บทวิเคราะห์ : ถอดรหัส “ถาวร” รับ “สุเทพ” ระวังซ้ำรอยงูเห่าภาค 2 ใน ปชป.

เสร็จศึกการชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระหว่าง “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เข้าวินคัมแบ๊กกลับมานั่งหัวหน้าพรรค ปชป.อีกสมัย เฉือนชัยผู้ท้าชิงอย่าง “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ด้วยคะแนนทิ้งห่างไม่ถึงหมื่นคะแนน ท่ามกลางสถานการณ์ใน ปชป.ที่อยู่ในสภาพเหมือนจะ “เกมจบ” แต่ “คนไม่จบ”

เพราะคะแนนที่ “หมอวรงค์” ภายใต้การสนับสนุนของ “ถาวร เสนเนียม” อดีต ส.ส.สงขลา และอดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. มือขวาคนสำคัญของ “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ตีตื้นคะแนนของ “อภิสิทธิ์” ในศึกชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ถือว่ามีนัยยะทางการเมืองในพรรค ปชป.ที่จะมองข้ามไม่ได้

คะแนนของกลุ่มผู้สนับสนุน “หมอวรงค์” ที่หวังให้ขึ้นมานำทัพเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. ล้วนเป็นพลังมาจากการเดินเกมของ “ถาวร” และทีมงาน ที่หวังจะเป็นม้ากลางศึก ขึ้นมานำทัพสู้ศึกเลือกตั้งในห้วงปี 2562

เพราะหากได้ “หมอวรงค์” ขึ้นมานำทัพ ปชป. คณะกรรมการบริหารพรรค รวมถึงทิศทางการเดินเกมทางการเมืองของ ปชป.ก็จะมาจากทีมงานของ “หมอวรงค์” ที่มี “ถาวร” เป็นกุนซือใหญ่และมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รวมทั้งอดีตแกนนำ กปปส.อีกหลายคน ที่กระจายตัวไปร่วมงานกับทั้งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ทั้ง “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” อดีต ส.ส.กทม.ปชป. ที่ย้ายค่ายมาร่วมงานกับ พปชร. ได้นั่งทำหน้าที่รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งนั่งเป็นกรรมการบริหาร พปชร.ด้วย

เช่นเดียวกับ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” อดีต ผอ.ปชป. ที่สลับขั้ว มานั่งเป็นรองหัวหน้า พปชร. พร้อมกับนำอดีต ส.ก. ส.ข. ในสายของ ปชป.ย้ายมาร่วมงานกับ พปชร.กว่า 10 ชีวิต

แน่นอน เมื่อ “อภิสิทธิ์” และคณะยังกุมความได้เปรียบนำทัพ ปชป. สู้ศึกเลือกตั้ง พร้อมกับประกาศกร้าวว่า นับจากนี้หมดเวลาเกรงใจใคร และจะเดินหน้าเต็มที่นำ ปชป.เป็นพรรคทางหลัก และ ปชป.จะเป็นผู้เลือกเองว่าจะร่วมหรือทำงานกับใคร ไม่ใช่รอให้คนอื่นมาเลือก ปชป.ไปร่วมงาน

ท่าทีและจุดยืนอันแข็งกร้าวของ “อภิสิทธิ์” นำมาซึ่งการตีความและส่งสัญญาณทางการเมือง ที่หลายฝ่ายต่างมองว่า หากเป็น “อภิสิทธิ์” นั่งผู้นำ ปชป. การจะนำพลพรรค ปชป.หลังการเลือกตั้ง ที่เปรียบเสมือนตัวแปรสำคัญในการชี้ขาดการจัดตั้งรัฐบาล หาก พปชร.หวังจะสนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

อาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ที่ “อภิสิทธิ์” และชาว ปชป.จะยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวในฐานะผู้ที่ถูกเลือก โดยที่จะไม่ได้ต่อรองในเงื่อนไขที่ ปชป.จะได้รับประโยชน์ทางการเมืองตามที่ต้องการแบบไม่เกรงใจใคร

นำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของ “ถาวร เสนเนียม” ที่เปิดบ้านพักใน จ.สงขลา เปิดต้อนรับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ที่ปฏิบัติภารกิจ “เดินคารวะแผ่นดิน” ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเปิดรับสมาชิก รปช. ในการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง

ซึ่ง “ถาวร” และ “สุเทพ” ในทางการเมืองถือว่ามองตาก็รู้ใจ แม้จะอยู่กันคนละพรรคแต่ถือว่าใจถึงใจ เพราะฐานเสียงหลักของทั้ง “รปช.” และ “ปชป.” ล้วนมีฐานหลักอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ การเปิดพื้นที่ให้ “รปช.” มาเปิดรับสมาชิกพรรค จึงตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นั่นคือการแอบจับมือกันข้างหลัง ช่วงเสร็จศึกการเลือกตั้ง

เพราะจุดยืนของ “สุเทพ” และ “รปช.” นั้นชัดเจนอยู่แล้วว่า ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ รปช.และพรรคแนวร่วมพันธมิตรที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” อยู่สานต่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หากกระชับสัมพันธ์ ปชป.ให้มาอยู่เป็นพวกเดียวกันได้แล้ว ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น

งานนี้ “อภิสิทธิ์” จึงงัดไม้แข็งขึ้นมาปรามพฤติกรรมของ “ถาวร” ไม่ให้ล้ำเส้นในฐานะสมาชิก ปชป. ด้วยการแต่งตั้ง “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้า ปชป. รับผิดชอบภาคใต้ ขึ้นมาเป็นประธานสอบสวนกรณีดังกล่าวว่าทำผิดข้อบังคับพรรคหรือไม่ ในฐานะที่เป็นสมาชิก ปชป. แล้วให้สมาชิกพรรคอื่นเข้ามาทำกิจกรรมและรับสมาชิกพรรค อาจขัดต่อกฎหมายและขัดต่อข้อบังคับพรรคได้

แม้ผลสอบจะออกมาในทิศทางที่คาดเดากันได้ว่าจะออกไปในรูปแบบการตักเตือน ไม่ให้ทำผิดซ้ำอีก ซึ่ง “อภิสิทธิ์” ระบุว่าได้เคลียร์ใจกับถาวรแล้ว โดยได้อธิบายชี้แจงแนวทางว่า ปชป.มีจุดยืนชัดเจน ไม่มีแนวคิดไปฮั้วพรรคการเมืองใด ดังนั้น การกระทำใดที่จะทำให้สับสน ไขว้เขว ก็ไม่ควรกระทำ

ขณะเดียวกัน “อภิสิทธิ์” ยังคาดโทษไว้ด้วยว่า ต่อไปนี้สมควรให้ทุกคนระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก

ดังนั้น คณะกรรมการบริหารพรรคจึงมีมติว่า หากมีสมาชิกพรรคไปทำกิจกรรมใดๆ ร่วมพรรคอื่น ก่อให้เกิดผลกระทบกับการแข่งขันทางการเมืองต่อ ปชป. จะมีการดำเนินการลงโทษตามข้อบังคับพรรค คือ ไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง และถ้ากรณีร้ายแรงก็ให้สิ้นสมาชิกภาพ

ดังนั้น กรณีของนายถาวรถือว่าจบลงแล้ว ต่อไปสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามมติคณะกรรมการบริหารพรรคอย่างเคร่งครัด

แต่ที่น่าจับตาคือ คลื่นใต้น้ำใน ปชป.จะสงบเงียบได้จริงตามประกาศิตของ “อภิสิทธิ์” หรือไม่ เพราะหลังการเลือกตั้ง หาก พปชร.ดันเข้าป้ายได้ ส.ส.มาเป็นอันดับสอง เงื่อนไขและปัจจัยที่ ปชป.จะต่อรองเพื่อเข้าร่วมรัฐบาล รวมทั้งท่าทีและจุดยืนอันแข็งกร้าวของ “อภิสิทธิ์” ก็จะต้องลดน้อยลงตามไปด้วย

เพราะทางเลือกของ ปชป.หากไม่ร่วมกับ พปชร.เพื่อจัดตั้งรัฐบาล โอกาสที่จะไปจับมือกับพรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน ความน่าจะเป็นแทบจะศูนย์เปอร์เซ็นต์

หาก “อภิสิทธิ์” ยังแข็งกร้าว ยืนกรานในจุดยืนเดิม ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในการประชุมร่วมรัฐสภา อาจจะได้เห็นปรากฏการณ์งูเห่าใน ปชป. โหวตสวนมติพรรค เลือกนายกฯ ตามมติของพรรคพันธมิตรและแนวร่วมก็เป็นได้ กับเหตุผลแบบหล่อๆ ในสายตาแฟนคลับ

นั่นคือ เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้