เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ปากกาทองท่องโคราช

ไปร่วมงาน “กวีปากกาทอง” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 8-9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ผู้ร่วมงานมีศิลปินแห่งชาติ ไพวรินทร์ ขาวงาม และกวีซีไรต์ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

เป็นโครงการที่จัดโดยธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับตัวแทนจากสมาคมภาษาฯ และสมาคมนักเขียนภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันอุดมศึกษาจากทุกภาคทั่วประเทศ โดยไปจัดตามภาคต่างๆ ภาคละหนึ่งแห่ง

ปีนี้เป็นปีที่สี่ ครั้งที่สี่ มาที่ภาคอีสานเมืองโคราช ครั้งหน้าจะไปที่มหาวิทยาลัยพะเยา

แต่ละครั้งจะมีสถาบันการศึกษาทั้งอุดมศึกษาและมัธยมศึกษามาร่วมด้วยเสมอ

นอกจากเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารกรุงเทพประจำพื้นที่แล้ว ก็มีคณาจารย์ผู้เกี่ยวข้องของสถานศึกษานั้นๆ เข้าร่วมงานสนับสนุนโครงการอย่างดียิ่ง

จำเพาะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา หรือราชภัฏโคราชนี้ เจ้าภาพผู้ร่วมงานคือภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีท่านอธิการบดี รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล และคณบดีคือ ผศ.สกุล วงศ์กาฬสินธุ์ กับอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คนสำคัญคือ อาจารย์วชิรารัตน์ นิรันดร์เดชาภัทร์ หรืออาจารย์มดผู้ขันแข็ง

ขาดมิได้คือ ท่านรองอธิการบดี ผศ.ดร.สามารถ จับโจร ท่านชื่อสามารถ นามสกุลจับโจร จริงๆ

เคยมีคนเขียนถึงในนิตยสารหัวข้อว่า

“ผมไม่ได้เป็นตำรวจ แต่ผมสามารถจับโจร”

อาจารย์สามารถเป็นคนลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นคนมีความสามารถสมชื่อจริงๆ ทั้งภูมิรู้ที่ไม่เฉพาะตัว หากแผ่ประโยชน์ไปรอบด้านอีกด้วย เป็นนักพูดนักสนทนาเจรจาดีเยี่ยม จนอยากจะให้สมญาท่านว่า “สามารถจับใจ” แทน “จับโจร” อีกนามหนึ่งด้วย

ครั้งนี้ท่านร่วมดูแลคณะเราในช่วงสำคัญโดยตลอด ประทับจับใจจริงๆ

นครราชสีมาหรือเมืองโคราชเป็นเมืองใหญ่เมืองสำคัญทั้งในประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน เป็นเมืองที่มีอานาเขตกว้างใหญ่มากเป็นที่หนึ่งของไทยวันนี้ เป็นเสมือนประตูสู่อีสานโดยมีเทือกเขาใหญ่เป็นปราการด่านหน้า

จำเพาะราชภัฏเองก็ตั้งมาได้เกือบร้อยปีแล้ว ผลิตบัณฑิตคนดีคนดังมากมาย กระทั่งศิลปินหลากหลาย

ครั้งนี้ราชภัฏเปิดเวทีด้วยนาฏศิลป์ท่วงทำนองลีลาเทพอัปสรแห่งปราสาทหินพิมาย และลีลาลีดเดอร์ของมหาวิทยาลัย ทำให้เห็นภาพจากโบราณดึกดำบรรพ์ ถึงหนุ่มสาวยุคใหม่ ประสานเชื่อมโยงสู่กันดีแท้ ปิดฉากวันสุดท้ายด้วยวงโปงลางวงใหญ่ว่าเป็นวงชนะเลิศมาแล้วด้วย ไพเราะงดงามตรึงตาตรึงใจยิ่ง

เสียดายที่ศิลปินใหญ่ชาวโคราชไม่อยู่ คือคุณพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ หรือน้าหมูของเรา ติดงานเดินสายอยู่ทางเมืองเหนือ มิฉะนั้น ชาวราชภัฏก็จะได้ชมอีกรูปแบบหนึ่งของดนตรีแห่งยุคสมัย

ลําดับการขั้นตอนของโครงการ “กวีปากกาทอง” นั้น นอกจากได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างวิทยากรและนักศึกษาแล้ว ยังมีวิธีการฝึกปฏิบัติแต่งร้อยกรองทั้งด้วยวิธี “ด้นสด” และเขียนเป็นการบ้านส่งวันรุ่งขึ้น แล้วเลือกรับ “ปากกาทอง” เป็น “กวีปากกาทอง” ประจำครั้งนั้นๆ

