สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/กัญชา ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ต้องคุ้มครอง

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

กัญชา ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ต้องคุ้มครอง

 

ข่าวจากต่างประเทศพูดถึงกัญชามากมาย ทั้งการปลูก การผลิต การวิจัยและการใช้ประโยชน์ทั้งการแพทย์ สันทนาการ ผลิตเป็นสินค้าต่างๆ

คนไทยได้ฟังข่าวแล้วพลอยอนุโมทนาดีใจไปกับประชาชนในประเทศนั้นๆ ด้วย

แต่กลับมาดูสังคมไทยก็ได้แต่ลุ้นว่าจะปลดล็อกกัญชาได้จริงไหม

สถานการณ์เวลานี้มีความชัดเจนขึ้นบ้างว่าจะอนุญาตให้นำกัญชาที่ยังอยู่ในกฎหมายยาเสพติดมานานหลายสิบปีนั้นให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ก็นับว่ามีการขยับก้าวหน้าขึ้นบ้างแต่ก็ยังพบประเด็นปัญหาตามมาอีก

เช่น อยู่ๆ ก็มีหลักฐานว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญายอมให้มีผู้ยื่นคำขอรับการจดสิทธิบัตรกัญชาอยู่ในรายการที่จะพิจารณาอนุมัติได้

ซึ่งก็เกิดคำถามว่า พอปลดล็อกกัญชาให้ใช้ทางการแพทย์ได้ก็จะมีเจ้าของสิทธิบัตรที่ยื่นรอไว้รับผลประโยชน์มหาศาลนี้ไปได้ทันทีหรือไม่?

แม้ว่าขณะนี้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะให้ข่าวว่าจะยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมด

แต่ก็คงต้องติดตามว่าจะเกิดขึ้นเพียงใด

 

เพื่อให้มิตรรักสมุนไพรและห่วงใยภูมิปัญญากัญชาจะตกเป็นของต่างชาติได้เข้าใจหลักการขอสิทธิบัตรพอสังเขป ดังนี้

ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ให้การคุ้มครองเกี่ยวกับ “การประดิษฐ์” หรือ “การออกแบบผลิตภัณฑ์” และในการประดิษฐ์แบ่งเป็น 3 อย่าง

(1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่

(2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น

และ (3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม

หากอ่านมาแบบนี้ คงสงสัยกันว่าจะเกี่ยวอะไรกับสมุนไพรที่เป็นพืชผัก

ขอบอกให้รู้กันทั่วไปว่า ในกฎหมายนี้จุดสำคัญอยู่ตรงมาตรา 9 ด้วย กล่าวว่า การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ มี 5 ข้อ

(1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติสัตว์ พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช

(2) กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

(3) ระบบข้อมูลสำหรับการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์

(4) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์

(5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน

ดังนั้น สมุนไพรที่เป็นพืชวัตถุ สัตว์วัตถุ ธาตุวัตถุ รวมทั้งจุลชีพต่างๆ ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ ดังนั้น ในทางภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านและแพทย์แผนไทยก็ไม่สามารถมาขอรับสิทธิบัตรได้ เพราะถ้าเกี่ยวกับวิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์ จะไม่ให้การคุ้มครองเลย

 

กฎหมายฉบับนี้ถือว่าดี และถ้าใครคิดแก้ไขให้แย่ลง มิตรรักสมุนไพรต้องจับตาไว้อย่าให้เป็นการนำเอาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติมาเป็นสมบัติธุรกิจ ลองนึกดู สมุนไพรที่ช่วยเหลือชีวิตมนุษย์สืบต่อมาแต่บรรพชน

วันดีคืนดีแค่มีนักวิจัยทำการสกัดสารจากสมุนไพรชนิดหนึ่งได้ แล้วครอบครองไว้ผู้เดียวเช่นนี้ ภูมิปัญญาที่มีไว้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็ไม่สามารถทำได้

จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น

แน่นอน หากมีนักวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์ขึ้นใหม่เอี่ยมและเป็นการประดิษฐ์ขั้นสูงที่พิสดาร พิสูจน์ได้ว่าเข้าข่ายคุ้มครองสิทธิบัตรได้ อันนี้ก็เป็นไปตามกฎหมายที่คนทั่วไปย่อมยอมรับได้

มูลนิธิสุขภาพไทยเคยนำเสนอตำรับยาดั้งเดิมที่มีส่วนผสมกัญชามาแล้ว แต่ก็ขอแนะนำไว้อีกสักตำรับ ให้เห็นถึงความร่ำรวยภูมิปัญญาสมุนไพรของเราอีกสัก 1 ตำรับ

