สรุปวิธีคิด 10 วิธี ตามหลักพระพุทธธรรม มาใช้กับการบริหาร

การประยุกต์พุทธธรรม มาใช้กับการบริหาร (6)

สรุปวิธีคิด 10 วิธี ตามหลักพระพุทธธรรม

สําหรับการใช้ความคิดให้ถูก อยากจะให้อ่านหนังสือ “วิธีคิด 10 วิธีตามหลักพระพุทธธรรม” ของท่านประยุทธ์ ปยุตฺโต

ใน 10 วิธีนั้นคัมภีร์อรรถกถาได้สรุปออกมาได้ 4 ข้อ

คือ

1.อุปายมนสิการ คือการพิจารณาโดยอุบายหรือคิดถูกวิธี

อุบายมีทั้งทางลบและทางบวก

การงานบางอย่างต้องเลือกใช้อุบายให้เหมาะสม ตัวอย่าง การใช้อุบายมีแม่ทัพคนหนึ่ง นำกองทัพไปออกรบซึ่งมีทหารจำนวนน้อย ฝ่ายตรงข้ามมีทหารจำนวนมาก ถึงจะรบอย่างไรก็ไม่มีหนทางที่จะเอาชนะได้

แม่ทัพจึงคิดอุบายโดยการพาทหารเข้าไปไหว้พระในโบสถ์ และอธิษฐานเสียงดังว่า “ถ้าหากทหารของข้าพเจ้าจะชนะข้าศึกขอให้เหรียญออกหัว”

ว่าแล้วก็โยนเหรียญ ปรากฏว่าเหรียญก็ออกหัว เพื่อความมั่นใจว่าเขาจะชนะหรือไม่ เขาจึงโยนเหรียญเป็นครั้งที่สองและที่สาม ผลก็เหมือนเดิม เมื่อทหารเห็นเข้า จึงเกิดความมั่นใจว่าจะต้องชนะอย่างแน่นอน

เป็นการสร้างกำลังใจให้กับทหาร

วันรุ่งขึ้นเมื่อออกรบสามารถปราบข้าศึกได้หมด ทั้งๆ ที่มีกำลังพลน้อยกว่า

หลังจากนั้นทหารคนสนิทมากระซิบว่าทุกอย่างอยู่ในพระหัตถ์ของพรหมลิขิตพระผู้เป็นเจ้าบอกว่าชนะก็ต้องชนะ

แม่ทัพบอกว่าไม่ใช่พรหมลิขิตหรอก แล้วก็ล้วงเหรียญมาให้ดู

ปรากฏว่าเหรียญนั้นมีหัวทั้งสองด้าน

2.ปถมนสิการ คือคิดเป็นระเบียบ, คิดเป็นทาง, คิดถูกทาง, คิดได้หลายทาง

นอกจากคิดให้เป็นทางแล้ว ต้องให้ถูกทางด้วย ถ้าหากคิดไม่ถูกทางก็เป็นการคิดฟุ้งซ่านไม่เป็นระเบียบมีจิตใจวอกแวก

มีนิทานธรรมบทเรื่องหนึ่ง คือ พระสังฆรักขิตได้จีวรมา 2 ผืน จะเอาใช้เอง 1 ผืน และถวายพระอุปัชฌาย์ซึ่งเป็นหลวงลุง 1 ผืน

แต่พระอุปัชฌาย์ไม่รับ แม้พระสังฆรักขิตจะอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนอีกก็ตาม ท่านก็ไม่รับ

พระสังฆรักขิตเกิดความน้อยใจ ขณะที่กำลังนั่งพัดให้พระอุปัชฌาย์อยู่นั้นท่านก็คิดฟุ้งไปไกลว่าจะเอาผ้าทั้งสองไปขายแล้วซื้อแม่แพะมาเลี้ยงแล้วจึงขายลูกแพะ

เมื่อเก็บรวมรวบเงินได้แล้วจะขอหญิงมาเป็นภรรยา เมื่ออยู่ด้วยกันก็จะมีลูกแล้วพาลูกมาเยี่ยมหลวงลุง

