เกษียร เตชะพีระ l วาทกรรมความเป็นไทย : ความเป็นไทยแบบลัทธิรัฐธรรมนูญ

เกษียร เตชะพีระ

วาทกรรมความเป็นไทย : 4) ความเป็นไทยแบบลัทธิรัฐธรรมนูญ

ระบอบรัฐธรรมนูญของไทยเราตั้งขึ้นมาได้-ส่วนหนึ่ง-บนรากฐานของนิยามความเป็นไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากพระราชนิพนธ์ “ความเป็นชาติโดยแท้จริง” ของอัศวพาหุ มาถึง “ประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1” ดังกล่าว

เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ขยับความหมาย ย้ายจุดหนัก ขยายพื้นที่ เปิดช่องทางในด้านวาทกรรม (DISCOURSE) หรือการเมืองวัฒนธรรม (CULTURAL POLITICS) ของนิยามความเป็นไทยให้ ระบอบรัฐธรรมนูญ เข้ามายึดหยั่งราก อาทิ :-

“สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย เพราะชาติไทยเป็นไทยไปทุกเมื่อ

ชาวสยามนำสยามเหมือนนำเรือ ผ่านแก่งเกาะเพราะเพื่อชาติพ้นภัย

เราร่วมใจร่วมรักสมัครหนุน วางธรรมนูญสถาปนาพาราใหม่

ยกสยามยิ่งยงธำรงชัย ให้คงไทยตราบสิ้นดินฟ้า”

(เนื้อเพลงชาติมหาชัย แต่งโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ 2-3 วัน ระยะไล่เลี่ยกันกับที่ท่านได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกให้เป็นประธานสภาคนแรก)

หากในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ลูกเรือผู้โดยสารรัฐนาวาสยามถูกนายท้ายเรียกร้องให้ช่วยกันลงมือจ้วงพายและอย่าอวดดีเถียงนายท้าย นายท้ายจะคัดเรือนำไปทางไหน ก็ควรพายไปทางนั้นโดยดุษณี มิฉะนั้นก็จงโดดน้ำให้พ้นๆ ไปไม่หนักเรือเสียจะดีกว่าแล้ว ในระบอบรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐนาวาสยามกลับอยู่ใต้การนำและเป็นของลูกเรือชาวสยามทั้งปวง ที่จะร่วมกันนำพาเรือผ่านแก่งเกาะภยันตรายต่างๆ ไปอย่างปลอดภัย

หรือต่อมา

“ยี่สิบสี่มิถุนา- ยนมหาศรีสวัสดิ์

ปฐมฤกษ์ของรัฐ- ธรรมนูญของไทย

เริ่มระบบแบบอา- รยประชาธิปไตย

ทั่วราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี

สำราญสำเริง บันเทิงเต็มที่

เพราะชาติเรามี เอกราชสมบูรณ์

(สร้อย) ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทอดไทย ชโย

ชาติประเทศเหมือนชีวา ราษฎร์ประชาเหมือนร่างกาย

ถึงแม้ว่าชีวิตมลาย ร่างกายก็เป็นปฏิกูล

พวกเราต้องร่วมรัก พิทักษ์ไทยไพบูลย์

อีกรัฐธรรมนูญ คู่ประเทศของไทย

เสียกายเสียชนม์ ยอมทนเสียให้

เสียชาติประเทศไทย อย่ายอมให้เสียเลย

(สร้อย) ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทอดไทย ชโย”

(เนื้อเพลงชนะประกวดการแต่งเพลงวันชาติของนายมนตรี ตราโมท เนื่องในโอกาสรัฐบาลนายพันเอกหลวงพิบูลสงครามประกาศให้ถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติครั้งแรกในปี พ.ศ.2482

ตามคำตัดสินของคณะกรรมการประกวดซึ่งมีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นประธาน)

เป็นต้น

ซึ่งแปลว่าได้มีการเอา “ระบอบรัฐธรรมนูญ” ไปผูกประกบติดควบคู่เข้ากับ “ความเป็นไทย”, ทำให้ “ระบอบรัฐธรรมนูญ” กลายเป็นองค์ประกอบแก่นสารประการหนึ่งที่ขาดเสียมิได้ในนิยาม “ความเป็นไทย” ในลักษณะที่ถ้าเสีย “รัฐธรรมนูญ” เข้า ก็เท่ากับ “เสียชาติประเทศไทย” ซึ่งเป็นเรื่องยอมให้กันไม่ได้เลยทีเดียว

สู้ “เสียกายเสียชนม์” ยังจะดีเสียกว่า

แต่ใช่ว่าคนไทยทุกคนจะยอมรับนิยาม “ความเป็นไทย” ใหม่แบบลัทธิรัฐธรรมนูญนี้ หรือเห็นว่าความเป็นจริงของการเมืองไทยภายใต้ระบอบใหม่เป็นไปสอดคล้องกับนิยามดังกล่าว บุคคลสำคัญที่สุดในบรรดาคนไทยผู้เห็นต่างได้ฟันธงบ่งชี้ความผิดเพี้ยนเบี่ยงเบนในทางปฏิบัติของรัฐบาลคณะราษฎรไปจากหลักการ “ความเป็นไทย” แบบลัทธิรัฐธรรมนูญของตัวเอง ในจดหมายลาออกจากตำแหน่งฉบับหนึ่งที่น่าจะเป็นที่รู้จักดีที่สุดและมีความสำคัญที่สุดในประวัติการเมืองไทยสมัยใหม่ว่า :-

