วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จากจิ้นสู่ยุคอาณาจักรเหนือ-ใต้

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สิ่งที่หลิวอี้ว์ได้กระทำลงไปจึงคือ เขาได้ส่งมือสังหารเข้าไปรัดพระศอของจิ้นอันตี้จนสิ้นพระชนม์ในขณะมีพระชนมายุ 37 พรรษา และเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของผู้จงรักภักดีเอาไว้ หลิวอี้ว์จึงให้อนุชาของจิ้นอันตี้ขึ้นครองราชย์แทนคือจิ้นกงตี้ (ค.ศ.419-420)

นับแต่นั้นมา หลิวอี้ว์ได้แต่เฝ้ารอว่าเมื่อไรจิ้นกงตี้จะทรงสละบัลลังก์ให้ตน แต่การณ์ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ หลิวอี้ว์จึงคิดวางแผนด้วยการจัดงานเลี้ยงขึ้นแล้วเชิญบรรดาเสนามาตย์มาในงานนี้

ระหว่างงานเลี้ยงหลิวอี้ว์แสร้งกล่าวขึ้นว่า อันยศศักดิ์ที่ตนดำรงอยู่นั้นสูงยิ่งแล้ว จึงมีดำริที่จะลาจากราชการเพื่อใช้ชีวิตอย่างสงบในเมืองหลวงนี้ เหล่าเสนามาตย์ที่ได้ยินคำกล่าวนี้แทนที่จะเข้าใจความนัยของเขา ก็กลับพากันสรรเสริญว่าเขาคือบุรุษผู้ประเสริฐ และรั้งมิให้เขาลาออกดังที่กล่าว

งานเลี้ยงนี้จึงจบลงโดยที่หลิวอี้ว์มิได้ดังที่ใจประสงค์

 

แต่กระนั้นก็ยังมีขุนนางผู้หนึ่งที่เกิดตีความนัยดังกล่าวได้ ขุนนางผู้นี้จึงขอเข้าพบหลิวอี้ว์ในคืนนั้นพร้อมกับอาสาที่จะไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิเพื่อเจรจา การอาสาของขุนนางผู้นี้จึงทำให้หลิวอี้ว์รู้สึกปีติเป็นที่ยิ่ง

ผลคือ ขุนนางผู้นี้ทำได้สำเร็จ เพราะหลังเข้าเฝ้าพร้อมเจรจาความแล้วจิ้นกงตี้ก็ทรงสละราชสมบัติ หลิวอี้ว์จึงได้เป็นจักรพรรดิสมดังใจปรารถนา ส่วนอดีตจักรพรรดิจิ้นกงตี้นั้น หลิวอี้ว์ตั้งให้เป็นกษัตริย์ของรัฐหนึ่งที่ห่างไกลออกไป

ในขณะนั้นอดีตจักรพรรดิมีอายุ 35-36 ปี หลิวอี้ว์มีอายุเกือบจะ 60 ปีและมีบุตรชายอายุ 16 ปี ตัวเลขของวัยเช่นนี้จึงทำให้หลิวอี้ว์เกิดวิตกจริตว่า หากสิ้นตนไปแล้วบางทีอดีตจักรพรรดิอาจกลับมาทวงคืนราชบัลลังก์ก็เป็นได้

ด้วยวิตกจริตดังกล่าว หลิวอี้ว์จึงส่งคนไปสังหารอดีตจักรพรรดิจิ้นกงตี้ด้วยการบังคับให้ดื่มยาพิษ ครั้งแรกขุนนางที่ส่งไปมิอาจหักใจทำเช่นนั้นได้จึงดื่มยาพิษด้วยตนเอง ครั้งต่อมาเขาส่งทหารไปปฏิบัติภารกิจเดียวกันนี้อีก ครั้นไปถึงแล้วบังคับให้อดีตจักรพรรดิดื่มยาพิษ แต่อดีตจักรพรรดิไม่ยอมดื่ม เหล่าทหารจึงใช้ผ้ากดศีรษะของอดีตจักรพรรดิจนสิ้นลมหายใจตายไปในที่สุด

เช่นนี้แล้วหลิวอี้ว์จึงหมดเสี้ยนหนามทางอำนาจ จากนั้นก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิพร้อมตั้งราชวงศ์ขึ้นมาใหม่ จิ้นตะวันออกจึงดับสูญไปด้วยเหตุนี้

กล่าวโดยสรุปแล้ว ราชวงศ์จิ้นที่ถูกแบ่งออกเป็นสองสมัยคือ จิ้นตะวันตก (ค.ศ.265-317) กับจิ้นตะวันออก (ค.ศ.317-420) นี้ รวมแล้วมีอายุของราชวงศ์ 155 ปี

