สุจิตต์ วงษ์เทศ/ ล้อเลียน เสียดสี ประชดประชัน การเมืองในวรรณกรรมและการละเล่น

เพลงทรงเครื่องเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนสร้อยฟ้าศรีมาลาทะเลาะกัน มีตอบโต้ต่อว่าด่าทอถึงพริกถึงขิง ในการละเล่นเพลงชาวบ้านงานแก้บนที่วัดไทร ย่านบางมด บางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ (ภาพของเอนก นาวิกมูล กรกฎาคม 2521)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ล้อเลียน เสียดสี ประชดประชัน

การเมืองในวรรณกรรมและการละเล่น

 

ปั้นเมฆกับเล่นเพลงโต้ตอบแก้กัน เป็นปฏิกิริยาเก่าแก่มากท้าทายอำนาจเหนือธรรมชาติโดยประชาชนชาวบ้าน ด้วยวิธีลีลาประชดประชัน เย้ยหยัน ถากถาง ล้อเลียน เสียดสีอย่างถึงพริกถึงขิง สุดลิ่มทิ่มประตู

ปั้นเมฆ เป็นการละเล่นขอฝนในหน้าแล้ง โดยปั้นดินเหนียวไว้ให้คนเห็นเป็นสาธารณะกลางทุ่งนา หรือกลางชุมชนหมู่บ้าน เป็นรูปอวัยวะเพศหญิงชายสอดใส่กัน หรือรูปคนหญิงชายกำลังสมสู่ร่วมเพศโจ๋งครึ่ม

เพลงโต้ตอบแก้กัน เป็นกลอนหัวเดียวของหญิงชาย เล่นเมื่อปั้นเมฆแล้วแห่นางแมวขอฝน โดยฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายว่าเพลง ฝ่ายหนึ่งต่อว่าด่าทอ อีกฝ่ายหนึ่งก็ร้องแก้ตอบโต้เชิงวิวาทบาดถลุงด้วยถ้อยคำคล้องจอง เรียกสมัยหลังว่า “กลอนแดง” หมายถึง คำหยาบคายโคตรๆ

คำหยาบ เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาอาหาร และเจริญเผ่าพันธุ์

 

เสียดสีการเมืองในละครชาวบ้าน

 

การละเล่นเพลงโต้ตอบแก้กันในปั้นเมฆขอฝน เป็นต้นทางพัฒนาการของละคร (มีรากจากคำมลายูว่า เลกอง) ที่เรียก ละครชาวบ้าน จากนั้นเมื่อสังคมเติบโตก็เรียกผันแปรไปต่างๆ หลายชื่อ ได้แก่ ละครชาตรี, (ละคร) โนรา, ละครนอก

[ละครนอก มีต้นทางจากละครชาวบ้านที่เรียกรวมๆ ว่า โนราชาตรี แต่ปรับเปลี่ยนเอาเครื่องโขนมาแต่ง รัดเครื่องเลียนแบบละครใน แต่ไม่เล่นเรื่องชั้นสูงของละครใน เช่น รามเกียรติ์, อุณรุท, อิเหนา]

ละครชาวบ้านหรือละครนอก มีลักษณะเด่นเป็นที่รู้ทั่วกันในวงการละครประเพณี คือ มีบทด่าทอต่อว่าตกทอดจากเพลงโต้ตอบ มีบทประชดประชัน เย้ยหยัน ล้อเลียน เสียดสี ท้าวพระยามหากษัตริย์หรือเจ้าเมือง (ตรงข้ามละครในที่ยกย่องอย่างยิ่ง) เช่น ท้าวสามล ในละครเรื่องสังข์ทอง เป็นต้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในหนังสือ “นาฏศิลป์ไทย” (ธนาคารกรุงเทพ จำกัด จัดพิมพ์เป็นอภินันทนาการเนื่องในโอกาส ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีอายุครบ 6 รอบ เมื่อ 20 เมษายน 2526 หน้า 18-20) จะคัดบางตอนมาดังนี้

“ละครนอกที่ชาวบ้านเขาเล่นดูกันนั้น ท้าวพระยามหากษัตริย์เป็นตัวตลกทั้งสิ้น ไม่มีความดีอะไรเลย ขี้ขลาดตาขาวสารพัด ท้าวสามลในเรื่องสังข์ทองก็เป็นตัวตลก ท้าวเสนากุฏในเรื่องสังข์ศิลป์ชัยก็เป็นตัวตลก ท้าวสันนุราชในเรื่องคาวีก็เป็นตัวตลก ขึ้นชื่อว่าพระเจ้าแผ่นดินแล้วบทละครนอกเขียนให้เป็นตัวตลกหมด

และแม้แต่บทละครนอกซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์รักษาลักษณะของละครนอกไว้ครบถ้วน คือท้าวพระยา มหากษัตริย์เป็นคนไม่ดี เป็นคนโลเลไม่แน่นอน เป็นคนตลกเลอะเทอะ

