เมื่อสิงคโปร์ไม่ให้มอเตอร์ไซค์ของผมเข้าประเทศ : ขี่มอเตอร์ไซค์ จากเชียงใหม่ไปสิงคโปร์คนเดียว

สิ่งที่ผมไม่รู้มาก่อน เกี่ยวกับการขี่มอเตอร์ไซค์ จากเชียงใหม่ไปสิงคโปร์คนเดียว (19)

ย้อนอ่านตอนที่แล้ว (18)

สักพักหัวหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียก็เดินมาคุยด้วย ท่านหัวหน้าเป็นผู้หญิง สวย แล้วก็พูดภาษาไทย

เป็นภาษาไทยที่ชัดยิ่ง ชัดเป็นอย่างยิ่งราวกับเป็นเจ้าของภาษา

“เพราะอะไรสิงคโปร์ถึงไม่ให้คุณเข้าประเทศคะ” “เขาให้ผมเข้าประเทศครับ แต่ไม่ให้มอเตอร์ไซค์ของผมเข้าประเทศ”

หรืออธิบายง่ายๆ ว่า เจ้าสองสูบเสียงเพราะเป็นสิ่งที่มีปัญหากับสิงคโปร์… ไม่ใช่เจ้านายของมัน

ท่านหัวหน้าสาวสวยดูพาสปอร์ตแล้วก็แสดงสีหน้าว่าเข้าใจเหตุการณ์เป็นอย่างดี จึงให้ผมกลับเข้าสู่อ้อมกอดของท่านหัวหน้า เอ้ย อ้อมกอดของมาเลเซียอีกครั้ง หลังจากที่ออกไปประมาณสองชั่วโมงกว่า

“ดีใจมากครับได้ยินคนพูดภาษาไทย” ท่านหัวหน้ายิ้มให้ แล้วผมก็ถามต่อ… เพราะว่าแปลกใจ…หัวหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียพูดภาษาไทยได้ราวกับเป็นเจ้าของภาษา นี่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา “ทำไมคุณถึงพูดภาษาไทยได้ชัดเหมือนเป็นคนไทย” “อ๋อ เคยอยู่ที่ชายแดนไทยมาก่อนค่ะ” ถ้าผมจำไม่ผิด ท่านหัวหน้าบอกว่าเคยอยู่ใกล้ๆ ปัตตานี

ไม่ว่าใครที่อยู่ใกล้ประเทศไทย ก็มักจะพูดภาษาไทยได้ ไม่ละเว้นทั้งพม่า ลาว กัมพูชา หรือมาเลเซีย …คงเป็นเพราะรายการทีวีของเรานั่นเอง

แต่นี่ก็เป็นการคาดเดาล้วนๆ อีกเช่นกัน

หลุดออกมาจากด่านได้ยังคงงงกับชีวิต และถึงแม้พระเจ้าจะประทานการต้อนรับกลับเข้ามาเลเซียโดยให้การต้อนรับเป็นภาษาไทยจากหัวหน้าด่าน ซึ่งถือเป็นปาฏิหาริย์ชนิดหนึ่ง ความกังวลก็กลับมาแทบจะทันทีหลังจากหลุดจากด่านมา

สี่อย่างเมื่อเข้าที่มองหา ร้านทำเอกสารข้ามแดน ร้านแลกเงิน ปั๊มน้ำมันสำหรับเจ้าสองสูบ และร้านอาหารเช้า ยังไม่ได้อะไรสักอย่าง

พิจารณาชีวิต เมื่อเช้ายังขี่มาด้วยความรื่นรมย์ ชีวิตโรยด้วยกลีบกุหลาบ สัมผัสกับสายลม กับเจ้าสองสูบผู้หลงใหลในสายลม ฟลอร่า เดอ อาปาซิโอนาโด เอ็น เอล เวียนโต อย่างมีความสุข

ใกล้เที่ยงกลายเป็นอาชญากร ถูกไล่ออกนอกประเทศ ชีวิตบัดซบสิ้นดี

นึกขึ้นมาได้ ที่เมืองยะโฮบาร์รูห์นี้ มีศูนย์ไทรอัมป์อยู่ บางทีอาจไปตั้งต้นที่นั่น… โอเค มีพิกัดเตรียมไว้อยู่แล้ว กดในแผนที่กู (เกิล) อื่ม อยู่ไม่ไกลจากด่านเท่าไหร่

แล้วก็มุ่งหน้าไปศูนย์ไทรอัมป์

ก่อนจะเข้าศูนย์ ผ่านปั๊มน้ำมันปิโตรนาส จัดไวน์ชั้นเลิศออกเทนเก้าเจ็ดไปเต็มถัง เจ้าสองสูบเสียงเพราะ ฟลอร่า เดอ อาปาซิโอนาโด เอ็น เอล เวียนโต อิ่มหนำสำราญเต็มกระเพาะของมัน

เมื่อไปถึงศูนย์ไทรอัมป์ ผมบอกเขาว่าผมมีปัญหาในการเข้าประเทศสิงคโปร์ และอาจจะมีปัญหาเรื่องยาง เมื่อเช้าตอนจอดแวะเห็นมันเหมือนยางมันลอกออกมา แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามันเหยียบอะไรมา หรือมันลอกออกมา แต่ตอนนี้ผมหิวมาก และร้อนมาก ขอเข้าไปตากแอร์ แล้วหาข้าวกิน แล้วค่อยคุยกัน จะเป็นไปได้ไหม

