ฉัตรสุมาลย์ : ความรู้คืออำนาจ

อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้ดำเนินรายการและวิทยากร

บนเวทีเสวนาเรื่องบทบาทสตรีในการส่งเสริมและรักษาพระพุทธศาสนาที่มูลนิธิพุทธสาวิกาจัดร่วมกับภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 ที่เพิ่งผ่านมานั้น วิทยากรบนเวที 4 ท่าน คือ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ท่านเป็นทั้งวิทยากรและผู้ดำเนินรายการ อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์ ดร.กาญจนา สุทธิกุล และท่านธัมมนันทาภิกษุณี

แม้ผู้ฟังไม่คับคั่ง เพราะนอกจากจะเป็นช่วงปิดภาคเรียนแล้ว กลุ่มสตรีที่เคยเป็นลูกค้าก็ติดกิจกรรมในท้องที่ของตนด้วย

แต่เนื่องจากการเสวนาครั้งนี้มีการบันทึกเทปวิดีทัศน์ตลอดงาน เพื่อนำไปถ่ายทอดขยายผล จึงถือเป็นเวทีที่ให้ความรู้ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง

อาจารย์ฉลาดชัย
อาจารย์ฉลาดชัย

ท่านธัมมนันทาเริ่มต้นโดยเล่าถึงประสบการณ์ล่าสุดที่ได้รับนิมนต์ไปบรรยายบนเวทีใหญ่ที่มีผู้ฟัง 5,000 คน ที่เมืองอุชเชน ประเทศอินเดีย เจ้าภาพให้พูดถึงเรื่องการเสริมพลังสตรี (empowerment)

ท่านเท้าความไปถึงตำนานเรื่องพระพุทธเมตตาซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่อยู่ในพระวิหารที่ต้นโพธิ์ที่พุทธคยาที่เราท่านหลายคนที่เคยไปพุทธคยาคุ้นเคยกันดี ในช่วงศตวรรษที่ 11-12 ที่มุสลิมเข้ามายึดครองบริเวณนั้น

ทหารมุสลิมที่เข้ามาปกครอง สั่งการให้เจ้าอาวาสทำลายพระพุทธรูปเสีย เพราะชาวมุสลิมถือว่า การมีรูปเคารพอื่นไม่เป็นการเคารพต่อพระอัลลอฮ์ ศาสนาอิสลามจึงไม่อนุญาตให้มีรูปเคารพอื่นใด นายทหารท่านนั้นสั่งการจากบนหลังม้า ให้เจาอาวาสจัดการเสีย แล้วจะกลับมาตรวจภายใน 2 วัน ว่าหลวงพ่อปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่

หลวงพ่อเรียกประชุมลูกวัดที่ไว้วางใจได้เป็นการเฉพาะ ในช่วงกลางคืน ได้ช่วยกันก่ออิฐเป็นกำแพงอีกชั้นหนึ่งด้านหน้าองค์พระนั้น ผู้คนที่ดูจากด้านนอกก็จะเห็นว่าหลวงพ่อหายไปแล้ว

2 วันผ่านไป นายทหารมุสลิมคนเดิมมาตรวจงาน แล้วกลับไปด้วยความพอใจว่าหลวงพ่อปฏิบัติตามคำสั่ง คือพระประธานหายไปแล้ว

ไม่มีใครล่วงรู้ความจริง จนอีก 100 ปีต่อมา เมื่อมีการซ่อมบำรุงวิหาร คนงานที่มาซ่อมกำแพงสังเกตเห็นอิฐชำรุด เมื่อจะซ่อมแซมจึงเห็นว่ามีอีกชั้นหนึ่ง ค่อยๆ รื้ออิฐออกมาทีละก้อน ในที่สุดพบพระพุทธรูปที่งดงามอยู่ภายใน จึงช่วยกันรื้ออิฐที่กั้นเป็นกำแพงปิดบังท่านออก ก็ได้พระพุทธเมตตากลับมาดังเดิม

การเสริมสร้างพลังสตรีก็เช่นเดียวกัน สตรีมีศักติ มีความสามารถมีพลังอยู่แล้ว ขอเพียงอย่าปิดกั้น อย่าปิดบังความงดงามของเธอ สังคมต้องให้พื้นที่แก่สตรีเพื่อสตรีจะได้ค้นพบศักติให้เธอได้แสดงความสามารถที่มีอยู่เดิมได้เต็มที่

ท่านอาจารย์ฉลาดชาย วิทยากรถัดมา กรุณาอธิบายว่า ในชุดความรู้ของสังคมศาสตร์ เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพูดกันถึงความรู้คืออำนาจ ขณะเดียวกัน อำนาจก็เป็นการสร้างองค์ความรู้ด้วย

พุทธศาสนาก็เป็นชุดความรู้ที่จะอธิบายและตอบคำถามของมนุษย์ ว่า เกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน ตายแล้วจะเกิดอีกได้อย่างไร ฯลฯ

