วิกฤติศตวรรษที่ 21 l ผ่าอุตสาหกรรมการทหาร การค้าอาวุธ และการก้าวสู่การเป็นเจ้าสมุทรของ ‘รัสเซีย’

วิกฤติประชาธิปไตย (30)

อุตสาหกรรมการทหารรัสเซีย

รัสเซียได้สืบทอดอุตสาหกรรมการทหารขนาดใหญ่จากสหภาพโซเวียต และต้องล้มลุกคลุกคลานจากภาวะล่มสลายและวิกฤติต่างๆ เมื่อถึงกลางทศวรรษ 1990 บริษัทด้านการทหารของรัสเซียเกือบทั้งหมดอยู่ในภาวะล้มละลาย

และยังถูกซ้ำเติมด้วยการพังทลายทางการเงินในปี 1998

ปรากฏว่าบริษัททางการทหารราว 400 แห่ง ไม่สามารถชำระหนี้ของตนได้ ได้เกิดการปฏิรูปอุตสาหกรรมการทหารครั้งใหญ่ ในด้านการบริหาร การลงทุนและการตลาด

หลังจากค่อยยืนติด ก็ถูกตะวันตกแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ-การทหารในปี 2014 เป็นอุปสรรคใหญ่ในการผลิตและพัฒนาอาวุธของรัสเซีย

รัสเซียได้ตอบโต้ทางด้านอุตสาหกรรมการทหารที่สำคัญ 2 ด้าน

ด้านหนึ่ง ได้แก่ ทำให้การผลิตเป็นแบบท้องถิ่นในรัสเซีย ทดแทนการนำเข้าจากยูเครนและประเทศตะวันตก มีเป้าหมายว่ารัสเซียจะผลิตอาวุธและอุปกรณ์ร้อยละ 85 ของทั้งหมดภายในปี 2025 ซึ่งทำได้ไม่ง่าย

อีกด้านหนึ่ง ได้แก่ หาแหล่งนำเข้าชิ้นส่วน อุปกรณ์จากที่อื่นแทน ที่สำคัญได้แก่ จากจีน อินเดียและเบลารุส โดยเฉพาะชิ้นส่วนไมโครอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการร่วมลงทุนกับต่างประเทศสร้างศูนย์การผลิตขึ้น

การเข้าร่วมสงครามกลางเมืองในซีเรียตั้งแต่ปลายปี 2015 เปิดโอกาสให้รัสเซียได้ทดลองอาวุธใหม่กว่า 200 ชนิด เช่น รถถัง ที 90 เครื่องบินรบล่องหนซู-57 เรือรบยิงขีปาวุธร่อนได้ ระบบป้องกันทางอากาศ เครื่องร่อนจรวด และโดรน เป็นต้น

ผลสำเร็จจากปฏิบัติทำให้อาวุธของรัสเซียเนื้อหอม เป็นที่ต้องการของหลายประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งเคยเป็นตลาดของสหรัฐ-ตะวันตก

ในปี 2017 ตะวันออกกลางได้เป็นลูกค้าซื้ออาวุธเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 20 ของการค้าอาวุธทั้งหมดของรัสเซีย

ชาติต่างๆ แม้ที่ไม่ได้เป็นมิตรก็พากันสนใจอาวุธของรัสเซีย อดีตผู้บัญชาการกองกำลังพลร่มรัสเซียกล่าวว่า “อุตสาหกรรมการทหารรัสเซียทุกวันนี้ ทำให้เราภูมิใจในกองทัพของเรา”

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการทหารรัสเซียจ้างงานราว 2.5 ล้านตำแหน่ง คิดเป็นกว่าร้อยละ 3 ของการจ้างงานทั้งหมด

และราว 1 ใน 3 ของการจ้างงานในโรงงานอุตสาหกรรม มีสถาบันวิจัยและพัฒนาและโรงงานผลิตตั้งกระจุกอยู่ในหลายเมืองและเขตแคว้น

จากการจัดอันดับบรรษัทใหญ่ด้านทหารในโลก ของสหรัฐหลายสำนัก พบว่า ในปี 2017 เครือบริษัทอัลมัซ-อันเตย์ ที่ขยายยอดขายของตนมาโดยตลอด ได้ครองตำแหน่งบรรษัทผลิตอาวุธใหญ่ที่สุดติดอันดับ 8 ของโลก ยอดเงินได้ 9.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากปี 2016

ในปี 2017 ยังมีบรรษัทผลิตอาวุธของรัสเซียอีก 5 แห่งที่ติดอันดับหนึ่งในร้อยของโลก

ได้แก่

(1) “บรรษัทสหเครื่องบิน” ติดอันดับที่ 14 (ยอดรายรับ 6.1 พันล้านดอลลาร์)

