สกัดจุดยุทธจักรของ “กิมย้ง”

หลังวงการวรรณกรรมลดธงครึ่งเสาให้แก่ข่าวการเสียชีวิตของ “กิมย้ง” หรือ “จาเลี้ยงย้ง” นักเขียนนิยายจีนกำลังภายในนามอุโฆษ ผู้อำลาโลกด้วยวัย 94 ปี

แฟนหนังสือจำนวนมากต่างออกมาแสดงความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจ โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ที่เหล่าแฟนๆ นิยายกำลังภายในทุกรุ่น ได้ร่วมอาลัยรักและรำลึกถึงผลงานของปรมาจารย์วรรณกรรมบู๊ลิ้มอย่างท่วมท้น

แม้ตลอดชั่วชีวิตของ “กิมย้ง” จะมีงานเขียนทั้งหมดเพียงแค่ 15 ชิ้น แต่ผลงานของเขากลับสามารถดึงดูดใจให้นักอ่านทุกยุคทุกสมัยต้องตามหามาเสพจนถึงขั้นติดงอมแงม

นี่แสดงให้เห็นถึงฝีมือและมุมคิดอันเฉียบขาดที่กลั่นกรองออกมาเป็นบทประพันธ์ของ “กิมย้ง” ได้เป็นอย่างดี

ในวาระการจากไปของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ทีมข่าว “มติชน ทีวี” มีโอกาสได้พูดคุยกับ “อาจารย์ถาวร สิกขโกศล” นักวิชาการด้านจีนศึกษา และผู้เขียนหนังสือ “สกัดจุดยุทธจักรมังกรหยก”

ซึ่งเปรียบเสมือนคู่มือสำคัญของคอนิยายกำลังภายในชาวไทย

“กิมย้งเขาเขียนนิยาย เมื่อเวลาเขารวมเล่มแล้ว เขาจะเขียนบันทึกท้ายว่าเรื่องนี้เขาเขียนเมื่อไหร่ เขียนด้วยแรงบันดาลใจอะไรชัดเจน เขาบอกว่าเมื่อตอนเขาเขียนมังกรหยกภาคแรก เรื่องความรักชาติ มันยังมีอยู่”

นี่คือคำบอกเล่าในช่วงเริ่มต้นการสนทนาที่เรียกร้องความสนใจได้เป็นอย่างดี เพราะคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่านิยายกำลังภายใน คืองานเขียนซึ่งขับเน้นความสนุกของการต่อสู้ แต่อาจารย์ถาวรกำลังเสนอว่า มีภาพ “เหตุบ้านการเมือง” แฝงอยู่ในวรรณกรรมบันเทิงคดีประเภทนี้

“แต่เขาก็ไม่ได้พูดละเอียดจนถึงกับว่าตอนนั้นจีนกำลังถูกอเมริกาปิดล้อม กำลังสร้างภาพปีศาจคอมมิวนิสต์ แต่เราคนอ่าน เราเข้าใจ

“เขาถึงได้สร้างก๊วยเจ๋งกับเอี้ยคังให้เป็นตัวแทนของลูกจีนโพ้นทะเล เพราะสองคนนั้นเป็นคนจีนแต่ไปโตในมองโกลกับแมนจู (กิมก๊ก) แล้วเขาสร้างภาพให้ก๊วยเจ๋งไม่ลืมความเป็นจีน เอี้ยคังลืมความเป็นจีน เห็นแก่ผลประโยชน์ เขาสร้างให้เอี้ยคังเป็นตัวร้าย ก๊วยเจ๋งเป็นคนดี เหมือนกับจะบอกลูกจีนโพ้นทะเลว่า ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติจีน ซึ่งมันก็ได้ผล”

อาจารย์ถาวรเล่าถึงนัยยะเบื้องหลัง “มังกรหยกภาคแรก” ซึ่งเป็นผลงานลำดับต้นๆ ในชีวิตการเขียนนิยายกำลังภายในของ “กิมย้ง” ก่อนจะกล่าวถึงอิทธิพลของสังคมโลกที่มีต่อ “มังกรหยกภาคสอง”

“อย่างภาคสอง ตอนนั้นคนหนุ่มสาวทั่วโลกเกิดกระแสต่อต้านจารีต เขาเลยแต่งให้เอี้ยก้วยกับเซียวเหล่งนึ่ง ไม่รับจารีตเรื่องครูกับลูกศิษย์ โดยตกลงเป็นสามีภรรยากัน ซึ่งจะเห็นว่าสอดคล้องกับความเป็นไปของสังคมโลกและสังคมจีน”

ยิ่งกว่านั้น ผลสะท้อนจากนิยายชุด “มังกรหยก” ของ “กิมย้ง” ยังสั่นสะเทือนไปถึงการเมืองและเกมกีฬาระหว่างประเทศ

