ผ่าความคิด 2 นักการเมืองหญิง “ปชป.-พท.” การเมืองเรื่องของสตรี กับสิ่งที่ “นักเลงคีย์บอร์ด” ยังก้าวไม่ข้าม (สักที)

แม้ว่าตอนนี้จะเป็นปี 2018 โลกไปไกลมากมาย และปีหน้าเราจะได้เลือกตั้งกันแล้ว

แต่หากตรวจตราพื้นที่การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียต่อการปรากฏกายของทายาท หรือผู้สมัครทางการเมือง คนกลับก้าวไม่พ้นวาทกรรมทางเรื่องเพศสภาพ

รายงานพิเศษชิ้นนี้จึงอยากพาไปสำรวจบทบาท ปัญหาและทางออกของเรื่องนี้จาก 2 นักการเมืองวัยที่ยังสดใหม่ กับปลายทางที่อยากจะเห็น

เริ่มที่ รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าพื้นที่ทางการเมืองสำหรับผู้หญิงวันนี้คิดว่าเปิดมาก อย่างพรรคประชาธิปัตย์ถ้ามีฝีมือ ผู้หญิงจะได้โอกาสก่อน

แต่ที่การเมืองไทยยังมีสัดส่วนผู้หญิงน้อย เป็นเพราะผู้หญิงที่เก่งๆ มีความสามารถเขาไม่เลือกที่จะเข้ามาเป็นนักการเมือง ก็คล้ายกับผู้ชายหลายคนมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ดี แต่พอไปเชื้อเชิญให้เข้าสู่เวทีการเมืองทุกคนล้วนปฏิเสธ เพราะทุกคนมองว่าอาชีพนี้มันเสี่ยงเกินไป เข้ามาแล้วไม่อยากจะเปลืองตัวเลย

ยิ่งการใช้เรื่องความเป็นเพศสภาพมาโจมตีเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงไม่อยากจะเข้ามาในสนามการเมือง หลายประเทศทั่วโลกมีปรากฏการณ์ที่ผู้หญิงจะขึ้นมาเป็นผู้นำแต่กลับถูกโจมตีนอกเรื่อง

เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐระหว่างฮิลลารี คลินตัน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ฝ่ายหญิงแทนที่จะโดนโจมตีในเรื่องนโยบาย แต่กลับถูกมองว่าใช้เสียงดัง ชอบตะโกน ยิ้มมากเกินไป ยิ้มน้อย แต่งตัวไม่เข้าท่า มีความเชย

ในขณะที่ผู้ชายไม่ต้องเจอเรื่องเหล่านี้ เลยทำให้คนขยาดการเมือง

หรือมีบางคนกลัวผู้หญิงจะขึ้นมาเป็นใหญ่ จะมีกลุ่มคนมาชูป้ายถึงฮิลลารีว่าให้กลับไปรีดเสื้อที่บ้าน เหมือนกับมองว่าผู้หญิงควรจะทำงานบ้าน อย่ามายุ่งกับงานการเมือง แม้แต่การขึ้นปราศรัย ก็ถูกตำหนิในลักษณะว่า มาทำเป็นใหญ่โต ทำตัวเป็นเจ๊ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ในแวดวงการเมือง ทุกองค์กรไม่ว่าจะรัฐ-เอกชน หรือแม้กระทั่งในครอบครัวมีหมด

ไม่ต้องไปไกล ให้เราสังเกตจากโฆษณาสินค้าน้ำยาถูพื้นส่วนใหญ่ ใช้ผู้หญิงเป็นพรีเซ็นเตอร์เพราะยังมีกรอบคิดว่าผู้หญิงต้องทำงานบ้าน

แต่ถ้าเป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการซื้อบ้าน หรือเรื่องใหญ่ๆ ก็ต้องเป็นบทบาทของผู้ชาย เป็นทัศนคติที่มองผู้หญิงด้อยกว่า อ่อนแอกว่ายังมีอยู่

ในเมืองไทยเวลาพาดหัวข่าวเมื่อมีผู้หญิงเข้าไปในสภา การสื่อก็ยังใช้คำว่า “ดอกไม้ในสภา” เป็น “สีสันทางการเมือง”

ส่วนตัวไม่ได้มีอคติกับคำเหล่านี้ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีคำเหล่านี้มันทำให้น้ำหนักศักดิ์ศรีของความเป็นผู้แทนราษฎรมันลดน้อยถอยลงไป

คนที่จะเข้าไปเป็นผู้แทนประชาชนไม่ได้ต้องการเข้าไปเป็นสีสัน แต่ต้องการเข้าไปทำงาน

แต่ก็เข้าใจว่าที่ผ่านมาพื้นที่ทางการเมืองมันมีแต่ผู้ชายใส่เสื้อสูทสีเข้มๆ เข้าไปในสภา เมื่อมีผู้หญิงเข้าไปบรรยากาศก็สดชื่นขึ้น แต่ถ้าตอกย้ำบ่อยๆ ให้ผู้หญิงเป็นสีสัน ใครสวยที่สุดในสภา พรรคไหนมีนักการเมืองหน้าตาดี มันก็จะวนอยู่กับสิ่งที่เป็น “เปลือก” ของการเมือง

