สุรชาติ บำรุงสุข l หกตุลารำลึก : วอชิงตันถอน ไซ่ง่อนแตก กรุงเทพฯ กลัว!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

หกตุลารำลึก (8) วอชิงตันถอน ไซ่ง่อนแตก กรุงเทพฯ กลัว!

“เป็นความจำเป็นที่เราจะต้องทำลายเมือง [ในเวียดนามใต้ด้วยการโจมตีทางอากาศ] ก็เพื่อที่จะรักษาเมืองนั้นไว้”

นาวาอากาศตรี Chester L. Brown

ในช่วงที่ผมยังอยู่ในขบวนการนักศึกษา ผมได้เห็นถึงการล่มสลายของรัฐบาลนิยมตะวันตกทั้งสามประเทศในอินโดจีน หรือที่ผมเรียกด้วยสำนวนของรัฐบาลอเมริกันว่า การล้มตามกันของ “โดมิโน” ในอินโดจีนในปี 2518

และในระหว่างที่อยู่ในสหรัฐ ผมได้มีโอกาสเห็นผลสะเทือนของการปฏิวัติในอีกซีกโลกหนึ่ง รัฐบาลเผด็จการของตระกูลโซโมซาที่ปกครองมาตั้งแต่ปี 2470 ถึงจุดจบด้วย “การปฏิวัตินิการากัว” ในปี 2522 จำได้ว่าเพื่อนฝ่ายซ้ายชาวอเมริกันตื่นเต้นอย่างมากกับการปฏิวัตินี้ อาจจะเพราะสำหรับคนรุ่นผมแล้ว การปฏิวัติคิวบาเป็นเรื่องราวที่อยู่ไกลในประวัติศาสตร์ แต่การปฏิวัติอินโดจีนและการปฏิวัตินิการากัวเป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยที่ได้เห็นจริงๆ

สงครามปฏิวัติมีพลังยิ่งใหญ่เสมอ แต่สงครามปฏิวัติไทยกลับค่อยๆ แผ่วและจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐ เป็นการสิ้นสุดสงครามที่พลิกความกังวลในขณะนั้นว่า โดมิโนจะล้มที่กรุงเทพฯ

เพราะหลังจากรัฐประหาร 2519 จนถึงปี 2520-21 สงครามในชนบทไทยยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ แต่ทำไมไทยกลับไม่เดินเข้าสู่สงครามโดยมีสหรัฐเป็นผู้อุปถัมภ์หลักเช่นในแบบของเวียดนามใต้

ดังนั้น ถ้าจะเข้าใจสถานการณ์ยุคนั้น เราจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องสหรัฐกับสงครามเวียดนาม และผลของสงครามมีนัยสำคัญต่อกลุ่มขวาไทย

และทั้งยังมีนัยต่อการตัดสินใจของฝ่ายรัฐในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อีกด้วย

ความพ่ายแพ้ของสหรัฐ

หากย้อนกลับดูความพ่ายแพ้ของสหรัฐในสงครามเวียดนามแล้ว จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่วิกฤตการณ์อ่าวตังเกี๋ยในต้นเดือนสิงหาคม 2507 จนถึงการรุกในเทศกาลตรุษญวน (The Tet Offensive) ในเดือนมกราคม 2511 เริ่มเห็นคำตอบว่าโอกาสของชัยชนะของสหรัฐอาจจะไม่ง่ายเสียแล้ว แม้ในต้นปี 2508 ทหารอเมริกันชุดแรกได้ยกพลขึ้นบกที่ดานัง และจากจุดนี้นำไปสู่การขยายกำลังรบของสหรัฐในเวียดนาม และต่อมาทหารอเมริกันได้รับอนุญาตให้ออกปฏิบัติการด้วยการลาดตระเวนในชนบทของเวียดนาม (มากกว่ามีบทบาทเป็นที่ปรึกษาทางทหารที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการรบโดยตรง)

บทบาทเช่นนี้นำไปสู่จุดกำเนิดของแนวคิดทางยุทธการที่สำคัญคือ “ค้นหาและทำลาย” (search and destroy operations) และแนวคิดนี้ได้กลายเป็นเข็มมุ่งหลักของทหารอเมริกันในการทำสงครามในเวียดนาม

แต่ในความเป็นจริงกระบวนการนี้กลับกัน เพราะมีลักษณะของ “ทำลายและค้นหา” มากกว่า หรือที่มีการบรรยายถึงปรากฏการณ์นี้ว่า “หลังจากมีการทำลายจนหมดแล้ว การค้นหาจึงเริ่มขึ้น”

ในอีกด้านหนึ่งแนวคิดนี้ได้กลายเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความคิดของทหารไทยที่เข้าร่วมรบกับสหรัฐในสงครามเวียดนาม โดยเชื่อว่าวิธีการเช่นนี้มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างข้าศึกในชนบท

