เกษียร เตชะพีระ l วาทกรรมความเป็นไทย : ความเป็นไทยแบบพระศรีอาริย์

เกษียร เตชะพีระ

วาทกรรมความเป็นไทย : 5) ความเป็นไทยแบบพระศรีอาริย์

อันที่จริง การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการแสดงออกขั้นสุดท้ายในกระบวนการแตกต่างขัดแย้งร้าวฉานด้านทรรศนะทางเศรษฐกิจ สังคมระหว่างกลุ่มพลังฝ่ายต่างๆ ในสังคมการเมืองไทย ซึ่งสั่นคลอนบ่อนเบียนฉันทามติ (CONSENSUS) ใหม่ทางการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 บนพื้นฐานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 มาตั้งแต่เนิ่น โดยประเด็นจุดชนวนแรกสุดก็คือ

เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

และก็เช่นเดียวกับทุกครั้งของความขัดแย้งใหญ่ขั้นหัวเลี้ยวหัวต่อในเมืองไทย “ความเป็นไทย” มิอาจดำรงความเป็นกลางไว้ได้ หากถูกดึงเข้ามาวางเป็นเดิมพัน ตั้งเป็นสนามประลองในการช่วงชิงต่อสู้ทางวาทกรรม หรือการเมืองวัฒนธรรมด้วยเหมือนเคย – เสมอมา ข้างหลวงประดิษฐ์ฯ ก็ยื้อไป โดยผูกเค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านเข้ากับ “ความเป็นไทย” ทางศาสนาว่า :-

“ก็เมื่อการที่รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองเช่นนี้ เป็นการที่ทำให้วัตถุที่ประสงค์ทั้ง 6 ประการของคณะราษฎรได้สำเร็จไปตามที่ได้ประกาศแก่ราษฎรไว้แล้ว สิ่งที่ราษฎรทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า ศรีอริยะ ก็จะพึงบังเกิดแก่ราษฎรโดยถ้วนหน้า ไฉนเล่าพวกเราที่ได้พร้อมใจกันไขประตูเปิดช่องทางให้แก่ราษฎรแล้วจะรีๆ รอๆ ไม่นำราษฎรต่อไปให้ถึงต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งราษฎรจะได้เก็บผลเอาจากต้นไม้นั้น คือผลแห่งความสุขความเจริญ ดั่งที่ได้มีพุทธทำนายกล่าวไว้ในเรื่องศาสนาพระศรีอาริย์ ในเรื่องนี้ผู้ถือศาสนาทุกคนในการทำบุญปรารถนาจะประสบศาสนาพระศรีอาริย์ แม้ในการสาบานในโรงศาลก็ดี ในการพิธีใดๆ ก็ดี ก็อ้างกันแต่ว่า เมื่อซื่อสัตย์หรือให้การไปตามจริงแล้ว ก็ให้ประสบพบศาสนาพระศรีอาริย์ ก็เมื่อบัดนี้เราจะดำเนินวิถีไปสู่อริยสมัย แต่ก็ยังจะมีบุคคลที่จะถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งถอยหนักๆ เข้าก็จะกลับไปสู่สมัยก่อนพุทธกาลคือเมื่อ 2475 ปีที่ล่วงมาแล้ว”

ข้าง “พระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสนองพระบรมราชโองการโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี” ก็ยุดไว้ โดยชี้ว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ ตรงกันข้าม เข้ากันไม่ได้ ขัดแย้งถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์กับ “ความเป็นไทย” อย่างที่สุด

พระบรมราชวินิจฉัยฯ ได้ย้ำหัวตะปูกล่าวหาว่า เค้าโครงนี้มีลักษณะใช้อำนาจบังคับแบบคอมมิวนิสต์ (3 ครั้ง), ลอกมาเกือบทั้งดุ้นจากต้นแบบต่างชาติของรัสเซีย ภายใต้การปกครองของสตาลิน (32 ครั้ง) และขืนไปดำเนินการตามเค้าโครงดังกล่าวอย่างเต็มที่เข้า ก็จะทำให้ชาติไทยกลายเป็นทาสและต้องสูญสิ้นความเป็นไทย (11 ครั้ง)

สำหรับหมากกลทางการเมืองวัฒนธรรมของหลวงประดิษฐ์ฯ ที่อ้างอิงตำนานปรัมปราเรื่องพระศรีอาริย์มาใช้ พระบรมราชวินิจฉัยฯ สวนคำอย่างคมคายว่า :-

“ตามคำที่มีผู้ทำนายไว้ว่า พระศาสนาพระศรีอาริย์จะมาในโลกปี พ.ศ.5000 นั้นคงจะเป็นจริงแล้ว เวลานี้ซึ่งเป็นปี 2475 ก็คงจะยังไม่ถึงเวลาแล้วจะรีบด่วนไปทำไม คนเราจะเชื่อคำทำนายอันศักดิ์สิทธิ์หรือจะเชื่อคนรัสเซีย ซึ่งยอมปล่อยให้พวกพ้องกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเอง ก็ควรจะต้องเชื่อคำทำนายอันศักดิ์สิทธิ์นี้มากกว่า คำทำนาย ทำนายว่าจะยังไม่ถึงจนกว่าจะบรรจบ 5,000 ปีแล้ว ถึงแม้บุคคลเหล่านั้นจะว่า ว่ามาถึงแล้วจะไปเชื่อเขาทำไม อย่าชิงสุกก่อนห่ามไปเลย ถ้ามัวจะรีบเก็บต้นกัลปพฤกษ์เสียแต่เวลาที่ยังไม่สุกหรือไม่โตพอ เราจะหาดอกหาผลไม่ได้เลย อาจจะมีแต่หนามแต่กิ่งที่จะเปราะจะหักพากันไปตกเหวตายหมด ก็เมื่อยังไม่ถึงเวลาที่ได้ทำนายไว้แล้วนี้ ก็เราลองทิ้ง ไม่คิดถึงมันเสียพักหนึ่งจะมิดีกว่าหรือ และคอยตั้งใจจะฟังแต่คำสั่งสอนของสมเด็จสมณโคดม ผู้เป็นพระพุทธเจ้าของเรานั้น ท่านสอนให้เชื่อเหตุผล ฟังเหตุฟังผล ไม่ใช่บังคับให้เป็นทาสแบบอเวจีพระศรีอาริย์ คอยชิงสุกก่อนห่าม ดังที่โครงการเศรษฐกิจกำหนด”