ซึ่งตำรับยานี้ชื่อว่า ยาปราบชมพูทวีป แต่ชื่อนี้ในโบราณมีชื่อซ้ำกัน แต่ส่วนประกอบยาต่างกัน

สูตรตำรับแรกยาปราบชมพูทวีป นี้อยู่ในฐานะรายการบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว ซึ่งตัวยาไม่มีกัญชา สูตรตำรับในผงยา 465 กรัม ประกอบด้วย

1) เหงือกปลาหมอ (ทั้งต้น) พริกไทยดำ ใบกัญชาเทศ หนักสิ่งละ 120 กรัม 2) หัศคุณเทศ ดอกกานพลู หนักสิ่งละ 10 กรัม หัวบุกรอ เนื้อลูกสมอเทศ เนื้อลูกสมอไทย รากเจตมูลเพลิงแดง เหง้าขิง หนักสิ่งละ 8 กรัม 3) เทียนแดง เทียนตาตั๊กแตน เทียนแกลบ หนักสิ่งละ 6 กรัม เทียนดำ โกฐสอ โกฐเขมา ลูกพิลังกาสา ลำพันหางหมู หนักสิ่งละ 4 กรัม 4) ดอกดีปลี การบูร หนักสิ่งละ 2 กรัม ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน หนักสิ่งละ 1 กรัม

ปัจจุบันผลิตเป็นยาแคปซูล หรือยาลูกกลอน ใช้บรรเทาอาการหวัดในระยะแรกและอาการที่เกิดจากการแพ้อากาศ กินครั้งละ 750 มิลลิกรัม – 1.5 กรัม วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน

มีข้อห้ามใช้คือ ห้ามใช้กับภาวะแทรกซ้อนจากการแพ้อากาศ เช่น ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อ แบคทีเรียที่มีอาการเจ็บบริเวณไซนัส ไข้สูง น้ำมูกและเสมหะเขียว เป็นต้น

ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ เด็ก

 

และตำราโบราณชื่อเดียวกัน ยาปราบชมพูทวีป (ยาแก้สารพัดโรค) สรรพคุณ แก้โรคกุฏฐัง 30 จำพวก ตามืด ตาฟาง หูตึง หูหนวก คุดทะราด 30 จำพวก พุงโร ไส้พอง ไส้เลื่อน ท้องใหญ่ ท้องมาน หืด 30 จำพวก ขี้เรื้อน ฝีดาษ ลม 30 จำพวก ลมจุก ลมชัก ลมวิงเวียนศีรษะ ลมทั่วสรรพางค์กาย บวมทั้งตัว ลมชักปากเขียว ลมปัตฆาต จามไอ โลหิตมาไม่เสมอ ลมทำให้นอนไม่หลับ ธาตุทั้งสี่ไม่เสมอกัน มือ-เท้าตาย เดินไม่ได้

สูตรยา 1) ลูกจันทน์ 1 เฟื้อง 2) ดอกจันทน์ 1 สลึง 3) กระวาน 1 สลึงเฟื้อง 4) การบูร 2 สลึง 5) ดีปลี 2 สลึงเฟื้อง 6) พิลังกาสา 3 สลึง 7) ลำพันหางหมู 3 สลึงเฟื้อง 8) โกฐสอ 1 บาท 9) โกฐเขมา 1 บาท 10) เทียนดา 1 บาทสลึง 11) เทียนแดง 1 บาท สลึงเฟื้อง 12) เทียนตั๊กแตน 1 บาท 2 สลึงเฟื้อง 13) เทียนแกลบ 1 บาท 3 สลึง 14) ขิงแห้ง 1 บาท 3 สลึงเฟื้อง 15) เจตมูลเพลิง 2 บาท 16) บุกรอ 2 บาท 1 สลึงเฟื้อง 17) กานพลู 2 บาท 2 สลึง 18) สมอไทย 3 บาท 19) สมอเทศ 3 บาท 20) หัสคุณเทศ 5 บาท สลึงเฟื้อง 21) พริกไทยร่อน 31 บาท 22) ใบกัญชา 31 บาท 2 สลึง 23) เหงือกปลาหมอทั้งห้า 32 บาท

วิธีปรุง นำยาทั้งหมดบดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดพุทรา รับประทาน สำหรับคนที่เป็นโรค ให้กิน 3 เวลา ถ้ามีไข้ห้ามกินยานี้ สำหรับกินเพื่อบำรุงร่างกายให้กิน 2 เวลา หลังอาหารและก่อนนอน

ภูมิปัญญากัญชา ควรคุ้มครอง ส่งเสริม พัฒนาใช้ประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