แต่การรุกในเทศกาลตรุษญวนเริ่มด้วยการเปิดการโจมตีแบบฉับพลัน (surprise attacks) ต่อเมืองของเวียดนามและฐานทัพสหรัฐมากกว่า 100 จุด การโจมตีไม่ประสบความสำเร็จในทางทหาร และถูกปราบปรามได้ในระยะเวลาต่อมา เวียดกงประสบความสูญเสียอย่างหนัก

แต่นัยทางการเมืองมีความสำคัญมากกว่า เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณว่า แม้กองทัพสหรัฐและกองทัพเวียดนามใต้จะควบคุมพื้นที่ได้เพียงใด ก็ไม่สามารถปิดกั้นการโจมตีของเวียดกงได้

และการโจมตีสามารถเกิดขึ้นในใจกลางพื้นที่ที่สหรัฐควบคุม และเหตุเกิดถึงขั้นบุกเข้าประชิดบริเวณอาคารของสถานทูตอเมริกันที่ไซ่ง่อน การรบติดพันและต่อเนื่องในหลายพื้นที่ จนกลายเป็น “ความน่าตกใจ” ในทางทหาร

และเป็นสัญญาณเตือนว่า โอกาสที่สหรัฐจะชนะสงครามอาจจะเป็นไปไม่ได้แล้ว!

แม้สหรัฐจะทุ่มกำลังและทรัพยากรอย่างเต็มที่เพื่อเอาชนะเวียดกง ด้วยค่าใช้จ่ายในสงครามทะยานสูงถึง 20 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี อันก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจภายในของสหรัฐ และกระทบอย่างมากกับการปฏิรูประบบสวัสดิการในบ้านของชาวอเมริกัน จนกลายเป็นปัญหาทางการเมืองของประธานาธิบดีจอห์นสัน

แต่ทำเนียบขาวยังตัดสินใจที่คงความเหนือกว่าของอำนาจกำลังรบ กำลังพลของสหรัฐในปลายปี 2510 มีจำนวนสูงถึง 485,000 นาย ในอีกด้านของสงคราม ทหารอเมริกันเสียชีวิตราว 300 นายต่อสัปดาห์

สงครามเวียดนามจึงเป็นปัจจัยที่บ่อนทำลายสังคมอเมริกันอย่างมาก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสงครามนี้เป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของกองทัพสหรัฐ และทำลายเกียรติภูมิทางทหารของสหรัฐอย่างมากด้วย

การลดพันธะสงคราม

สงครามครั้งนี้ไม่เหมือนสงครามโลกทั้งสองครั้ง ที่ได้รับการตอบรับจากสังคมอเมริกัน แต่ภาพสะท้อนครั้งนี้กลับแตกต่างออกไป

โทรทัศน์นำเสนอภาพของสงครามที่ทหารอเมริกันในแบบที่น่าตกใจ

การควบคุมตัวพลเรือนชาวเวียดนามแบบโหดร้าย

การเผาหมู่บ้านต้องสงสัยแบบไร้มนุษยธรรม

การโจมตีที่หมายของพลเรือนอย่างไม่จำแนก จนนำไปสู่การจัดตั้ง “ขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม” ในสังคมอเมริกัน และขยายไปทั่วโลก

ขณะเดียวกันทหารผ่านศึกกลับบ้านก็กลายเป็นทั้งปัญหาการเมืองและสังคม จนนักวิชาการอเมริกันสรุปว่า “คำว่าเวียดนามหมายถึงความล้มเหลวของอเมริกัน และเป็นคำสั้นๆ ที่หมายถึงหายนะ…”

แม้ในด้านหนึ่งสหรัฐจะทุ่มทรัพยากรทางทหารด้วยการทำการรบอย่างเต็มที่ทั้งทางบกและทางอากาศ และทั้งมีความเหนือกว่าทางด้านทรัพยากรและเทคโนโลยีอย่างมาก

ด้วยความเหนือกว่าเช่นนี้ทำให้สหรัฐใช้การโจมตีทางอากาศขนาดใหญ่ต่อเวียดนามเหนือเป็นเครื่องมือการสงครามหลักประการหนึ่งในการเอาชนะข้าศึก

และกำลังรบทางอากาศส่วนสำคัญมาจากฐานทัพของสหรัฐในไทย

แต่ในอีกด้านในปี 2511 สหรัฐพยายามหาลู่ทางในการเจรจาเพื่อยุติสงคราม และต่อมาในปี 2512 ทำเนียบขาวพยายามลด “พันธะสงคราม” ด้วยการมอบโอนภาระทางทหารให้กับกองทัพเวียดนามใต้