การประลองกำลังทางวาทกรรมยกนี้ หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เสียพื้นที่ “ความเป็นไทย” ไป กระทั่งไม่มีพื้นที่ให้ท่านอยู่ในแผ่นดินไทยเอาจริงๆ เมื่อถูกรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาส่งตัวไปดูงานด้านเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ โดยหลวงออกค่าใช้จ่ายเดินทางให้แต่ไม่มีกำหนดกลับ ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2476 โดยที่สิบวันก่อนหน้านั้น รัฐบาลชุดเดียวกันก็ได้อาศัยอำนาจฉุกเฉินนอกรัฐธรรมนูญออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476 ฉบับแรกของเมืองไทยโดยไม่ผ่านสภา ซึ่งให้คำนิยามทางการไว้ในมาตรา 3 ว่า :-

“คอมมิวนิสต์ หมายความว่า วิธีการหรือหลักการทางเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วยการเลิกล้างเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน โดยให้ประเทศหรือประชาชนร่วมกันเข้า เป็นเจ้าของเสียเอง

“ลัทธิคอมมิวนิสต์หมายความว่าลัทธิใดๆ ซึ่งสนับสนุนส่งเสริมการรวมกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือรวมการอุตสาหกรรมหรือรวมทุนหรือรวมแรงงานเข้าเป็นของรัฐบาล (NATIONALIZATION OF LAND OR INDUSTRY OR CAPITAL OR LABOUR)”

ด้วยคำนิยามตีขลุมครอบจักรวาลฉะนี้ ใครต่อใครไม่เฉพาะคอมมิวนิสต์ หากรวมถึงนักสังคมนิยม นักสังคมประชาธิปไตย กระทั่งผู้นิยมรัฐสวัสดิการก็กลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปหมด เท่ากับไม่มีที่ทางชอบธรรมถูกกฎหมายในความเป็นไทยทางการเมืองเหลือให้หลวงประดิษฐ์ฯ เค้าโครงการเศรษฐกิจและปีกซ้ายของคณะราษฎรยืนเลย เท่ากับนิยามพวกเขาทั้งหลายให้กลายเป็น “ไม่ไทย” ไปเสียสิ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพระยามโนฯ ก็ถูกผู้นำสายทหารส่วนหนึ่งของคณะราษฎรนำโดยนายพันเอกพระยาพหลฯ โค่นในเวลาอันรวดเร็ว หลวงประดิษฐ์ฯ ได้กลับประเทศ กบฏบวรเดชถูกปราบ แต่กว่าหลวงประดิษฐ์ฯ จะได้พื้นที่ชอบธรรมถูกกฎหมายในความเป็นไทยทางการเมืองคืนมาให้ตัวท่านกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของท่านได้ก็ต้องรออีกสองปีให้หลังเมื่อสภาผู้แทนราษฎรออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2478 แก้ไขเพิ่มเติมนิยามลัทธิคอมมิวนิสต์เดิมเสียใหม่ว่า :-

“ลัทธิคอมมิวนิสต์หมายความว่าลัทธิใดๆ ที่มุ่งหมายจะเลิกล้มระเบียบการสมาคมที่มีอยู่นั้นโดยใช้กำลังบังคับเพื่อให้เป็นทางเดียวที่จะนำมาซึ่งการโอนที่ดินกับทรัพย์สินอื่นๆ และกิจการค้าใหญ่ๆ ทั้งหมดจากการที่เอกชนเป็นเจ้าของ มาให้รัฐหรือชุมนุมชนเป็นเจ้าของแทน”

ด้วยวลีใหม่ๆ ได้แก่ “โดยใช้กำลังบังคับ”, “เพื่อให้เป็นทางเดียว” และ “ทั้งหมด” ที่ถูกเติมเข้ามาในนิยามความเป็นคอมมิวนิสต์เพื่อให้มันกินความแคบเข้า เฉพาะเจาะจงเข้า “ความเป็นไทย” ก็เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้งหนึ่ง พื้นที่ความเป็นไทยที่เคยหดหายไปก็กลับยืดยาวออกมา และครอบคลุมรองรับรวมเอาตัวหลวงประดิษฐ์ฯ เค้าโครงเศรษฐกิจฯ และปีกซ้ายคณะราษฎรให้กลับเป็น “ไทย” อีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน พื้นที่ความเป็นไทยอีกบางส่วนหดลีบเล็กลงและรกร้างว่างเปล่าด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จออกจากแผ่นดินไทยในเดือนมกราคม พ.ศ.2476, ประทับเป็นการถาวรใกล้กรุงลอนดอน, ไม่นิวัติพระนคร และทรงสละราชสมบัติในที่สุดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477