หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ /’ปลายทางและจุดเริ่มต้น’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ปลายทางและจุดเริ่มต้น’

 

บ่ายวันหนึ่ง ที่วัดซับป่าพลู อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี

ผู้คนจำนวนมาก ทั้งหญิงชาย หนุ่มสาว คนแก่ รวมทั้งเด็กๆ ส่วนใหญ่อยู่ในชุดเสื้อผ้าสีดำ ผู้ชายจำนวนไม่น้อยอยู่ในชุดลายพรางป่าไม้ อันเป็นชุดทางการของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

คนทยอยเดินออกจากวัด ลานดินซึ่งเป็นที่จอดรถเริ่มมีเสียงเครื่องยนต์

ผมยืนมองคนเหล่านั้นเงียบๆ ผมมาร่วมพิธี “ส่ง” ลุงเหมือน อดีตพิทักษ์ป่า วัย 70 ปี กับพวกเขา

ในระยะแรกเริ่ม ผมมีโอกาสได้เรียนรู้จากลุงเหมือน ในเรื่องราวของสัตว์ป่าและการใช้ชีวิตในป่ามากมายหลายอย่าง

ลุงเหมือนเดินทางมาถึงปลายทางแล้ว

กลุ่มควันสีดำลอยพ้นขอบปล่องสีขาวนวล

“ปลายทาง” ของลุงเหมือนคือ ผู้พิทักษ์ป่าผู้เอาจริง

แต่ในจุดเริ่มต้นลุงเหมือนคือ คนล่าสัตว์ที่ช่ำชอง

กลุ่มควันสีดำลอยขึ้นสูง นกพิราบกลุ่มใหญ่ที่ตกใจเสียงพลุ และบินออกไป กลับมาเกาะที่ต้นมะขามเทศดังเดิม

คล้ายกับว่า ไม่สำคัญหรอกว่า เริ่มต้นมาเช่นไร

ความหมายของชีวิต ซึ่งคนจะจดจำนั้นดูเหมือนจะอยู่ที่ปลายทาง

 

ปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.2561

อำเภอแม่แจ่ม

แสงแดดยามบ่ายสาดส่องนาข้าวซึ่งกำลังตั้งท้องแก่เป็นสีทอง ด้านหลังทุ่งนาคือ แนวเขาอินทนนท์ สูงทะมึน หลายปีที่อยู่บนนั้น กับการเฝ้ารอกวางผา หลายครั้งตรงจุดที่กวางผายืน ผมมองลงมาเห็นพื้นที่บริเวณนี้

วันนี้ ผมยืนอยู่ริมทุ่งนา มองขึ้นไปข้างบน

สันเขามีหมอกปกคลุม ผมรู้สึกราวกับความเย็นยะเยือกแผ่ลงมาถึงข้างล่าง

บนนั้น ทุกๆ เช้าที่หมอกไม่หนาทึบในช่วงฤดูหนาว ผมจะเห็นดวงอาทิตย์กลมโตสีส้ม ค่อยๆ โผล่พ้นขอบฟ้า แนวเขาซับซ้อน ยอดสูงใหญ่ของดอยผาขาว อันเป็นยอดสูงลำดับที่สองบนทิวเขาแห่งนี้ ปรากฏให้เห็น

เช้ามืด การผละออกจากถุงนอนอันอบอุ่นไม่ง่าย ต้องใช้กำลังใจไม่น้อย

ในความมืด ผมควานหาเสื้อกันหนาวขึ้นสวม หลังพิงผนังเต็นท์เย็นเฉียบ หมวกไหมพรม ถุงเท้าหนาๆ ก็ดูจะยอมแพ้กับอุณหภูมิราว 3 องศาเซลเซียส

ผมเดินตามหลังชายหนุ่มสองคน บอมกับยะ ทั้งคู่เป็นคนแม่แจ่ม เข้าไปเรียนในเมืองเชียงใหม่ จบแล้วพวกเขากลับบ้านสมัครเป็นคนงานอุทยานแห่งชาติ

หลายปีบนดอยสูง งานผมคงไปไม่ถึงไหน หากไม่มีพวกเขาช่วย

ใต้ดงก่อ ผมต้องเปิดไฟฉายคาดหัว ด่านเล็กๆ ทอดยาวขึ้นสูง

พ้นจากดงก่อ ทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ ลาดเอียง สูงไปทางทิศตะวันออก หญ้าสูงท่วมหัวเข่า ขากางเกงเปียกชุ่ม