ไทรอัมป์ยะโฮบาร์รูห์ตอบ “ได้” “เวลคัม ยินดีต้อนรับ” อย่างไม่ลังเล

เข้าไปในศูนย์ นั่งตากแอร์สักพัก จึงเดินออกไปหาอะไรกิน

กินเสร็จก็เดินกลับเข้ามา “ยางรถยูไม่มีปัญหา ยูจะให้ตรวจสอบอะไรอีกไหม” “ไม่ต้อง เพราะสองวันก่อนพึ่งเปลี่ยนโซ่ สเตอร์มา จากไทรอัมป์ปีนัง และขอให้เขาตรวจทุกสิ่งอย่างให้เรียบร้อยแล้ว แต่ที่ไออยากให้ช่วยคือ ช่วยตรวจสอบทีว่าไอสามารถทำประกันโดยไม่ต้องข้ามไปสิงคโปร์ได้ไหม” “โอเค ไอจะลองเช็กให้”

ไทรอัมป์ยะโฮบาร์รูห์ และไทรอัมป์ที่ปีนังเป็นเจ้าของเดียวกัน และเมื่อเบน ซึ่งเป็นผู้จัดการของไทรอัมป์ที่นี่ ได้คุยกับแดเนียลที่เป็นผู้จัดการของไทรอัมป์ปีนัง เขาก็บอกผมว่า “ไอจะพายูไปกินกาแฟในเมือง, แดเนียลฝากให้ไอเลี้ยงกาแฟยู”

ในขณะที่ผมอยู่ในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านวู้ดแลนด์ของสิงคโปร์เมื่อเช้า ผมพยายามส่งเรื่องการทำประกันของผมให้ทีมผมที่อยู่ที่เชียงใหม่ ก่อนที่จะถูกบังคับให้ปิดมือถือ และในที่สุดก่อนจะออกไปกินกาแฟกับเบน ทีมของผมที่เชียงใหม่ก็สามารถทำประกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยเป็นผลสำเร็จ ประกันที่เป็นที่ต้องการของด่านวู้ดแลนด์ ประกันที่จะต้องมีตามกฎหมายสิงคโปร์ สำเร็จเรียบร้อย ครอบคลุมห้าวันตั้งแต่วันนี้ ซึ่งเป็นวันพฤหัสฯ ไปจนถึงวันจันทร์ ถูกส่งมาให้ทางไลน์ ในโทรศัพท์

…แต่ตัวจริงอยู่ไหนไม่รู้

เบนพาผมไปดื่มกาแฟ เขาพาผมไปที่ร้านเพื่อนของเขาที่อยู่กลางเมือง รู้สึกผ่อนคลายลงจากความรู้สึกว่าเป็นอาชญากรข้ามชาติลงไปเป็นอย่างมาก และเราก็ได้แลกเปลี่ยน พูดคุยกัน

เบนไม่ใช่ผู้รักการขี่มอเตอร์ไซค์ แต่เป็นนักเขียน เขาเป็นนักข่าว

แล้วก็เป็นอย่างที่เรารู้กัน อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ถูกรุกไล่จากคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่มากับอินเตอร์เน็ต ถึงแม้มันจะเป็นอารยธรรมที่ช่วยให้วิสัยทัศน์ของจอห์น เลนนอน จับต้องได้ผ่านเฟบุ๊ก อินสตาแกรม จีเมล ฮอตเมล แต่มันก็ไม่ปรานีต่อหลายๆ อย่างที่เป็นอารยธรรมในยุคสมัยก่อนหน้า

อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น

และเบนก็เป็นอีกหนึ่งคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์

เขาไม่ค่อยชอบงานที่เขาทำอยู่มากสักเท่าไหร่ มันไม่ใช่งานที่เขาถนัด อีกทั้งเขาก็ทำผลงานได้ไม่ดีนัก

“งานในเมืองยะโฮร์บาห์รู หายาก อันที่จริงมันยากที่จะหางานทำในมาเลเซีย” เท่าที่เขาบอก “คนจำนวนมากจึงไปทำงานในสิงคโปร์ แต่ไอไม่ค่อยอยากไปทำที่นั่น เพราะก็อย่างที่ยูเจอ การข้ามไปข้ามมาผ่านด่านในชั่วโมงเร่งด่วนมันจะใช้เวลาเป็นชั่วโมงทีเดียว เช้าหนึ่งรอบ เย็นหนึ่งรอบ ไม่ใช่วิถีชีวิตที่ไอสนใจมากนัก ส่วนการเข้าไปอยู่ในสิงคโปร์นั้นตัดไปได้เลยเพราะแพงมาก”

คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงสำหรับหลายคนอาจเป็นคลื่นที่ขึ้นไปเล่นกระดานโต้คลื่นได้อย่างสวยงามเป็นมืออาชีพ แต่สำหรับเบน คลื่นเดียวกันนี้เป็นสึนามิ มันเป็นคลื่นแห่งการทำลายล้าง

คลื่นนั้นพัดเขาให้มาเป็นผู้จัดการไทรอัมป์ ที่นี่ ที่ยะโฮร์บาห์รู

หลังจากที่ใช้เวลาคุยกับเบน พบว่าเขาเป็นคนที่มีคุณภาพสูง มีความสามารถในการเขียน ในการสื่อสาร ในการเข้าใจคน และที่สำคัญ ความสามารถในการคิด

ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดที่เขามี บวกกับเวลาอีกนิดหน่อย ก็มั่นใจได้เลยว่าเขาจะต้องสนุกไปกับการโต้คลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างงดงามเป็นแน่แท้