โดยหวังว่าสหรัฐจะลดภาระที่ต้องแบกรับลง

ขณะเดียวกันก็เป็นการลดแรงกดดันทางการเมืองและเสียงวิจารณ์ในบ้านลงด้วย ทิศทางเช่นนี้เป็นผลจาก “นโยบายทำให้เป็นเวียดนาม” (Vietnamization) หรือที่เรียกว่า “หลักการนิกสัน” (The Nixon Doctrine) ผลจากคำประกาศนี้ทำให้สหรัฐลดปฏิบัติการทางบกลงหลังจากสิงหาคม 2513 แต่ก็ยังคงปฏิบัติการโจมตีทางอากาศไว้

ในวันที่ 27 มกราคม 2516 การเจรจาสันติภาพเริ่มขึ้นที่ปารีส (The Paris Peace Accords) อันนำไปสู่การถอนทหารอเมริกันออกจากเวียดนาม

และในวันที่ 29 มีนาคม 2516 กำลังรบชุดสุดท้ายของสหรัฐได้เดินทางออกจากเวียดนามใต้

และทิ้งคำถามทางการเมืองที่สำคัญประการหนึ่งไว้ก็คือ ใครจะเป็นผู้ปกครองเวียดนามในอนาคต

แน่นอนว่าปัญหาการเมืองนี้มีความสำคัญต่อสถานะด้านความมั่นคงของไทยอย่างสูง เพราะเมื่อสหรัฐประกาศหลักการนิกสันในปี 2512 ได้ส่งผลสะเทือนต่อไทยอย่างมาก

ผู้นำไทยมองคำประกาศนี้ด้วยความกังวลว่า เป็นสัญญาณของการถอนตัวของสหรัฐจากพันธะด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซึ่งทำให้ผู้นำไทยมีความวิตกมากยิ่งขึ้น เพราะความมั่นคงไทยวางอยู่บนความเชื่อของระบบพันธมิตรที่เข้มแข็งระหว่างประเทศทั้งสอง

และเชื่ออย่างมีนัยสำคัญว่า หากขาดการคุ้มครองด้านความมั่นคงจากสหรัฐ (อันเป็นผลจากการถอนตัวของสหรัฐออกจากภูมิภาค) แล้ว ประเทศไทยอาจจะไม่สามารถรับมือกับการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์จากอินโดจีนได้

ซึ่งก็คือความเชื่อตามวาทกรรมของ “ทฤษฎีโดมิโน” ที่มองว่า หากประเทศในอินโดจีนเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ในที่สุดไทยอาจจะเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย อันเป็นผลของการล้มตามกันนั่นเอง

ในท่ามกลางความกลัวของผู้นำไทยอันเป็นผลจากคำประกาศในการถ่ายโอนความรับผิดชอบทางทหารของสหรัฐให้แก่กองทัพเวียดนามใต้นั้น ผู้นำทหารไทยกังวลว่า แล้วสหรัฐจะยังมีพันธะในการปกป้องประเทศไทยตาม “แผนเผชิญเหตุ” ที่ได้ทำขึ้นไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่

และยิ่งสหรัฐตัดสินใจยุติบทบาทด้วยการเจรจาสันติภาพที่ปารีส จนมีนาคม 2516 กำลังรบหน่วยสุดท้ายของสหรัฐถอนตัวออกจากเวียดนามนั้น สถานะด้านความมั่นคงไทยจึงอยู่ในสภาวะที่เปราะบางเป็นอย่างยิ่ง

ในเดือนตุลาคม 2516 การเมืองไทยก็เผชิญกับเปลี่ยนแปลงใหญ่…รัฐบาลทหารไทยถูกโค่นลง

จุดสุดท้ายของสงคราม

ในความเป็นจริงนั้น รัฐบาลเวียดนามใต้แทบจะไม่สามารถรับภาระสงครามจากการส่งมอบของสหรัฐได้เลย

เพราะในหลายปีที่ผ่านมา การรบดำรงสภาพอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐ และรัฐบาลอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

และเมื่อรัฐบาลนิกสันประสบ “ภัยพิบัติทางการเมือง” จากกรณีวอเตอร์เกต (The Watergate Scandal) ความช่วยเหลือที่สัญญากับรัฐบาลเวียดนามใต้ไว้ในการประชุมสันติภาพที่ปารีสก็ดูจะไม่เป็นจริงเท่าใดนัก

จนในตอนต้นปี 2518 ฝ่ายเวียดนามเหนือได้ตัดสินใจเปิดยุทธการใหญ่จากที่ราบสูงตอนกลางของประเทศเพื่อรุกเข้ายึดไซ่ง่อน

การรุกทางทหารของฝ่ายเหนือดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง วันที่ 27 เมษายน 2518 เป็นครั้งแรกในรอบ 40 เดือนที่ไซง่อนถูกโจมตีด้วยจรวด

