อ่านเทคนิคการทำธุรกิจ กับการแจกของ “ฟรี” ที่ไม่ธรรมดา แต่ว่าเป็น “ฟรีเมียม”

ธุรกิจพอดีคำ : “ฟรี”

มีการทดลองที่โด่งดังที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

เขาให้นักศึกษาเลือกระหว่างของสองอย่าง

หนึ่ง ช็อกโกแลตระดับพรีเมียม ราคา 15 สตางค์

และช็อกโกแลตเกรดต่ำ ราคา 1 สตางค์

ให้เลือกว่า จะเลือกอันไหน แล้วก็ต้องจ่ายราคานั้น

ผลลัพธ์คือ นักศึกษากว่า 75% เลือกที่จะจ่ายแพงกว่า

คือ 15 สตางค์ เพื่อที่จะได้ช็อกโกแลตที่คุณภาพดีกว่า

ทีนี้เขาก็ลองทดลองอีกหนึ่งอย่าง

ลดราคาลงอย่างละ 1 สตางค์

ช็อกโกแลตพรีเมียม จากราคา 15 สตางค์ เหลือ 14 สตางค์

ช็อกโกแลตเกรดต่ำ จากราคา 1 สตางค์ กลายเป็น “ฟรี” เลย

แล้วเขาก็นำมาให้นักเรียนเลือกว่าอยากได้ช็อกโกแลตแบบไหน

ให้ทายครับ เดี๋ยวมาเฉลย

ช่วงนี้ต้องยอมรับครับว่ามีเวลาอ่านหนังสือน้อยลงมาก

เวลางานที่รัดตัวมาก บวกกับเดินทางไปต่างประเทศบ้าง

ทำให้มีเวลาที่บ้านแค่ไหน ก็จะใช้เวลาเล่นกับลูกครับ

พอลูกเข้านอนได้ อยากจะมานั่งอ่านหนังสือ

ก็จะง่วงๆ อ่านไม่ค่อยจะรู้เรื่อง

ทำให้ “หนังสือ” ที่ซื้อไว้กองเป็นพะเนินเลย

มองไปทีไร ก็จะ “หงุดหงิด” เล็กน้อยที่บริหารเวลาได้ไม่ดีนัก

ปฏิญาณตัวเองไว้ว่า จะไม่ซื้อหนังสืออีก

ถ้าหากว่า “กองหนังสือ” ตั้งนี้ยังอ่านไม่จบ

จนแล้วจนรอด

วันก่อนได้มีโอกาสแวะไปที่ร้านคิโนะคุนิยะ ตรงอิเซตัน

หันไปเห็นหนังสือหน้าปกสีแดงๆ

เขียนว่า “Blitzscaling” อ่านว่า บลิตซ์-สเกลลิ่ง

คำแปล ไม่มีในพจนานุกรม

คำขยายความว่าด้วยการสร้างองค์กรให้มี “นวัตกรรม” เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

บอกตามตรงครับว่าหนังสือแนวนี้มีออกมาให้เห็นกันมากมาย

ตอนแรกก็ว่าจะไม่สนใจ

แต่พอเหลือบไปเห็น “คำนิยม” ที่คนเขียนมีนามว่า “บิล เกตส์”

พอพลิกดูด้านหลัง ทีนี้มากันเต็ม

ไม่ว่าจะเป็น เอริก ชมิตส์ ประธานกรรมการบริษัท “กูเกิล (Google)”

เชอริล แซนด์เบิร์ก COO ของบริษัท “เฟซบุ๊ก (Facebook)”

หรือแม้แต่ ไบรอัน เชสกี้ CEO ของบริษัท “แอร์บีแอนด์บี (AirBnb)

สงสัยว่า คนเขียนคนนี้เป็นใคร เหตุใดจึงมีคนดังเหล่านี้มาเขียนคำนิยมหนังสือให้

พบว่าคนเขียนคือ “รีด ฮอฟฟ์แมน (Ried Hoffman)”

ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทจัดหาคนชื่อดัง นามว่า “ลิงก์อิน (LinkedIn)”

ขายชื่อคนดังขนาดนี้จึงได้ผิดสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง

ซื้อมาเพิ่มอีกหนึ่งเล่ม และ “แซงคิว” เล่มอื่นๆ

อ่านจบอย่างรวดเร็ว อยากเล่าๆ

มีเรื่องราวที่น่าสนใจเพียบ

ใครๆ ก็มักจะชอบของฟรี ถูกมั้ยครับ

ถ้าเราสามารถที่จะให้ “ของฟรี” แก่ลูกค้าได้

แสดงว่า “โมเดลทางธุรกิจ” ของคุณเริ่มส่อแววจะสำเร็จละ

กูเกิลไม่เคยเก็บตังค์คนที่มา “ค้นหา” หรือ “เปิดแผนที่”

เฟซบุ๊กไม่เก็บตังค์คนที่เข้ามาโพสต์รูป คอมเมนต์ กดไลก์ กดแชร์

สิ่งเหล่านี้ทำให้มี “ผู้ใช้งาน” เข้ามาอย่างล้นหลาม

เมื่อ “ของฟรี” ล่อใจผู้ใช้งานกลุ่มหนึ่ง

ก็จะสามารถ “หาเงิน” จากผู้ใช้งานอีกกลุ่มหนึ่งได้

จากการ “โฆษณา” ขายของ

ให้ฟรีคนกลุ่มหนึ่ง จนเขาเข้ามาใช้เยอะๆ

แล้วสร้างเป็นพื้นที่โฆษณา

นี่คือโมเดลทางธุรกิจแบบแรกที่ยั่งยืน

“ของฟรี” แจกให้ลองใช้ก่อน ก็เป็นอีกแนวทางการทำธุรกิจที่น่าสนใจ

บริษัทแชร์ไฟล์ “ดรอปบ็อกส์ (Dropbox)”

ให้คนใช้งานฟรี เก็บไฟล์ได้ “2 กิกะไบต์”

เมื่อคนเข้ามาทดลองใช้งาน

เก็บไฟล์ต่างๆ ของตัวเองไว้ใน dropbox

คุ้นชินกับการกดปุ่มนั่นนี่

รู้ตัวอีกที เอกสารที่ใส่เข้าไปก็เต็ม

ทีนี้ก็ได้เวลา “นำเสนอ” ผลิตภัณฑ์อีกตัวหนึ่ง ซึ่งจะต้องจ่ายตังค์

ไม่ว่าจะเป็น “ความจุ” ที่เพิ่มขึ้น หรืออะไรก็ตาม

โมเดลทางธุรกิจที่ใช้ “ของฟรี” ทำตลาด สร้างสาวกก่อนแบบนี้

มีชื่อว่า “ฟรีเมียม”

คล้ายๆ คำว่า “ฟรี” รวมกับคำว่า “พรีเมียม” ที่แปลว่า ดีเลิศ

ฟรีเมียมคือ ให้ใช้ฟรีในของเวอร์ชั่นที่ยังมีอะไรไม่มาก

ถ้าชอบแล้วก็จ่ายตังค์เพื่อรับสิทธิ์ด้านอื่นๆ ต่อไป

โมเดลธุรกิจแบบ “ฟรีเมียม” ก็สามารถนำไปปรับได้กับหลายๆ ธุรกิจ

ใครอยากให้เกิดกระแสออกไปไกล

อย่าเริ่มจากการคิดเงินเล็กๆ น้อยๆ

เฉลยคำตอบ

เด็กนักศึกษามากกว่าสองในสาม

เลือกช็อกโกแลตที่คุณภาพไม่ดี แต่ “ฟรี”

มากกว่าช็อกโกแลตที่คุณภาพพรีเมียม แต่ไม่ฟรี

มนุษย์เรานั้นชอบ “ของฟรี”

เงิน 14 สตางค์ อาจจะมีค่าต่างจากเงิน 15 สตางค์

ไม่แตกต่างจากการให้ฟรี กับการคิดเงิน 1 สตางค์

ผลลัพธ์และจุดเรียนรู้คือ “ของฟรี” ใครๆ ก็ชอบ

แต่คนเก่งจะสามารถทำเงินจาก “ของฟรี” นั้นได้

ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

คุณล่ะ เป็นหนึ่งในนั้นหรือเปล่า