สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (8) จากจุฬาฯ สู่ท้องนาและโรงงาน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น เพื่อไผ่โอนพลิ้วพ้อล้อภูผา

เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วแพร้วทั่วแนวนา เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ”

อุชเชนี

แน่นอนว่าสถานการณ์หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ใช่ยุค “ท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

เพราะในอีกด้านหนึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเสมือนดังการเปิด “กล่องแพนโดรา” (Pandora”s Box) ที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ซึ่งถูกกดไว้ในสังคมไทยภายใต้รัฐบาลทหาร ที่อาจเปรียบได้ว่าเป็นตัวกล่องดังกล่าวได้ถูกเปิดออก

และเมื่อเปิดออกแล้ว ก็ทำให้สิ่งต่างๆ พรั่งพรูออกมา

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่คนส่วนหนึ่งจะรู้สึกว่า สังคมการเมืองไทยยุคหลัง 14 ตุลาฯ มีแต่ความวุ่นวาย และการประท้วงเต็มไปหมด จนราวกับเป็นสังคมไร้ระเบียบ

สภาวะเช่นนี้มีส่วนเกี่ยวพันกับบทบาทของนิสิตนักศึกษาโดยตรง

เพราะไม่เพียงการต่อสู้ของขบวนนักศึกษาจะทำให้กล่องแพนโดราถูกเปิดออกเท่านั้น แต่เมื่อเปิดออกพร้อมกับการมาของปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของกรรมกรและชาวนา ก็มีนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่พอสมควร…

โลกของนิสิตนักศึกษากำลังก้าวสู่ “ยุคของความเปลี่ยนแปลง”

และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่พาลูกหลานชนชั้นกลางออกไปสัมผัสโลกแห่งความเป็นจริงของสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พร้อมกันนี้กิจกรรมและ “ยุคสายลมแสงแดด” ที่กักขังนักศึกษาอยู่กับความสนุกของชีวิตหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยกำลังถูกลดทอนคุณค่าลง

พร้อมกับการคลี่คลายของกิจกรรม “เพื่อประชาชน” เข้ามาแทนที่


จิตวิญญาณวิชาการ

หลัง 14 ตุลาฯ รัฐบาลให้การสนับสนุน “โครงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย (ครป.)” เพื่อเปิดช่องทางให้นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ มีกิจกรรมในการเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

โครงการนี้เป็นการดึงเอานักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะบรรดาพวกที่อยู่ในชมรมและกลุ่มอิสระให้เข้ามามีบทบาทโดยตรง

ส่วนหลักของโครงการอาศัยตึก 2 ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นที่ตั้ง

ดังนั้น ในส่วนของจุฬาฯ แล้ว จึงไม่แปลกอะไรที่โครงการนี้จะเป็น “ศูนย์รวม” บรรดาพวกโซตัสใหม่ของคณะ เป็นแต่เพียงในสถานการณ์ใหม่เช่นนี้ พวกเราไม่สนใจกับเรื่องโซตัสอีกแล้ว

ประกอบกับการเคลื่อนไหวของน้องปี 1 รุ่นผมที่เปิด “ยุทธการล้มโซตัส” ในคณะ ก็ทำให้พลังของโซตัสเก่าอ่อนลงอย่างมาก

และในคณะอื่นๆ หรือในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ผมถูกพวกพี่แต่งตั้งให้เป็น “หัวหน้าฝ่ายวิชาการ” ของโครงการ ซึ่งก็คงต้องขอบคุณบรรดาพี่ๆ ในรัฐศาสตร์ที่ผลักดันผมขึ้นมา เพราะผมยังเป็นเพียงนิสิตปี 1

และก็เป็นครั้งแรกที่เข้ามารับงานใน “ระดับชาติ” ซึ่งเป็นทั้งประสบการณ์และความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

ภารกิจหลักก็คือการคิดและการผลักดันงานวิชาการเพื่อการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย

และงานรูปธรรมก็คือการผลิตหนังสือและเอกสารวิชาการ

การได้มีโอกาสทำเช่นนี้ทำให้ผมมีประสบการณ์กับงานหนังสือตั้งแต่เป็นนิสิตใหม่ๆ

และขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นงานที่ “ถูกจริต” ของผมและเพื่อนๆ เพราะเปิดช่องให้พวกเขาได้มีบทบาทในงานวิชาการ ซึ่งได้กลายมาเป็นรากฐานชีวิตของผมจวบจนปัจจุบัน

จริตงานวิชาการอาจจะเป็นผลมาจากการเริ่มอ่านหนังสือ ตอนเป็นนักเรียน ม.ศ.5 ไปเที่ยวดูหนังกับพวกเพื่อนๆ ผมแวะเข้าร้านหนังสือ ได้หนังสือนิยายการเมืองมา 2 เล่ม

