ฉัตรสุมาลย์ : ปลูกผักดูใจ

ในโครงการอบรมพระวินัยนานาชาติที่เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนนั้น ดร.กาญจนา สุทธิกุล แนะนำการปลูกผักและมอบต้นอ่อนของผักสลัดให้ท่านละ 1 ต้น มาในกระถางให้ดูแลเอง

โจทย์สำคัญคือให้เฝ้ามองใจ และดูว่าได้เรียนรู้อะไรในการปลูกผักนี้

ในวันสุดท้ายของโครงการ ให้ผู้เข้าร่วมในการอบรมทั้ง 20 ท่าน/คน ได้นำเสนอผลงาน คือผักที่ปลูก และเล่าประสบการณ์การปลูกผัก

ปรากฏว่าเป็นอะไรที่สนุกสนานและน่าสนใจมาก

ผู้เข้ารับการอบรมมาจาก 6 ประเทศ เราใช้ 3 ภาษาในการพูดคุย ถ้าท่านธัมมนันทาสอนเป็นภาษาอังกฤษ ก็จะมีล่ามแปลเป็นภาษาญวนและล่ามไทยแปลเป็นไทย

เวลาที่สามเณรีญวนนำเสนอ ก็จะมีล่ามแปลเป็นอังกฤษ แล้วถึงจะแปลเป็นไทยอีกทีหนึ่ง

สามเณรีญวน 2 รูปเลี้ยงผักจนตาย เราก็ถามท่านว่า ทำยังไงให้มันตาย ส่วนใหญ่แล้วไม่มีใครมีประสบการณ์การปลูกผักมาก่อน ท่านก็เลี้ยงผักเหมือนกับเลี้ยงคน เอาเข้าไปห้องสอนด้วย พอเห็นผักเฉาก็ให้น้ำ สงสัยรากเน่าเพราะน้ำมากเกิน และไม่ได้แสงแดด

ผักสลัดที่ดูบอบบางนั้น เป็นไม้ที่ชอบแดดมาก

ท่านสุขันติ สามเณรีญวนรูปหนึ่ง น่าสนใจ ตอนที่ท่านรับต้นอ่อนไปนั้น ท่านหยิบต้นที่เล็กและอ่อนแอที่สุดไป ท่านว่าอยากจะดูว่าท่านมีความสามารถที่จะเลี้ยงมันได้ไหม

ท่านมีความเชื่อมั่นว่าทำได้ เป็นข้อสอนใจที่ดี คือศรัทธาและมุ่งมั่นในงานที่ทำ

ท่านยกกระถางเข้าออกเพื่อให้ได้แดด ยกเข้าเมื่อฝนตกหนัก ท่านเฝ้ามอง และพยายามปรับเปลี่ยนเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด

ผักของท่านแข็งแรงดีค่ะ

คุณอุรสุล่า เดิมเป็นชาวเยอรมันแต่แต่งงานไปอยู่อเมริกาหลายสิบปี อายุ 68 ปี ตอนที่นำเสนอ เธอเอาหมวกปิดไว้ ไม่ให้ใครเห็น เธอมีความเพียรมาก คิดแทนผักว่า ถ้าอยู่ที่ระเบียงหลังอาจจะไม่ดี เพราะระเบียงหลังมีขี้นก จึงเอามาไว้ระเบียงด้านหน้า แต่ระเบียงด้านหน้า เป็นด้านที่หันออกสู่ถนนเพชรเกษม เสียงจราจรบนท้องถนน ผักของเธออาจจะได้รับมลภาวะมากเกินไป

เมื่อเห็นผักเหงาไป เธอเอาวิตามินของเธอที่เป็นแคปซูลเทใส่ลงในน้ำ ละลายแล้วเอาไปรดผัก ฟังถึงตรงนี้ พวกเราหัวเราะกันกลิ้ง

เสร็จแล้วเธอก็เปิดหมวกให้เราได้ยลโฉมผักของเธอ หลังจากได้วิตามินเข้าไปแล้วก็ยังดูบอบบางอยู่

ครูสอนบอกว่า ไม่ได้แดด

brfbndeed

มาถึงรายของพี่หมู เช่นเดียวกัน พี่หมูก็เอากระถางใส่ถุงพลาสติกมา ไม่ให้ใครเห็นเหมือนกัน

เธอเล่าว่า พอได้รับโจทย์ว่าต้องปลูกผัก เธอนึกในใจว่า ตายแน่ๆ เพราะปลูกอะไรก็ตายหมด

