ฉัตรสุมาลย์ : ไปดูอะไรที่เมืองกาญจน์

พระอวโลกิเตศวร 8 กร

ช่วงโค้งสุดท้ายของการอบรมนานาชาติเรื่องพระวินัย เราพาคณะออกไปทัศนศึกษาที่จังหวัดกาญจนบุรี

โครงการไม่ได้คิดเรื่องนี้มาก่อน แต่ในขณะที่ท่านธัมมนันทาสอนเรื่องอิทธิพลขอมที่เข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยพระเจ้าชัยวรมันนั้น ท่านเล่าว่า อิทธิพลของขอมกว้างไกล ในภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน

แม้ในตะวันออกสุดที่ตำบลสิงห์ ในจังหวัดกาญจนบุรี ยังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ปราสาทเมืองสิงห์ ท่านก็เลยสั่งการในชั้นเรียนนั้นเอง ว่าให้จัดหารถพาคณะไปชมปราสาทเมืองสิงห์ด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ก็จะทราบว่า เส้นทางที่พม่าบุกเข้ามารบกับเราบ่อยๆ ในสมัยอยุธยา ก็มักจะเดินทัพเข้ามาผ่านเมืองกาญจนบุรีนี้แหละ

แต่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มนานาชาติ และมาจากเวียดนาม เราก็เลยนึกว่าจะแวะวัดญวน คือวัดถาวรวราราม ซึ่งอยู่บนถนนก่อนที่เราจะไปสุสานทหารนานาชาติ

หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านให้การต้อนรับอย่างดี แต่ผิดคาดค่ะ ไม่มีพระญวน พระที่อยู่ 28 รูป เป็นพระไทยหมด อย่างมากก็เชื้อสายจีน ไม่มีเชื้อสายญวนเลย

เราก็ไปคิดเอาเองว่า วัดญวนน่าจะมีพระญวน หรืออย่างน้อยท่านจะพูดภาษาญวนได้ อุตส่าห์ไปคุยไว้ว่าจะให้สามเณรีญวนได้ส่งภาษากัน

หลวงพ่อท่านชวนว่า วันที่ 29 มิถุนายน ท่านทูตญวนก็จะมาที่วัด ปรากฏว่า สามเณรีคณะของเราต้องกลับวันที่ 28

พอเรียนท่านว่า คณะเรามาจากวัตรทรงธรรมกัลยาณี ท่านถามว่าที่มีดอกเตอร์ไปบวชใช่ไหม ท่านธัมมนันทาท่านว่า พูดกับตัวจริงเลยค่ะ ท่านตามงานเรื่องภิกษุณีอยู่ เรียกว่าไปไหนก็ไม่อด ก็ขอข้าวท่านกินประมาณนั้น

กราบลาท่านด้วยความรู้สึกอบอุ่น และคราวหน้าต้องหาโอกาสไปกราบพระประธานในโบสถ์ด้วย

จุดถัดมาเป็นสุสานทหารต่างชาติที่มาเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนใหญ่เสียชีวิตในช่วง พ.ศ.2486 มีทั้งอเมริกัน อังกฤษ ออสเตรเลีย เฉพาะเรื่องทหารต่างชาติที่มาเสียชีวิตในสงคราม โดยเฉพาะตอนที่ถูกเกณฑ์แรงงานสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควนี้ เป็นภาพความทุกข์ยากของมนุษย์ที่ถูกกระทำโดยมนุษย์ด้วยกันที่เป็นรูปธรรมที่สุด

ท่านธัมมนันทาสอนสามเณรีว่า เมื่อเข้าไปในสถานที่เช่นนี้ ให้สำรวมใจ อุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณของทหารนานาชาติทั้งหลายด้วย

ที่สุสานนี้ ไม่มีร่างจริง มีเพียงชื่อ สกุล วันเกิด วันตาย เรียกให้เพราะๆ ว่า ชาตะ มรณะ เท่านั้น

ท่านธัมมนันทาหายไปครู่ใหญ่ ท่านพยายามไปดูรายชื่อของทหารที่เสียชีวิตใน พ.ศ.2487 ปีที่ท่านเกิด มีน้อยมาก เพียงประมาณ 20 รายชื่อ เพราะเป็นช่วงที่กำลังทหารญี่ปุ่นเริ่มถอนออกจากพื้นที่แล้ว

