ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 พฤศจิกายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ชกคาดเชือก |
เผยแพร่ |
ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งในต้นปีหน้า การทำหน้าที่ของรัฐบาล คสช. คงยิ่งถูกจับจ้องอย่างหนักจากบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ และประชาชนในวงกว้าง ว่าจะมีพฤติการณ์ใช้เงินงบประมาณเทลงไปสู่ชาวบ้านอย่างผิดปกติ เข้าทำนองการหาเสียงล่วงหน้าก่อนเลือกตั้งหรือไม่
ด้วยความที่แกนนำ คสช.ตระเตรียมการเพื่อจะเดินหน้าทางการเมืองต่อไปในสมัยหน้าอย่างชัดแจ้งแจ่มแจ้ง
ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีพรรคพลังประชารัฐนำเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยอย่างแน่นอน
แล้วพรรคพลังประชารัฐก็ประกอบด้วยรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ถึง 4 คน ที่มีตำแหน่งทั้งหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค โฆษกพรรค
รัฐบาลนี้กับการเข้าสู่สนามเลือกตั้ง เกี่ยวพันกันชัดเจน จัดเตรียมพรรคการเมืองชัดแจ้ง
“จึงหนีไม่พ้นข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้งบประมาณและกลไกต่างๆ เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ!?”
อย่างล่าสุด อัดฉีดเงินกว่าแสนล้านบาท เติมบัตรคนจน ให้ชาวสวนยางพารา สวนปาล์ม ค่าน้ำ ค่าไฟ
“ออกมติเสร็จ นายกรัฐมนตรีก็รีบชี้แจงว่า อย่ามองเป็นเรื่องการแจกเพื่อการเมือง!”
เพราะรู้ดีว่าจะต้องโดนข้อครหาแบบนี้แน่ๆ ซึ่งก็ไม่ผิดคาด
ถัดจากนี้รัฐบาลก็ยังต้องมีอีกหลายมาตรการ ที่ไม่พ้นโดนครหาอย่างมากมายออกมาอีก โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐและงบประมาณรัฐอย่างเอาเปรียบพรรคอื่น
ที่หนักหนาสาหัส ไม่พ้น 4 รัฐมนตรี ที่มีตำแหน่งเป็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ก็คงโดนเสียงเรียกร้องเมื่อไรจะลาออกกระหึ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
“แต่ท่าทีของ 4 รัฐมนตรีก็บ่งบอกว่า ถึงเวลาอันเหมาะสมในเร็วๆ นี้ คงลาออกแน่นอน”
โดยเมื่อไม่นานมานี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่าต้องลาออกแน่นอน เพียงแต่ยังมีงานรับผิดชอบปัจจุบันที่จะต้องเร่งสะสางให้เสร็จ อยากปิดจ๊อบให้เร็ว ไม่เคยคิดจะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่หากออกไปตอนนี้ คนใหม่เข้ามาต้องเรียนรู้ ทำให้เสียเวลา
ฟังแล้วก็คงพอมองออกว่า สุดท้ายแล้วทั้ง 4 รัฐมนตรีลาออกแน่ เพียงแต่ถ้าออกเร็วไป จะส่งผลให้รัฐบาลต้องหาคนมาทำงานทดแทน ครั้นจะปรับ ครม. แล้วหาคนใหม่มาเป็นรัฐมนตรี คงไม่มีใครเอาด้วยแน่ เพราะรัฐบาลชุดนี้เหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่เดือน
ใครจะยอมลาออกจากการงานที่ทำอยู่ ทิ้งเงินเดือนมากมาย แถมต้องโชว์บัญชีทรัพย์สินสารพัด เพื่อมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีที่วันหมดอายุเห็นชัดเจน ว่ามีอีกแค่ 6-7 เดือน
คาดหมายว่าการลาออกของ 4 รัฐมนตรีน่าจะอยู่ในราวสิ้นปีนี้ แล้วตั้งปลัดกระทรวงรักษาการแทน หรือรัฐมนตรีอื่นมานั่งควบแทน
ตามปฏิทินของ คสช.ที่กางออกมาก่อนหน้านี้ ระบุว่าวันเลือกตั้งจะอยู่ราววันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จากนั้นจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่ในเดือนมิถุนายน ซึ่งหมายถึงวันสิ้นสุดอายุของรัฐบาลปัจจุบัน หรืออีก 6-7 เดือนข้างหน้า
แม้ว่าวันเลือกตั้งจะยังแกว่งๆ อาจขยับออกไปอีก เป็นช่วงมีนาคม เมษายน หรือพฤษภาคม ก็จะช่วยยืดอายุให้รัฐบาล คสช.อีกสัก 2-3 เดือน
แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ถือว่าจะมีช่วงเวลามากเกินไป จนสามารถไปชักชวนใครเข้ามาเป็นรัฐมนตรีใหม่ทดแทน 4 รัฐมนตรีที่เตรียมลาออกได้
เป็นไปได้มากที่จะมีการลาออกในเดือนธันวาคม แล้วจากนั้นก็อาศัยการรักษาการแทน โดยใช้ปลัดกระทรวงนั้นๆ หรือรัฐมนตรีคนอื่นที่ยังอยู่
“กระนั้นก็ตาม การลาออกของ 4 รัฐมนตรี ก็คงจะถูกพรรคการเมืองอื่นและทั้งสังคมกดดันต่อไป จนกว่าจะเห็นการลาออกจริงๆ”
หรือเมื่อ 4 รัฐมนตรีลาออกไปแล้ว ถ้ารัฐบาล คสช.ยังควักเงินงบประมาณทุ่มลงไปยังชาวบ้านในเรื่องนั้นเรื่องนี้อีก
“คงถูกวิจารณ์กันหนักหน่วงไม่เลิกรา!”
โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากถึงวันเปิดชื่อว่าอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้ง
วันนั้นคงโดนจับจ้องกดดันอย่างกระดิกตัวได้ยาก
“ภายใต้ข้อหา เอารัดเอาเปรียบ ใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ต่อการหาเสียงเลือกตั้ง อะไรเหล่านี้”
เมื่อเปิดตัวกันโจ่งแจ้งไปหมดแล้วว่า จะเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่จะโดดลงสนามเพื่อชิงอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งแน่ๆ
มีผลเป็นคู่แข่งของพรรคการเมืองทุกพรรคไปโดยปริยาย
คงไม่มีพรรคไหนยอมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
ที่สำคัญ ประชาชนทั่วไป ผู้มีสิทธิมีเสียงในการเข้าคูหากาบัตร เพื่อตัดสินให้พรรคไหนชนะ ให้พรรคไหนมาเป็นรัฐบาล
คงไม่อยากให้การเลือกตั้งขาดความสะอาด เที่ยงธรรม ไม่มีความเสมอภาคในการแข่งขัน!
เมื่อชัดเจนว่า ถ้าการลาออกของ 4 รัฐมนตรีเพื่อลดข้อครหาทับซ้อนนั้นเกิดขึ้นจริงในตอนสิ้นปี จะอยู่ในช่วงเวลาที่รัฐบาลมีอายุไม่เพียงพอสำหรับการปรับ ครม.ใหม่ และจะไม่มีการหาคนมาเป็นรัฐมนตรีใหม่ได้
คนที่จะโล่งอกโล่งใจคนหนึ่ง
“ไม่พ้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ที่โดนข่าวลือว่าจะเป็นรัฐมนตรีทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล”
เมื่อการปรับ ครม.สำหรับรัฐบาลชุดนี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกแล้ว การสร้างข่าวลือว่าจะไปเป็นรัฐมนตรี ก็คงจะหมดน้ำหนักไปอย่างสิ้นเชิง
ถ้าถึงวันที่มีเหตุการณ์ 4 รัฐมนตรียื่นลาออกเกิดขึ้นจริง คงไม่สามารถลือกันได้อีกแล้วว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์จะลุกจาก ผบ.ตร. ไปเป็นรัฐมนตรี
ก่อนหน้านี้ เมื่อมีการปรับ ครม. ก็จะเกิดข่าวลือทุกครั้งพุ่งมายังเก้าอี้ ผบ.ตร. แต่ลงเอยก็เป็นแค่ข่าวลือทุกครั้ง
“แต่การลือคงไม่หยุดหย่อนง่ายๆ เพราะตำแหน่ง ผบ.ตร.นั้นหอมหวานอย่างมาก แถม พล.ต.อ.จักรทิพย์ก็นั่งมาอย่างยาวนาน สร้างสถิตินั่งมา 4 ปีแล้ว มีโอกาสจะครบ 5 ปีค่อนข้างสูง”
ที่น่าตลก ในการลือทุกครั้ง
“จะอ้างว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์จะไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีแทน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร.”
โดย พล.ต.อ.อดุลย์เข้ามาเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่รัฐบาล คสช.ชุดแรก ด้วยหลังจากที่เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีการเด้ง พล.ต.อ.อดุลย์ไปประจำสำนักนายกฯ แต่จากนั้นก็ได้รับแต่งตั้งไปเป็นรัฐมนตรี เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งอะไรกัน
เดิมที พล.ต.อ.อดุลย์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ต่อมาเมื่อมีการปรับ ครม. ก็จะลือว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์จะลุกจาก ผบ.ตร. มาเป็นรัฐมนตรี พม.
“ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เป็นการลือที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล เพราะกระทรวง พม. ไม่ได้เกี่ยวกับงานของตำรวจ และไม่ใช่โควต้าสำหรับ ผบ.ตร.”
จากนั้นเมื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ย้ายมาเป็นรัฐมนตรีแรงงาน
เห็นได้เลยว่าพอมีการปรับ ครม. คราวนี้เกิดข่าวลือว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์จะมาเป็นรัฐมนตรีแรงงาน เพียงเพราะ พล.ต.อ.อดุลย์นั่งเก้าอี้นี้
บ่งบอกความไม่มีเหตุผลของข่าวนี้อย่างสิ้นเชิง
เอาเป็นว่า ถ้า 4 รัฐมนตรีลาออกจริงในเดือนธันวาคม น่าจะเข้าใจกันได้แล้วว่า การปรับ ครม.คงไม่มี
พล.ต.อ.อดุลย์คงนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีตัวเดิม และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ก็นั่งเป็น ผบ.ตร.ดังเดิม!