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว กระถางที่ใส่ผักก็ใหญ่พอควร เวลารดน้ำเพื่อไม่ให้เสียน้ำเปล่าๆ เธอเก็บเมล็ดลูกหว้าที่วัตร เป็นหว้าลูกใหญ่ ใส่ลงไป 2 เมล็ด ใส่เมล็ดมะขาม และขุดต้นอ่อนของผักตำลึงที่ขึ้นอยู่บนดินในสวนใส่ลงไปด้วย

เธอรดน้ำให้กระถางจิปาถะของเธอทุกวัน วันที่เปิดกระถางนำเสนอ ปรากฏว่า ผักก็ไม่ตาย ในทางตรงกันข้าม กลายเป็นสวนพันธุ์ไม้นานาชนิด หว้า 2 ต้นขึ้นคู่กัน ยังเป็นต้นอ่อนสีแดง ประดับด้วยต้นตำลึง ใบเขียวอ่อนที่มีใบ 4 ใบแล้ว ต้นอ่อนของมะขาม 2 ต้น ยังไม่ทิ้งใบเลี้ยง แต่ใบจริงออกแล้ว ดูรู้ว่าเป็นต้นมะขาม สูงประมาณ 2 นิ้ว

โจทย์ที่ให้ไปว่าไปปลูกผัก ผักต้นเดิมก็ไม่ตาย แต่มีต้นไม้อื่นขึ้นมาจนกลายเป็นสวนย่อมๆ น่าดู

นี่คือความกลัวว่ามันต้องตายแน่ เพราะปลูกอะไรไม่เคยงอก ก็เลยคิดนอกกรอบ แต่อยู่ในกติกา คือให้ปลูกผัก ผักก็ยังอยู่ แต่มีต้นอื่นๆ มาแถม

ในความคิดของคนเรานั้น หากไม่จนแต้มกับความรู้สึกเชิงลบที่เป็นทุนอยู่แล้ว เราสามารถผลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้

หมูได้รางวัล 1 ใน 3 ที่นำเสนอค่ะ

dbdrjktly;i'

อีกคนหนึ่ง ก็มีปมในใจ แบ้วตกใจพอๆ กับหมูเมื่อรู้ว่าการบ้านคือให้ปลูกผักสลัดแบ้วไปทำมาหากินอยู่ที่ออสเตรเลีย มาร่วมในโครงการโดยตั้งใจเป็นคนแปลให้กับอาจารย์แม่ชีที่มาด้วย

เมื่อไปอยู่ออสเตรเลียใหม่ๆ นั้น คนไทยที่นั่นสนใจปลูกผักสวนครัว เป็นผักประเภทที่ไม่มีขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ประเภท สะระแหน่ โหระพา กะเพรา ประมาณนั้น เพื่อไม่ให้ตกยุค แบ้วได้เมล็ดมะม่วงมา ก็นำไปเพาะจนออกราก และมีใบเลี้ยงออกมา 2 ใบ

เป็นเรื่องตื่นเต้นมาก เวลากลับจากทำงาน สิ่งแรกที่ทำ คือวิ่งไปดูต้นมะม่วง ที่มี 2 ใบนั่นแหละ เป็นประสบการณ์ที่แบ้วมีความสุขมาก

ต้นมะม่วงน้อยๆ เวลานี้เติบใหญ่จนมีใบ 4 ใบแล้ว แบ้วนึกภาพว่าหลายปีผ่านไป แบ้วจะได้เก็บมะม่วงจากต้นมะม่วงน้อยๆ นี้ หลับตานึกภาพก็มีความสุขไม่น้อย

วันนั้น ทางการประกาศว่า อากาศจะร้อนที่สุดในรอบ 50 ปี คือ ร้อนถึง 48 องศา แบ้วทำงานในห้องแอร์ ไม่ได้สัมผัสกับความร้อน

พอเปิดหน้าต่างไปทักทายต้นมะม่วง

คุณพระช่วย ใบสี่ใบ กรอบเป็นสีน้ำตาล ชนิดที่ ถ้าเอื้อมมือไปจับ มันก็จะร่วงทีเดียวฝันสลาย เป็นความรู้สึกเศร้าใจอย่างบอกไม่ถูก

แบ้วไม่อยากปลูกอะไรอีกเลย ยังจำความรู้สึกของการสูญเสียต้นมะม่วงน้อยนั้นได้ดี คราวนี้ จะมาเรียนพระวินัย ดันมาปลูกผักอีก

ในใจแบ้วเต็มไปด้วยความกลัว กลัวความเจ็บปวดจากการสูญเสีย

แบ้วเลือกเอากระถางผักไปวางไว้ในรั้วต้นไม้ที่อยู่กลางลานในวัตร รดน้ำวันละครั้ง ทุกวันที่ชะโงกไปดู ก็หวั่นไหว กลัวว่าจะต้องเห็นภาพที่ผักตาย กลัวความรู้สึกเจ็บปวด

