ธุรกิจพอดีคำ l “นวัตกรรม” กับ “เทคโนโลยี” ต่างกันอย่างไร ?

“มุมมองใหม่ ความคิดใหม่”

วิชิตกับชูใจเพื่อนรัก

ทั้งสองมาเที่ยวที่ “เซี่ยงไฮ้”

อยากจะขึ้นตึกสูงเพื่อดูวิว

สองคนขึ้นลิฟต์คนละตัว

จากชั้น 1 ขึ้นไปที่ชั้น 95

ถึงพร้อมๆ กัน

หลังก้าวออกจากลิฟต์

คนหนึ่งบอกว่า ลิฟต์ช้ามาก

อีกคนบอก “ไม่เห็นช้าเลย”

จับเวลาแล้ว ก็ใช้เวลาเท่ากัน

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

เรื่องราวของ “นวัตกรรม” นั้นมีให้เห็นอยู่มากมาย

หลายครั้งเรามักจะผูกคำว่า “นวัตกรรม” กับคำว่า “เทคโนโลยี”

พูดเสียราวกับว่า “มันเป็นสิ่งเดียวกัน”

หรืออาจจะทึกทักเอาได้ว่า

เทคโนโลยีเป็นต้นเหตุให้เกิดนวัตกรรม

จริงหรือไม่จริง

มาลองฟังเรื่องราวสนุกๆ กันครับ

หลายๆ คนคงจะเคยไปเที่ยวยุโรปกันใช่มั้ยครับ

เชื่อว่าหลายต่อหลายคนอาจจะเคยลองขึ้นรถไฟ “ยูโรสตาร์”

รถไฟที่ลอดอุโมงค์ใต้น้ำ

วิ่งจาก “ลอนดอน” ไปที่ “ปารีส”

รถไฟ “ยูโรสตาร์” นั้น เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มีคนเริ่มบ่นว่า “ช้า”

อยากให้ถึงเร็วกว่านี้

รัฐบาลได้ยินดังนั้น ก็จัดการทำประชามติ

ชัดเจนว่า ต้องแก้ปัญหานี้ เนื่องจากมีคนบ่นเข้ามากมาย

รัฐบาลจึงจัดการ “ซ่อมราง” และ “เปลี่ยนรถ”

จนสามารถทำให้รถไฟเร็วขึ้นได้จริง

จากสามชั่วโมง กลายเป็นสองชั่วโมงยี่สิบนาที

เร็วขึ้นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ผู้คนก็ “บ่น” กันน้อยลง

รัฐบาลมีความสุข

หากแต่ว่า ใช้เงินลงทุนไปเพียง “6 พันล้านยูโร” หรือ “สองแสนกว่าล้านบาท” เท่านั้นเอง

หากแต่ว่า “โรรี่ ซัตเทอร์แลนด์” ผู้คร่ำหวอดในวงการโฆษณาในประเทศอังกฤษ

แนะนำไว้ใน “เท็ดทอล์ก” อย่างน่าสนใจว่า

ถ้าเป็นเขาแก้ปัญหานี้

เขาจะเอา “นายแบบ นางแบบ มาเดินเสิร์ฟไวน์ให้กับผู้โดยสารบนรถไฟ”

เขาเชื่อว่า “ผู้โดยสาร” จะอยากให้รถไฟวิ่งช้าลง

ที่จริงแล้ว คำว่า “ช้า” ของผู้โดยสาร

อาจจะหมายถึง “ความน่าเบื่อ” ก็เป็นได้

เมื่อเรามีประสบการณ์กับอะไรที่น่าเบื่อ

เราก็จะอยากให้มันผ่านไปเร็วๆ

เวลามีคนมาถามว่า อยากให้เกิดอะไรขึ้น

เราก็มีความเป็นไปได้ที่จะตอบง่ายๆ

ว่า “อยากให้สิ่งที่น่าเบื่อผ่านไปเร็วๆ”

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ต้นตอของปัญหา

อาจจะเป็นเรื่องของ “ประสบการณ์”

หรือแม้แต่ “คุณภาพของบริการ” ก็เป็นได้

การแก้ปัญหาแบบใหม่ๆ

หลายครั้งไม่ได้เกิดจากการที่เราไป “เค้น” ให้คิดอะไรใหม่ๆ

หรือที่เรียกกันว่า “คิดนอกกรอบ” เสมอไป

หลายครั้ง การคิดอะไรใหม่ๆ เกิดจากการมี “มุมมอง” ใหม่ๆ ของปัญหา

คนหนึ่งมองว่า รถไฟวิ่งช้า

อีกคนมองเป็นเรื่อง “ประสบการณ์”

ซึ่งในชีวิตจริง ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะ “พิสูจน์” ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร

แต่อย่างน้อย การที่เรามีคนที่หลากหลายมาทำงานร่วม “ชายคา” เดียวกัน

วิศวกรกับนักการตลาด เมื่อมาคุยกัน ก็ย่อมจะมี “มุมมอง” ต่อปัญหา และการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

การบังคับให้ “วิศวกร” คิดอะไรใหม่ๆ ในมุมมองใหม่ๆ นั้น

ก็อาจจะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง หรือมีประสิทธิผลเท่าใด

เมื่อเทียบกับการนำ “คนใหม่ๆ” เข้ามาร่วมทำงานร่วมห้อง

และจัดการให้พวกเขาทำงานกันได้อย่างเรียบร้อย

ไม่ทะเลาะกัน เปิดใจรับฟังกัน

ซึ่งแน่นอนว่า “ผู้นำ” ในที่นี้ จึงมีความสำคัญ

ที่ทำให้คนที่แตกต่าง มาทำงานด้วยกันได้โดยที่ไม่ทะเลาะกัน

นี่แหละ “ความคิดสร้างสรรค์” ที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ

ไม่ต้อง “เค้น” ไม่ต้อง “บังคับ”

แค่ให้คนที่แตกต่าง ได้มา “ปะทะ” ความคิดกัน

“นวัตกรรม” ก็จะเกิดขึ้นในองค์กรของคุณได้อย่างไม่ยากเย็นจนเกินไป

ลิฟต์อะไรเอ่ย ที่คนขึ้นไม่รู้สึกช้า แม้ว่ามันจะ “ช้า”

ลิฟต์อะไรที่คนขึ้นมีอะไรทำแก้เบื่อนั่นเอง

มีตังค์หน่อย ก็ทำ “ลิฟต์แก้ว” ดูวิว

ไม่มีตังค์ ก็ “ติดกระจก” ซะ

ให้คนได้ “ดูหน้า” ตัวเองจนหนำใจไป

แป๊บๆ ถึง แน่นอนครับ