สมหมาย ปาริจฉัตต์ : วิพากษ์วาทกรรม “คนดี มีวินัย” ในกม.การศึกษาชาติ 20 ปี

สมหมาย ปาริจฉัตต์

คนดี มีวินัย สร้างอย่างไร

ผมเปิดฉากวิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นศักราชปฏิรูปการศึกษาไทยรอบใหม่ 2562 (ถ้าร่างใช้บังคับทัน) คณะผู้ยกร่างบอกเล่าสาระสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ๆ ไปแล้ว พร้อมกับความเชื่อมั่นว่าจะเป็นหนทางไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้หลุดพ้นจากความตกต่ำไปได้

สัปดาห์นี้มาว่ากันต่อ พบอะไรใหม่บ้างในร่างกฎหมายใหม่ ทั้งหลักการ กลไก และกระบวนการ ที่แตกต่างไปจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 จุดเริ่มต้นปฏิรูปการศึกษารอบที่แล้ว

ว่าด้วยหลักการกันก่อน

 

ที่ถูกเน้นย้ำเป็นพิเศษของฉบับใหม่คือ มุ่งสร้างความเป็นคนดี มีวินัย ซึ่ง พ.ร.บ.2542 ไม่ได้เขียนออกมาตรงๆ เพียงแต่กล่าวถึงคุณธรรม จริยธรรม โดยใช้คำว่าพัฒนาคนไทย ส่วนฉบับใหม่ ใช้คำว่าพัฒนาผู้เรียน

นั่นย่อมหมายความว่า ไม่ว่าคนไทยหรือคนชาติไหน มีสัญชาติหรือไร้สัญชาติ เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ได้รับการบริการทางการศึกษา ถือว่าเป็นผู้เรียนทั้งสิ้น

ควรได้รับการพัฒนาให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ

อย่างไรก็ตาม โจทย์ข้อใหญ่ที่ต้องตอบให้ชัดอยู่ดีคือ จะจัดระบบการศึกษาอย่างไร ถึงจะทำให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ตามเจตนารมณ์ใหญ่ที่เขียนไว้

สิ่งใหม่ๆ ที่พบในร่างกฎหมายทั้งหมด จะเป็นคำตอบสำหรับการสร้างความเป็นคนดี เพียงพอหรือไม่

อาทิ การสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ทรัพยากร กล่าวถึงทักษะการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรรม ทักษะสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี รู้เท่าทันดิจิตอล หรือนวัตกรรมอื่น พัฒนาการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พัฒนาความเป็นพลเมืองตื่นรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิต

 

ที่เขียนไว้ทั้งหมดล้วนเป็นหลักการที่ดี สวยหรู น่าไปให้ถึง เพียงแต่ว่า ในทางเป็นจริงจะเป็นไปได้ถึงระดับไหน เพราะมีประเด็นให้ถกเถียงกันอีกว่า ระหว่างกฎหมายกับการบังคับใช้กฎหมาย กระดาษกับคน อะไรสำคัญกว่า เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบจากทุกฝ่าย ไม่แต่เฉพาะคณะผู้ยกร่างหรือกรรมการอิสระเท่านั้น

ที่เพิ่มเติมเข้ามา กล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ เพิ่มการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคประชาชน ภาคเอกชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างเสริมให้ระบบการศึกษามีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษา และสร้างเสริมธรรมาภิบาลของระบบการศึกษา

จากหลักการที่ว่านี้ ประกอบกับเป็นภาคบังคับในรัฐธรรมูญใหม่ 2560 กรรมการจึงเข็น พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาออกมาใช้ก่อนเป็นฉบับแรก

สะท้อนถึงย่างก้าวของการปฏิรูปมุ่งไปที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะก้าวต่อไป เร่งยกระดับคุณภาพ สร้างคนเก่งด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

การเกิดขึ้นของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สะท้อนถึงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาที่ควรจะเป็นอีกด้วย ว่าควรใช้ทรัพยากรไปในทางไหน ที่ทำให้เกิดผลยิ่งกว่าที่ผ่านๆ มา ซึ่งคงต้องติดตามผลกันต่อไป

 

อีกหลักการหนึ่งที่สำคัญและถูกเน้นย้ำมาตลอดตั้งแต่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 คือ การกระจายอำนาจ ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นจุดคานงัดหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา หากไม่มีการปฏิบัติจริง ปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ก็ไม่มีทางสำเร็จอีก

ขณะที่ พ.ร.บ 2542 เขียนว่า มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉบับใหม่ไม่กล่าวถึงเขตพื้นที่การศึกษา แต่เขียนว่า มีการกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา มีความเป็นเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในการปฏิบัติ สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่

นั่นหมายถึง ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจลงไปที่สถานศึกษาเป็นสำคัญ

หากสถานศึกษายังขาดความเป็นอิสระ ไม่มีอำนาจบริหารจัดการเป็นของตนเองอย่างแท้จริง เพราะการกระจายอำนาจลงไปไม่ถึง ไปหยุดอยู่แค่เขตพื้นที่การศึกษาอย่างที่ผ่านมา ปฏิรูปรอบใหม่ก็จะหมดความหมายอยู่เช่นเดิม

 

ที่น่าติดใจในร่าง พ.ร.บ.ใหม่อีกประการคือ ไม่กล่าวถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชัดๆ เหมือนฉบับ 2542 แต่ไปเขียนไว้ในส่วนที่ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา

ย้ำหลักการว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุน แต่กลับไม่เน้นย้ำให้ส่วนกลางหรือส่วนอื่นๆ กระจายอำนาจ ความรับผิดชอบไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างจริงจัง ข้อนี้จึงสะท้อนถึงความไม่มั่นใจและไว้วางใจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจน

ในบทที่ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ใหม่ ขณะที่ฉบับ 2542 ไม่มีคือ หน้าที่ของผู้เรียน มีหน้าที่ศึกษา เรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะ คุณลักษณะ คุณธรรม จริยธรรม มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีวินัยและความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม

ข้อนี้น่าชื่นชม เพราะตอบโจทย์ตรงๆ ที่ว่า ผู้เรียนนั่นแหละเป็นตัวละครหลัก ต้องรับผิดชอบตัวเองให้ดีที่สุดก่อนใครเพื่อน

เพราะคนเรามักโทษแต่คนอื่น โทษครู โทษผู้ปกครอง โทษรัฐบาล โทษสังคม โทษระบบ ระเบียบ ไม่โทษตัวเอง ชอบให้คนอื่นแก้ หรือแก้ที่คนอื่นก่อน แก้ที่ตัวเราทีหลังเสมอ

ฉะนั้น ผู้เรียนจึงควรเป็นจุดเริ่มต้น ต้องมาพิจารณาที่ตัวเรา โทษตัวเองก่อน เพราะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด เร็วที่สุด คือ เปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา แก้ที่ตัวเราก่อน แก้คนอื่นแก้ยาก แก้ทีหลังนั่นเอง

ครับ ร่างกฎหมายใหม่ยังมีจุดที่น่าสานเสวนาอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะบทบาทของครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา หลักการเขียนไว้อย่างไร จะเป็นจริงได้แค่ไหน ต้องไว้คุยกันต่อตอนหน้า