สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ปฏิรูปการศึกษา ดาว์พงษ์ โมเดล รัฐมนตรีเปลี่ยน ยุทธศาสตร์เปลี่ยน (8)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ตอนที่แล้ว ผมตั้งประเด็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อปฏิรูปการศึกษา ดาว์พงษ์ โมเดล ว่า ระหว่างทำหลายๆ เรื่องในเวลาเดียวกันโดยไม่จัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง กับทำทีละเรื่องซึ่งเป็นคานงัดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชัดเจน แล้วค่อยทุ่มเทในเรื่องอื่นๆ ต่อไป

ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ทำแต่เรื่องหลักที่เป็นคานงัดอย่างเดียวโดยไม่ทำเรื่องระดับรองอื่นๆ เลยทั้งสิ้น แต่หมายความว่าให้ทุ่มเทพลัง ทรัพยากรส่วนใหญ่ไปกับเรื่องหลักให้มากที่สุดกว่าเรื่องอื่นๆ ก่อน

โดยเปรียบเทียบระหว่างการเดินหน้าผลักดันการปรับโครงสร้างการบริหารการศึกษาในภูมิภาค กับการปฏิรูปครูทั้งระบบ ยุทธศาสตร์ใดควรให้น้ำหนักมากกว่า เกิดผลต่อคุณภาพการศึกษา ผลสัมฤทธิ์และคุณสมบัติที่พึ่งประสงค์ของนักเรียน ครู และผู้บริหารมากกว่า เร็วกว่า

พิจารณาจากความเคลื่อนไหวทางการบริหาร คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา สมัย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสนอร่างยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู 2560-2574 ทั้งระบบ ทั้งผลิต พัฒนาและใช้ครู (บริหารบุคคล)

ต่อมา วันที่ 19 สิงหาคม 2558 มีคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งพัฒนาระบบการสรรหาและการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน

เตรียมการจะรายงานแนวทางการดำเนินงานให้นายกรัฐมนตรีทราบวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ว่าได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ คือ อนุกรรมการด้านการผลิต อนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคล และ อนุกรรมการด้านการพัฒนาครู

ปรากฏว่าก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว วันที่ 20 สิงหาคม 2558 มีการปรับคณะรัฐมนตรี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

ปฏิบัติงานมาได้ระยะหนึ่งถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนาการศึกษา (ซูเปอร์บอร์ด) นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชนว่าจะมีการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาฯ ขนานใหญ่ กลับไปสู่โครงสร้างเดิม 14 องค์ชายในอดีต (ดาว์พงษ์ โมเดล ตอนที่ 6)

วันเดียวกันนั้น พล.อ.ดาว์พงษ์ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจและโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ มีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานทำงาน

จนกระทั่งวันที่ 21 มีนาคม 2559 หวยออก มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 10/2559 และ 11/2559 โดยอำนาจตามมาตรา 44 การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค สาระหลักให้ยุบกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ยุบ อคคศ.เขตพื้นที่ ฟื้นคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)

เหตุผลสำคัญเพื่อแก้ปัญหาขาดธรรมาภิบาลในวงการครู การทุจริตการสอบบรรจุ การแต่งตั้ง โยกย้าย และเกิดการบูรณาการ การจัดการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภทในจังหวัด

เทียบเคียงการให้น้ำหนักผลักดัน ระหว่างสองเรื่อง โครงสร้างการบริหารภูมิภาคกับปฏิรูปครูทั้งระบบ จะพบว่า ข้อเสนอเดิมยุทธศาสตร์ว่าด้วยการปฏิรูปครูทั้งระบบ แผ่วเบาลงไป แม้ว่าประธานจะเป็นคนเดียวกัน คือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็ตาม

 

ต่อมายุทธศาสตร์ว่าด้วยการปฏิรูปครูทั้งระบบถูกนำไปบรรจุไว้ในแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ พ.ศ.2560-2574 ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้

