อ่านแผ่นดินท้องถิ่นของเรา สุจิตต์ วงษ์เทศ “เขมร เดนเขาเลือก”

ในหนังสือราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาว่าบรรพชนชาวเขมรเป็นตะกวด แล้วมีคำทำนายว่า

จำเดิมตั้งแต่นี้ต่อไปภายหน้า เกาะโคกหมันนี้แผ่นดินจะงอกขึ้นอีกใหญ่กว้าง แล้วจะเกิดเป็นนครหนึ่งซึ่งสัตว์ตะกวดมีจิตเลื่อมใสศรัทธามากราบถวายบังคมต่อองค์พระตถาคต โดยอำนาจกุศลที่โสตประสาทได้ยินศัพท์สำเนียงพระสัทธรรมเทศนาแห่งพระตถาคตในเมื่อเวลาสำแดงให้พระยานาคแลฝูงเทวาได้สดับตรับฟัง เมื่อสัตว์ตะกวดนี้สิ้นชีพแล้วจะได้ไปบังเกิดบนสวรรค์ แล้วจะได้จุติลงมาเป็นกษัตริย์องค์หนึ่งครองกรุงอินทปรัตนคร และพระราชบุตรของกษัตริย์องค์นั้นจะได้เสด็จมายังที่ตรงนี้ จึงพระยานาคที่ได้มาฟังพระธรรมเทศนานี้เองจะได้มาสร้างพระนครเป็นพระราชธานีใหญ่ ให้แก่พระราชบุตรของกษัตริย์องค์นั้นประทับอยู่ แล้วขนานนามพระนครเรียกว่ากรุงกัมพูชาธิบดี ส่วนนานาประเทศจะเรียกว่าเขมระภาษา ลุกาลต่อไปภายหน้าพระอินทราธิราชจะได้มาสร้างปราสาทถวาย แล้วเรียกนามเมืองว่าอินทปรัตนครเป็น 2 ชื่อ แลบรรดามนุษยชาติในพระราชธานีนี้จะพูดจาสิ่งใดๆ ไม่ค่อยยั่งยืนอยู่ในสัตยานุสัตย์ โดยบุรพกษัตริย์ผู้ตั้งต้นแผ่นดินมีชาติกำเนิดเกิดจากสัตว์ตะกวด อันมีลิ้นแฝดแตกแยกออกเป็น 2 ซีก

ทัศนะดูถูกเหยียดหยามอย่างนี้น่าจะมีขึ้นราวปลายยุคกรุงศรีอยุธยา ผ่านยุคกรุงธนบุรี ถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะกัมพุชประเทศออ่นแอลงมากแล้ว และกรุงศรีอยุธยาเติบโตขึ้นเป็นมหาอำนาจแทนที่ แม้กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า แต่ก็ฟื้นฟูขึ้นได้ไม่นาน แล้วเหยียดกัมพุชประเทศเหมือนเดิม ดังแสดงออกให้เห็นในเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร ของสุนทรภู่ แต่งถวายรัชกาลที่ 4 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2394-2411) เมื่อ พ.ศ. 2397 มีกลอนตอนหนึ่งว่า

ทำไมกับเขมรเดนเขาเลือก

มีแต่เปลือกสู้ไทยจะได้หรือ

แสดงว่าคนชั้นนำยุครัชกาลที่ 4 มีทัศนะดูถูก“เขมรเดนเขาเลือก” ส่งผลให้การเรียบเรียงราชพงศาวดารเขมรในช่วงเวลานั้น หรือหลังจากนั้นไม่นาน ซึ่งทำในกรุงเทพฯโดยกลุ่มคนชั้นนำทั้งของสยามและกัมพูชา มีน้ำเสียงว่าเขมรเป็นตะกวดมีลิ้น 2 แฉก

ราชพงศาวดาร กรุงกัมพูชา ของ นักองค์นพรัตน ที่นายพันตรี หลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์) แปลจากภาษาเขมร มีข้อความบานแพนก ระบุดังนี้