เราเดินถึงประมาณกึ่งกลางทุ่งหญ้า ด้านซ้ายมือ คือสันเขาทอดยาวไปทางทิศเหนือ ด้านหน้าเป็นหน้าผา ต่ำลงไปเป็นหุบเขา ป่าแน่นทึบ

ด้านที่เป็นหน้าผา ลงไปสัก 30 เมตรมีชะง่อนหินแคบๆ

ทุกเช้า กวางผาตัวหนึ่งจะมายืนอยู่

 

“วันนี้ เป็นอย่างไรบ้างครับ กวางผาออกมาไหม” ยะ ชายหนุ่มผิวขาวถามตอนเย็นข้างกองไฟ

“มันมายืนที่เดิมไหมครับ ยืนบนหินแคบๆ เหมือนไม่มีที่ไป”

ยะเข้าใจถึงสภาพที่กวางผากำลังเผชิญ คล้ายติดอยู่บนเกาะ

บทสนทนาของเรามักวนเวียนเช่นนี้

“คนช่วยไม่ให้พวกมันต้องผสมกันเองภายในกลุ่มจนมีลักษณะด้อยไปเรื่อยๆ ได้ใช่ไหมครับ”

มีหนทางอยู่แน่นอน ไม่ใช่งานง่าย

ทำพื้นที่ซึ่งถูกตัดขาดให้เชื่อมติดต่อ เป็นทางเลือกที่ดีอันดับแรก

การเคลื่อนย้ายประชากรสัตว์ป่ามาไว้ในอีกพื้นที่เป็นทางเลือกที่สอง

เป็นงานยาก แต่ไม่ยากเกินกว่าความพยายามของเหล่านักวิชาการผู้มุ่งมั่น

“ผมจะพยายามทุ่มเท เพื่อทำงาน ให้ความรู้กับเด็กๆ บนดอยและรอบๆ ให้รู้จักหน้าที่และความจำเป็นที่ต้องมีสัตว์ป่าให้มากที่สุดเลยครับ”

ยะ ชายหนุ่มจากหมู่บ้านเล็กๆ อำเภอแม่แจ่ม บอกความตั้งใจของเขา

 

ถึงวันนี้ สิ่งที่ยะถาม เกิดขึ้นแล้ว

มีกวางผาจำนวนมากที่เกิดในกรงเลี้ยง ได้รับการปล่อยเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งมีกวางผาอยู่

จากการติดตามพบว่า กวางผาส่วนใหญ่ปรับตัวและใช้ชีวิตในธรรมชาติได้ พวกมันหลายตัวตั้งท้องมีลูก

การผสมแบบเลือดชิด ได้รับการแก้ไข

กวางผามีโอกาสที่ดีขึ้น

ณ ดาวดวงใดดวงหนึ่งอันไกลโพ้น จากบนนั้น ยะคงมองลงมาเห็น

 

ขณะอยู่ในป่าดิบฝนทางใต้สุดชายแดน ผมได้ข่าวยะเป็นมะเร็งลำไส้

ครั้งสุดท้ายที่พบกัน เขาอยู่ในโรงพยาบาลเมืองอุ้มผาง ผมทำงานในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก ยะเดินทางร่วมมากับทีมถ่ายสารคดี อาการเขาหนักขึ้น

“หมดสภาพแล้วครับ” ยะพยายามพูดกับผม ขณะนอนบนเตียง สายน้ำเกลือโยงเกะกะ

ผมทำได้เพียงตบแขนเขาเบาๆ อย่างให้กำลังใจ

มองหน้าหมอซึ่งมีสีหน้ากังวล

หลังจากนั้นไม่นาน ในป่าห้วยขาแข้ง ผมได้ข่าวยะเสียชีวิต

ผมรู้หลังจากงาน “ส่ง” เขา ในวันที่เดินถึงปลายทาง ผ่านพ้นไปแล้ว

 

บนดอยไม่ไกลจากทิวเขาอินทนนท์

สายฝนโปรยละอองปลิวเข้าใต้ฟลายชีต กองไฟเปลวไหววูบวาบ

ผมกลับมาหากวางผาอีกครั้ง

คล้ายจะกลับมาที่จุดเริ่มต้น เริ่มต้นเรียนรู้

ในงานส่งลุงเหมือน ผมเห็นหนทางเดินชีวิตคน

หลายคนมีหนทางยาวไกล บางคนมีระยะทางเพียงสั้นๆ มีจุดเริ่มต้นและปลายทางที่แตกต่าง

มีบ้างบางคนเดินทางถึงปลายทางแล้ว

แม้ว่าจากจุด “เริ่มต้น” มาไม่ไกล

แต่เขาจะถูกจดจำเรื่องราวตอนอยู่ที่ปลายทาง