คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พระรามและพระกฤษณะ สองด้านของพระเจ้าองค์เดียวกัน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมเคยสงสัยว่า เหตุใดนิกายที่นับถือพระวิษณุ (ไวษณวะ) จึงได้ให้ความสำคัญกับพระรามและพระกฤษณะมากเป็นพิเศษ

บางครั้งดูเหมือนจะมากกว่าพระวิษณุในรูปปกติหรืออวตารองค์อื่นๆ ทั้งหมด จนมีอนุนิกายที่นับถือพระกฤษณะหรือพระรามเป็นรูปสูงสุดด้วย (แต่ก็เรียกว่าไวษณวะทั้งนั้นครับ)

ไวษณวนิกายได้สร้างนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “หรินาม” หรือ “หรินามสังกีรตนัม” คือการสวดสรรเสริญพระนามของพระเจ้า ซึ่งก็หมายถึง พระนามของพระรามและพระกฤษณะนั่นเอง

ท่านในนิกายเหล่านี้ว่า ใน “กลียุค” หรือยุคแห่งความเสื่อมถอยนี้ ไม่มีหนทางอื่นใดที่จะเข้าสู่โมกษะ เช่นเดียวกับสมัยโลกยังดี ดังนั้น จึงป่วยการที่จะบำเพ็ญโยคะ บำเพ็ญตบะ หรือประกอบยัญญกรรมต่างๆ “สาธนา” หรือหลักปฏิบัติที่ดีที่สุด

ง่ายที่สุด ตรงที่สุด คือการสรรเสริญพระนามของพระเจ้า ซึ่งไม่ว่าจะคนบาปหรือนักบุญก็ย่อมได้รับผลานิสงส์ไม่ต่างกัน

ว่ากันว่า อานิสงส์ของการสวดพระนามพระเจ้านั้นมีมากมายมหาศาล ที่สุดคือย่อมยังให้ผู้สวดหลุดพ้นจากสังสารวัฏได้

ท่านนักบุญตุการามถึงกับประพันธ์ในกวีประเภทอภังคะของท่านว่า พระเจ้าเองก็ยังไม่รู้ความยิ่งใหญ่ในพระนามของพระองค์ ดุจเดียวกับดอกบัวไม่อาจรู้ความหอมหวน แม้พระเจ้าก็ไม่มีอภิสิทธิ์นี้ของตนเอง มีแต่หมู่ผึ้งภมรเท่านั้นที่รู้ ความยิ่งใหญ่ของพระนามจึงเป็นอภิสิทธิ์เฉพาะของสาวกเท่านั้น

 

อ่านแล้วก็อุทาน อะโห! ท่านคิดได้อย่างไรกันนี่ ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของ “หรินาม” หรือการนับถือพระนามของพระเจ้า

และหรินามนี้ก็ออกนามพระกฤษณะกับพระรามนั้นแหละครับ จะออกองค์ใดองค์หนึ่ง หรือทั้งสองพระนามก็ได้

ดร.เทวทัตต์ นักเทวปกรณัมวิทยาคนดังของผม ท่านเล่าไว้ในหนังสือชื่อ “เทวโลก” ว่า เหตุที่ชาวฮินดูเคารพรักใคร่พระรามและพระกฤษณะนั้น ก็เพราะที่จริงแล้ว พระรามและพระกฤษณะได้สะท้อนสองด้านของพระเจ้าที่ชาวฮินดูต้องการ หรืออาจหมายถึงความต้องการของมนุษย์โดยรวม

มีผู้กล่าวว่า แนวคิดเรื่อง “ทศวตาร” หรืออวตารทั้งสิบปางของพระวิษณุ เป็นการสะท้อนวิวัฒนาการของชีวิต ซึ่งเริ่มจากสัตว์น้ำ (ปลา-มัสยาวตาร) ไปสู่สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (กูรมาวตาร) สู่สัตว์บก (หมูป่า-วราหาวตาร) ครึ่งคนครึ่งสัตว์ (นรสิงห์) คนแคระ (วามนาวตาร) คนป่า (คนถือขวาน-ปรศุราม) เรื่อยไปจนถึงพระรามาวตาร ซึ่งส่อแสดงสังคมอารยะของมนุษย์แล้ว

แต่บางท่านกล่าวว่า นอกจากแสดงวิวัฒนาการในเชิงกายภาพ (ซึ่งหลายท่านคิดว่าเป็นความพยายามลากเข้าวิทยาศาสตร์มากเกินไป) ที่จริงแสดงถึงวิวัฒนาการของระดับ “จิตสำนึก” มากกว่า

มนุษย์ค่อยๆ เพิ่มระดับความสำนึกรู้เกี่ยวกับตนเอง จากเป็นสัตว์ จนสามารถมีระบบศีลธรรมในสังคม ในยุครามายณะ หรือยุคของพระราม แต่ไปสู่จิตสำนึกเชิงสุนทรียะในยุคพระกฤษณะ และปรับมาสู่จิตสำนึกแบบสันติหรือการแสวงหาความสูงส่งทางจิตวิญญาณในพุทธาวตาร

และสุดท้ายจะเข้าสู่จิตสำนึกขั้นสูงสุดในยุคกัลกีหรือบุรุษขี่ม้าขาวผู้ยังไม่ได้อวตารลงมา

 

ทั้งพระรามและพระกฤษณะต่างเป็น “ปุรุโษตมะ” หรือบุคคลผู้ถึงความบริบูรณ์ (บุรุษอันอุดม) แต่ต่างแง่มุมกัน พระรามเป็น “มรยาทาปุรุโษตมะ” (มรยาทา-มารยาท) บุรุษอันอุดมผู้มีจรรยามารยาทและขอบเขตความประพฤติ ส่วนพระกฤษณะเป็น “ลีลาปุรุโษตมะ” บุรุษอันอุดมผู้เปี่ยมไปด้วยลีลาน่าอัศจรรย์

