การศึกษา / ตามติดประเด็นร้อน ปั้นเด็กผี…อัพเกรด ‘บิ๊ก ร.ร.’

การศึกษา

 

ตามติดประเด็นร้อน

ปั้นเด็กผี…อัพเกรด ‘บิ๊ก ร.ร.’

 

มีประเด็นร้อนให้ต้องเคลียร์กันตลอด สำหรับวงการแม่พิมพ์ ล่าสุดกับปัญหาเด็กผี ซึ่ง ‘บิ๊ก ร.ร.’ ลักไก่ นำรายชื่อนักเรียนที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียนมาสวมรอย เพิ่มในทะเบียนข้อมูลอัพเกรดขนาดโรงเรียน หวังผลการไปถึงย้ายผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเริ่มดำเนินการไปในช่วงเดือนสิงหาคม-กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินการย้ายเรียบร้อยแล้ว…

เริ่มจากศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ชัยภูมิ งัดข้อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 30 (ชัยภูมิ) ตั้งคณะกรรมการลงไปตรวจสอบนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง หลังพบความผิดปกติจำนวนนักเรียนไม่เป็นปัจจุบัน เนื่องจากมีข้อสังเกตคือ ชั้น ม.3 ปีการศึกษา 2561 มีนักเรียนเพิ่มขึ้นจากชั้น ม.2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 53 คน และนักเรียนชั้น ม.6 เพิ่มขึ้นจากชั้น ม.5 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 48 คน

จากนั้นมีการเปิดเผยว่า โรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดร้อยเอ็ด มีการรายงานข้อมูลนักเรียนที่เป็นเท็จ โดยในจังหวัดอุบลราชธานี พบกรณีโรงเรียนแห่งหนึ่งนำรายชื่อนักเรียนประมาณ 40 คนจากโรงเรียนที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 60 กิโลเมตรมาใส่ในโรงเรียนตัวเอง

ส่วนจังหวัดร้อยเอ็ดก็พบรายชื่อเด็กผีในลักษณะคล้ายกัน

 

ร้อนถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สั่งให้สะสางครั้งใหญ่ และกำชับ สพฐ. ไปว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนที่รายงานข้อมูลเท็จ ถือว่าผิดวินัยร้ายแรงเช่นเดียวกันกับการทุจริตโครงการอาหารกลางวันที่เป็นเรื่องดังไปเมื่อเร็วๆ นี้

“เรื่องนี้มีข่าวลือว่า ผู้ที่อยากเลื่อนตำแหน่ง ทำข้อมูลเด็กผีขึ้นมา และจ่ายเงินผู้มีอำนาจในจังหวัดให้ดำเนินการเลื่อนให้เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ขณะนี้มีเรื่องปัญหาเด็กผีจริง แต่ก็คิดว่ามีในจำนวนที่ไม่มาก ถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวาดล้างครั้งใหญ่ ชำระให้หมด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ ต้องลงไปสำรวจโรงเรียนทุกแห่ง ขณะที่ในส่วนของ ศธ.เองมีทีมลงไปตรวจด้วย ผู้อำนวยการ สพท.จะต้องดูแลโรงเรียนในพื้นที่ของตัวเองไม่ให้มีเด็กผี ไม่ใช่ดูภาพรวมอย่างเดียว คนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนทำงานด้านการศึกษาและจะมานั่งปั้นตัวเลขเด็กผีเพื่ออะไร” นพ.ธีระเกียรติกล่าว

ขณะที่นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ถึงขั้นเรียกผู้อำนวยการ สพท. รองผู้อำนวยการ สพท. ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้รับผิดชอบงานทะเบียนนักเรียน และบุคลากรผู้รับผิดชอบทั่วประเทศ ถกด่วนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

กำชับว่า จากนี้จะต้องมีการจำหน่ายนักเรียนให้ตรงกับความเป็นจริง หรือหากจำหน่ายไม่ได้ก็จะต้องมีข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง คำว่า เด็กไม่มีตัวตนจะยึดช่องว่างระหว่างข้อมูลวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 โดยโรงเรียนจะต้องดำเนินการจำหน่ายนักเรียนตามแนวทางที่กำหนดภายในวันที่ 15-30 พฤศจิกายน 2561

ขณะเดียวกันให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจนับจำนวนนักเรียนระดับโรงเรียน โดยมีตัวแทนผู้ปกครอง ผู้แทนกรรมการสถานศึกษา ผู้แทน สพท. โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นประธาน เพื่อให้มีคนรับผิดชอบหลัก เพื่อสแกนจำนวนนักเรียนใหม่ 100% ในวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ซึ่งทุกโรงเรียนจะต้องเคลียร์ข้อมูลให้ได้และรายงานข้อมูลจำนวนนักเรียนที่ตรงกับระบบข้อมูลรายบุคคลหรือ DMC ของ สพฐ. ในวันที่ 10 ธันวาคม 2561 โดยจำแนกนักเรียนที่มีความจำเป็นขอรับงบประมาณ และจำนวนนักเรียนที่ยังไม่ประสงค์ขอรับงบฯ เนื่องจากไม่มีตัวตน

