มนัส สัตยารักษ์ l คิดนอกกรอบ ไม่ต้องหาเสียงเลือกตั้ง

หลัง คสช.ทำรัฐประหารไม่นานก็เริ่มมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามฟอร์มของการยึดอำนาจ เพื่อให้รู้สึกว่ามีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ทั้งนี้ เพื่อยืนยันต่อชาวไทยและชาวโลกว่า ไทยจะเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

ตามมาด้วยการวางโรดแม็ปของการจะเลือกตั้งผู้แทนราษฎร เพื่อเอาไว้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวและผู้นำการเมืองต่างประเทศ ออกแบบระบบเลือกตั้ง ทำไพรมารีโหวต primary vote ให้พรรคเลือกผู้แทนฯ เบื้องต้นก่อน

ครั้งแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่าจะจัดเลือกตั้งช่วงต้นปี 2559 แต่บอกกับคนอื่นไม่ตรงกับที่บอกนายกฯ ญี่ปุ่น

หารือกับเลขาธิการยูเอ็นว่าจะเลือกตั้งได้ภายในกลางปี 2560 แล้วประกาศบนเวทียูเอ็นว่าจะเลือกตั้งปลายปี 2560 ต่อมามีการประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

ในที่สุดก็ประกาศกำหนดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

นายกรัฐมนตรีเลื่อนกำหนดเลือกตั้งอย่างน้อย 3 หรือ 4 หน (หากผิดพลาดขออภัยในความสับสน) แต่นายกรัฐมนตรีออกอาการเหมือนไม่แน่ใจ หรือหงุดหงิดอารมณ์เสียเมื่อถูกคาดคั้นเกินกว่า 4 ครั้ง ทำให้ผู้เฝ้าสังเกตการณ์สับสนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปลดล็อกเปิดให้มีการตั้งพรรคการเมือง หลังจากร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกเรียบร้อยแล้ว กำหนดวิธีการ รวมถึงวางรายละเอียดต่างๆ ของการจะเลือกตั้ง พยายามหาหนทางให้มี primary vote ตามที่ออกแบบไว้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ทันกาลและสมบูรณ์พอหรือไม่

ที่ผิดธรรมชาติอย่างยิ่งก็คือ ยังไม่ยอมให้มีการหาเสียงและแถลงนโยบาย

ในช่วงเวลาที่ คสช.กำลังออกแบบกฎหมายเลือกตั้งนั้น เพื่อนคนหนึ่งมีข้อเสนอผ่านผมทางโทรศัพท์ว่า

“น่าจะถึงยุคที่นักการเมืองไม่ต้องหาเสียงแล้วนะ!”

คนที่อยากเป็นนักการเมืองแต่พูดหาเสียงไม่เป็นหรือไม่ชอบพูดหาเสียงเริ่มสนใจข้อเสนอนี้มาก ผมฟังอย่างตั้งใจ…หลักการอย่างสรุปก็คือ

“พรรคจะเป็นผู้เลือกคนและส่งสมัคร และรัฐ (โดย กกต.) จะเสมือนเป็นผู้หาเสียงให้แก่ทุกพรรคและทุกคนโดยเท่าเทียมกัน”

เป็นการสร้างความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง

โดยนัยนี้ พรรคจะสรรหาบุคคลที่มีภาพลักษณ์ดีมาเป็นผู้สมัคร ทำนองเดียวกับทำไพรมารีโหวต คนที่ประสงค์จะเป็นผู้สมัครจึงต้องมีโปรไฟล์ดีๆ มาให้พรรคพิจารณา เช่น มีวุฒิการศึกษา มีความประพฤติและประวัติส่วนตัวดี มีการงานหรือผลงานเป็นรูปธรรม ช่วยเหลือสังคม ฯลฯ ควรจะเป็นคนในพื้นที่ที่ประชาชนรู้จักลึกไปถึงครอบครัว หากเป็นครอบครัวดีมีคุณธรรม ความดีย่อมเป็นมรดกตกทอดมาถึงตัวผู้สมัครด้วย