เล่มหนึ่งเรื่อง “เมืองนิมิต” ของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์

และอีกเล่มเรื่อง “อาถรรพ์สยาม” ของ รัตนะ ยาวะประภาษ

ทั้งสองเล่มมีแก่นแกนเหมือนกันก็คือ การกล่าวถึง “การเมืองในอุดมคติ” แม้เรื่องราวจะหดหู่ แต่อ่านแบบเด็กวัยรุ่นในช่วงของการแสวงหาแล้ว ความฝันถึงอุดมคติเริ่มค่อยๆ ก่อตัวขึ้น

จนถึงขนาดลองเขียนบทความสั้นๆ เรื่อง “รัฐในอุดมคติ” ไปลงหนังสือ “ชัยพฤกษ์” (พี่อนุช อาภาภิรม เป็นบรรณาธิการ) ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช บทความได้ลงตีพิมพ์บางส่วน

งานวิชาการชิ้นแรกของผมในบรรณพิภพ แม้จะเป็นเพียง “เด็กขาสั้น” สายวิทย์ แต่ก็อยากพูดถึง “รัฐในอุดมคติ” ที่เป็นความฝันทางการเมืองของผม

ทั้งที่ความรู้เรื่อง “รัฐ” ยังจำกัดอยู่มากก็ตาม แต่ความฝันในแบบอุดมคติก็ทำให้ผมกล้าที่จะคิดและอยากลองเขียนออกมาบ้าง จนอาจดูเป็นความฝันที่ไกลเกินตัวในวุฒิภาวะขณะนั้น

ดังนั้น เมื่อต้องมารับบทบาทกับงานวิชาการแล้ว จึงรู้สึกถูกจริตกับความอยากรู้และการแสวงหาของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก่อนการเคลื่อนไหว 14 ตุลาฯ ผมเองก็มีโอกาสเข้ามาช่วยทำหนังสือชื่อ “รัฐธรรมนูญ” ที่ศูนย์นิสิตฯ จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อจำหน่ายหาทุนสำหรับการเคลื่อนไหว

ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือพิมพ์จำนวน 10,000 เล่ม ขายวันที่ 12 ตุลาคม 2516 ราคาเล่มละ 10 บาท… หนังสือขายหมดทันที

เรื่องเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนอย่างดีถึงการตอบรับต่อกระแสการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในยุคนั้น

ขายดีไม่ต่างกับเมื่อครั้งนิสิตนักศึกษาทำหนังสือคดีทุ่งใหญ่ในตอนต้นปี 2516

 

การก่อตัวของความคิดใหม่

ภาคปลายแล้ว 14 ตุลาฯ เป็นช่วงระยะเวลาของการขยายตัวของกิจกรรมใหม่ของนักศึกษาอย่างมาก จนแทบไม่มีความจำเป็นต้องกล่าวถึงระบบโซตัสเก่าอีกเลย

ผมเริ่มออกสู่โลกกิจกรรมภายนอก

นักกิจกรรมของมหิดลคนแรกที่ผมรู้จักชื่อ “พี่หงวน” (นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เสียชีวิตในเดือนมกราคม 2551)

ผมไม่แต่เพียงได้สัมผัสความกระตือรือร้นของพี่เขาเท่านั้น หากแต่ยังรับรู้ได้ถึงบุคลิกความอ่อนน้อมถ่อมตน และความเอาใจใส่คนอื่นๆ

พี่หงวนที่ผมรู้จักเป็นเช่นนี้เสมอ การกำเนิดของ “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นมรดกของความใส่ใจต่อผู้ยากไร้ที่พี่หงวนมีอยู่อย่างไม่เคยขาด…

ทุกครั้งที่เห็นโครงการนี้ก็อดคิดถึงพี่หมอตัวบางๆ ใส่แว่น และชอบชวนคุยเรื่องบ้านเมืองด้วยความห่วงใยเสมอ

และทุกครั้งที่เห็นรัฐบาลบางชุดอยากล้มโครงการนี้ ก็อดสลดใจกับความใจแคบของผู้มีอำนาจเช่นนี้ไม่ได้

ทั้งที่โครงการนี้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงกับชีวิตของผู้คนโดยทั่วไปและผู้ยากไร้ในสังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน

นักกิจกรรมธรรมศาสตร์คนแรกรุ่นเดียวกันที่ผมรู้จักชื่อ “ชีพ” (กุลชีพ วรพงษ์) และอีกคนจากมหิดลชื่อ “มิ้งค์” (นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) เพราะเป็นปี 1 เหมือนกัน เพื่อที่จะได้ทำกิจกรรมด้วยกันในอนาคต