ฉะนั้น การที่คุณจะมานั่งเถียงหรือใส่ใจกับสิ่งที่ไม่ใช่ประเด็นมันก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าจะหยิบยกขึ้นมาเพื่อให้การสนทนามีรสชาติมากขึ้นก็ไม่ผิด แต่ผลสุดท้ายปลายทาง อยากให้สนใจในนโยบายความคิดทางการเมืองของคนคนนั้นรวมถึงความสามารถว่าเขามีคุณสมบัติหรือไม่

แต่ก็เป็นธรรมดา พอผู้หญิงเปิดตัวมาก็สนใจว่า หน้าตาแก่ไหม เชยหรือเปล่า มีแฟนหรือยัง วนอยู่กับการขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัวของเขา การที่คุณไปใส่ใจกับสิ่งที่ไม่ใช่สาระหลัก มันทำให้คุณพลาดโอกาสที่คุณจะเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพราะถ้าคุณมัวแต่ไปวนอยู่กับเรื่องเหล่านั้น คนไม่สวยไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้เป็นนักการเมืองที่ไม่ดี ควรที่จะโฟกัสไปที่นโยบายพรรค น.ส.รัชดากล่าว

ส่วนทางออกในเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ “ต้องใช้เวลา” เพราะเป็นเรื่องของทัศนคติ วัฒนธรรมและความเชื่อ เป็นมุมมองที่ฝังลึกมานาน ยากจะแก้ไข แต่ต้องเรียนรู้ เข้าใจธรรมชาติของคนไม่ว่าเราจะระวังตัวหรือพยายามทำดีแค่ไหน คนที่เขาไม่ชอบเราเขาก็ต้องวิจารณ์เราอยู่ดี ยิ่งในยุคโซเชียลมีเดียต้องทำใจ และระมัดระวังให้มาก

กรณีส่วนตัวที่เคยโดนมาคือ ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญว่าเป็นเรื่องที่ยาก ไม่สามารถฉีกทิ้งได้หรือแก้ไขให้เสร็จได้รวดเร็ว ไม่ว่าเราจะพูดถูกในหลักการอย่างไรแต่ว่าผิดหูคนฟังก็มีคนเข้ามาคอมเมนต์ผ่านโซเชียลมีเดียด้วยคำรุนแรง เช่น อีกระแดะ ซึ่งผู้ชายจะไม่มีวันโดนคำแบบนี้

แต่ผู้หญิงจะโดนจ้องทำลายบุคลิกภาพผ่านการใช้คำ มันเป็นเรื่องที่โหดร้ายและต้องทำใจว่ามันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราคงจะไปห้ามเขาไม่ได้ ถ้าเราเลือกจะทำตัวให้มีคุณค่าต่อสังคม ต้องทำให้คำเหล่านั้นไม่มีความหมาย

ด้านอาจารย์หญิง อรุณี กาสยานนท์ จากนักวิชาการสาวที่อาสาเข้ามาทำงานการเมืองในนามพรรคเพื่อไทย ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก (แข่งกับทีมหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม) มองถึงเรื่องเพศสภาพกับการเมืองว่า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจความเชื่อและวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้วถูกกล่อมเกลาโดยคนในสังคมเพื่อให้เกิดการผลิตซ้ำทางความคิด (culture reproduction) ว่าเวลาพูดถึงผู้หญิง คือ เรื่องความสวยงาม เรื่องเพศสรีระ ผู้หญิงต้องมีบทบาทสำคัญในครอบครัว โดยเฉพาะความเป็นแม่ ความเป็นภรรยาที่ดี

แต่พื้นที่ทางสาธารณะมันไม่ได้ถูกสะท้อนหรือกล่อมเกลาทางสังคมมากนัก ดังนั้น เวลามีผู้หญิงก้าวสู่เวทีการเมือง กระบวนการทางความคิดยังมองเรื่องเพศสรีระเป็นส่วนหนึ่งที่จะถูกหยิบยกมาทำให้เกิดประเด็น

ซึ่งจะว่าไปผู้หญิงกลับถูกกำหนดด้วยกรอบความคิดบางอย่างฝังรากลึกมานาน เริ่มตั้งแต่ความเชื่อในสังคมทางศาสนา เช่น การกล่าวว่าเกิดเป็นผู้หญิงมีกรรมมากกว่าชาย ทำให้บวชก็ไม่ได้ ความเชื่อหลายๆ อย่างนี้มันถูกหล่อหลอมขึ้นมา

