ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 พฤศจิกายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
ทั้งๆ ที่ไม่มีใครมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์หรือไม่
แต่ดูเหมือนทุกคนจะวางใจว่า โดยกรอบของรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งไม่สามารถยื้อไปได้เกินเดือนพฤษภาคม ปี 2562
ดังนั้น แม้จะไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการหาเสียงอย่างไม่เป็นทางการก็เข้มข้นขึ้นตามลำดับ
ลำพังการเปิดตัวพรรคการเมือง การเลือกกรรมการบริหารพรรคของแต่ละพรรคทั้งเก่าทั้งใหม่ก็สร้างความคึกคัก ความมีชีวิตชีวา และสีสันทางการเมืองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความเฉาทาง “การเมือง” ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา
บทเรียนสำคัญที่สุดที่คนไทยและสังคมไทยได้เรียนรู้คือ ถ้ามีคนมาให้เราเลือก ระหว่างความสงบกับประชาธิปไตย เราจะเลือกอะไร?
ก. มีความสงบแต่ไม่มีประชาธิปไตย
ข. มีประชาธิปไตยแต่ไม่มีความสงบ
ท้ายที่สุดเราพบว่า ความสงบที่ไม่มีประชาธิปไตยนั้นไม่มีจริง เพราะเป็นความสงบที่ถูกกดเอาไว้ภายใต้ความกลัว
หนักกว่านั้น มันเป็นความสงบที่ประชาชนไม่สามารถหือ ไม่สามารถอือ ไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง เขาออกกฎหมายอะไรมาก็ต้องก้มหน้ายอมรับไป
พูดง่ายๆ ว่ามันเป็นความสงบที่ทำให้ประชาชนอย่างเรารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นหมูเป็นหมีไม่มีสมอง ไม่มีความคิดสติปัญญา
เขาป้อนอาหารอะไรก็ตั้งหน้าตั้งตากินไปห้ามบ่น
แถมคนที่โยนๆ อะไรมาให้เรากินยังมานั่งทวงบุญคุณกับเราได้ทุกวี่ทุกวัน
สิ่งที่เราเรียนรู้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาคือ เมื่อประชาชนไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองเลย
การฮั้วผลประโยชน์กันระหว่าง “รัฐ” กับ “ทุนผูกขาด” นั้นสามารถเกิดขึ้นโดยไม่ต้องเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่ต้องเกรงใจใคร ไม่ต้องกลัวแม้กระทั่งว่ามันจะดูไม่ดีหรือเปล่า? เพราะไม่มีอะไรให้แคร์เลยจริงๆ
ทุนกับอำนาจรัฐรวมพลังกันเป็นประชารัฐจึงเกิดขึ้นโดยที่ประชาชนได้เศษเสี้ยวส่วนบุญมาเป็นเงินสังคมสงเคราะห์คนละสามร้อยห้าร้อย เพื่อเอาจับจ่ายซื้อสินค้าของ “ทุน” ไปอีก
และในห้วงเวลานี้คำว่า “ทุนสามานย์” ที่เคยเอาไว้ด่าระบบทุนที่มากับการเลือกตั้งก็ดูเหมือนจะหายสาบสูญไปแล้ว
ไม่มีใครพูดเรื่องทุนสามานย์และทุนที่ครอบงำการเมือง ทุนที่ครอบงำพรรคการเมืองที่ต่อไปมีแต่พวกแผ่นเสียงตกร่อง สมองถูกฟรีซเอาไว้ในถังไฮโดรเจนหรือไงไม่ทราบ ที่ยังมานั่งพร่ำพูดว่า เลือกใหม่อีกครั้งอย่าไปเลือกพรรคที่ถูกครอบงำโดยนายทุนอีก – อุเหม่
ตอนนี้ทุนไม่ได้ครอบงำแค่พรรคการเมืองนะ แต่ครอบงำ “การเมือง” และแต่งงานกับ “อำนาจ” ไปแล้วด้วยซ้ำ
ต่อไปนี้เราจะมีประชาธิปไตย แต่บ้านเมืองจะไม่สงบหรือเปล่า?