การปฏิรูปครูทั้งระบบจึงต้องรอต่อไปจนกว่าแผนการศึกษาชาติฉบับใหม่จะผ่านการรับรอง ประกาศใช้ และเริ่มนำไปสู่ขับเคลื่อนปฏิบัติ แม้ว่าที่ผ่านมาภายใต้ดาว์พงษ์ โมเดล ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนาครู จะนำบางเรื่องไปดำเนินการบ้างแล้ว เช่น โครงการผลิตครูเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น การใช้เทคโนโลยีออนไลน์เพื่อพัฒนาครู (Tepe Online) การพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษ และการปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครู ก็ตาม

แต่กลไก กระบวนการ ที่ทำให้เกิดการบูรณาการระหว่างสถาบันการผลิต มหาวิทยาลัยต่างๆ ในการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อไม่ให้ครูล้นตลาดและมีคุณภาพ ยังไม่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นหรือไม่ เมื่อไหร่ หรือควรเกิดขึ้นหรือไม่

ปล่อยให้ต่างคนต่างผลิตกันไปตามกลไกตลาดการศึกษาเสรี การศึกษาเพื่อการค้า อย่างที่ผ่านมา ดีกว่าหรือไม่

 

ครับ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษายุคดาว์พงษ์ มีเสียงสะท้อนจากนักการศึกษาขาประจำอย่างไร ผมติดค้างไว้ เลยขออนุญาตมาบอกต่อสัปดาห์นี้

นายอดิศร เนวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา “รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งมั่น ตั้งใจและเข้าใจวัฒนธรรมและธรรมชาติของการศึกษาสูงมาก แต่ผลงานยังไม่เกิด ส่วนตัวให้ 6 คะแนน รัฐบาลทำหลายเรื่อง สะเปะสะปะเกินไป รูปธรรมที่ชัดเจนจึงยังไม่เกิด”

“อย่างเรื่องลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ซึ่งรัฐบาลชี้แจงว่าประสบความสำเร็จ ถ้าไปถามครูในพื้นที่ จะตอบตรงกันว่าเป็นการเพิ่มเวลาเรียน ไม่ใช่ลดเวลาเรียน สาเหตุที่ไม่สำเร็จทั้งๆ ที่หลักการดีมากก็เพราะยังไม่มีการปรับหลักสูตร ส่วนเรื่องเกลี่ยครูเป็นเรื่องที่ยังทำไม่ได้ บทบาทของคณะกรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทำหน้าที่อยู่เรื่องเดียวคือการบริหารงานบุคคล แต่งานบูรณาการยังไม่เกิด”

คนต่อมา ศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ผลงานด้านการศึกษาของรัฐบาลในรอบ 2 ปี 12 กันยายน 2557-12 กันยายน 2559 ให้คะแนน 6.5 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รัฐบาลทำเรื่องการศึกษารอบด้านและทุกเรื่อง แต่เนื้องานไม่เห็นผลชัดเจน จากการพูดคุยกับคนวงการศึกษา ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการศึกษาดีขึ้น แต่เปลี่ยนแปลงไม่มาก ที่อ้างได้ว่าเป็นผลงานรัฐบาลชุดนี้คือการใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แก้ปัญหาการทุจริตซึ่งโดดเด่น แต่นโยบายอื่นๆ เป็นงานปกติของระบบราชการ”

ท่านสุดท้าย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา “สิ่งที่ทำให้ปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ไม่ใช่เรื่องงบประมาณ เพราะภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาจำนวนมาก แต่เท่าที่ศึกษาเบื้องต้นเกิดจากการบริหารจัดการหลักสูตรและคุณภาพของครู โดยเฉพาะคุณภาพของครูที่เป็นปัจจัยสำคัญ”

“ตราบใดที่ไม่แก้ปัญหาเรื่องนี้แล้วไปแก้โดยวิธีอื่น เช่น พยายามเพิ่มลดโรงเรียนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการศึกษาได้ ตอนนี้แม้จะมีการพัฒนาครูแต่ยังเป็นการแก้ปัญหาไม่ครบถ้วนเพราะระบบราชการ ชอบวัดผลจากตัวชี้วัดการทำงาน เช่น การอบรม ไม่ได้วัดจากคุณภาพของเด็ก”

รายละเอียด ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูที่ปรากฏในแผนการศึกษาชาติฉบับใหม่ หน้าตาเป็นอย่างไร ไว้ว่าต่อตอนหน้า