ขณะที่นั่งเกวียนมาเยี่ยมหลวงลุง ระหว่างทางภรรยาเหนื่อยเพราะอุ้มลูก บอกว่า “ช่วยอุ้มหน่อยซี ฉันเหนื่อย” ฉันกำลังขับยานอยู่ เธออุ้มไป

เมียโกรธจึงทิ้งลูกบนพื้นเกวียน พอเด็กเจ็บมันก็ร้อง เราก็โกรธจึงใช้ปฏักตีภรรยาทันที

ขณะที่ท่านคิดฟุ้งซ่านอยู่นั้น ท่านได้ฟาดพัดตรงหัวของหลวงลุงพอดี

หลวงลุงจึงรู้ว่าหลานกำลังคิดอะไรอยู่จึงบอกว่า “สังฆรักขิต เธอโกรธผู้หญิงแล้วทำไมมาตีหัวหลวงลุงล่ะ”

เมื่อท่านสังฆรักขิตรู้ว่าหลวงลุงทราบเรื่องทั้งหมดที่ตนคิด เกิดความละอาย คิดที่จะหนี พวกพระภิกษุจึงช่วยกันจับพาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า อย่างนี้เรียกว่าคิดไม่ถูกทาง

จะสังเกตเห็นได้ว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความคิดก็จะเป็นระเบียบแล้วสามารถมองได้หลายทาง

การที่มีผู้ปรารภว่าครูจะต้องเป็นยอดครูจึงจะสอนจริยธรรมได้ ผมขอเรียนว่ายอดครูนั้นมีเพียงองค์เดียวคือพระพุทธเจ้า นอกนั้นเป็นครูธรรมดา ยิ่งปุถุชนด้วยแล้วจะหาผู้เป็นครูที่สมบูรณ์ทุกอย่างยาก ถ้ามองอีกแง่มุมหนึ่ง ครูจะดีมากดีน้อยไม่ค่อยจะสำคัญเท่าใด ขึ้นอยู่ที่ผู้ศึกษาหรือผู้เรียนว่า รู้จักมอง รู้จักคิดหลายๆ ทาง รู้จักเลือกสรรเอาสิ่งที่ดีจากครูได้มากน้อยเพียงใดอีกด้วย มีบทกวีบทหนึ่งว่า

“สองคนยลตามช่อง

คนหนึ่งมองเห็นเปือกตม

อีกคนตาแหลมคม

มองเห็นดาวอยู่พราวพราย”

แสดงว่ามันขึ้นอยู่กับเราว่า เราจะเอาอะไรจากผู้สอนเราต้องพิจารณาเลือกเฟ้น เราสามารถแสวงหาความรู้จากผู้อื่นได้เสมอ แม้ว่าเขาจะเป็นคนชั่วก็ตาม แต่เราไม่เอาอย่างเขาก็พอแล้ว

อย่างที่พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ท่านให้มองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นครู ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือสิ่งของ สร้างสิ่งเหล่านั้นให้เป็นกัลยาณมิตร

ท่านเลี้ยงลูกสุนัขไว้ตัวหนึ่งตั้งชื่อว่าไอ้สมภาร

วันหนึ่งมีคุณยายมาขอหวยกับท่าน ท่านบอกให้ไปขอกับสมภาร คุณยายจึงตามหาสมภาร มาเจอสามเณร จึงถามสามเณรว่า “ท่านคะ สมภารอยู่ไหนคะ”

สามเณรชี้ไปที่ใต้โต๊ะว่า “นั้นไง สมภารนอนอยู่ใต้โต๊ะ”

ท่านมีวิธีการสอนแปลกๆ รู้จักมองให้มีหลายทาง มีทั้งทางบวกและทางลบ และว่า มีทางเลือกอย่างไร

ตัวอย่างเช่น พระเทวทัตทางฝ่ายหินยานถือว่าเป็นพระชั่ว เพราะจองล้างจองผลาญพระพุทธเจ้าตลอดมา

แต่ฝ่ายจีนถือว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์เพราะพระเทวทัตเป็นเหมือนจุดดำบนผ้าขาวทำให้สีขาวนั้นเด่นชัดขึ้น นั่นคือ ทำให้คุณของพระพุทธเจ้าเด่นชัดขึ้น