เราก็ได้เห็นแล้วว่าประโยคนี้เป็นประโยคหลอกลวง ความไม่ลงรอย และความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่สุดของทุกสังคมในโลกใบนี้
เช่น กลุ่มหนึ่งอยากให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ คนอีกกลุ่มไม่อยาก ไม่เห็นด้วย
คนกลุ่มหนึ่งอยากให้กัญชาเป็นยารักษาโรคเสียที อยากให้ปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด คนอีกกลุ่มยังมีความกังวลใจ อยากให้คิดให้รอบคอบก่อน
คนกลุ่มหนึ่งอยากให้ใช้นโยบายประชานิยม คนอีกกลุ่มอยากให้เป็นรัฐสวัสดิการ
คนอีกกลุ่มบอกว่า ให้เป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจสุดขั้ว ฯลฯ เหล่านี้ถือเป็นความขัดแย้ง อันเป็นปกติ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลไปชี้ขาดกันที่เสียงในสภา ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
ส่วนนอกสภา สังคมประชาธิปไตยย่อมเปิดโอกาสให้คนออกมาเดินรณรงค์ ชุมนุม ยื่นจดหมาย ออกเดินเท้าป่าวประกาศประเด็นการต่อสู้ของตัวเอง และตราบเท่าที่การออกมาแสดงประเด็นทางการเมืองบนท้องถนนนั้นไม่ไปก่อให้เกิดความรุนแรงหรือไปละเมิดสิทธิของใคร
การเมืองบนท้องถนน ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยเสมอมา – และนั่นไม่ได้แปลว่าไม่สงบ
ดังนั้น สังคมไทยพึงมีข้อสรุปและตาสว่างเสียทีว่าอย่าให้ใครเอาวาทกรรมเรื่อง “ความสงบ” มาเรียกค่าไถ่แลกเอาประชาธิปไตยของเราไป
และตอนนี้เมื่อทุกพรรคเริ่มเคลื่อนไหว นอกจากเราจะไม่เห็นสัญญาณของความไม่สงบใดๆ ที่มาจากฝ่ายนักการเมือง พรรคการเมือง และมวลชน เรากลับเป็นท่าทีที่ศิวิไลซ์ด้วยกันทุกฝ่าย จะเห็นว่าช่วงนี้มีเวทีจัดแสดงวิสัยทัศน์จากตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ร่วมกันแทบไม่เว้นแต่ละวัน
และทุกคนก็อยู่บนเวทีร่วมกัน อภิปรายกัน คุยกัน ให้เกียรติกันและกัน นอกจากเวทีรุ่นใหญ่ เวทีของ “คนรุ่นใหม่” จากทุกพรรค ก็มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อแสดงทัศนะให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน เพื่อแข่งขันกันให้ประชาชนเห็นว่าใครคือตัวเลือกที่ดีที่สุด
นอกจากงานแสดงวิสัยทัศน์ทางการเมือง ยังมีการจัดกิจกรรมวิ่ง ที่เชิญทุกพรรคมาวิ่งออกกำลังกาย บรรยากาศก็เป็นไปได้ด้วยดี ไม่มีใครลุกขึ้นมาชี้หน้าด่าทอกัน เกลียดชังกัน
นี่คือสัญญาณที่ดีที่สุดในการพิสูจน์ว่า สังคมพร้อมเสียยิ่งกว่าพร้อมสำหรับการเลือกตั้งและประชาธิปไตย
นักการเมืองก็พร้อม พรรคการเมืองก็พร้อม มีแต่คำถามว่า คนที่จะต้องลงจากอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนนั้นพร้อมหรือยัง?
หลายคนแสดงความกังวลใจเรื่องพรรคนอมินีของฝ่ายอำนาจรัฐจนเป็นที่มาของคำว่า “สืบทอดอำนาจ”
หลายคนกังวลใจเรื่องที่มาของ ส.ว. หลายคนกังลใจเรื่องความบริสุทธิ์ ยุติธรรมของการเลือกตั้ง
ความกังวลใจเหล่านี้มีเหตุผลรองรับอย่างยิ่ง ไม่ต้องพูดเรื่องมีรัฐมนตรีตั้งหลายคนควบตำแหน่งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่ชื่อพลังประชารัฐ อันเราคงห้ามคนไม่ให้แคลงใจไม่ได้ว่า เอ๊ อำนาจรัฐที่มีอยู่ในมือจะถูกใช้เพื่อไปอำนวยความได้เปรียบให้กับ “พรรค” ของฝ่ายตัวเองหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม พรรคนี้ซึ่งดูเหมือนจะทำงานกับฐานเสียงสองส่วนคือ
1. เทคโนแครตที่มีโปรไฟล์ถูกใจชนชั้นกลางที่ไม่มีสมองจะประเมินอะไรได้มากเท่ากับจะดูแค่ว่าคนไหนจบเอ็มไอที คนไหนเคยคุมสภาพัฒน์ คนไหนใส่สูทพูดภาษาอังกฤษเพราะๆ พูดไทยคำอังกฤษคำ พ่นคีย์เวิร์ดเก๋ๆ อย่างสตาร์ตอัพ นวัตกรรม โลก 4.0 เกษตรกรรมอัจฉริยะ บ้าๆ บอๆ แต่ไม่มีที่มาที่ไปว่า โครงสร้างพื้นฐานของนวัตกรรมเหล่านั้นคืออะไร? (แต่คีย์เวิร์ดที่ไม่เก๋ ทว่าโป๊ะสุดๆ คือคีย์เวิร์ดที่ว่า รธน.ฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา ไปเสียฉิบ)
