เปิดตำนาน ‘โองการแช่งน้ำล้านนา’ เมื่อเวลามีเหตุอัปมงคล เป็นเภทภัยต่อส่วนรวม!

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “โองก๋าน”

หมายถึง คำศักดิ์สิทธิ์

คำนี้มาจากคำว่า โอมการ หมายถึง อักษรโอม

โอม คือคำย่อ ที่ใช้กล่าวนำในการสวดของพราหมณ์ ย่อมาจาก อ อุ มะ (อ่านว่า อะ-อุ-มะ) ซึ่งหมายถึงพระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม ส่วนในทางพุทธศาสนา อ คือ อรหัง อุ คืออุตฺตมธรรม และ ม คือ มหาสังฆะ

“โองการ” มีปรากฏการใช้มากมายในอดีต โดยเฉพาะโองการในพิธีกรรมต่างๆ

รวมถึงโองการที่เป็นคำสาปแช่งบุคคลผู้คิดคดทรยศต่อราชการ

ตํานานพื้นเมืองเชียงใหม่ ราว พ.ศ.2272-2273 ช่วงเวลาที่พม่าส่งขุนนางและบริวารมาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ บ้านเมืองในล้านนาต่างระส่ำระสายเกิดศึกสงครามทั่วไป ประกอบกับช่วงนี้เจ้าเมืองลำปางสิ้นพระชนม์ลง บุตรเจ้าเมืองคือ เจ้าลิ้นก่าน ปกครอง แต่บ้านเมืองไม่สงบสุข เกิดความแตกแยกกัน

พระสงฆ์วัดนายางซึ่งเชื่อว่ามีฤทธิ์มีบุญบารมี ชาวบ้านเรียกกันว่า “ตนบุญ” ตั้งตนเป็นผู้นำมีคนเข้าร่วมฝากตัวเป็นจำนวนมาก สามารถปกครองเมืองลำปางแทนเจ้านายได้

เมื่อรู้ไปถึงเจ้าเมืองลำพูน ท้าวมหายศ ขี้ข้าพม่า จึงนำทัพไปตีเมืองลำปาง ไล่ยิง “ตนบุญ” วัดนายางและพรรคพวกจนตายหมด หลังจากนั้นท้าวมหายศก็ขูดรีดภาษีอย่างหนัก ออกอุบายพกอาวุธเข้าไปเจรจากับขุนนางเมืองลำปางแล้วฆ่าฟันผู้คนล้มตายกลางสนาม คนที่เหลือต้องหนีเข้าป่าไป

ท้าวลิ้นก่านพาชาวบ้านหนีไปที่เมืองต้า เมืองลอง เมืองเมาะ เมืองจาง ขณะที่บ้านเมืองระส่ำระสาย สมภารวัดพระแก้วชมพู (วัดพระแก้วดอนเต้า) ได้ติดต่อกับขุนนางจเรน้อย และท้าวลิ้นก่านเพื่อกอบกู้บ้านเมืองแต่ไม่มีใครกล้าอาสา จึงประกาศหาผู้มีความสามารถ และในที่สุดสมภารได้ขอร้องให้หนานทิพย์ช้างชาวบ้านปงยางคก อาชีพพรานป่า เคยบวชอยู่ที่วัดปงยางคก (นามว่าทิพย์จักร) และเคยเป็นศิษย์ของสมภารวัดนายางด้วย มาช่วยกันกู้บ้านเมืองลำปาง

หนานทิพย์ช้างได้ลอบเข้าไปในวัดพระธาตุลำปางหลวง ใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย และสามารถยึดเมืองคืนได้ จึงสถาปนาตนเองเป็นเจ้าสุลวฤๅไชย ในปี 2275

ช่วงที่เจ้าทิพย์ช้างปกครองลำปาง หัวเมืองต่างๆ ในล้านนาล้วนตกเป็นของพม่ายกเว้นลำปาง จนถึงสมัยเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ลูกเจ้าทิพย์ช้างกับแม่เจ้าปิมปา ได้ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้านครลำปางในปี พ.ศ.2303 ราชสำนักพม่าได้เฉลิมพระนามพระองค์เป็น เจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว (เจ้าฟ้าชายแก้วภายหลังเษกสมรสกับแม่เจ้าจันทาราชเทวี มีพระราชโอรสธิดารวม 10 พระองค์เป็นต้นตระกูลของเจ้าเจ็ดตน ซึ่งปกครองล้านนาในสมัยต่อมา) จึงทำให้ท้าวลิ้นก่านไม่พอใจ ประสงค์จะกลับมาปกครองนครลำปาง

ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ต้องดำน้ำพิสูจน์ความเป็นความตายกัน จึงได้มี “โองการ” แช่งฝ่ายที่กระทำผิด

ถ้อยคำตามโองการนี้เป็นลักษณะเฉพาะของล้านนาเพราะเอ่ยอ้างถึงบรรพกษัตริย์ราชวงศ์มังราย และบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของดินแดนนี้ อาทิ เสาอินทขิล เทวบุตรรักษาประตูทั้งสี่ทิศ อารักษ์ใหญ่เจ้าเจนเมืองคือเจ้าหลวงคำแดง

เพื่อให้คนกระทำผิดต้องรับราชทัณฑกรรม 10 ประการ ภัยใหญ่ 8 ประการ ฯลฯ

โองการแช่งน้ำล้านนา กับโองการแช่งน้ำแบบสยามอยุธยามีเค้าโครงแบบแผนคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เริ่มจากการอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ทั้งปวงที่ชนในถิ่นเคารพกราบไหว้และถ้อยคำสาปแช่งที่น่าสะพรึงกลัวในส่วนท้าย

เช่น “…คันเขาทังหลายไปทางน้ำจุ่งหื้อเงือกงาปลาฝาช้างน้ำฆ่า คันเข้าป่าหื้อเสือกิน คันเขาทังหลายก้มดูดินก็หื้อแผ่นดินแตกสูบกิน คันแหงนผ่อดูฟ้าหื้อฟ้าผ่าหัวตาย เยียะไร่ก็หื้อตายคา เยียะนาหื้อตายแดด ริพองก็หื้อขึ้นศอกลงวา หื้อเป็นอ่างเป็นอะ เป็นรูเป็นเปล้าเป็นมงเป็นทุย ตาบอดหูหนวก เป็นคนทลิทกอันถ่อยร้ายหาเข้าของสมบัติบ่ได้ทุกภวชาติ หื้อเขาฝูงนี้เป็นหลักเป็นตอข้องค้างอยู่ในวัฏฏสงสาร หื้อวินาศฉิบหายเป็นดั่งยวงฝ้ายอันเต็มเกวียนเผาไฟเสีย…”

การดำน้ำพิสูจน์ระหว่างเจ้าฟ้าหลวงชายแก้วกับท้าวลิ้นก่านปรากฏว่าเจ้าฟ้าหลวงชายแก้วเป็นผู้ชนะ

คำสาปแช่งของคนล้านนามีบันทึกไว้ในตำนาน รวมถึงบันทึกของชาวตะวันตกที่มายังเมืองเชียงใหม่ตรงกับสมัยอยุธยา ชาวเมืองจะทำพิธีแช่งเมื่อมีเหตุอัปมงคลหรือขึดอันจะก่อให้เกิดเภทภัยเรื่องร้ายต่อส่วนรวม

นับว่า “การแช่ง” เป็นวิถีและขนบที่เกี่ยวพันกับความเชื่อเรื่องขึดและโชคลางของชาวล้านนาโดยเฉพาะ