โดยจิ้นตะวันตกมีจักรพรรดิห้าองค์ และในห้าองค์นี้มีอยู่หนึ่งองค์ที่ครองราชย์เพียงหนึ่งปีก็เกิดสุญญากาศทางการเมืองขึ้น ทำให้ไม่มีจักรพรรดิอยู่นานประมาณหกหรือเจ็ดปี ส่วนจิ้นตะวันออกมีจักรพรรดิอยู่สิบองค์ รวมแล้วราชวงศ์นี้มีจักรพรรดิ 14 องค์

ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในสกุลซือหม่าทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ราชวงศ์จิ้นจะมีอายุยาวนานกว่าร้อยปี แต่ก็เป็นราชวงศ์ที่หาความมั่นคงแทบจะไม่ได้ ด้วยหากมิใช่เพราะการแก่งแย่งอำนาจภายในกันเอง ก็เป็นเพราะการตั้งตนเป็นใหญ่ของชนชาติที่มิใช่ฮั่นขึ้นมานับสิบรัฐ จนสั่นคลอนความมั่นคงของราชวงศ์นี้

และเมื่อราชวงศ์จิ้นล่มสลายไปแล้วความสงบก็ยังหาได้เกิดขึ้นไม่ สถานการณ์ที่กรุ่นไปด้วยความขัดแย้งยังดำรงอยู่ต่อไป และได้นำพาจีนไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่งที่เรียกว่า ยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ

 

ยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ

ยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ (หนันเป่ยเฉา, Northern and Southern Dynasties, ค.ศ.420-589) ถือเป็นยุคที่แยกไม่ออกจากยุคก่อนหน้านี้อยู่เรื่องหนึ่งคือเรื่องอันเกี่ยวกับกลุ่มอำนาจทางการเมือง

เรื่องนี้หากไม่นับกลุ่มอำนาจในสกุลซือหม่าที่ล่มสลายในนามของราชวงศ์จิ้นแล้ว กลุ่มอำนาจที่ยังคงมีความสืบเนื่องกันต่อมาก็คือกลุ่มที่มีปฏิสัมพันธ์กับยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ ความสืบเนื่องนี้แสดงให้เห็นผ่านกลุ่มที่หากไม่เป็นผลผลิตของขุนศึกในยุคที่ว่านี้แล้ว ก็เป็นกลุ่มอำนาจใหม่ที่เกิดขึ้นหลังยุคนี้สิ้นสุดลง

กลุ่มอำนาจใหม่นี้โดยมากแล้วเคยมีบทบาทในยุคดังกล่าวมาก่อน เพียงแต่ในยุคนั้นบทบาทอาจยังไม่โดดเด่นมากนัก และเมื่อยุคที่ว่านี้สิ้นสุดลง กลุ่มอำนาจเหล่านี้ก็ผงาดขึ้นมา และเช่นเดียวกับยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ ที่ว่ากลุ่มอำนาจใหม่เหล่านี้ได้ตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นมาในนามของราชวงศ์ต่างๆ เช่นกัน

แต่ที่ต่างออกไปก็คือ การตั้งตนเป็นใหญ่นี้ไม่มีราชวงศ์จิ้นมาถ่วงดุลอีกต่อไป

และเมื่อตั้งตนได้แล้วต่างก็อิสระจากกันและกัน ในขณะเดียวกันก็เผชิญหน้ากันและทำศึกในระหว่างกัน โดยกลุ่มอำนาจที่ตั้งตนเป็นใหญ่และมีราชวงศ์เป็นของตนเองเหล่านี้แยกได้หกราชวงศ์ด้วยกัน

ในหกราชวงศ์นี้มีสองราชวงศ์ที่แยกเป็นสองราชวงศ์ย่อยรวมเป็นแปดราชวงศ์ แต่หากว่ากันโดยภูมิหลังที่เป็นวงศ์เดียวกันแล้ว ราชวงศ์ในยุคนี้ก็ยังคงมีอยู่หกราชวงศ์ แต่ก็ด้วยเหตุนี้เองที่บางที่จึงเรียกยุคนี้ว่ายุคหกราชวงศ์ (Six Dynasties)

แต่คำเรียกนี้ก็ไม่แพร่หลายเท่าคำเรียกยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ

 

แม้จะยังคงเป็นยุคที่จีนแตกแยกเป็นรัฐหรือราชวงศ์โดยไร้เอกภาพ และมิใช่ยุคที่จีนเป็นจักรวรรดิก็ตาม แต่ยุคราชวงศ์ใต้-เหนือก็ถือเป็นยุคที่มีปรากฏการณ์ที่โดดเด่นอยู่ในตัว ความโดดเด่นนี้แสดงผ่านความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธและลัทธิเต้า และการอพยพครั้งใหญ่ของชนชาติต่างๆ ในจีนอีกครั้งหนึ่ง