ยิ่งในโครงสร้างของอำนาจยังเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่อยู่ การถักทอประสานอำนาจในผู้ชายจึงเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจการเข้ามาสู่บทบาททางการเมืองของผู้หญิงมี 3 รูปแบบใหญ่ๆ เท่าที่เคยศึกษาในงานวิจัยมา

1. ผู้หญิงเข้าสู่การเมืองด้วยตัวเอง คือ เป็นคนที่อยากจะลงเล่นการเมืองโดยพื้นฐานมาจากการพัฒนาตนเอง เช่น เริ่มจากการเป็นผู้นำชุมชน ทำงานอาสา จนพัฒนาบทบาทตัวเองต่อเนื่องนำมาสู่การเป็นตัวแทนทั้งในระดับเลือกตั้งท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ

2. ผู้หญิงที่เข้ามาเล่นการเมืองโดยเข้ามาสืบทอดมรดกทางครอบครัวจากผู้เป็นพ่อเป็นแม่

และสุดท้าย 3. คือการมาเป็นตัวแทนของคนที่ลงสู่สนามไม่ได้ เลยต้องมาลงแทน

สิ่งที่สะท้อนทางการเมืองจาก 3 กลุ่มนี้ คนในประเภทที่ 2 มีฐานมรดกการเมืองของครอบครัวบางส่วนมันเลยเป็นประเด็นว่า ถ้าหน้าตาดีมีผลบวก อาจจะต้องยึดโยงกับเรื่องสรีระหน้าตาทางสังคม เป็น First impression เป็นการเสริมแรงบวก ว่าหน้าตาดีด้วย ครอบครัวมีชื่อเสียงด้วย

แต่ในความเป็นจริง อยากให้มองว่าการเล่นการเมืองของผู้หญิงยุคใหม่ในสถานการณ์แบบนี้ไม่ว่าคุณจะก้าวมาเล่นการเมืองด้วยเหตุผลหรือเงื่อนไขอะไรก็ตาม ยุคนี้คนกลุ่มนี้ต้องมาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกครอบด้วยความเชื่อพื้นฐานวัฒนธรรมแบบเดิมๆ ที่มองผู้หญิงอย่างในอดีต ผู้หญิงในยุคปัจจุบันได้ผ่านการเรียนรู้ในโลกที่หลากหลาย

บางคนมีโอกาสได้ศึกษาต่อต่างประเทศ ความเสรีในทางความคิดถูกเปิดมากขึ้น แต่เราปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าผู้หญิงมักถูกโยง ถูกโจมตีด้วยเรื่องของอารมณ์ส่วนตัว

ผู้หญิงถูกลดคุณค่าโดยมีพื้นฐานจากอารมณ์มากกว่าเหตุผลในบางเรื่อง

ในหลายประเทศ บทบาททางการเมืองของผู้หญิงเขากำหนดสัดส่วนลงไปเลยว่าต้องมีเท่าไหร่ ในไทยเราประชากรผู้หญิงมีมากกว่าชาย เราต้องสนับสนุนส่งเสริมบทบาท

สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในทางการเมืองเมื่อผู้ชายมีอำนาจกล้าตัดสินใจแต่ขาดความรอบคอบ ผู้หญิงที่มีความละเอียดอ่อนและรอบคอบมากกว่าจะทำให้เกิดพลังการเปลี่ยนแปลง

ส่วนตัวคิดว่าต้องปรับกระบวนการคิดของผู้หญิงในบางส่วนและทำความเข้าใจ เพื่อสื่อสารให้คนทั่วไป โดยเฉพาะคนในเพศเดียวกันเข้าใจเนื้อแท้ของสิ่งที่เรากำลังทำ เพราะถ้าคุณไม่เชื่อมั่นในพลังของตนเอง ไม่เชื่อมั่นในพลังของผู้หญิงด้วยกัน หากเพศเดียวกันยังไม่ให้เกียรติเพศเดียวกันเลย ยังด่ากันเองอยู่เลยก็น่าห่วง

ความเชื่อมั่นจากผู้หญิงด้วยกันเองต้องไม่ลดทอนคุณค่าของผู้หญิงด้วยกัน และอย่าปฏิเสธผู้หญิงด้วยกันเองด้วยการกล่าวโจมตีเพียงเพราะเขาไม่ได้เห็นด้วยกับอุดมการณ์ของฝ่ายตนเองหรือไม่ได้สังกัดพรรคที่ตัวเองชื่นชอบ

การที่นักเลงคีย์บอร์ดแสดงออกอย่างนั้น ไม่ได้เป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับคนที่เขาศรัทธาเลย ต้องใช้เหตุผลในการเลือกวิเคราะห์วิจารณ์มากกว่าอารมณ์

สำหรับทางออกในวันนี้ อรุณีมองว่า ถ้าเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องช่วยทำ โดยเฉพาะผู้หญิงต้องให้คุณค่าผู้หญิงด้วยกันเองก่อน เพื่อเกิดการต่อสู้แข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์