลือกตั้ง

หลังการเลือกตั้งปี 2512 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ต้องสังกัดพรรค ก่อเหตุวุ่นวายในสภา จอมพลถนอมจึงปฏิวัติยึดอำนาจตัวเอง ยุบสภา แล้วตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังจากนั้นจึงเกิดเหตุการณ์เดินขบวนของนิสิต-นักศึกษาขึ้นอีกหลายครั้ง ทั้งมีการเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญกลับมาใช้ใหม่ กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 จอมพลถนอม กิตติขจร กับคณะต้องเดินทางออกนอกประเทศ

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น การนำเสนอข่าวหนังสือพิมพ์ การแสดงออกทางความคิดเห็น และการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มรูปแบบจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งเมื่อกลุ่มนิสิต-นักศึกษาถูกจับกุมก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 กลุ่มทหารซึ่งนำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ยิ่งรุนแรงขึ้น มีการปะทะกันระหว่างนิสิต-นักศึกษากับนักศึกษาอาชีวะที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มนวพล

ที่สุด พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ กับพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงปฏิวัติยึดอำนาจ สั่งปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2519 จึงไม่มีหนังสือพิมพ์ออกจำหน่าย ยกเว้นหนังสือพิมพ์กรอบบ่ายบางฉบับที่ออกมาก่อนเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2519

ปานกับเพื่อน และประชาชนที่ซื้อหนังสือพิมพ์กรอบบ่ายวันนั้นจึงรู้ทั้งข่าวและภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบริเวณสนามหลวงที่นิสิต-นักศึกษาประชาชนถูกรุมทำร้าย ฆ่าด้วยการทารุณอย่างรุนแรง กระทั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปช่วงสายถึงบ่ายวันนั้น

เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ปานขอลาบวชหลังจากนั้น แม้หน้าที่การงานของเขามิได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นเท่าใด เพียงแต่ถูกคณะปฏิวัติเพ่งเล็งเจ้าของกิจการ เรียกไปพบในระยะแรกเท่านั้น

 

รถตู้ที่น้องชายขับผ่านมาถึงทางเข้าเขาใหญ่ ทุกคนในรถขยับตัวตื่นขึ้น เสียงถามไถ่ว่าถึงไหนแล้ว แม่ส้มจีนให้น้องชายแวะปั๊มน้ำมันข้างหน้าจะได้ลงไปเข้าห้องน้ำ เช่นเดียวกับพี่สาวและน้องชาย ส่วนพระปานเพียงแต่ลงไปยืดเส้นยืดสายคลายความเมื่อยขบที่นั่งรถมานานกว่า 2 ชั่วโมงแล้ว

กลับขึ้นรถอีกครั้ง น้องชายบอกว่าอีกครึ่งชั่วโมงจะถึงวัด พระปานกลับคิดไปถึงการต้องอยู่จำพรรษาที่วัดนี้อย่างน้อย 3 เดือน ขณะหลังจากนั้นยังไม่รู้ว่าจะอย่างไรอีกต่อไป กลับไปอยู่ต่อที่วัดในกรุงเทพฯ ก่อนลาสิกขา หรือออกธุดงค์กับพระในวัดนี้บางรูป ตามที่เคยคิดไว้ระหว่างเรียนสมาธิที่วัดเขาสุกิมเมื่อเดือนก่อน

แวบหนึ่งของความคิดนั้น เมื่อมองออกไปนอกรถ ผ่านป่าไม้ใบหญ้าระหว่างรถวิ่งไปข้างหน้า กลับไปคิดถึงจดหมายของจงจิตซึ่งรุ้งนำมาให้พระปานที่กุฏิเมื่อวันบวชหลังครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว

ย่อหน้าสุดท้ายของจดหมาย จงจิตบอกมาว่า

“เมื่อฉันประสบปัญหา ฉันเข้าหาภูเขา หาสีเขียว ส่วนคุณมีสติสามารถประคองใจได้ กลับเข้าหาสีเหลือง…” พร้อมบอกด้วยว่าคงไม่มางานบวชของปาน “…เหตุผลธรรมดาคือ ฉันไม่ไว้ใจตัวเอง และคงไม่กล้ามองคุณ กลัวคุณจะไม่สบายใจระหว่างพิธีบวช…”

เท่านั้น เท่านั้นเอง ขณะที่พระปานกลับไปคิดถึงความจำของจงจิตในจดหมายฉบับสุดท้ายของเขา…