“99 พระบรมราโชวาท” ล้ำค่าคำสอน “พ่อของแผ่นดิน”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือที่สุดแห่งศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย นับตั้งแต่เสด็จสวรรคต ประชาชนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระราชกรณียกิจ พระราชดำรัส พระราชดำริ และพระบรมราโชวาทที่พระราชทานมาตลอด 7 ทศวรรษ เป็นสิ่งที่คนไทยเทิดทูน และนำมายึดเป็นแนวปฏิบัติในการดำรงชีวิต…

ภาพการทรงงาน และพระราชจริยวัตรอันงดงาม ซึ่งถูกบันทึกไว้ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นดังสิ่งล้ำค่าที่ชาวไทยล้วนต้องการเก็บรักษาไว้

เพื่อรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 “พ่อของแผ่นดิน” รัฐบาลโดย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จึงเป็นแม่งานในการรวบรวม จัดพิมพ์หนังสือ พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน และแจกจ่ายให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้น้อมนำพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัส ที่พระราชทานไว้ในวาระต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ดำรงสิริราชสมบัติ เป็นเข็มทิศนำทางให้ปฏิบัติตนและดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมั่นคง

โดย วธ. ได้จัดพิมพ์หนังสือ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน จำนวน 2 เล่ม คือ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” และ “99 พระบรมราโชวาท น้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์”

เบื้องต้นได้จัดพิมพ์อย่างละ 1 แสนเล่ม และจะมีการจัดพิมพ์เพิ่มเติมอีก

โดยที่ผ่านมาได้นำออกแจกจ่ายให้ประชาชนแล้ว ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และจะทยอยแจกจ่ายทุกวันจนกว่าจะครบ จำนวน 2 ล้านเล่ม

 

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการ วธ. อธิบายถึงความสำคัญของหนังสือ “99 พระบรมราโชวาท น้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์” ว่า หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 ที่พระราชทานในโอกาสต่างๆ

โดยแบ่งเป็นหมวดต่างๆ อาทิ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์, รักษาวัฒนธรรมประเพณี, รู้จักดำรงตนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง, คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ เป็นต้น

เนื้อหาภายในเล่ม เป็นเนื้อหาที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย และยังสามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมคนไทยจึงรักในหลวง ร.9

ในหนังสือ “99 พระบรมราโชวาท น้อมนำราษฎร์ร่มเย็นเป็นสุขศานต์” ยังได้เชิญพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ซึ่งนับตั้งแต่ดำรงสิริราชสมบัติ ถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 รวมเวลา 70 ปี 4 เดือน 7 วัน เป็นที่ประจักษ์ว่า พระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงปฏิบัติบำเพ็ญ ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาญาณล้ำเลิศ

เป็นคุณูปการใหญ่หลวงแก่ชาติ และปวงชนชาวไทย

 

ดังตัวอย่าง พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และอาสาสมัครพลเรือน ในพิธีตรวจพลสวนสนาม เนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก วันอังคารที่ 8 มิถุนายน 2514

“…ชาติบ้านเมืองคือชีวิต เลือดเนื้อ และสมบัติของเราทุกคน และการดำรงรักษาชาติประเทศนั้น มิใช่หน้าที่ของบุคคลผู้ใดหมู่ใดโดยเฉพาะ หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ คน ที่จักต้องร่วมมือกระทำพร้อมกันไป โดยสอดคล้องกัน เกื้อกูลกัน และมีจุดมุ่งหมาย มีอุดมคติอันร่วมกัน…”

หรือแม้กระทั่ง พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2535 “…หลักของคุณธรรมคือการคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด

ไม่ผิดทั้งหลักวิชา ทั้งหลักคุณธรรม…”

 

สําหรับหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เป็นการบันทึกพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ ตลอดการครองสิริราชสมบัติ 70 ปี พร้อมพระบรมฉายาลักษณ์ ที่หายากและไม่ค่อยได้พบเห็น หรือมีการตีพิมพ์หนังสือทั่วไปมาก่อน เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมในพระบารมี

เช่น พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2470 ณ โรงพยาบาล เมานท์ออเบอร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา, พระราชพิธีอภิเษกสมรส กับ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493, พิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 6 พฤษภาคม 2493

พระราชพิธีทรงพระผนวช วันที่ 22 ตุลาคม 2499

และพระบรมฉายาลักษณ์ในขณะทรงงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย

 

นอกจากหนังสือ 2 เล่มนี้แล้ว วธ. ยังประมวลภาพเหตุการณ์ งานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งรวมภาพเหตุการณ์นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่เสด็จสวรรคต จัดทำรูปเล่มในทุก 15 วัน จนเสร็จสิ้นพระราชพิธี และรวบรวมทำเป็นจดหมายเหตุฉบับประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

โดยแบ่งเป็น 3 เล่ม คือ เล่มที่ 1 ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เล่มที่ 2 ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด

และเล่มที่ 3 รวบรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนานาอารยประเทศ

รวมถึงยังขอให้ผู้นำ 5 ศาสนา ได้แก่ พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ รวบรวมภาพเหตุการณ์ พระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมและปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับศาสนาต่างๆ

เช่น งานเมาลิดส่วนกลางของศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2 เข้าเฝ้าฯ ในโอกาสที่เสด็จเยือนประเทศเมื่อปี 2527 ศาสนาซิกข์ทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสเสด็จฯ ไปเป็นประธานงานฉลองครบรอบ 500 ปี แห่งศาสนาซิกข์เมื่อปี 2512 เพื่อรวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือและบันทึกเป็นจดหมายเหตุด้วย

ภาพบันทึกเหตุการณ์ และหนังสือรวบรวมพระบรมราโชวาท พระราชกรณียกิจต่างๆ ของในหลวง ร.9 ถือเป็นสิ่งล้ำค่าที่คนไทยจะเก็บรักษาไว้ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

และน้อมนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตต่อไป…