แต่คนดีที่เป็นพระเอกจะเป็นชาวบ้าน เช่น ไกรทอง ที่สามารถปราบตะเข้ตะโขงได้ เจ้าเมืองพิจิตรนั้นตะเข้ตัวเดียวก็ปราบไม่ได้ มืออ่อนเท้าอ่อน ส่วนเศรษฐีใหญ่มีเงินมีทองมากมายก็เอาไปใช้ซื้อลูกสาวจากตะเข้ที่มันคาบเอาไปไม่ได้ ต้องหันไปพึ่งไกรทองผู้เป็นวีรบุรุษใหญ่โต เป็นต้น”

 

ภาษีผักบุ้งถูกยกเลิก เพราะถูกเสียดสีจากจำอวดละคร

 

มีคำบอกเล่าเก่าแก่เรื่องหนึ่งว่านายแทนกับนายมี เป็นตัวจำอวด (ตัวตลก) ละครชาวบ้านได้ประท้วงเรื่องขึ้นภาษีผักบุ้งขณะเล่นถวายในราชสำนักอยุธยา

ในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ นายสังมหาดเล็กชาวบ้านคูจามรับผูกภาษี กดราคาซื้อผักบุ้งแต่ถูกๆ แล้วขายขึ้นราคา ราษฎรที่เคยขายซื้อผักบุ้งมาแต่ก่อนก็ได้รับความเดือดร้อน พากันไปร้องทุกข์ต่อข้าราชการผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครนำความขึ้นกราบทูลฯ ด้วยนายสังอ้างว่าทำภาษีเก็บเงินเข้าพระคลังหลวง

ครั้นอยู่มาพระเจ้าเอกทัศมีรับสั่งให้หาละครเข้าไปเล่น จะทอดพระเนตรแก้รำคาญพระราชหฤทัย นายแทนกับนายมีเป็นตัวจำอวดละครที่เข้าไปเล่นนั้นมีตอนหนึ่งพูดว่า “จะเอาเงินมาแต่ไหน จนจะตาย แต่เก็บผักบุ้งขายยังมีภาษี” ว่าอย่างนี้ถึงสองหนสามหน

พระเจ้าเอกทัศได้ทรงฟังก็หลากพระทัย จึงโปรดให้ไต่ถามจำอวดทั้ง 2 คนนั้น ครั้นทรงทราบความตามที่เป็นมาก็ทรงพระพิโรธ มีรับสั่งให้เสนาบดีชำระเร่งเงินคืนให้ราษฎร ส่วนตัวนายสังนั้นเดิมมีรับสั่งจะให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ต่อมาค่อยคลายพระพิโรธ จึงโปรดให้งดโทษประหารชีวิตไว้

 

เพลงการเมือง

 

เพลงโต้ตอบแก้กัน เป็นการละเล่นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเพลงร้องเล่น ซึ่งเติบโตมีพัฒนาการเป็นกลอนเพลงทั้งอย่างสั้นและอย่างยาว ที่เรียก เพลงยาว

เพลงร้องเล่น บางเพลงสอดแทรกเสียดสีการเมืองในราชสำนักสมัยหนึ่งที่ยอมยกอภิสิทธิ์ให้ฝรั่งต่างชาติมีเหนือคนอื่น เช่น เพลงเจ้าการะเกด

เพลงยาว บางเรื่องเป็นการเมืองในราชสำนัก มีลีลาหลากหลาย ทั้งประชดประชัน เย้ยหยัน ถากถาง ล้อเลียน เสียดสี จนถึงด่าทอทำนายทายทักอย่างแช่งชักหักกระดูก เช่น เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

 

เพลงดนตรีไทยที่ถูกกีดกัน

 

เพลงดนตรีและวรรณคดีในการศึกษาไทย ถูกครอบงําให้รู้เห็นด้านเดียวว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ตามแนวนิยามของกลุ่มคนชั้นนําที่ได้เปรียบทางอํานาจ จึงมองไม่เห็นด้านอื่นที่มีหลากหลายในโลกและชีวิต ส่งผลให้กลุ่มคนในวัฒนธรรมคนชั้นนํารับไม่ได้ต่อความคิดต่างในเพลง “ประเทศกูมี” ของกลุ่มแร็พต่อต้านเผด็จการ

คนชั้นนำย้ำว่าเพลงดนตรีไทยมีกลุ่มเดียว คือ เพลงเถา ร้องเอื้อนมากลากยาวเชิงสังวาส ถูกยกย่องเป็นแบบฉบับความเป็นไทย แล้วตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อเพลงดนตรีในวัฒนธรรมป๊อป

พร้อมกับกีดกันเพลงดนตรีร้องเล่นของคนทั่วไป ชุดที่เป็นขนบดั้งเดิมดึกดําบรรพ์นับพันปี เรียกเพลงดนตรีเนื้อเต็ม หรือร้องเนื้อเต็ม (หมายถึงร้องเพลงบรรเลงดนตรีเคล้าคลอพร้อมกันไป) ไม่แปลกแยกแตกต่างจากป๊อป จึงเข้ากันได้ดีกับป๊อป

เช่น เจ้าการะเกด, วัดเอ๋ยวัดโบสถ์, ภูเขาทองร้องไห้, ลามะลิลา, จุดเทียนเวียนวน ฯลฯ เพลงกลอนหัวเดียว คือ ฉ่อย, เทพทอง, อีแซว, ลําตัด รวมถึงหมอลําหมอแคนก็จัดอยู่กลุ่มเดียวกัน