พุทธศาสนาเกิดจากชุดความรู้เดิมที่เป็นจักรวาลวิทยาของศาสนาพราหมณ์ แต่ชุดความรู้ของศาสนาพราหมณ์ยังไม่พียงพอที่จะตอบความรู้ได้ทั้งหมด

พุทธศาสนาเป็นชุดความรู้ใหม่ที่พยายามตอบคำถามที่ศาสนาพราหมณ์ตอบไม่ได้ หรือตอบแล้วยังไม่สมบูรณ์

ความรู้ในพุทธศาสนาจึงเป็นอำนาจ เพราะตอบคำถามเกี่ยวกับสรรพสิ่ง มีที่มาที่ไป ความรู้เรื่องโลกมีความซับซ้อน ไม่สามารถตอบได้ง่ายๆ แบบเดียวกับวิทยาศาสตร์ที่จะอธิบายตามกฎเกณฑ์ทางชีววิทยา ศาสนาพุทธให้ความรู้ ความคิด และรับรู้ในส่วนของจิตสำนึก ศาสนาพุทธเข้ามาอธิบาย และจัดระบบความคิด ศาสนาพุทธจึงมีพลังและอำนาจ

ผู้ที่เข้าใจในคำสอนของพุทธศาสนาจึงมีอำนาจ มีพลัง เพราะมีความคิดที่เป็นระบบ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่จำกัดว่าจะต้องอยู่ในระบบตลอดเวลา เช่นนี้ ผู้รู้จึงเป็นผู้ที่มีอำนาจ

ผู้ที่มีอำนาจจึงไม่ต้องการที่จะให้คนอื่นรู้ทั้งคำถามและคำตอบ จึงเกิดขบวนการสร้างมายาคติ และอคติ เช่น สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามมิให้ผู้หญิงเข้า

คุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของศาสนา คือ ถือความศักดิ์สิทธิ์ องค์ความรู้เรื่องอื่น เรื่องการเมือง วิทยาศาสตร์ ฯลฯ สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ลบหลู่ได้ แต่ทันทีที่เป็นเรื่องของศาสนาจะลบหลู่มิได้ เพราะก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่ของความศักดิ์สิทธิ์

ในสังคมอินเดีย ผู้ชายในวรรณะสูงคือวรรณะพราหมณ์ จึงผูกขาดองค์ความรู้ ปิดกั้นมิให้คนอื่นก้าวล่วงเข้าไปในปริมณฑลของความศักดิ์สิทธิ์นั้น

ที่เชียงใหม่ และวัฒนธรรมล้านนาก็จะมีตัวอย่างชัดเจน เช่น ห้ามมิให้สตรีเข้าไปในบริเวณพระธาตุ เป็นต้น

การห้ามเช่นนี้ คือ ห้ามมิให้สตรีเข้าถึงความรู้ สตรีจึงไม่มีอำนาจ เพราะไม่มีความรู้ แม้จะรักษาส่งเสริมพุทธศาสนาก็ทำไม่ได้

ในศาสนานั้น พิธีกรรมเป็นสาระสำคัญ องค์กรที่ควบคุมเรื่องของพิธีกรรม คือศาสนจักร พุทธศาสนาในประเทศไทย ก็จะเป็นคณะสงฆ์ไทยบริหารจัดการโดยมหาเถรสมาคม

ผู้ประกอบพิธีกรรม คือ ผู้ตีความความรู้ อำนาจในการตีความนั้นเป็นพื้นที่ผู้ชายยึดกุมอยู่ ไม่ให้ผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่ของการตีความ

พิธีกรรมเป็นส่วนของศาสนาที่จับต้องได้ ผู้ประกอบพิธีกรรมในสังคมไทยเป็นผู้ชาย หากจะให้ผู้หญิงมีบทบาทในการส่งเสริมพระศาสนา ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในศาสนา

ชุดที่มาของความรู้คืออำนาจที่จะถอนรื้อกำแพงที่ปิดกั้นไว้ได้

ผู้หญิงจะมีอำนาจที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามได้

ท่านอาจารย์อธิบายอีกทฤษฎีหนึ่ง คือ exclusion วิธีการอธิบายเพื่อกันออกให้เป็นคนอื่น ไม่ให้มีองค์ความรู้ โดยการสร้างหลักคิดที่เป็นมายาคติ มีเครื่องมือที่จะกันคนออกอยู่ 6 ประเด็น

1. ชาติพันธุ์ (ethnic) เช่น ปัดออกไปว่า เป็นวัฒนธรรมม้ง กะเหรี่ยง ไม่เกี่ยวกับคนไทย

2. ชั้นวรรณะ (caste) ปัดออก คัดออก โดยอธิบายว่า คนละชั้น คนละวรรณะ

3. ชนชั้น (class) แยกโดยปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ เป็นต้น