ครั้งนี้ผู้ได้รับปากกาทองคือ นางสาวเบญจรัตน์ กวีนันทชัย แห่งคณะมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สถาบันร่วมภาคสำคัญของโคราชเรา

ถ้าโคราชจะหมายถึงโคราชา คือโคที่เป็นพาหนะแห่งองค์พระอิศวร หรือจะหมายถึงราชาแห่งโคคือราชาแห่งโค ก็ดูจะสมกับความเป็นมหาอาณาจักรของ “เขาใหญ่” อันเป็นดั่งปราการย่านเหย้าที่เป็น “สีมา” มณฑลของราชอาณาเขตนี้

สัตว์ใหญ่ ป่าเหย้าเขาใหญ่

ไม้ไล้ลมลิ่ว ปลิวปล่อย

ฟ้ากว้าง ป่ากว้างคว้างลอย

เพชรพลอยแผ่นดิน ถิ่นงาม ฯ

(จากบทเขาใหญ่ใน “เขียนแผ่นดิน”)

นอกจากเขาใหญ่แล้ว เมืองโคราชยังมีเอกลักษณ์คือ “เพลงโคราช” ถือเป็นเสน่ห์แห่งสำเนียงเสียงโคราชอันเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของโคราชด้วย

พรำพรำน้ำฝน บนลานย่าโม

พ่อตอบแม่โต้ ไชยะฉ่าชัย

ยกมือป้องหู รู้จิตรู้ใจ

รำแต้แก้ไข ด้นคิดค้นคำ ฯ

(จากบทเพลงโคราชใน “เขียนแผ่นดิน”)

เสน่ห์เพลงโคราชคือ ถ่ายสำเนียงเสียงพูดของชาวโคราชออกมาด้วยลีลาผสมระหว่างเพลงอีแซวกับลำตัดของภาคกลางและทางลำของหมอลำได้กลมกลืนยิ่ง โดยเฉพาะสร้อยคำ “ไชยะฉ่าชิชัย” นั้นคล้าย “เอ่ชาชะชะชา…หน่อยแม่” ของลำตัด แต่ลีลาเร็วอย่างเพลงอีแซว ซึ่งกลายเป็นเพลง “แร็พ” สากล “ประเทศกูมี” ได้เลย

พิเศษยิ่งของโคราชคือ มี “ปราสาทหินพิมาย” เทวมหาสถานอันเป็นที่พุทธาสถิตองค์สำคัญหนึ่งในประเทศไทย ที่ยังยิ่งใหญ่และงดงามอยู่ทุกวันนี้

สำคัญคือ เป็นพยานยืนยันเส้นทางเผยแผ่ศาสนาสำคัญที่เป็นรากฐานของทั้งพราหมณ์และพุทธโดยผ่านทางอินเดียใต้ไปถึงอินโดนีเซียดังมีพราหมนันและบุโรพุทโธจนถึงเวียดนาม กัมพูชา มาไทยทางสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ลพบุรี มาจนถึงปราสาทเมืองสิงห์ที่กาญจนบุรีเป็นที่สุดแล้ว

ขณะที่พุทธศาสนาเส้นทางสายตะวันออกนั้น เป็นวิถีสุวรรณภูมิจากเมียนมา มีมหาเจดีย์ชะเวดากองและอาณาจักรพุกาม ผ่านไทยด้วยรูปแบบเจดีย์มอญเป็นสำคัญ

วิถีสวนทางระหว่าง “ศิลาแลงกับอิฐมอญ” นี่เอง

ปรางค์ธาตุประธานบรรเทือง

เจิดกระจังประนังเนือง

จตุโลกบาลบริรักษ์

ย่อมมุมซุ้มชั้นหลั่นสลัก

พุทธพิทักษ์

พุทธพราหมณ์พิมายาพิมาย ฯ

(จากบทพิมายใน “เขียนแผ่นดิน”)

งานศิลป์ทั้งปวงมีสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม นาฏกรรม คีตกรรม และวรรณกรรม ล้วนเป็นศิลปะการเล่าเรื่องที่ถ่ายทอดเรื่องเล่าอย่างมีศิลปะ

หัวใจของกวีนิพนธ์ก็เป็นเช่นนั้น

เพชรราชภัฏ

๐ ราชภัฏนครราชสีมา

มิ่งเมืองโคราชาศึกษาสถาน

สร้างภูมิธรรมสำคัญปัญญาญาณ

ร่วมบันดาลให้คนเป็นคนดี

เป็นสีมาปราการอีสานเฮา

เป็นภูเหญ้าเขาใหญ่ไพศาลศรี

เป็นแม่มูลคุณธรรมนำชีวี

เป็นมณีเจียระไนใจแผ่นดิน