(2) บรรษัทขีปนาวุธยุทธวิธี เลื่อนจากอันดับที่ 32 มาเป็นที่ 25 ในปีนี้ รายได้ 3.5 พันล้านดอลลาร์

(3) บริษัทเฮลิคอปเตอร์รัสเซีย อยู่ที่อันดับ 36 รายได้ 2.7 พันล้านดอลลาร์

(4) บริษัทผลิตรถถัง อูรัลวาโกนซาวอด ติดอันดับ 46 รายได้ 1.8 พันล้าน เพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 18

(5) บรรษัทเทคโนโลยีวิทยุ-อิเล็กทรอนิกส์ อยู่ที่อันดับ 48 ยอดรายได้ 1.6 พันล้านดอลลาร์

(ดูหัวข้อ Russian Military Industry ใน globalsecurity.org 2018)

การค้าอาวุธของรัสเซีย

การค้าอาวุธของรัสเซียอยู่ในความควบคุมของหน่วยงานรัฐ

ประสานงานกับนโยบายต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

หน่วยงานรับผิดชอบได้แก่ โรโซโบโรเน็กซ์ปอร์ต (ก่อตั้งปี 2000 โดยประกาศสำนักประธานาธิบดี) ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ร้อยละ 85 ของรัสเซีย ทำธุรกิจกับกว่า 100 ประเทศ ประสานงานใกล้ชิดกับกระทรวงต่างประเทศ เพื่อให้สามารถนำนโยบายด้านความร่วมมือทางการทหาร-เทคนิคของรัสเซียไปปฏิบัติในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

ทูตรัสเซียเองก็ทำหน้าที่ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางทหารของรัสเซียในภูมิภาคต่างๆ ช่วยการทำสัญญาข้อตกลงกับลูกค้าต่างประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่

(ดูรายงานชื่อ Rosoboronexport : Support from the Foreign Minister Helps Promote Russian Products in the Global Market ใน defense-aerospace.com 19.07.2018)

มีผลการศึกษาเกี่ยวกับการค้าอาวุธรัสเซียของบางสถาบันจากตะวันตก สรุปว่า

(1) รัสเซียถือได้ว่าเป็นอภิอำนาจการค้าอาวุธ สามารถส่งออกอาวุธได้หลากหลายประเภทแก่จำนวนประเทศที่มากขึ้น มีเพียงสหรัฐประเทศเดียวที่สามารถทำเช่นนั้นได้

(2) การส่งออกอาวุธแม้มีสัดส่วนไม่มากในจีดีพีของรัสเซีย แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจรัสเซีย เพราะเป็นรายการส่งออกใหญ่ของรัสเซียและของสินค้าอุตสาหกรรมรัสเซีย เป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยเชื่อมเศรษฐกิจรัสเซียเข้ากับเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนการผลิตในอุตสาหกรรมการทหารในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งความต้องการในประเทศอาจไม่เพียงพอสำหรับการสร้างสายงานการผลิตขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงสำคัญต่อการรักษาความสามารถในการผลิตไว้

(3) การส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นเครื่องมือที่เกื้อหนุนโยบายต่างประเทศ ในการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐต่างๆ ที่เป็นมิตรทางการเมือง การส่งออกอาวุธในปัจจุบันช่วยให้รัสเซียบรรลุเป้าหมายในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติหลายทาง รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์เป็นมหาอำนาจโลก และรักษาความเป็นอิสระทางนโยบายต่างประเทศ สามารถขยายอิทธิพลเข้าไปในภูมิภาคที่รัสเซียสามารถส่งออกอาวุธ ริเริ่มและเสริมความแข็งแกร่งทางความสัมพันธ์ทางทหาร

(4) สภาพการส่งออกอาวุธของรัสเซียขณะนี้ตามการศึกษาของ “สถาบันสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม” (ซิปรี SIPRI) เป็นดังนี้

(ก) นับแต่ปี 2000-2016 รัสเซียส่งออกอาวุธคิดเป็นร้อยละ 21 ของโลก เป็นรองแต่สหรัฐ (ในบางปีสามารถส่งออกได้มากกว่าสหรัฐ) อาวุธที่ส่งออกก็หลากหลาย ตั้งแต่ขีปนาวุธ เครื่องบินรบ ไปจนถึงปืนใหญ่ ที่เด่นได้แก่ ระบบป้องกันทางอากาศ (ส่งออกได้ถึงร้อยละ 41 ของโลกระหว่างปี 2010-2016) ขีปนาวุธ (ร้อยละ 25.6) เครื่องบินรบ (ร้อยละ 24.7) สำหรับปืนใหญ่ส่งออกน้อย คิดเป็นเพียงร้อยละ 7 แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