4. เพศภาวะ (gender) มายาคติว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า พูดมาก สับปลับ ฯลฯ

5. อายุ (age) เช่น แก่แล้ว ทำงานไม่ไหว

6. สภาพทางร่างกาย (disable) ความไม่สามารถทางกายเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถูกยกมาอ้างโดยรวม ทำให้ปิดกั้นโอกาสและความสามารถอื่นของผู้ที่มีข้อจำกัดทางกาย

ผู้เขียนเองรู้สึกชื่นชมท่านอาจารย์ฉลาดชาย ฟังท่านอธิบาย ให้ความรู้สึกว่ากลับไปนั่งเรียนกับท่านในชั้นเรียน ท่านมีวิธีการอธิบายที่ค่อยๆ คลี่คลาย ทำให้เราได้เห็นภาพตามอย่างช้าๆ แต่ชัดเจน

ในการปลูกฝังการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ การให้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง ให้สังคมได้เข้าถึงองค์ความรู้จึงเป็นเรื่องจำเป็น

ผู้เขียนเองได้ตระหนักว่าความรู้คืออำนาจ ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตั้งแต่ ค.ศ.1983 (พ.ศ.2526) เมื่อได้รับเชิญไปร่วมการประชุมที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา การประชุมครั้งนั้น เป็นการประชุมเรื่อง ผู้หญิง ศาสนา และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นการรวมพลังของเฟมินิสต์ (นักสตรีนิยม) ยุคบุกเบิกจากหลายประเทศ

ผู้เขียนไม่ได้รู้ตัวเองว่าเป็นนักสตรีนิยมมาก่อน แต่จากการประชุมครั้งนั้น ตั้งโจทย์ให้แก่ผู้เขียนครั้งสำคัญว่า หากเป็นผู้กุมข้อมูลเกี่ยวกับภิกษุณีไว้ในมือ แต่ไม่มีการขับเคลื่อนเพื่อนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางศาสนาหรือสังคม ก็ดูเหมือนว่า สักแต่มีความรู้ แต่ไม่ได้ใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์แก่สังคมในวงกว้าง พระศาสนาในประเด็นที่แคบเข้ามา และจนกระทั่งถึงภิกษุณีเอง ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายนัก

ผู้เขียนเริ่มก้าวลงมาจากหอคอยงาช้างของนักวิชาการ เพื่อร่วมขบวนขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยเน้นที่การให้ข้อมูลและองค์ความรู้ในเรื่องที่ถูกต้องเกี่ยวกับภิกษุณี เป็นเรื่องที่ทำมาแล้ว และยังทำอยู่ในหลายรูปแบบ

จนกระทั่งเคยถูกท่านอาจารย์สุลักษณ์ท่านเพ้ยเอาว่า พูดแต่เรื่องภิกษุณี

ความตระหนักในความรับผิดชอบต่อศาสนาและสังคมของผู้เขียนที่มาสานต่อในท่านธัมมนันทาก็ยังเป็นเส้นทางเดียวกัน คือสร้างชุดความรู้ที่จะนำมาซึ่งอำนาจที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง

ท่านธัมมนันทาท่านอาจจะทำได้ดีกว่า ดร.ฉัตรสุมาลย์ เพราะแม้ท่านไม่พูดอะไรเลย ท่านก็ทำความรู้ให้ปรากฏแก่สายตาของผู้ที่ได้พบเห็น ว่ามีภิกษุณีในประเทศไทย

การที่มีความรู้นี้ เป็นอำนาจ เพราะสามารถที่จะวิพากษ์ ยอมรับ หรือไม่ยอมรับ ความรู้ชุดเดิมที่ถ่ายทอดกันลงมาโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง

สังคมสมัยนี้ เป็นสังคมที่สื่อข่าวสารกันได้อย่างรวดเร็ว กว้างขวางทั่วถึง แต่ผู้เสพข้อมูลก็ต้องมีวิจารณญาณที่จะเลือกเสพ หรือเลือกทิ้งข้อมูลที่บางทีก็เป็นขยะทิ้งลงตะกร้าขยะไปได้เลย

ที่มาของวิจารณญาณก็คือขบวนการโยนิโสมนสิการ ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ได้จากพุทธศาสนาอีกนั่นแหละ เพราะฉะนั้น การเข้าถึงชุดความรู้ในพุทธศาสนาจึงเป็นอำนาจที่แท้จริง

ธรรมะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น มีอยู่แล้ว ไม่ว่า พระพุทธเจ้าจะทรงค้นพบหรือไม่ สัจธรรมก็ย่อมเป็นสัจธรรม การเข้าถึงชุดความรู้ที่เป็นสัจธรรมนี้แหละที่ชาวพุทธจะพิสูจน์ได้ว่า ตัวเองเป็นชาวพุทธที่แท้จริง เป็นอำนาจที่จะเอาชนะความทุกข์ชนิดถอนรากถอนโคนทีเดียว