เพราะฉะนั้น พระเทวทัตสามารถเป็นพระโพธิสัตว์ได้เหมือนกัน

เปรียบเสมือนคนตาบอดถือตะเกียง เขาถือเพื่อคนตาดีคนชั่วก็สามารถสอนจริยธรรม เราก็ควรรับได้ อย่าไปดูคนสอน แต่ให้ดูสิ่งที่เขาสอน นี้เป็นเรื่องสำคัญประการหนึ่ง

3.การณมนสิการ คือการคิดตามเหตุผล หรือคิดอย่างมีเหตุผล อาจเป็นการคิดโยงจากเหตุไปหาผลหรือโยงจากผลไปหาเหตุก็ได้ คำสอนที่เน้นเรื่องความคิดเห็นเหตุเป็นผลในพระพุทธศาสนาคือ อริยสัจ และ ปฏิจจสมุปบาท หรือ อิทัปปัจจยตา สอนให้สอบสาวถึงเหตุปัจจัยว่าสิ่งทั้งหลายเกิดเพราะมีเหตุปัจจัยอะไรบ้าง จะดับเพราะดับเหตุ ปัจจัยอะไรบ้าง ทำให้เป็นคนรอบคอบ สายตากว้างไกลเป็นคนมีเหตุผล

ความจริงคนไทยโบราณก็สอนให้รู้จักมองเหตุมองปัจจัยให้รอบคอบ ดังเช่นคำทายกันเล่นของเด็กๆ ว่า

ฝนเอยทำไมจึงตก

เพราะกบมันร้อง

กบเอยทำไมจึงร้อง

เพราะท้องมันปวด

ท้องเอยทำไมจึงปวด

เพราะข้าวมันดิบ

ข้าวเอยทำไมจึงดิบ

เพราะฟืนมันเปียก

ฟืนเอยทำไมจึงเปียก

เพราะฝนมันตก

ฝนเอยทำไมจึงตก…

ฟังเผินๆ ก็เป็นการร้องโต้ตอบกันเล่นในหมู่เด็กๆ แต่นั่นแหละคือ “สาร” ที่ผู้เฒ่าผู้แก่โบราณต้องการจะส่งหรือสื่อให้คนรุ่นหลังรู้ว่า ทุกอย่างมันเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัยทุกอย่างมีที่มาไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ และหลายอย่างก็มิได้เกิดมาจากเหตุเดียว หากมีปัจจัยอย่างอื่นเข้ามาสนับสนุนอีกด้วย

เราจึงควรมองให้กว้างและมองให้ลึกถึงเหตุถึงผลจะได้ไม่เข้าใจอะไรผิดๆ หรือตัดสินใจอะไรผิดๆ

4.อุปปาทมนสิการ (หรือ อุปปาทกมนสิการ) คือคิดให้เกิดผล คิดให้เกิดผลที่พึ่งประสงค์ หรือสร้างสรรค์ในทางดี อุปปาทมนสิการ จะต้องมีลักษณะใหญ่ๆ 2 ประการคือ

1. คิดแล้วเกิดความรู้สึกอยากทำ ทั้งนี้ รวมไปถึงอยากที่จะสร้างสรรค์เกิดความกระตือรือร้น ไม่ใช่คิดแล้วเกิดความท้อแท้ ท้อถอย ไม่อยากทำอะไรเลย เรื่องที่คิดนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ เช่น ความยากจน ความร่ำรวย เป็นต้น

เมื่อมองดูตัวเองแล้วเห็นว่าตัวเองเกิดมายากจน ไม่มีทรัพย์สินเงินทองเหมือนคนอื่นเขา แล้วคิดว่าที่เรายากจนนี้ก็เพราะเป็นกรรมแต่ปางก่อนของเรา ชาติก่อนเราคงทำกรรมชั่วไว้มาก มาชาตินี้จึงได้รับผลกรรม คือเกิดมาเป็นคนจน เมื่อคิดอย่างนี้แล้วก็ทอดอาลัยตายอยากไม่ทำอะไร ปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามยถากรรม การคิดเรื่องความจนในแนวนี้ไม่จัดเป็น “อุปปาทมนสิการ” เพราะคิดแล้วไม่เกิดการกระทำ แต่คิดแล้วเกิดความท้อถอย