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชนราษฎร

“บัดนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป…”

ข้อความข้างต้นในลายพระหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 เวลา 13 นาฬิกา 45 นาที ณ บ้านโนล แครนลี ประเทศอังกฤษ ได้นำพาคนไทยให้ต้องประสบพบกับภาวะที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยใหม่และเกินกว่าที่ใครต่อใครหลายคนจะจินตนาการไปถึง นั่นคือ

ความเป็นไทยที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ในประเทศเป็นหลักแผ่นดินและร่มคุ้มเกล้า มีแต่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

อีกทั้งไม่ใช่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระอัยกาเจ้าเสด็จประพาสยุโรป หากครั้งนี้ต่อเนื่องกันยาวนานถึงกว่า 10 ปี จวบจนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนครหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2488

ถ้าถือนิยามเดิมของ “ความเป็นชาติโดยแท้จริง” ก็คงต้องบอกว่าระหว่าง 10 ปีนั้น คนไทยไม่ได้เป็นชาติโดยแท้จริงหรือเป็นชาติอันไม่สมประกอบ เพราะนิราศร้างห่างเหินจากแกนหลักของชาติ ต้องเผชิญหน้าภัยพิบัติมหาสงครามและการรุกรานยึดครองของต่างชาติแต่ลำพัง

เดชะบุญ ไทยเรารักษาบ้านเมืองรอดผ่านวิกฤตการณ์อันเอกอุครั้งนั้นมาได้ ก็ด้วยอาศัยความรักสามัคคีประนีประนอมของคนในชาติ ร่วมกันพลิกแพลงสร้างสรรค์ต่อสู้กู้ชาติ มิสยบค้อมยอมจำนนต่อนิยามความเป็นไทยใหม่ที่ถูกกลุ่มผู้กุมอำนาจรัฐชุดใหม่บงการขึ้นมา

ความจริง การสละราชสมบัติของในหลวงรัชกาลที่ 7 เป็นดัชนีบอกเหตุบ่งชี้เค้าลางการขยับสลับเปลี่ยนนิยามความเป็นไทยรอบใหม่นี้แต่แรก

ในลายพระราชหัตถเลขาฉบับประวัติศาสตร์ พระองค์ทรงระบุสาเหตุที่ตัดสินพระทัย “ขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป” พอสรุปได้ว่า

1) รัฐธรรมนูญฉบับถาวรไม่เป็นประชาธิปไตย

2) รัฐบาลผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองและในตัวบุคคลอันแท้จริงอย่างบริบูรณ์

3) รัฐบาลไม่ยินยอมให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิและโอกาสที่จะออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายสำคัญต่างๆ อันจะเป็นผลได้เสียแก่พลเมืองทั่วไป

4) รัฐบาลทำผิดหลักความยุติธรรมของโลก ออกกฎหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคลซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมือง ไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล

จะเห็นได้ว่าข้อกล่าวหาทั้ง 4 ประเด็นนี้ก็คือการฝ่าฝืนเนื้อหา “ความเป็นไทย” แบบระบอบรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรนิยามขึ้นมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นั่นเอง ได้แก่ มี “รัฐธรรมนูญคู่ประเทศของไทย” ตาม “ระบบแบบอารยประชาธิปไตย” และ “ทั่วราษฎรไทยได้สิทธิเสรี” (จากเนื้อเพลงวันชาติของทางการแต่งโดยนายมนตรี ตราโมท)

นั่นหมายความว่า รัฐบาลคณะราษฎรกำลังใช้วิธีการปกครองแบบ “ไม่ไทย” โดยล่วงละเมิดนิยาม “ความเป็นไทย” ของตนเอง

นอกจากนั้น การที่รัฐบาลไม่เพียงแต่เถียงนายท้าย หากยังไม่ยอมฟังเสียงทักท้วงวิธีการปกครอง “โดยสิทธิขาดและไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร” จากนายท้ายเอาเลยเช่นนี้เป็นสุดที่พระองค์ “จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้”

ซึ่งก็หมายความว่า พระองค์ไม่อาจทรงทนเป็นพระมหากษัตริย์ของรัฐบาลแบบนี้ต่อไป ไม่อาจทรงยอมให้รัฐบาลใช้พระปรมาภิไธยของพระองค์กระทำการปกครองแบบนี้ต่อไปได้ จึงทรงเลือกสละราชสมบัติออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์เสียจะดีกว่า

นี่ก็เท่ากับรัฐบาลถูกพระมหากษัตริย์ตัดขาด (DISOWN) และในนิยามความเป็นไทยแบบเดิมนั้น มันก็เท่ากับรัฐบาลถูกตัดขาดจากแก่นแกนเสาหลักของ “ความเป็นไทย” กลายเป็นรัฐบาลที่ “ไม่ไทย” ซ้ำไปอีกโสตหนึ่ง

จึงไม่ว่าจะมองจากมุมไหนมุมที่นิยาม “ความเป็นไทย” แบบเดิมหรือแบบระบอบรัฐธรรมนูญ รัฐบาลคณะราษฎรตามพระราชวิจารณ์ในลายพระราชหัตถเลขาของพระปกเกล้าฯ ก็ล้วนแต่ “ไม่ไทย” ทั้งสิ้น หรืออีกนัยหนึ่ง “ไม่ไทยยกกำลังสอง” นั่นเอง