และพวกเราก็เป็นเพื่อนกันมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการขยายตัวของกิจกรรมนักศึกษาข้ามมหาวิทยาลัย และขณะเดียวกันเราก็เริ่มเห็นการมาถึงของชุดความคิดใหม่อีกชุดคู่ขนานกับเรื่องประชาธิปไตยที่เราต่อสู้เพื่อให้ได้มาเมื่อตุลาคม 2516

มกราคม 2517 คือจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมของการเปิดตัวของ “ลัทธิสังคมนิยม” ในการเมืองไทยยุคใหม่

องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดนิทรรศการ “โฉมหน้าจีนใหม่” ซึ่งเป็นดังการเปิดประตูให้สิ่งที่ถูกจับขังอยู่ในกล่องแพนโดราทะลักออกสู่ปัญญาชน

เพราะในงานนี้มีการจำหน่ายหนังสือ “ปรัชญานิพนธ์เหมาเจ๋อตง” หนังสือขายดีอย่างมาก หลังจากนั้นหนังสือในแนวทางสังคมนิยมก็เดินออกมาจากมุมที่ถูกปิดไว้อย่างไม่เคยมีมาก่อน

และหนึ่งในนั้นก็คือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ของ จิตร ภูมิศักดิ์… หนังสือต้องห้ามเปิดเผยตัวสู่แวดวงนิสิตนักศึกษาอย่างท้าทายไม่กลัวการจับกุม

วงการสื่อสิ่งพิมพ์ของฝ่ายก้าวหน้าก็เปิดตัวไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย หรือประชาชาติ เป็นต้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยก็ออกหนังสือพิมพ์คืออธิปัตย์

นอกจากนี้ นิตยสารรายสัปดาห์ก็ทยอยออกมา ไม่ว่าจะเป็นจัตุรัส ประชาชาติ และเอเชีย เป็นต้น

สื่อทางปัญญาเริ่มส่งสัญญาณของการขยับตัวไปทางซ้าย แนวคิดสังคมนิยมเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในยุคหลัง 14 ตุลาฯ แม้จะยังมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ดำรงอยู่ก็ตาม

การปรากฏตัวของชุดความคิดนี้จึงเป็นดังการเริ่มส่งสัญญาณถึงอาการ “เอียงซ้าย” ของขบวนนักศึกษาไทย

สภาพเช่นนี้จึงท้าทายต่อชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และขบวนอนุรักษนิยมเป็นอย่างยิ่ง

เพราะในอีกมุมหนึ่งกำลังบ่งบอกว่า ชัยชนะในการต่อสู้ของนิสิตนักศึกษากำลังก้าวไปอีกระดับ ด้วยการเดินเข้าหา “ลัทธิสังคมนิยม”

การขยับตัวทางความคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะหลังจากการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ในยุคจอมพลสฤษดิ์ หลังการรัฐประหาร 2501 แล้ว เพราะหากเป็นในอดีต การแสดงออกเช่นนี้จบลงแบบเดียวเท่านั้นคือ “ถูกจับ” ข้อหาคอมมิวนิสต์


โลกแห่งความเป็นจริง

ปิดเทอมฤดูร้อนครั้งแรกของปีการศึกษา 2516 เป็นดังการ “เปิดโลก” ครั้งใหญ่ของกิจกรรมการเมืองของขบวนนักศึกษา ที่มาพร้อมกับ “โครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย” โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาของทุกมหาวิทยาลัยออกไปเผยแพร่ประชาธิปไตยแก่ประชาชนในชนบท

ผมตัดสินใจยุติบทบาททางวิชาการในเมือง และตัดสินใจเลือกที่จะออกไปเห็นชนบทในภาคอีสาน

แม้จะเป็นเด็กต่างจังหวัดจากพิษณุโลก แต่ผมก็ไม่เคยเห็นภาคอีสานที่ได้ชื่อว่าเป็นภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศ

ผมและเพื่อนสนิทชื่อ “เมธา พร้อมเทพ” (เกษียณอายุราชการในตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำอาร์เจนตินา) เลือกไปกับพี่ปี 4 ที่สนิทคือ พี่ธเนศวร์ เจริญเมือง และพี่สันโดษ เต็มแสวงเลิศ พร้อมเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยไปอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นหมู่บ้านในชนบทจริงๆ มีรถเข้าออกหมู่บ้านไปอำเภอวันละเที่ยว

เรามีงบฯ ให้ทำอาหารรับประทานกัน แต่ถ้าอยากได้อะไรพิเศษก็ต้องฝากพี่ๆ เขาซื้อจากอำเภอ รอรับของกับรถเที่ยวเย็นที่จะพาคนกลับเข้าหมู่บ้าน