จนเป็นสัญญาณว่าโอกาสที่จะปกป้องเวียดนามใต้ไว้จากการรุกของฝ่ายคอมมิวนิสต์นั้น น่าจะเป็นไปไม่ได้แล้ว

และโอกาสที่สหรัฐจะกลับมาใช้แสนยานุภาพทางทหารปกป้องเวียดนามใต้อีกครั้งก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เช่นกัน

ในตอนสายของวันที่ 29 เมษายน 2518 เฮลิคอปเตอร์ลำสุดท้ายก็ทะยานตัวขึ้นจากดาดฟ้าของอาคารสถานทูตอเมริกาที่ไซ่ง่อน

ภาพของผู้คนที่ตะเกียกตะกายเพื่อออกไปจากเวียดนามกับเฮลิคอปเตอร์ลำนี้ปรากฏเป็นข่าวโทรทัศน์ไปทั่วโลก

ฉากสุดท้ายของสงครามไม่ใช่ภาพแห่งชัยชนะของกองทัพสหรัฐ แตกต่างอย่างมากกับภาพในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพสหรัฐสวนสนามผ่านประตูชัยที่ปารีสหลังจากความสำเร็จของการเปิดประตูเพื่อปลดปล่อยยุโรป

ทว่าครั้งนี้กลับเป็นอาการของการกระเสือกกระสนหนีตายของผู้คนจากการแพ้สงคราม

และเป็นช่วงเวลาที่ถูกเรียกว่า “เมษาวิปโยค” (Black April) ในหมู่ชาวเวียดนามใต้…

สงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของสหรัฐ

ในวันที่ 30 ภาพของรถถังเวียดนามเหนือพุ่งชนประตูทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้ ก็เผยแพร่ออกไปทั่วโลกเช่นกัน

ราว 10.30 น. ของวันดังกล่าว รัฐบาลเวียดนามใต้ประกาศการยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข

การรวมชาติของเวียดนามได้เกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นจากความพ่ายแพ้ของสหรัฐ… สงครามชุดที่ยาวชุดหนึ่งของสหรัฐจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ

และในเดือนเดียวกันพนมเปญก็แตกด้วยการเข้าตีของกองกำลังเขมรแดง

และในปลายปีนั้นลาวได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2518 จึงไม่เพียงบอกถึงการแพ้สงครามของสหรัฐเท่านั้น แต่ยังส่งสัญญาณถึงการกำเนิดของรัฐบาลสังคมนิยมในอินโดจีน… อินโดจีนทั้งหมดกลายเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว!

การเมืองแห่งความกลัว!

ทฤษฎีโดมิโนซึ่งเป็น “วาทกรรมความกลัวคอมมิวนิสต์” ของรัฐบาลสหรัฐตั้งแต่ช่วงต้นของยุคสงครามเย็นกลายเป็นความจริงในปี 2518 และโดมิโนกำลังกลายเป็น “ฝันร้าย” ของความมั่นคงไทย รัฐไทยจะรับมือกับสถานการณ์ทาง “ภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์” ชุดใหม่อย่างไร เพราะการล้มลงของรัฐบาลฝ่ายขวาในอินโดจีนส่งผลให้ “แนวกันชน” ที่รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยวางเป็นแนวป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์จากอินโดจีนนั้น ได้ถึงจุดสิ้นสุดลง อันเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัวอย่างยิ่ง

รัฐไทยกำลังเผชิญกับภูมิทัศน์ความมั่นคงชุดใหม่ และส่งผลต่อทัศนะของฝ่ายรัฐในการมองการขบวนการนักศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ปี 2518 จึงเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญของการเมืองและความมั่นคงไทย

และเป็นจุดเริ่มต้นที่การเมืองกำลังถูกขับเคลื่อนด้วย “ความกลัว” เพราะไม่ใช่เพียงโดมิโนล้มในอินโดจีน หากสหรัฐยังถอนตัวออกไปอีกด้วย ถ้าเช่นนั้นแล้วรัฐไทยจะอยู่อย่างไรในอนาคต และจะยอมให้ขบวนนักศึกษาเคลื่อนไหวต่อไปหรือไม่?

บทเรียนสำคัญคือ สงครามก่อความไม่สงบไม่อาจเอาชนะได้ด้วยความเหนือกว่าทางทหาร และที่สำคัญคือสงครามคอมมิวนิสต์เป็นสงครามการเมือง (ที่ผสมผสานด้วยมาตรการทางทหาร) ไม่ใช่สงครามที่มีมิติหลักด้านการทหารอย่างเป็นเอกเทศ และแม้กระทั่งรัฐมหาอำนาจใหญ่ยังเป็นฝ่ายแพ้ในสงครามชุดนี้

ถ้าเช่นนั้นแล้ว รัฐและกองทัพไทยจะดำเนินสงครามอย่างไร