“๏ ศุภมัสดุ พระพุทธศักราช พระศาสนาล่วงแล้วได้ 2420 พระวรรษา มหาศักราช 1799 จุลศักราช 1239 ณ วันขึ้นค่ำ 1 เดือน 5 ปีฉลูนพศก พระองค์เจ้านพรัตนหริรักษ์ราชาภูบดี เป็นพระบรมราชบุตรมงกุฎสวริโยมงคล รับพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระหริรักษ์รามามหาอิศราธิบดี มหาจักรพรรดิราช ดำรัสเหนือเกล้าฯให้ชำระรวบรวมเรื่องพระราชพงศาวดารของประเทศเขมรขึ้น โดทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นการสมควรยิ่งนักที่จะต้องทราบถึงพระราชวงศ์แห่งกษัตริย์ ซึ่งได้ครองราชสมบัติในประเทศของตน ตั้งแต่ปฐมราชวงศ์สืบต่อมา อนึ่งพระราชพงศาวดารฉบับเก่านั้น สมเด็จพระสุคนธาธิบดี (คณาธิบดีพระธรรมยุติกนิกาย) ได้เรียบเรียงตั้งแต่ครั้งรัชกาลของพระเทวงษ์อัศจรรย์ เป็นลำดับต่อมาจนถึงรัชกาลของกษัตริย์องค์หนึ่ง ซึ่งสามัญนามเรียกกันว่า ตาแตงหวาน (ตาตรอซ๊อกผะแอม) โดยได้ไปสอบถามได้ความจากท่านสังฆราชผู้มีอายุสูง ซึ่งได้จดจำเหตุการณ์แต่กาลโบราณโดยชัดเจนอย่างแน่นอนนั้น มาลำดับรวบรวมเป็นพระราชพงศาวดาร แต่ข้อความยังไม่ค่อยจะพิสดารนัก เพราะมีเพียงลำดับพระนามของกษัตริย์ที่เสวยราชสมบัติมาเท่านั้น หาได้บรรยายถึงเรื่องอื่นที่ควรทราบอีกไม่

บัดนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รวบรวมพระราชพงศาวดารของประเทศเขมร ซึ่งข้อความได้กระจัดกระจายติดอยู่กับหนังสือเรื่องราวต่างๆนั้น มารวบรวมให้เป็นลำดับติดต่อให้ได้ข้อความพิสดาร เป็นเรื่องเดียวกันขึ้น เพื่อเป็นการสะดวกแก่ท่านนักปราชญ์ผู้มีปัญญา จะได้ตรวจตราพิจารณาดูให้รู้เรื่องอันแน่นอนสืบต่อไป

อนึ่ง การรวบรวมพระราชพงศาวดารของประเทศเขมรคราวนี้ ได้เก็บรวบรวมข้อความได้จากหนังสือต่างๆ คือ

(1) ได้จากหนังสือพระราชพงศาวดาร ซึ่งมีอยู่ในมือของพราหมณ์ เป็นผู้เก็บรักษา อันมีข้อความกล่าวตั้งแต่พระพุทธทำนาย แล้วต่อมาถึงพระราชวงศ์ของพระเจ้าเทวงษ์อัศจรรย์ พระเกศมาลาและพระเจ้าปทุมวรวงษ์

(2) ได้จากหนังสือพระราชพงศาวดารไทยเหนือบ้าง ในหนังสือทำนายพระแก้วบ้าง ซึ่งมีข้อความพิสดาร กล่าวถึงพระราชวงศ์ของพระเจ้าอุไทยราช และพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์

(3) ได้จากหนังสือรัตนพิมพวงศ์ ซึ่งมีข้อความกล่าวถึงพระราชวงศ์ ของพระเจ้าเทม็ญไชยโกรพราช ตลอดจนถึงรัชกาลพระเจ้าเสนกราช และพระสิงหกุมาร

(4) ได้จากหนังสือตำรับฤาษีทำนาย ซึ่งมีข้อความกล่าวถึงเรื่องพระเจ้าสังขจักร พระจักรพรรดิราช พระปักษีจำกรุง และเจ้าแตงหวาน (ตาตรอซ๊อกผะแอม)

(5) ได้จากหนังสือพระราชพงศาวดารไทยเหนือและลาวบ้าง ซึ่งมีข้อความกล่าวถึงพระยาแกรก ฤาพระยาตระบองทยุง และพระปักษีจำกรุง

(6) ได้จากหนังสือตำรับตำราแต่โบราณ ที่มีข้อความกล่าวเกี่ยวข้องถึงพระราชพงศาวดารบ้าง

(7) นอกจากนี้ ได้ความจากการไต่ถามแลสืบสวนท่านผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งเป็นโบราณจารย์ผู้มีอายุสูง แลมีความรู้ทรงจำแน่นอน ในข้อความเรื่องราวพระราชพงศาวดารของขัติยมหาราชในกรุงกัมพูชาธิบดี แห่งประเทศเขมร เป็นลำดับตั้งแต่ต้นมาด้วย”

จะเห็นว่าบทว่าด้วยบรรพชนเขมรเป็นตะกวด คือคติสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาก่อน แต่เรื่องมีลิ้น 2 แฉก แต่งขึ้นแล้วเพิ่มเติมข้อความในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2420 (รัชกาลที่ 5 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2411-2453) เป็นยุคที่คนชั้นนำสยามดูถูกเขมรมากแล้ว

นักองค์นพรัตน เป็นเจ้านายชั้นสูงทางกัมพูชาที่ไม่ได้ลงมือค้นคว้าเรียบเรียงด้วยพระองค์เอง แต่ให้”ขี้ข้าเขมร”ทำหน้าที่อยู่ในกรุงเทพฯร่วมกับ”ขี้ข้าสยาม” เลยใส่ข้อความทำนายเรื่องลิ้น 2 แฉกเข้าไป