ห้าวันสุดท้าย แบ้วตัดใจว่า ยังไงก็ช่างหัวมัน ไม่มาดูแล้ว เพราะถ้ายิ่งไปฟูมฟักประคบประหงมแล้วมันตายยิ่งจะเจ็บปวด

โชคดีว่า ช่วงนั้น ฝนตกทุกวัน และตำแหน่งที่แบ้วเอากระถางผักไปวางนั้น ไม่มีอะไรบัง ได้แดดทั้งวัน

ผักของแบ้ว งามที่สุดค่ะ

เพราะไม่ประคบประหงมมันจนผิดธรรมชาติ และการวางตำแน่งได้รับแดดทั้งวัน ถูกอัธยาศัยของผักสลัด ประกอบกับธรรมชาติเป็นใจ มีฝนมาทุกวัน

ที่สำคัญที่สุด สำหรับแบ้ว คือ ประสบการณ์ครั้งนี้ช่วยให้แบ้วออกมาจากปมในชีวิตได้

แบ้วเป็นอีก 1 ใน 3 ที่ได้รับการชมเชยในการนำเสนอ

หลวงพี่เจตนา ถือสัญชาติฝรั่งเศส มีพ่อเป็นญวน แม่เป็นลาว ทั้งสองชาตินี้ ใช้ภาษาฝรั่งเศส หลวงพี่เจตนาไปเกิดที่ฝรั่งเศส หน้าตาเป็นคนเอเชีย แต่พูดอังกฤษและฝรั่งเศส หลวงพี่นำเสนอข้อคิดที่หลวงแม่เองแปลให้แต่ก็ยังอดหันไปมองหลวงพี่ไม่ได้

ท่านว่า ผักนี่มันก็มาจากธาตุทั้งสี่ เหมือนกับตัวท่าน ท่านเองก็อยากเป็นอิสระ ไม่ต้องกลับมาเกิดบนโลกนี้อีกแล้ว แล้วจะมาปลูกผักทำไมเนี่ยะ

คนฟังก็ขำ วิธีคิดของหลวงพี่ มีเสียงคนแซวว่า แต่เรายังต้องกินผักอยู่นะ

หลวงพี่รูปนี้ ท่านทำงานแข็งขันมาก และทำงานเรียบร้อยมากด้วย ล่าสุดทราบว่าท่านแปลงานของหลวงแม่เรื่อง ? Different Voice เป็นภาษาฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว ไม่รู้ว่า จะใช้พิมพ์ได้ไหม ตอนนี้ ให้คนฝรั่งเศสช่วยดูให้อยู่ค่ะ

หลวงพี่เวียดนามก็มีเรื่องมาเล่า ว่าแมวขึ้นไปนอนบนกระถางผักของท่านทำให้ใบหัก ท่านก็โมโหแมว แล้วก็จับความรู้สึกได้ว่า เป็นความโกรธ ท่านย้ายกระถางเข้าๆ ออกๆ พอแดดจัดท่านก็เอาหลบเข้าไปในห้อง (คิดแบบตัวท่านเอง) พอฝนหนัก ท่านก็กลัวว่าผักจะช้ำ เอาหลบเข้าห้องเหมือนกัน

วิธีคิดในการปลูกผัก คือวิธีคิดของตัวท่านเอง ผักของท่านไม่ตาย แต่ผอมเกร็ง เนื่องจากไม่ได้อยู่กับธรรมชาติของผัก แต่มาอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์

การดูแลผักในช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจได้ว่า เราเอาความคิดของเราไปตัดสิน และกระทำต่อคนอื่น สิ่งอื่นอย่างไร

โชคดีที่มนุษย์ด้วยกันยังพูดกันได้ อธิบายให้กันฟังได้ แต่แม้กระนั้น มนุษย์เราก็ถูกปิดกั้นด้วยมานะทิฏฐิ กลับไม่พูดกัน ก็เลยไม่เข้าใจกัน โกรธกันเพราะความไม่เข้าใจกันเสียเป็นส่วนใหญ่

แต่เราชาวพุทธโชคดีที่เรามีคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านำทาง ทำให้เราไม่ผิดเพี้ยนไปไกล

การดูแลผักก็คือการดูแลธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติของผักดังที่มันเป็น โดยที่ไม่เอาตัวเราเข้าไปเป็นเกณฑ์ตัดสิน

เข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่ง ดังที่มันเป็น

เมื่อสัมผัสในระดับการปฏิบัติ เราจึงเข้าใจชัดขึ้น เข้าใจแล้วก็เกิดความประทับใจ