พระรามนั้นประสูติตอนเที่ยงวันซึ่งสว่างเต็มที่ พระกฤษณะประสูติตอนเที่ยงคืนซึ่งมืดมิดลึกลับ

ทั้งคู่เกิดในราชตระกูล พระรามได้รับการอบรมจรรยามารยาทในฐานะราชกุมาร ในขณะที่พระกฤษณะต้องออกไปใช้ชีวิตอยู่ภายนอกพระราชวัง สนิทสนมกับสาวเลี้ยงวัว (โคปิกา) และตัวเองก็เป็นหนุ่มเลี้ยงวัวด้วย (โควินทะ)

พระรามต้องแบกภาระอันหนักอึ้งสำหรับราชธรรมตลอดชนม์ชีพ เช่น ต้องออกป่าเพราะยอมรับคำสัญญาของพระราชบิดา เมื่อออกไปแล้วก็ต้องมีหน้าที่ปกป้องสมณะชีพราหมณ์จากการเบียดเบียนของอมนุษย์ ต้องทำสงครามกับรากษส ต้องกลับบ้านเมืองอย่างรวดเร็ว (ด้วยบุษบกวิมาน) เพื่อรักษาสัญญากับน้องชาย เมื่อครองราชย์ก็มีเรื่องหนักใจเรื่องสีดาที่ชาวบ้านนินทา จำใจเลือกหน้าที่และจรรยาของกษัตริย์ตลอดชีวิต

พระรามพยายามเป็นลูกที่ดีของบิดามารดา เป็นพี่ชายที่ดีของน้อง เป็นสามีที่ดีของภรรยา และเป็นนายที่ดีของบ่าว แต่นั่นก็ทำให้เกิดความทุกข์และความอัดอั้นไม่น้อย

แม้แต่คนรอบข้างพระราม เช่น สีดาก็แบกรับเอาหน้าที่ของภรรยาที่ดี (ปดิวรดา) น้องชายอย่างพระลักษมณ์ก็แบกเอาหน้าที่ของน้องไม่แพ้กัน รวมทั้งหนุมานซึ่งมีความจงรักภักดีต่อนายอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ภาพ “รามราชย์” หรือการปกครองแบบพระรามนั้น จึงเป็นสังคมที่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ โดยมีธงแห่งศีลธรรมนำหน้าในทุกๆ ระดับ ตั้งแต่ระดับความสัมพันธ์ในครอบครัวไปจนถึงระดับรัฐ

 

ส่วนพระกฤษณะนั้นดูแทบจะตรงกันข้าม พระกฤษณะในวัยเด็กชอบเล่นสนุก แกล้งคนนั้นคนนี้ มีเสน่ห์ชวนใหลหลง ในขณะที่พระรามถือธนูเป็นอาวุธ พระกฤษณะกลับถือขลุ่ย เพื่อจะบรรเลงประโลมใจเหล่านางโคปี ในขณะที่พระรามอยู่แต่เวียงวัง และเข้าป่าบำเพ็ญพรตจากสัญญา พระกฤษณะใช้วัยเด็กสนุกในหมู่บ้านๆ และเข้าป่า “พฤนทาวัน” เพื่อความสำราญมากกว่าอะไรอื่น โดยจูงนางโคปีเข้าไปร่วมสำราญท่ามกลางแสงจันทร์ในป่านั้นด้วย

ขณะที่พระรามมีภรรยาคนเดียวตลอดชีวิต พระกฤษณะมีคู่รักมากมาย ทั้งที่สมหวังและไม่ได้อยู่ร่วมกัน แต่นั่นเป็นสิ่งที่คนนิยมชมชอบพระกฤษณะ ซึ่งดูเหมือนพระองค์สะท้อนถึงความรักแบบโรแมนติก

พระรามและพระกฤษณะจึงเป็นสองด้านของพระเจ้าองค์เดียวกัน ซึ่งสะท้อนความใฝ่ฝันของมนุษย์ในสองด้าน

ด้านหนึ่ง มนุษย์อยากมีบ้านเมืองที่เป็นระเบียบหรือศีลธรรมจรรยาได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอหน้า (พิมพ์มาถึงตรงนี้ทำไมผมรู้สึกเศร้าจัง) ต่างคนทำหน้าที่ของตนเอง เกิดเป็นความรุ่มรวยของ “อารยธรรม” มนุษย์ หรือความเจริญ

แต่การบังคับชีวิตภายใต้กรอบมากเกินไปก็ทำให้เคร่งเครียดเหนื่อยล้า ความต้องการหลุดออกจากกรอบศีลธรรม เพื่อเสพเสวยความบันเทิง ความสนุกสนาน และรื่นรมย์กับความรักจึงเป็นอีกด้านหนึ่งที่มนุษย์เราโหยหา

ในคติฮินดู พระเจ้าเป็นองค์แห่งความสมบูรณ์จึงอยู่เหนือทั้งศีลธรรมและความสนุกสนาน หรือพระองค์ก็สามารถเป็นได้ทั้งสองอย่าง เพื่อแสดงให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะทำให้ชีวิตตนเองสมดุล

ด้วยเหตุนั้นคนอินเดียจึงรักทั้งพระรามและพระกฤษณะ

และพระรามกับพระกฤษณะก็จะถูกสรรเสริญด้วยกันเสมอ

หเร กฤษณะ หเร ราม!