(ข) ภูมิภาคที่ส่งออกมากที่สุดคือ เอเชีย คิดเป็นร้อยละ 70 ของการส่งออกทั้งหมดนับแต่ปี 2000-2016 ในเอเชียส่วนใหญ่ส่งไปสามประเทศคือ อินเดีย จีนและเวียดนาม (อินเดียและจีนรวมกันคิดเป็นร้อยละ 56 เวียดนาม ร้อยละ 5.6) ตามด้วยภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือที่เป็นตลาดค้าอาวุธที่คึกคักที่สุดในโลก ซึ่งสหรัฐและตะวันตกครองตลาดอยู่

รัสเซียส่งออกไปภูมิภาคนี้ได้ร้อยละ 17.8 ของโลก ท้ายสุดได้แก่ ละตินอเมริกา (ร้อยละ 4.6 ของโลก) และแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายสะฮารา (ร้อยละ 3) สำหรับแอฟริกานั้น รัสเซียเห็นว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และจับจ้องที่จะเข้ามา

(5) ปัจจัยที่เกื้อหนุนทำให้รัสเซียมีบทบาทนำในการผลิตและการค้าอาวุธในอนาคตได้แก่

ก) การผลิตและการส่งออกอาวุธรัสเซียได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2011 มีการระดมทุนเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ขนานใหญ่ ซึ่งช่วยส่งเสริมความสามารถในการผลิตและวางรากฐานในการพัฒนาระบบอาวุธใหม่

(ข) รัฐบาลรัสเซียกระตือรือร้นและมีความสามารถในการส่งเสริมการทำข้อตกลงการซื้อขายขนาดใหญ่ได้สำเร็จหลายราย ซึ่งเป็นการส่งเสริมในการพัฒนาความสัมพันธ์ระยะยาวในการจัดส่งอาวุธให้แก่ลูกค้ารายใหญ่

(ค) อุตสาหกรรมอาวุธของรัสเซียได้รับผลประโยชน์จากความสำเร็จในสงครามซีเรีย ระบบอาวุธ อย่างเช่น เครื่องบินรบ ซู-34 และซู-35 และระบบขีปานาวุธคาลิบร์ (คู่แข่งจรวดโทมาฮอว์กของสหรัฐ) พิสูจน์ว่าปฏิบัติการได้ผลดี ซึ่งจะส่งเสริมให้ประเทศอื่นสนใจอาวุธเหล่านี้

(ง) รัสเซียสามารถทำให้ประเทศต่างๆ ที่ไม่มีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐ เชื่อมั่นว่ารัสเซียจะเป็นแหล่งสนองอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เชื่อถือได้ เป็นการเปิดตลาดอาวุธกว้าง ตรงข้ามกับฝ่ายตะวันตก (ที่เข้าไปแทรกแซงล้มล้างยัดเยียดค่านิยมของตนไปทั่วโลก) รัสเซียอาศัยช่องว่างจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับประเทศต่างๆ มีอิหร่าน จีน รัสเซีย ตุรกี อียิปต์ ฟิลิปปินส์ และปากีสถาน เป็นต้น เข้าไปเจรจาขายอาวุธ

อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็มีจุดอ่อนในอุตสาหกรรมการทหารและการค้าอาวุธอยู่หลายประการ

ที่สำคัญคือ รัสเซียจะมีความสามารถและความมุ่งมั่นในการทุ่มเงินทุนเพื่อการผลิตและการค้าอาวุธมากน้อยเพียงใด เพราะว่าการค้าอาวุธไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของนโยบายต่างประเทศและการช่วงชิงอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย

(ดูเอกสารวิจัยของ Richard Connolly and Cecilie Sendstad ชื่อ Russia”s Role as an Arms Exporter-The Strategic and Economic Importance of Arms Exports for Russia ใน chathamhouse.org สำนักคิดทรงอิทธิพลด้านกิจการระหว่างประเทศของอังกฤษ มีนาคม 2017)

ผู้เขียนเองเห็นว่า ไม่เป็นที่สงสัยว่ารัสเซียจะเดินหน้าต่อในการแสวงหาพันธมิตรเพื่อต่อต้านสิ่งที่รัสเซียเห็นว่าเป็นความยโสของของสหรัฐและตะวันตก สร้าง “มหายูเรเซีย” ประสานกับโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งทาง” ของจีน

เทคโนโลยีการทหารรัสเซีย-สหรัฐ

: ใครเหนือกว่ากัน

จากที่รัสเซียสามารถพัฒนาการผลิตและการค้าอาวุธ เพื่อขยายมิตรและหุ้นส่วนของตนไปดังกล่าว รัสเซียได้เปิดฉากทำสงครามจิตวิทยาแก่ประชาชนทั่วไปว่าเทคโนโลยีทางการทหารของรัสเซียนี้เหนือกว่าของสหรัฐ

