หากในที่สุดแล้ว “สืบทอดอำนาจ” ได้ แต่จะอยู่อย่างไรในโลกอนาคต ?

โลกของท่าน โลกของเธอ

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ดูจะภาคภูมิใจนักหนากับ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่เขียนกฎหมายให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องปฏิบัติตาม

ทั้งที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงเตือนสติมากมายว่า “การบังคับประเทศให้ดำเนินไปด้วยยุทธศาสตร์ที่เขียนล่วงหน้าด้วยกลุ่มคนที่ควรจะพ้นยุคไปแล้วจะสร้างปัญหาให้กับคนหลังที่จะต้องมีชีวิตอยู่ในผืนแผ่นดินไทยในโลกของอนาคต”

ทว่าผู้มีอำนาจกลับเชื่อมั่นว่า “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” จากสมองของผู้เฒ่าทั้งหลายจะสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่

การเลือกตั้งกำลังจะเกิดขึ้น ความพยายามที่จะมีอำนาจต่อไปทำให้ต้องปฏิบัติการทุกอย่างเพื่อให้เกิดความได้เปรียบคู่ต่อสู้ ตั้งแต่เขียนกติกาให้ “นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง” มีอำนาจล้นหลามที่จะแทรกแซง “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” จนถึงใช้อำนาจพิเศษเข้าแทรกแซงบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าได้ด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งถูกร้องว่า “เพื่อให้นักการเมืองฝ่ายตัวเองได้เปรียบ” และอื่นๆ อีกมากมาย

หนึ่งในนั้นก็คือความคิดที่ “จำกัดการหาเสียงออนไลน์” ซึ่งเป็นหนทางเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ด้วยความเชื่อว่า “โลกออนไลน์” จะทำให้เกิดความเสียหายต่อการเลือกตั้ง

นี่คือความคิดของกลุ่มคนที่เขียนยุทธศาสตร์ 20 ปีไว้ครอบงำความคิดผู้คนในอนาคต

โดยมีความเชื่อว่า “คนรุ่นใหม่” จะเห็นดีเห็นงามไปด้วย

เป็นอย่างที่เชื่อหรือไม่

ขณะที่พวก ฯพณฯ ทั้งหลายกังวลกับการหาเสียงทางออนไลน์

เมื่อเร็วๆ นี้ “กรุงเทพโพลล์” สำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่น คนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น

คำถามที่น่าสนใจคือ “อยากเห็นอะไรในการเลือกตั้งครั้งนี้” โดยให้ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ ร้อยละ 57.9 อยากเห็นการลงคะแนนผ่านแอพพลิเคชั่น ร้อยละ 36.6 อยากให้มีแอพพลิเคชั่นแสดงข้อมูลของผู้สมัคร ส.ส.ในเขตต่างๆ ร้อยละ 33.0 อยากมีแอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนวันเวลา สถานที่เลือกตั้ง ร้อยละ 28.6 เสนอให้มีการดีเบตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 17.9 อยากให้มีแอพพลิเคชั่นแสดง GPS คูหาที่ต้องไปลงคะแนนเลือกตั้ง ร้อยละ 17.7 เสนอให้มีการสร้างกระแสรณรงค์การเลือกตั้งผ่านสื่อโซเชียลให้ว้าวๆ

หากจินตนาการตามภาพที่ “วัยใส” หรือ “คนรุ่นใหม่” ต้องการ แล้วมาเปรียบเทียบกับภาพที่ “ผู้มีอำนาจ” ที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” รับภารกิจมา จะสัมผัสได้ถึงสภาวะที่เรียกว่า “คนละโลก”

เป็นโลกที่แทบไม่มีหนทางเชื่อมต่อถึงกัน

และนี่เป็นภาพสะท้อนของความน่าเศร้า

“ผู้เฒ่า” ทั้งหลายกำลังสร้างสังคมตาม “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” ด้วยความคิดที่รับไม่ได้กับโลกยุคใหม่ ขณะที่คนรุ่นใหม่ซึ่งต้องมีชะตากรรมอยู่กับ “ยุทธศาสตร์ 20 ปี” กับเห็นโลกไปอีกทาง คนละความคิดกับ “ผู้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ”

ดังนั้น เมื่อ “กรุงเทพโพลล์” ชิ้นนี้ ผลออกมาว่า “คนรุ่นใหม่” ร้อยละ 78.6 ตอบว่าตั้งใจจะไปลงคะแนนเลือกตั้ง และ 91.8 ตอบว่าจะตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง โดยเลือกผู้ที่มีความสามารถ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ร้อยละ 60.9 เลือกผู้ที่มีผลงานแก้ปัญหาของชุมชน ร้อยละ 46.1 เลือกผู้ที่ไม่มีประวัติด่างพร้อยเรื่องทุจริต ร้อยละ 43.5

จึงน่าสนใจยิ่งว่า หากที่สุดแล้ว “สืบทอดอำนาจ” จนได้

แต่จะอยู่อย่างไรในโลกอนาคต