และยังไม่สามารถจำหน่ายออกจากทะเบียนได้

 

จากการลงพื้นที่หาข้อมูล พบว่า เด็กที่ไม่มีตัวตนในห้องเรียน มี 2 ประเภท คือ มีชื่อในทะเบียนแต่ไม่มีตัวตน

แบ่งเป็น

  1. มีชื่อแต่ไม่มาเรียน
  2. ขาดเรียนอย่างต่อเนื่องหรือมาเรียนแล้วหายไป
  3. สมรส ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองให้ได้สิทธิในการเรียน ซึ่งต้องหาข้อมูลว่า สมรสแล้วไม่มาเรียน หรือขอพักการเรียนชั่วคราว เช่น ลาคลอด
  4. เจ็บป่วยเรื้อรังต้องรักษาเป็นเวลานาน
  5. ตาย
  6. อพยพย้ายถิ่นขาดการติดต่อ
  7. เรียนที่อื่นแต่ไม่แจ้งย้าย
  8. นักเรียนชั้น ม.3 ไม่จบหลักสูตร ไม่แก้ผลการเรียนหรือแขวนลอย
  9. นักเรียน ม.6 นักเรียนชั้น ม.3 ไม่จบหลักสูตร ไม่แก้ผลการเรียน (แขวนลอย)
  10. ขาดเรียนนานแต่สงวนสิทธิไม่รับวุฒิการศึกษา
  11. รับย้ายจากโรงเรียนอื่นโดยทะเบียนแต่ไม่มีตัวตนเข้าเรียน กรณีนี้กำลังจะถูกสอบวินัยร้ายแรงสถานหนัก ถ้าพบว่าเป็นการเจตนาของโรงเรียนรับย้าย โอนย้ายเพื่อเอาจำนวนนักเรียน แต่ตัวนักเรียนไม่มาจริง เป็นการสร้างหลักฐานเท็จ แต่ถ้ารับย้ายแล้ว วันแรกๆ มาอยู่ๆ หายไปก็ต้องพิจารณาเหตุผลว่า เจตนาหรือไม่
  12. แจ้งย้ายแล้วแต่โรงเรียนปลายทางไม่ตอบรับ เป็นประเด็นทางข้อกฎหมาย หากนักเรียนออกจากโรงเรียนเดิมไป จะต้องไปแจ้งย้ายกับโรงเรียนปลายทาง ขณะที่โรงเรียนปลายทางต้องตอบรับว่าได้รับเด็กแล้ว
  13. กรณีเด็กพิการเรียนร่วมมาเรียนบ้างไม่มาเรียนบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่มาเรียน

ประเภทที่ 2  คือ ชื่อเด็กไปซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เช่น นักเรียนอนุบาลซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือมีชื่อในทะเบียนสังกัด สพฐ. แต่ไปลงทะเบียนเรียนกับสังกัดอื่น

ระบบทะเบียนนักเรียนไม่เป็นปัจจุบันเพราะระเบียบที่ใช้ไม่ได้รับการปรับปรุงมานานมาก ซึ่งหากจำนวนนักเรียนไม่ตรงกับข้อมูลวันที่ 10 พฤศจิกายน มีสาเหตุมาจากระเบียบให้เร่งดำเนินการแก้ไข แต่ถ้าไม่ได้ติดขัดจากระเบียบ มีเจตนาทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนโดยหวังผลประโยชน์เรื่องขนาดโรงเรียน ผลในการย้าย และผูกพันไปถึงงบประมาณที่ต้องจ่ายให้เด็กที่ไม่มีตัวตน เจตนานี้เรารับไม่ได้ ก็จะต้องถูกสอบสวนทางวินัย ซึ่งผมเองได้ย้ำกับรัฐมนตรีว่าการ ศธ.แล้ว ว่าจะจ่ายงบฯ ให้เฉพาะนักเรียนที่มีตัวตนเท่านั้น

ตอนนี้เข้าใจว่าต้องเหนื่อยกันทั้งประเทศ เพราะตั้ง สพฐ.มา 15 ปี ไม่เคยสะสางปัญหาเดิม และก็ไม่เคยสะสางจำนวนนักเรียนแบบนี้ แม้อาจมีไม่มาก แต่ก็ทำให้สังคมไม่สบายใจ เพราะไปผูกพันกับสิทธิการย้ายผู้บริหารและงบประมาณ

  ต้องจับตาดูว่า สพฐ.จะจัดการเรื่องนี้ได้สะเด็ดน้ำหรือไม่ แม้จะเกิดขึ้นในโรงเรียนไม่กี่แห่ง แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงหลักธรรมาภิบาลที่บิดเบี้ยวของคนที่เป็นผู้บริหารโรงเรียน หากปล่อยให้ลุกลามไป จะกลายเป็นบาดแผลซ้ำเติมการศึกษาไทยมากขึ้น…