นายตำรวจท้องที่ 3 นาย ที่ดูแลการท่องเที่ยว เห็นเราลงมาจากรถบัสคันใหญ่ ก็ออกมาดูแลความเรียบร้อย ขอขอบคุณค่ะ

จุดถัดมา เราพาคณะไปสัมผัสกับสะพานข้ามแม่น้ำแคว ให้ได้ไปถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก น่าสนใจ สามเณรีเวียดนามสนใจซื้อลูกเดือย มีซองลูกเดือยที่ชอบมาแสดงให้ดู เป็นรายการโอท็อปจากน่าน ไม่น่าจะมีที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว แต่เห็นท่านซื้อสาหร่ายที่ทำในเมืองไทยไปกันเยอะ

โยมที่ถวายอาหารกลางวันเอารถมานำไปที่เขื่อนแม่กลอง อยู่ที่อำเภอท่าม่วง เตรียมอาหารกลางวันไว้ต้อนรับพระ 7 โต๊ะ

พอลงจากรถทุกคนอุทานว่า “โอ้โฮ” สถานที่อยู่ริมน้ำ สวยมากค่ะ ฝั่งโน้น เห็นวัดถ้ำเสืออยู่ไกลๆ ญาติโยมอิ่มใจได้ถวายอาหารแก่ภิกษุณีสงฆ์เป็นครั้งแรก ภิกษุณีสงฆ์ก็อิ่มค่ะ อิ่มท้อง ญาติโยมดูแลพระอย่างดี ขอโมทนา

คุณโยมที่เป็นเจ้าภาพเล่าว่าสมัยที่สมเด็จย่าทรงพระชนม์ชีพอยู่ ท่านเคยเสด็จมาทรงเปตองที่นี่ เราไม่สงสัยเลยเพราะเป็นจุดที่วิวสวยมาก

จุดสุดท้ายในการเดินทางของเราในวันนั้น คือ ปราสาทเมืองสิงห์ ที่นี่เดิมเป็นเมืองจริงๆ ปัจจุบันถูกลดความสำคัญลงไปเป็นตำบล คือตำบลสิงห์

เราต้องเสียค่าเข้าชม คนละ 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท พระเณรคนไทยไม่เสีย แต่เณรต่างชาติต้องเสียหรือเปล่า จะถือว่าท่านเป็นต่างชาติ หรือจะถือว่าท่านเป็นพระ ปรากฏว่าไม่เคยมีพระต่างชาติมา ต้องโทรศัพท์ไปถามเจ้านายก่อน เจ้านายว่าให้ผ่านได้ ตกลงเราต้องเสียค่าผ่านประตูให้ฆราวาสที่เป็นต่างชาติ และฆราวาสคนไทย

เรื่องนี้ ท่านธัมมนันทาท่านว่า พม่าเจ๋งกว่าเรา เขาเห็นพระแล้วให้ผ่านหมด ไม่มีการคิดว่า พระต่างชาติหรือไม่ พระก็คือพระ

ที่พระราชวังบางปะอินก็เก็บค่าผ่านประตูพระต่างชาติ โดยคิดว่าท่านเป็นต่างชาติ ตั้งแต่บัดนั้น เราก็เลยไม่มีโครงการพาพระต่างชาติไปอีก เพราะคนจ่ายคือเรา เพราะเราเป็นเจ้าภาพ ไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดหรือยัง ใจกว้างหน่อย มองให้ไกล จะได้ภาพที่งดงาม มาคิดเล็กคิดน้อย และคิดกับพระ ก็ลำบากหน่อย

มิหนำซ้ำบอกด้วยนะว่า ประเทศนี้เป็นประเทศพุทธ พระที่เป็นชาวพุทธท่านอุตส่าห์มาจากบ้านท่าน เราเป็นประเทศเจ้าบ้านยืนเก็บเงินเสียนี่

วันที่เราไปชมปราสาทเป็นวันธรรมดา ผู้คนบางตา คณะของเราตรงไปที่อาคารที่จัดแสดงรูปเคารพก่อน

บรรดารูปเคารพต่างๆ ที่ขุดพบในองค์ปราสาท ขนไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่ ทั้งในอาคารจัดแสดงล้วนเป็นองค์ที่หล่อขึ้นมาแทนองค์เดิม เราก็เห็นด้วย เพราะถ้าอยู่ที่เดิมก็คงไม่มีความสามารถที่จะรักษาความปลอดภัยไม่ให้สูญหายได้

