ม.44 กับการเลือกตั้ง อะไรบ้างน่าเป็นห่วง!!

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ม.44 กับการเลือกตั้ง

พลิกหา ม.44 กันว่าอยู่ตรงไหนในรัฐธรรมนูญ 2560 จึงได้ไปพบว่าในบทเฉพาะกาลที่คณะของ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนไว้ในมาตรา 265 วรรคแรก ได้ระบุให้ คสช.ยังคงทำงานต่อไปเรื่อยๆ จนกว่า ครม.ชุดใหม่จะมารับหน้าที่

พอถึงวรรคสอง ก็ให้อำนาจแก่ คสช.มีอำนาจตามเดิมที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557

พอไปพลิกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่เขียนขึ้นมาหลังการยึดอำนาจของ คสช. ไปถึงมาตรา 44 จึงเห็นข้อความที่เขียนไว้ในทำนองว่า หากกรณีใดที่หัวหน้า คสช.เห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปต่างๆ หรือส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีและความสมานฉันท์ของคนในชาติ ฯลฯ หัวหน้า คสช.สามารถใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ โดยให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและถือเป็นที่สุด

ม.44 ที่บอกว่าเป็นอำนาจครอบจักรวาลจึงอยู่ตรงนี้ และจะมีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่

ขีดเส้นใต้หลายๆ เส้นใต้คำว่า “จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่” หมายความถึง แม้จะมีการเลือกตั้ง แม้จะมีผลการเลือกตั้ง แม้จะรู้ว่าพรรคไหนชนะการเลือกตั้ง แม้ว่ารัฐสภาที่ประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คนลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ตราบใดที่ยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ และ ครม.ยังไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ ตราบนั้นการใช้อำนาจ ม.44 ยังคงมีอยู่และออกคำสั่งได้

อํานาจ ม.44 จะไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งได้อย่างไร คำตอบคือได้ทุกเรื่อง โดยหากพิจารณาถึงการใช้อำนาจดังกล่าวในอดีต จะเห็นว่ามีอย่างน้อยสองกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว

กรณีแรก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2561 ปลด กกต.สมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไปให้สัมภาษณ์แถลงข่าวเกี่ยวกับกระบวนการและกำหนดการเลือกตั้งด้วยถ้อยคำไม่สมควร ก่อให้เกิดความสับสนและเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเลือกตั้ง

กรณีที่สอง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2561 ให้ กกต.สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ได้โดยไม่จำเป็นต้องทำตามระเบียบหรือกฎหมาย เนื่องจากได้รับเสียงร้องเรียนจากประชาชนและพรรคการเมืองเป็นจำนวนมากว่าแบ่งเขตไม่เป็นธรรม ซึ่งหมายความว่า ให้ กกต.สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ได้ตามที่เห็นสมควร โดยไม่ต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนใดๆ ได้ และไม่จำเป็นต้องทำตามกรอบเวลาที่กำหนดในระเบียบ ขอให้เสร็จทันก่อน พ.ร.ป.ส.ส.มีผลบังคับใช้ (คือให้เสร็จก่อน 11 ธันวาคม 2561)

มีผู้รู้หลายคนบอกว่า ยังจะมีคำสั่ง ม.44 ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งยังคงมีทยอยตามมาอีกมาก ขอให้รอดู

การใช้คำสั่งขององค์อำนาจดังกล่าว หากเป็นไปในฐานะกรรมการเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เป็นไปเพื่อให้เกิดการปฏิรูปบ้านเมืองปฏิรูปการเลือกตั้ง คงเป็นสิ่งที่น่ายินดีที่นอกเหนือจากการมอบความไว้วางใจให้คณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีคุณสมบัติในด้านความซื่อสัตย์สุจริต เป็นกลาง กล้าหาญ กล้าตัดสินใจแล้ว ยังมีองค์อำนาจที่เหนือกว่ามาคอยกำกับให้เกิดสิ่งที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น แต่หากองค์อำนาจดังกล่าวแปลงร่างจากกรรมการกลายเป็นผู้เล่นเสียเอง สังคมจะเคลือบแคลงสงสัยว่า การออกคำสั่งที่เหนือ กกต.ดังกล่าว จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของใคร

ลองลำดับดูว่า การใช้ ม.44 อาจทำอะไรกับการเลือกตั้งได้บ้าง

และน่าจะส่งผลอะไรตามมา

ประการแรก การสั่งปลด กกต.ได้ ด้วยเหตุผลว่าเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการจัดการเลือกตั้ง อาจทำให้ กกต.ที่อยู่ในตำแหน่งเกิดความไม่มั่นคง การประชุม การลงมติ การตัดสินใจต่างๆ อาจต้องเหลือบแลมายังอารมณ์ความรู้สึกของผู้มีอำนาจ ต้องคาดเดาทิศทางฟ้าฝนต่างๆ หรือไม่ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สังคมสามารถเคลือบแคลงสงสัยได้ คำว่า “ใบสั่ง” อาจจะมีจริงหรือไม่มีจริง แต่หากประชาชนรู้สึกว่า กกต.ขาดความเป็นอิสระ การดำเนินการใดๆ ของ กกต.จนถึงในเรื่องผลการเลือกตั้ง อาจไม่สามารถสร้างการยอมรับจากประชาชนได้