“ในงานนี้ (มังกรหยก) ไต้หวันเข้าใจ เพราะว่าเมื่อกิมย้งพูดถึงจีน จะพูดถึง “มาตุภูมิ” หมายถึง “จีนแผ่นดินใหญ่” ไต้หวันเดือดร้อนมาก ถึงกับต้องหานักเขียนมาแต่งเรื่องสู้กับเรื่องมังกรหยก คือ เรื่อง “โต๊ะฮุ้นกี้ ธงปลิดวิญญาณ” เลียนแบบกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ” อาจารย์ถาวรถ่ายทอดเกร็ดความรู้

“หรืออย่างในอินโดนีเซียที่มีการต่อต้านคนจีน จึงให้ลูกจีนเลือกว่าถ้าอยู่ในอินโดฯ ต้องเปลี่ยนชื่อเป็นอินโดฯ ไม่งั้นก็ต้องกลับประเทศจีน

อินโดฯ นี่นักแบดมินตันเก่งๆ เยอะ นักแบดฯ (เชื้อสายจีน) ส่วนหนึ่งอย่าง “รูดี้ นีโอ” หรือ “รูดี้ ฮาโตโน่” ต้องเปลี่ยนชื่อ แล้วรุ่นพี่เขาชื่อ “อั้งจินเสียง” ต้องเปลี่ยนเป็น “มุนจาดี้”

“แต่มี 2 คนคือ “ตั้งเซียงหู่” กับ “โหวเจียชาง” เขาไม่เปลี่ยน ก็กลับไปจีน ซึ่งต่อมา ตั้งเซียงหู่กับโหวเจียชางไปฝึกนักแบดฯ จีน จนมาชิงถ้วยโทมัสคัพจากอินโดฯ ได้สำเร็จ”

แต่เมื่อมาถึงนิยายเรื่องเอกอีกชิ้นหนึ่งอย่าง “กระบี่เย้ยยุทธจักร” อาจารย์ถาวรวิเคราะห์ว่ากรอบแนวคิดของ “กิมย้ง” ได้แปรเปลี่ยน จากกรอบที่ยึดติดเรื่องชาติ เรื่องเผ่าพันธุ์ ไปสู่การตีแผ่ธรรมชาติ อารมณ์ ของมนุษย์

“ช่วงการเขียนกระบี่เย้ยยุทธจักร เป็นช่วงที่จีนกำลังมีการปฏิวัติวัฒนธรรม ภาพตัวละครที่ออกมาจึงเป็นการจำลองภาพนักการเมืองจีนในยุคนั้น โดยสะท้อนผ่านลักษณะอย่าง “วิญญูชนจอมปลอม” ซึ่งมีอยู่มาก แม้กระทั่งปัจจุบัน”

ขณะที่นิยายเรื่องสุดท้ายอย่าง “อุ้ยเสี่ยวป้อ” นั้นน่าจะตรงตามกรอบแนวคิดในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์มากที่สุด

อาจารย์ถาวรบอกว่า เรื่องอุ้ยเสี่ยวป้อเป็นการสะท้อนสังคมสมัยใหม่ ซึ่งคนที่อยู่รอดหรือประสบความสำเร็จต้องเป็น “คนกะล่อน” แต่ “กิมย้ง” ไม่ได้สนับสนุนคนกะล่อนอย่างอุ้ยเสี่ยวป้อ เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าตัวละครรายนี้ต้องกะล่อนเพราะเงื่อนไขแวดล้อมอะไร

ที่สำคัญที่สุด “กิมย้ง” ได้ใส่เรื่องของ “คุณธรรม” ลงไป คือ อุ้ยเสี่ยวป้อไม่เคยทรยศต่อมิตรทั้งสองฝ่าย สื่อถึงแนวคิดที่ว่าต่อให้โลกแข่งขันในเรื่องผลประโยชน์โดยการกะล่อนสักเพียงใด แต่มนุษย์ควรมีความจริงใจต่อกัน

นอกจากกรอบแนวคิดที่สะท้อนผ่านงานเขียนของ “กิมย้ง” ซึ่งมีพัฒนาการ ความเคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของสังคมจีนและสังคมโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง อาจารย์ถาวรมองว่าอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ “กิมย้ง” ยิ่งใหญ่ในโลกนิยายกำลังภายในคือ การไม่ใส่ “ตัวเอง” ลงไปในงานเขียน

“คือ นักเขียนถ้าไม่ฝีมือเจ๋งจริงๆ มักจะมีความนึกคิดของตัวเอง บุคลิกของตัวเองติดเข้าไปในตัวละคร แต่กิมย้ง ถ้าไปอ่านจะเห็นเลยว่าตัวละครแต่ละเรื่อง แต่ละยุคมันต่างกันเลย

“อย่างอุ้ยเสี่ยวป้อกับก๊วยเจ๋งนี่ขั้วตรงข้ามกันเลย แต่กิมย้งทำหน้าที่เป็นผู้สะท้อน เพราะฉะนั้น ตัวละครของกิมย้งจะมีความหลากหลายมาก ซึ่งตรงนี้ฝีมือของกิมย้งเหนือกว่านักเขียนกำลังภายในทั้งหมด แม้แต่ในปัจจุบัน”

นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลงานของ “กิมย้ง” ได้รับการยกย่องเสมอ คือความทันสมัยของงานเขียน อย่างที่กล่าวไปช่วงต้นว่าตลอดชีวิตของนักประพันธ์ผู้นี้ เขามีผลงานแค่ 15 ชิ้น ชิ้นสุดท้ายคือ “อุ้ยเสี่ยวป้อ” ก็ถูกเขียนขึ้นใน ค.ศ.1969-1972 หรือ พ.ศ.2512-2515

ทว่าหลังจากนั้นอีกหลายสิบปี งานเขียนของ “กิมย้ง” ยังคงถูกหยิบยกมาพูดถึงและเป็นที่สนใจแม้กระทั่งในกลุ่มคนที่ถูกนิยามว่าเป็น “คนรุ่นใหม่” เพียงแต่ได้มีการแปรรูปเปลี่ยนร่างไปสู่สื่อภาพยนตร์ ซีรี่ส์ หรือการ์ตูน ซึ่งอาจารย์ถาวรสะท้อนภาพว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะนิยายของ “กิมย้ง” เน้นการตีแผ่ธาตุแท้ของมนุษย์

“กิมย้งเขาเขียนธรรมชาติของมนุษย์และธรรมชาติของสังคม ธรรมชาติของสังคมอาจจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่ได้ครอบคลุมสังคมไปตลอดทุกยุค ผิดกับธาตุแท้ของมนุษย์ที่สะท้อนผ่านตัวละคร

“สิ่งนี้กิมย้งพูดเองว่า ถึงสังคมจะเปลี่ยนไป แต่ธาตุแท้ของมนุษย์ไม่เปลี่ยน แล้วกิมย้งตีแผ่ธาตุแท้ของมนุษย์ได้ดีมาก แม้กระทั่งเรื่องชีวิตคู่ที่ว่าถ้าเป็นสามีภรรยา แต่ไม่เคยทะเลาะกัน ก็ไม่ใช่สามีภรรยากันจริงๆ ทั้งหมดนี้ทำให้งานเขาเป็นอมตะ”

การสูญเสียยอดนักเขียนนิยายกำลังภายในอย่าง “กิมย้ง” หลังจาก “เนี่ยอู้เซ็ง” และ “โกวเล้ง” อำลาโลกไปล่วงหน้า แถมจอมยุทธ์ดาวเด่นรุ่นถัดมา เช่น “หวงอี้” ก็ยังเสียชีวิตก่อนหน้า “กิมย้ง” ด้วยซ้ำ ส่งผลให้หลายคนวิตกกังวลว่า “ยุคทอง” ของวรรณกรรมประเภทนี้กำลังดับสูญ

ต่อกรณีดังกล่าว อาจารย์ถาวรมองว่านิยายจีนกำลังภายในจะยังคงอยู่

แต่รูปแบบการดำเนินเรื่องอาจเปลี่ยนแปลงไป

“นิยายกำลังภายใน ปัจจุบันมีการแต่งลงสื่อออนไลน์แล้ว เพียงแต่ว่าวิธีการดำเนินเรื่องหรือแนวของเรื่อง มันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามสังคม ทำให้มันยังคงอยู่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ของเนี่ยอู้เซ็งกับกิมย้ง

“เนี่ยอู้เซ็ง นำนิยายกำลังภายใน ซึ่งเป็นนิยายที่ไม่ค่อยมีคุณค่า มาแต่งด้วยศิลปะการประพันธ์ที่มีคุณค่าเป็นที่ยอมรับ แต่คนที่ทำให้แพร่หลายจริงๆ คือ กิมย้ง กิมย้งยิ่งใหญ่จนโกวเล้งต้องเปลี่ยนแนวเรื่อง เพราะโกวเล้งไม่สามารถที่จะไปแต่งอย่างกิมย้งได้”

การสนทนากับอาจารย์ถาวร สิกขโกศล ช่วยสะท้อนภาพความยิ่งใหญ่บางส่วนของ “กิมย้ง” หากแต่ผลงานหนังสือที่หลงเหลืออยู่ต่างหาก ที่เป็นสิ่งสะท้อนความยิ่งใหญ่ของนักประพันธ์ลือชื่อผู้นี้อย่างแท้จริง

โดยเฉพาะการถ่ายทอดประเด็นเรื่องธาตุแท้ของมนุษย์ ที่โลกยุคปัจจุบันนั้นเต็มไปด้วยความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ บางครั้งพฤติกรรมกะล่อน เช่น อุ้ยเสี่ยวป้อ จึงอาจจำเป็น แต่ต้องมาพร้อมด้วยคุณธรรมน้ำมิตร

เพราะไม่เช่นนั้น เราย่อมกลายเป็นแค่วิญญูชนจอมปลอม ที่ยังมีให้เห็นดาษดื่นอยู่ในทุกสังคม

รวมถึงสังคมไทย