แต่ถ้าคิดว่า จริงอยู่คนเราเกิดมายากจนหรือร่ำรวยอาจเป็นเพราะผลของกรรมเก่าที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อน แต่ถ้าในชาตินี้เราไม่เกียจคร้าน พยายามทำงานสร้างฐานะเก็บหอมรอมริบไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่เสพสิ่งเสพติด ไม่เล่นการพนัน เราก็อาจจะร่ำรวยขึ้นในวันใดวันหนึ่งได้ ดังตัวอย่างเศรษฐีบางคนที่สร้างตัวขึ้นมาจากฐานะยากจนก็มีไม่น้อย คิดอย่างนี้แล้วก็มีความกระตือรือร้น อาจหาญ ไม่ท้อแท้ พยายามทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร อย่างนี้เรียกอุปปาทมนสิการ

2. การกระทำนั้นต้องเป็นการกระทำในแง่บวก คือ เป็นกุศลและไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนคนอื่น และเบียดเบียนสังคม พูดสั้นๆ ว่าเป็นการกระทำที่สุจริตถูกกฎหมายและศีลธรรม ยกตัวอย่าง กรณีคิดถึงเรื่องความยากจน ความร่ำรวย ดังในข้อที่ 1

ถ้าคิดถึงความยากจนของตัวเองแล้ว นึกว่าเป็นเพราะผลของกรรมในชาติปางก่อนส่วนหนึ่ง แต่เราก็ไม่ย่อท้อต่อความยากจนนั้น พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวให้มีฐานะมั่งมีขึ้นให้ได้

หากการสร้างฐานะของเราเป็นการเบียดเบียนคนอื่น เช่น สร้างโรงงานผลิตสิ่งผิดกฎหมาย กดขี่ข่มเหงคนอื่นใช้แรงงานเหมือนทาส ปล่อยของเสียจากโรงงานลงแม่น้ำลำคลอง สร้างมลพิษให้เกิดขึ้นซึ่งเป็นพิษภัยแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถึงเราจะสร้างฐานะได้ร่ำรวยมั่งคั่งเพราะผลจากความคิดนั้นก็ตาม อย่างนี้ไม่ว่านับเป็นอุปปาทมนสิการ

แต่ถ้าคิดว่าตนเองเกิดมายากจนแล้วไม่ท้อถอยพยายามสร้างฐานะให้แก่ตน ด้วยความขยันหมั่นเพียร ทำงานสุจริตไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม อย่างนี้จึงจะนับว่าเป็นอุปปาทมนสิการ เพราะคิดแล้วเกิดความกระตือรือร้นที่จะกระทำ ที่สร้างสรรค์และการกระทำนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์คนอื่น

เดิมยังมี พี่น้อง สองสหาย

เห็นชาย ง่อยเปลี้ย เสียแข้งขา

หนุนไม้ขอน นอนกรน บนศาลา

วางกะลา ไว้ข้าง ๆ ครางระงม

หนูคนน้อง มองไป ให้สลด

สู้ทนอด เสียสละ ค่าขนม

หย่อนสตางค์ ลงกะลา น่านิยม

แล้วจะก้ม ลงปลุก ให้ลุกดู

พี่ยึดน้อง ร้องห้าม ไปตามด่วน

อย่ารบกวน ปล่อยเขา เถิดเจ้าหนู

น้องจึงว่า ถ้าไม่ปลุก ให้ลุกดู

ไหนจะรู้ ว่าใคร มาให้ทาน

พี่จึงว่า ช่างเถอะน้อง ของพรรณนี้

พระรู้ดี แจ้งประจักษ์ เป็นหลักฐาน

ถึงตีเกราะ เคาะระฆัง ดังกังวาน

ไม่ชื่นบาน เหมือนพระรู้ แต่ผู้เดียว

จาก ดรุณศึกษา