โพธิสัตว์หลัก เป็นพระอวโลกิเตศวร และพระนางปรัชญาปารมิตา

ในอาคารเล็กๆ ที่จัดแสดงนั้น พระโพธิสัตว์หลักคือพระอวโลกิเตศวรที่ว่าไปแล้ว บางองค์พระพักตร์ละม้ายรูปของพระเจ้าชัยวรมันทีเดียว ลักษณะเด่น ใบหน้าสี่เหลี่ยม ริมฝีปากกว้าง พระเนตรปิด หรือมองต่ำ

พระนางปรัชญาปารมิตา หรือปัญญาบารมี เป็นโพธิสัตว์ฝ่ายปัญญา สำหรับที่ปราสาทนี้พบ 4 องค์ สมบูรณ์เพียง 2 องค์ มีเศียรเดียว 2 กร หัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์ หัตถ์ขวาถือดอกบัว

คำอธิบายของพิพิธภัณฑ์ว่า ผ้านุ่งทิ้งชายลงมาตรงๆ ตามแบบศิลปะขอมแบบบายน สตรีนุ่งผ้าไม่มีจีบ ชายผ้าด้านหน้าจะจับย้อยเป็นสามเหลี่ยม คาดเข็มขัดสลักลายดอกไม้

เราเดินออกไปชมโบราณสถานหมายเลข 2 ซึ่งถึงก่อน ลักษณะเหมือนกับโบราณสถานหมายเลข 1 แต่มีลานประกอบพิธีกรรมที่ขยายให้มีพื้นที่กว้างขึ้น มีหลุมเสาเรียงอยู่เป็นระยะ แสดงว่า ใช้เสาเป็นตัวค้ำยันหลังคาที่เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีฐานแท่นประติมากรรม

บางแท่นเหมือนฐานโยนี ซึ่งหินที่ตั้งอยู่ด้านบนควรจะเป็นศิวลึงค์ แต่ที่นี่อธิบายว่า พระพุทธรูปที่อยู่ในห้องที่เป็นปรางค์ประธาน เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก และสันนิษฐานว่า พระชัยพุทธมหานาคที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างแล้วให้นำมาประดิษฐานนั้น น่าจะอยู่ที่นี่

ในโบราณสถานหมายเลข 1 นั้น สัดส่วนงดงามมาก มองทะลุประตูหิน 3 ชั้นเข้าไป เห็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปางเปล่งรัศมี 8 กร ยืนอย่างเป็นสง่า มีพระเนตรที่สามกลางพระนลาฏ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์อมยิ้ม ราวมีชีวิต พระเกตุมาลาเป็นรูปทรงกระบอกปลายตัด มีพระธยานิพุทธองค์เล็กอยู่ที่กลางพระเกศาด้านหน้า เป็นหมายบ่งบอกว่าทรงเป็นพระโพธิสัตว์

เนื่องจากวัสดุที่ใช้เป็นหินแกะสลัก ในท่ายืน ลอยตัวเช่นนั้น ช่างจำเป็นต้องให้ท่อนขาใหญ่และแข็งแรงเป็นพิเศษจึงจะรับน้ำหนักทั้งองค์ได้ อาจจะทำให้ดูไม่สมจริงไปบ้าง

เราเห็นจากประตูด้านหลัง แล้วค่อยๆ เดินอ้อมไป ปีนขึ้นจากด้านหน้า เห็นความงามที่ชวนหลงใหล ทั้งสัดส่วนของตัวปรางค์ และประตูที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ เข้าไป

พื้นที่แคบเรายืนชมความงามได้ไม่นานนัก เพราะมีนักท่องเที่ยวที่อยากได้รูปของท่านเหมือนกัน การที่เรายืนตรงนั้น ทำให้เขาต้องรอ รอให้เราออกไปพ้นวิวที่เขาอยากได้นั่นแหละ เราก็รู้ใจเขาใจเราเหมือนกัน

ตั้งใจน้อมนมัสการ ไม่ใช่เฉพาะรูปเหมือนของพระอวโลกิเตศวรที่ยืนอยู่เบื้องหน้า แต่ส่งจิตไปกราบคารวะพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ทรงบุกเบิกประดิษฐานพุทธศาสนาในดินแดนขอมด้วย

ไม่ต้องไปไกลถึงบายน เราก็ได้สักการะพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเหมือนกัน ในประเทศไทยนี่เอง