เอาเข้าจริงๆ แล้ว เราไม่ได้เผยแพร่ประชาธิปไตยอย่างชื่อของโครงการ หากแต่เป็นการเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวอย่างพวกเราได้มีโอกาสสัมผัสชนบทไทยจริงๆ

ไม่ใช่ชนบทที่สวยหรูในหนังสือนิยาย

เราได้อยู่กับชาวบ้าน บางทีก็ช่วยสอนหนังสือ บางทีก็ตามชาวบ้านไปจับปลา ตกกลางคืนก็ตามพวกเด็กๆ ไปจับ “แมงกินูน” กิน

เป็นหนึ่งเดือนที่ผมได้อยู่กับชีวิตชนบทจริงๆ… เป็นหนึ่งเดือนของการเรียนรู้ครั้งใหญ่ของชีวิตผม

ผมกลับเข้าจุฬาฯ ด้วยความรู้สึกที่แตกต่างไปจากเดิม

โลกทัศน์ใหม่ที่โพนพิสัยกำลังสร้างตัวตนผมในอนาคต ผมกลับมาด้วยอุดมคติที่อยากเห็นความเจริญ ความเท่าเทียมกัน และการพัฒนาในชนบท…

แล้วระบอบการเมืองใดเล่าที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงขึ้น?

 

เริ่มออกเคลื่อนไหว

ในช่วงเป็นนิสิตปี 2 ผมเริ่มเข้าร่วมการประท้วงและออกเคลื่อนไหว ผมกับเพื่อนๆ เริ่มออกงานแรกก็คือ การประท้วงกรณีเท็มโก้ (TEMCO-Thailand Exploration Mining Company) บริษัทขุดแร่ในทะเลของสหรัฐอเมริการ่วมกับอดีตผู้นำทหารไทยแสวงหาผลประโยชน์จากท้องทะเลไทย

กรณีนี้ทำให้พวกเรารู้สึกแบบชาตินิยมถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจึงเปิดการประท้วง

เราจัดเป็นรูปแบบนิทรรศการเคลื่อนที่พร้อมกับการปราศรัยต่อต้านต่างชาติขึ้นในต่างจังหวัด

เราเดินทางด้วยรถกระบะของศูนย์นิสิตฯ ไปยังที่ต่างๆ

การประท้วงนี้ทำให้ผมได้เพื่อนสนิทจากต่างคณะสองคนมาร่วมงาน “น้อย” (วิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์) กับผมเดินทางไปด้วยกันในหลายที่เพื่อเปิดเวทีปราศรัยให้ข้อมูลแก่ประชาชน

และบางครั้งก็มีเพื่อนอีกคนมาร่วม คือ “ธรรม” (สุธรรม แสงประทุม อดีตรองประธานสภาพรรคไทยรักไทย) ทั้งสองมาจากคณะนิติศาสตร์ และเป็นชาวนครศรีธรรมราชทั้งคู่ ต้องยอมรับว่าลีลาการพูด “ยอดเยี่ยม” ทั้งสองคน แต่ผมมักจะถูกวิจารณ์ว่าพูดเป็นวิชาการมากไปหน่อย

ทีมเคลื่อนไหวของเราเป็นพวกที่ทางทฤษฎีฝ่ายซ้ายเรียกว่า “พวกเสือจร” คือ พวกเราจรไปตามที่ต่างๆ เพื่อจัดเวทีปราศรัย แล้วต่อมาพวกเราก็เริ่มเข้าไปช่วยการประท้วงของคนงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานแถวอ้อมน้อย

เราตระเวนไปช่วยพวกเขาตามโรงงานต่างๆ ดังนั้น หลังจากที่ทีมเคลื่อนไหวเริ่มลดบทบาทลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราต้องกลับสู่ห้องเรียน ผมเริ่มหาเวลาว่างกลับไปเยี่ยมเพื่อนคนงานที่อ้อมน้อยอยู่เป็นระยะ และต่อมาก็ไปถี่ขึ้นเรื่อยๆ

จนระยะต่อมาในช่วงปี 2 เทอมปลาย ผมแทบไม่อยู่ที่คณะ ว่างเมื่อไรก็ไปที่สถานีขนส่งสายใต้ จับรถประจำทางไปอ้อมน้อย ใช้ชีวิตช่วยพวกเขาที่สหภาพแรงงาน

ในระยะหลังๆ ก็เริ่มสวมเสื้อคนงาน บางวันก็ไปเดินกับพวกพี่ๆ เข้าไปในโรงงาน ได้เห็นสภาพจริงๆ ของการทำงานของพี่น้องคนงานในอุตสาหกรรมทอผ้า

และเรื่องราวที่ผมเข้าไปสัมผัสและรับรู้ด้วยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีสอนในจุฬาฯ แต่อย่างใด