2. พลังดึงอดีต ส.ส.ที่มีฐานเสียงเป็นมวลชนในชนบท อดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรีที่คุ้นเคยกับการทำงานในพื้นที่ ซึ่งสมมุติฐานของพวกเขาคือ อดีต ส.ส. เหล่านี้จะกวาดคะแนนจากฐานเสียงที่เลือกเพราะ “ยึดติดบารมีตัวบุคคล” และฐานเสียงเหล่านี้สำคัญยิ่งกว่าเสียงของคนชั้นกลางที่อยากจะเลือกแต่พวกจบฮาร์วาร์ด เอ็มไอที เพราะคนเหล่านี้มีกระจึ๋งเดียว
แต่ฐานเสียง “รากหญ้า” มหาศาล จำเป็นต้องพึ่ง ส.ส. “เจ้าถิ่น” เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงมีอดีต ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองมาร่วมงานกับพรรคนี้
ที่มันตลกและชวนหัวที่สุดคือ อดีต ส.ส.เหล่านี้ล้วนเป็นบุคคลที่หนุนให้โค่นประชาธิปไตย และออกบัตรเชิญการรัฐประหาร ล้วนแต่ร้อง “ยี้” ใส่ทั้งสิ้น
ความชวนหัวของส่วนผสมของพรรคการเมืองนี้ที่ต้องการเสียงทั้งจากชนชั้นกลางและรากหญ้า คือความเป็นไฮบริดระหว่างเทคโนแครตขวัญใจสลิ่มกับอดีตนักการเมืองที่สลิ่มต้องการให้ล้างบางออกจากการเมืองไทย
เพราะฉะนั้น ที่เป่านกหวีดกันมาแทบตาย สุดท้ายก็ได้ลูกผสมของเทคโนแครตกับนักการเมืองกับอดีต นปช. ที่จะเรียกว่านี่คือการปรองดองของจริงก็คงอนุโลมให้เรียกกันไปได้
แต่ส่วนผสมนี้จะทำให้ชนะการเลือกตั้งหรือไม่?
ฉันคิดว่ายากมาก
ต่อให้พรรคพลังประชารัฐมีรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้มานั่งเป็นกรรมการบริหารพรรคถึง 4 คน ที่ในทางเทคนิคแล้ว เราไม่รู้ว่ามันจะทำให้ได้เปรียบในการเลือกตั้งอย่างไร แต่ในทางคะแนนนิยมแล้วมีแต่ติดลบ
ติดลบที่ 1 คือ สังคมตั้งคำถามเรื่องความสง่างามของพวกคุณไปแล้ว
ติดลบที่ 2 เราต้องยอมรับนะว่า ผลงานการบริหารประเทศของเหล่าเสนาบดีเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่ประทับใจมวลชนเลยแม้แต่น้อย จะมาเคลมความสำเร็จทางเศรษฐกิจ สังคมเรื่องอะไรบ้าง ก็นึกไม่ออก นอกจากงานจับมือบีเอ็นเค กับการนำดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้รัฐบาล ปัญหาปากท้องที่เป็นประเด็นใหญ่ที่สุดอันจะเป็นปัจจัยชี้ขาดเรื่องผลการเลือกตั้งนั้น เรียกได้ว่าเคลมความสำเร็จไม่ได้เลย
จะอ้างเรื่องปราบคอร์รัปชั่นยิ่งไปกันใหญ่
คิดว่าจะได้คะแนนจากอดีต ส.ส.เจ้าถิ่นก็ยิ่งยาก เพราะประชาชนส่วนหนึ่งดูคุณภาพของ ส.ส. จากการซื่อตรงต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ผ่านๆ มาที่ชนะการเลือกตั้ง หรือที่ยังได้รับความรักความเอ็นดูจากประชาชนก็เพราะ ส.ส.เหล่านี้สังกัดพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่อยู่ข้างประชาธิปไตย ที่อุดมการณ์แปรผันไปเช่นนั้น จึงไม่เหลือเครดิตใดๆ ในใจประชาชนอีก
คิดดูว่าจะต้องใช้พละกำลังแค่ไหน ในการชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. – หืดขึ้นคอแน่ๆ – แถมกลุ่มที่มา ก็ไม่ใช่กลุ่มที่มีฐานเสียงอันเกิดจากการทำงานพื้นที่จนเข้าตา ปัง ปัง ปัง – เพราะกลุ่มที่เป๊ะ ปังในพื้นที่มากๆ น่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทยมากกว่า
ดังนั้น การมาเจอกันของ ส.ส.ย้ายพรรคที่มามอบตัวกับพรรคพลังประชารัฐ จึงน่าจะเกิดจากการประเมินกันและกันผิด นั่นคือ ต่างฝ่ายก็ต่างคิดว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะกอบกู้ตัวเองให้ “ชนะ” เสียงจากประชาชนกับเขาบ้าง
แต่ในความเป็นจริง – น่าจะไม่
จุดหาเสียงของการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีแค่ 2 ประเด็น
1. ฟื้นฟูประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพของประชาชน – แก้ไขรัฐธรรมนูญ ป้องกันการเกิดรัฐประหารในอนาคต
2. ฟื้นฟูเศรษฐกิจ มีนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนที่ไม่เห็นประชาชนเป็นขอทานรอเศษเงินจากรัฐ
พรรคการเมืองไหนทำสองข้อนี้ได้ ก็น่าจะ “ชนะ” ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ต่อให้กติกาจะดีไซน์ออกมาเพื่อใครก็ตาม