เช่น การโฆษณาว่ากองทัพสหรัฐไม่มีใครพิชิต

แต่ตามความเป็นจริงนั้น นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา สหรัฐไม่เคยชนะในสงครามใด ไม่ว่าสงครามเวียดนาม หรือสงครามมหาตะวันออกกลาง

มีบทความของรัสเซียบทความหนึ่ง ได้อ้างบทความของนักเศรษฐศาสตร์ นักเขียนอาวุโสสหรัฐบางคนได้แก่ พอล เครก โรเบิร์ตส์ (เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสมัยประธานาธิบดีเรแกน) ในชื่อ “วันหนึ่งในวันพรุ่งจะไม่มาถึง”

โรเบิร์ตส์กล่าว “ก่อนที่ไอ้งั่งในวอชิงตันจะทำลายโลกนี้ไป ไอ้พวกโง่เหล่านั้นควรจะได้รู้ข้อเท็จจริงว่า การทหารสหรัฐเดี๋ยวนี้เมื่อเทียบกับของรัสเซียแล้วตกเป็นรองกว่า ตัวอย่างเช่น กองทัพเรือสหรัฐได้ล้าสมัยไปแล้ว เมื่อต้องเผชิญกับขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงเซอร์คอน…รถถังสหรัฐก็สู้ของรัสเซียไม่ได้… ทหารรัสเซียมีความพร้อมรบ การฝึกและสดใหม่กว่าทหารสหรัฐที่กรำศึกในสงครามที่ไร้เป้าหมายและน่าผิดหวังมาถึง 16 ปี”

นักเขียนรัสเซียผู้นี้ที่ใช้นามปากกา “เหยี่ยว” กล่าวว่า แม้สหรัฐจะมีความได้เปรียบกว่าในเชิงปริมาณ

แต่ในด้านคุณภาพและการฝึกแล้วรัสเซียเหนือกว่า

เขายังชี้ต่อไปว่า กองกำลังอาวุธของสหรัฐตกอยู่ในความเสื่อมถอยอย่างปกปิดไม่อยู่ ถ้าจัดประเทศที่ถูกสหรัฐข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็จะมีอยู่ 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก เป็นประเทศที่สามารถโจมตี ตอบโต้สหรัฐให้แหลกลาญได้ เช่น รัสเซีย

กลุ่มที่สอง ได้แก่ สหรัฐสามารถโจมตีโดยไม่มีการตอบโต้ แต่สามารถก่อความเสียหายแก่สหรัฐอย่างหนักโดยใช้อาวุธธรรมดาและสงครามที่ไม่ได้สมมาตร ได้แก่ อิหร่านและเกาหลีเหนือ

กลุ่มที่สาม ได้แก่ ประเทศที่สหรัฐโจมตีได้โดยไม่มีการตอบโต้ แต่สามารถบดขยี้สหรัฐด้วยการใช้กองกำลังแบบธรรมดาได้ ทำให้การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ไร้ประโยชน์

ในประการต่อมา แม้งบประมาณทางทหารของรัสเซียจะน้อยนิดเมื่อเทียบกับของสหรัฐ แต่ก็มีประสิทธิภาพมากกว่าสหรัฐ เพราะทหารรัสเซียเป็นผู้ออกแบบอาวุธสำหรับทหารด้วยกันใช้ ต่างกับของสหรัฐที่อาวุธถูกออกแบบโดยวิศวกรเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจรับ ก่อให้เกิดการสูญเสียและการคอร์รัปชั่นมากกว่า

ผลได้ปรากฏชัดเมื่อเทียบกรณีเครื่องบินเอฟ-35 ของสหรัฐที่ราคาแพงมากและมีปัญหาจุกจิก กับเครื่องบินซู-35 หรือที-50 ของรัสเซีย (ดูบทความของ the Saker ชื่อ Does Russia now have Superior Military Technology? ใน unz.com 03.11.2017)

ส่วนปูตินได้ขย่มซ้ำว่า บัดนี้รัสเซียได้ผลิตขีปนาวุธข้ามทวีปและตอร์ปิโดนิวเคลียร์ที่ไม่มีใครพิชิตได้ และสามารถทะลวงระบบป้องกันของสหรัฐได้ด้วย (ดูบทความของ Neil MacFarquhar และเพื่อน ชื่อ “Putin”s “Invincible” Missiles Aimed at U.S. Vulnerabilities ใน nytimes 01.03.2018)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการช่วงชิงในหลายพื้นที่กับสหรัฐ ตั้งแต่ทะเลดำถึงมหาสมุทรอาร์กติก และการสร้างมหายูเรเซีย