ประการที่สอง การใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.เพื่อให้ กกต.สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งตามใจชอบโดยไม่ต้องเป็นไปตามระเบียบและไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและพรรคการเมือง เป็นการใช้ ม.44 ที่สุ่มเสี่ยงยิ่ง เพราะระเบียบและขั้นตอนเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดให้เกิดการแบ่งเขตที่เป็นธรรม นับตั้งแต่การกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิ์ การพิจารณาพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เขตปกครอง การคำนึงถึงความสะดวกและความคุ้นเคยของประชาชน มีการกำหนดรูปแบบที่แตกต่างกัน 3 รูปแบบ และกำหนดให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและพรรคการเมืองถึง 10 วัน ก่อนนำเสนอ กกต.กลางเพื่อพิจารณา

เมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ออกมาใหม่ คือ คำสั่งที่ 16/2561 แปลความหมายว่า เมื่อ ครม.หรือ คสช.ได้รับเรื่องร้องเรียนถึงการแบ่งเขตที่ไม่เป็นธรรมจากประชาชนหรือพรรคการเมือง ครม.หรือ คสช.สามารถส่งเรื่องให้ กกต.ทบทวนการแบ่งเขตใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องยึดระเบียบหรือกฎหมายใดๆ อีก และให้ถือเป็นที่สุดและเป็นความชอบด้วยกฎหมาย

คงต้องรอดูผลการแบ่งเขตสุดท้ายที่ กกต.จะประกาศออกมาว่าเป็นธรรมหรือไม่ หรือเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์พรรคการเมืองใด เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า ม.44 นั้นได้ใช้เป็นประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศหรือใช้เพื่อการใด

ประการที่สาม คำสั่งหัวหน้า คสช. อาจนำไปสู่การผ่อนคลายให้พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ ยังไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองได้อีกหลายกรณีในอนาคต หากมีเหตุผลว่าเพื่อความจำเป็นในการปฏิรูปการเมือง แม้ว่ากฎหมายพรรคการเมืองที่ร่างโดย กรธ.และผ่านความเห็นชอบโดย สนช.และมีผลใช้บังคับแล้ว แต่หาก คสช.เห็นว่าไม่เหมาะสม ก็อาจมีคำสั่งที่เหนือกว่ามาแก้ไข ดังนั้น หลายเรื่องที่พรรค (บางพรรค) อึดอัด เช่น ต้องมีสาขาพรรค ต้องมีไพรมารีโหวต ต้องเป็นสมาชิกพรรคก่อนเลือกตั้งอย่างน้อย 90 วันจึงจะลงเลือกตั้งได้ ต้องมีทุนประเดิมพรรคการเมือง ต้องมีสมาชิกพรรคจำนวนเท่านั้นเท่านี้ในแต่ละจังหวัดที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง หาก คสช.เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปทางการเมือง ล้วนใช้ ม.44 เพื่อบรรเทาแก้ไขได้ทั้งสิ้น

ประการที่สี่ คำสั่งหัวหน้า คสช. อาจนำไปสู่การออกคำสั่งที่เปลี่ยนแปลงกฎกติกาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ กกต.เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น หาก กกต.กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว หาก คสช.เห็นว่าการจัดการเลือกตั้งในวันดังกล่าวมีปัญหาต่อความมั่นคง ปัญหาต่อความสุขสงบของบ้านเมือง ก็ยังอาจเปลี่ยนแปลงวันเลือกตั้งทั้งประเทศหรือในบางพื้นที่ได้ หรือเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ของคณะกรรมการการเลือกตั้งในทุกระดับ นับแต่ กกต.กลาง กกต.เขต ไปจนถึงกรรมการประจำหน่วยเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพไม่สามารถอำนวยการให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรมได้ หัวหน้า คสช.ก็มีอำนาจเปลี่ยนแปลงได้หมด

หากการจัดการเลือกตั้งในพื้นที่ใดที่กำลังดำเนินการอยู่ หรือจัดไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีผลการเลือกตั้งที่ประกาศแล้วหรือยังไม่ประกาศ หาก คสช.เห็นว่าการจัดการดังกล่าวเป็นไปโดยไม่สุจริต มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น ก็อาจมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ในการให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ต้องรอการตัดสินใจของคณะกรรมการการเลือกตั้งเพราะอาจจะล่าช้า อืดอาด ยืดยาด ไม่ทันการณ์

ม.44 คงเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองในการจัดการเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งไปอีกหลายกรณี ตราบใดที่ผู้ปกครองนั้นเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจที่เป็นธรรมในการจัดการกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อจัดการกับสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ไม่ตรงใจผู้มีอำนาจ

จบท้ายบทความนี้ ในขณะที่ได้ยินเสียงแว่วๆ มาจากห้องเรียนข้างๆ ที่สอนรัฐศาสตร์ วิชาปรัชญาทางการเมือง

“ไม่มีสิ่งใดที่เลวร้ายไปกว่าความเลวร้ายที่ใช้อำนาจทางกฎหมายหรือกระทำในนามกระบวนการยุติธรรม” มองเตสกิเออ นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศสกล่าวไว้เมื่อประมาณเกือบ 300 ปีที่แล้ว