ส่วนคุณสมบัติประเภท “ใจถึงพึ่งได้” หรือ “มีบารมี ตำรวจ อำเภอเกรงใจ” ทำนองนี้ พรรคอาจจะชอบ แต่ กกต.จะเห็นเป็น “โทษสมบัติ” ไปก็ได้

เมื่อพรรคโหวตเบื้องต้นแล้ว พรรคจะพิจารณาส่งแบบแบ่งเขตหรือบัญชีรายชื่อ แต่ละชื่อจะมีโปรไฟล์ประกอบโดยไม่สามารถหลอกลวงหรือใช้ความเท็จได้

เมื่อ กกต.ได้ข้อมูลจากพรรคการเมืองแล้ว จากนี้ก็เป็นภาระหน้าที่ของ กกต.ที่จะทำใบปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ คัตเอาต์ ฯลฯ ด้วยรูปแบบ ขนาดของภาพบุคคล ลักษณะและขนาดของตัวอักษร ฯลฯ รวมไปถึงคุณภาพของวัสดุและจำนวนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ไม่เลือกว่าเป็นพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก พรรคเชียร์รัฐบาลหรือต่อต้านรัฐบาล กกต.อาจจะดัดแปลงสีสันให้แตกต่างกัน หรือให้เป็นไปตามที่เจ้าของพรรคต้องการก็ได้

ค่าใช้จ่ายในการผลิตกิจกรรม “หาเสียงเลือกตั้ง” จำนวนมากหรือน้อย กกต.ได้มาจากพรรคที่ส่งรายชื่อผู้สมัครกับจำนวนเขตที่ส่ง โดยรัฐไม่จำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณแก่พรรคการเมืองตามที่เคยทำ

ส่วนการปิดประกาศและแจกจ่าย เพื่อความเป็นธรรม กกต.อาจจะกำหนดระเบียบและวิธีปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย

เมื่อ กกต.เป็นผู้ “หาเสียง” อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว แต่ละพรรค แต่ละผู้สมัครก็ไม่จำเป็นต้องสาดโคลนคู่แข่ง ไม่จำเป็นต้องโกหก ไม่ต้องสร้างวิมานในอากาศหรือให้สัญญาหลอกลวงชาวบ้าน ให้เป็นการผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม

สังคมจะไม่วุ่นวาย อึกทึกครึกโครมไปกับรถหาเสียง จะไม่มีวิวาทะกันกลางถนนหรือในที่สาธารณะ ความขัดแย้งอาจจะชุกชุมเหมือนเดิม แต่ทุกเรื่องจะนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล

ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงซื้อเสียง และไม่จำเป็นต้อง “เก็บ” คู่ต่อสู้อย่างยุคก่อน

แม้ว่าความคิดเรื่อง “ไม่ต้องหาเสียงเลือกตั้ง” จะเป็นความคิดนอกกรอบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อแต่อย่างใด มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะเป็นประเทศแรกที่การเลือกตั้งเรียบร้อยโดยไม่ต้องหาเสียง ถ้า คสช.ยังคงยึดมั่นในคำพูดที่กล่าวไว้หลังรัฐประหารยึดอำนาจใหม่ๆ เราก็พร้อมจะเสนอความคิดนอกกรอบนี้ไปยังผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเลือกตั้ง

แต่การณ์กลับเป็นว่า คสช.ออกแบบรัฐธรรมนูญถึงองค์ประกอบและที่มาของ “สมาชิกวุฒิสภา” 250 คน โดยขัดกับหลักการประชาธิปไตย นอกจากนั้น ยังออกกฎหมายลูก ออกกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ นานาของการจะเลือกตั้งอย่างกับ “หมากกล” ในนิยายโบราณ เพื่อ “ยึดมั่นในชัยชนะของการยืดอายุนายกรัฐมนตรี”

หนึ่งในหมากกลที่ผ่านมาก็คือ “ห้ามหาเสียงเลือกตั้ง”

ไหนๆ คสช.มีความกล้าหาญที่ “ห้ามหาเสียง” ทำไมจึงไม่กล้าหาญพอที่จะ “ไม่ต้องหาเสียง โดยให้ กกต.เป็นผู้หาเสียงแทน” เล่า?