การอพยพดังกล่าวคือการอพยพครั้งใหญ่ของชนชาติฮั่นที่มุ่งลงทางด้านใต้ของแม่น้ำหยังจื่อ กับการอพยพเข้ามาทางเหนือของชนชาติที่มิใช่ฮั่น การอพยพอย่างแรกได้นำไปสู่การผสมผสานระหว่างชนพื้นเมืองในถิ่นทางใต้กับชนชาติฮั่น ส่วนการอพยพอย่างหลังนำไปสู่การผสมผสานระหว่างชนชาติที่มิใช่ฮั่นกับชนชาติฮั่น

ประเด็นสำคัญของการผสมผสานดังกล่าวก็คือ ปรากฏการณ์จีนาภิวัตน์ (sinicization) ที่ได้เกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง (ดังที่เคยเกิดมาแล้วเป็นระยะเมื่อก่อนหน้านี้) แต่ที่ต่างออกไปสำหรับยุคนี้ก็คือ การผสมผสานในยุคนี้มีลัทธิเต้ากับศาสนาพุทธเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ

ควรกล่าวด้วยว่า แม้หลักหมายของการเกิดยุคราชวงศ์ใต้-เหนือจะมาจากการล่มสลายของราชวงศ์จิ้น พร้อมกับการตั้งตนเป็นใหญ่ของหลิวอี้ว์ผู้โค่นล้มราชวงศ์จิ้นก็ตาม แต่เมื่อยุคนี้เกิดขึ้นจากหลักหมายที่ว่าแล้ว สิ่งที่พบในเบื้องต้นก็คือว่า จีนยังคงถูกแบ่งเขตอิทธิพลเป็นสองส่วนโดยแบ่งเป็นแนวเขตทางเหนือและทางใต้อีกเช่นเคย

เพียงแต่คราวนี้กลุ่มอำนาจที่ยึดครองพื้นที่ที่ว่านี้เป็นกลุ่มใหม่ที่เข้าแทนที่กลุ่มเก่าเท่านั้น

จากนั้นสิ่งที่พบต่อมาก็คือ กลุ่มอำนาจที่อยู่ทางเหนือกลับคือกลุ่มที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ก่อนที่จิ้นจะล่มสลาย กล่าวอีกอย่างคือ เป็นกลุ่มที่มีอำนาจก่อนที่หลิวอี้ว์จะตั้งตนเป็นใหญ่ที่ทางใต้

จากเหตุนี้ งานศึกษาบางที่จึงกล่าวถึงกลุ่มอำนาจที่อยู่ทางเหนือก่อนทางใต้ ถึงแม้กลุ่มที่อยู่ทางใต้จะเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดยุคนี้ก็ตาม แต่งานศึกษานี้จะเริ่มจากการกล่าวถึงกลุ่มอำนาจที่อยู่ทางใต้ก่อน ในฐานะที่เป็นหลักหมายสำคัญของการนำจีนเข้าสู่ยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ

 

เหตุจากราชวงศ์ใต้

ราชวงศ์ใต้เป็นราชวงศ์ที่ประกอบไปด้วยสี่ราชวงศ์ด้วยกันคือ หลิวซ่ง หนันฉี เหลียง และเฉิน และเนื่องจากเป็นยุคที่เริ่มจากเมื่อหลิวอี้ว์โค่นล้มจิ้นตะวันออกจนล่มสลาย ราชวงศ์หลิวซ่งที่ตั้งโดยหลิวอี้ว์จึงเป็นราชวงศ์แรกของยุคนี้

กล่าวคือ เมื่อราชวงศ์จิ้นล่มสลายลงอย่างสนิทแล้ว หลิวอี้ว์ก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ พร้อมกันนั้นก็ตั้งราชวงศ์ขึ้นมาใหม่คือราชวงศ์ซ่ง

แต่ด้วยเหตุที่ซ่งเคยเป็นชื่อรัฐใหญ่รัฐหนึ่งในยุครัฐศึก และภายหลังยุคของหลิวอี้ว์อีกหลายร้อยปีก็ยังเป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งที่มีความสำคัญมากกว่าราชวงศ์ซ่งหรือรัฐซ่งของเขาจึงถูกเรียกว่า ราชวงศ์หลิวซ่งหรือรัฐซ่ง เป็นการเฉพาะเพื่อมิให้สับสนกับซ่งที่เป็นชื่อรัฐหรือชื่อราชวงศ์ดังกล่าว

จะเห็นได้ว่าการเรียกชื่อที่ป้องกันความสับสนดังกล่าวมักพบเห็นได้เสมอสำหรับประวัติศาสตร์จีน ดังจะเห็นได้จากเมื่อก่อนหน้านี้ที่งานศึกษานี้กล่าวถึงยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐไปแล้ว ที่ว่าชื่อบางรัฐในยุคนี้ก็มีชื่อเดียวกับชื่อราชวงศ์ที่สำคัญของจีน และทำให้นักวิชาการต้องเรียกขานชื่อราชวงศ์ใหม่

ทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและเพื่อมิให้เกิดความสับสน