แพทย์ พิจิตร : จาก ‘สฤษดิ์’ ถึง ‘ประยุทธ์’ “ผู้มีอำนาจเผด็จการเด็ดขาด ซึ่งมีคุณธรรม”?

อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้บุกเบิกการสอนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” ขึ้นที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อราวทศวรรษ พ.ศ.2520 และต่อมาก็ได้กลายเป็นวิชาในระดับปริญญาเอกด้วย

ที่สำคัญคือ ท่านทั้งสองได้ผลิตตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย” และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ก่อนที่จะพิมพ์เป็นตำราออกมา ท่านทั้งสองได้ส่งให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ่าน และท่านอาจารย์นิธิก็ได้เขียนตอบมาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “ปฏิกิริยา”

ซึ่งในตอนก่อน ได้กล่าวถึงข้อวิจารณ์แบบนักประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิที่มีต่อการศึกษาความคิดทางการเมืองในแบบรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติ

ในส่วนท้ายของ “ปฏิกิริยา” อาจารย์นิธิได้กล่าวถึงหนังสือ “ความคิดทางการเมืองไทย” ว่า

“ในแง่ท้ายสุดนี้นำเราไปสู่ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า หนังสือเล่มนี้ไม่พยายามเชื่อมโยงความคิดเห็นทางการเมืองเข้ากับประวัติศาสตร์ นอกจากข้อสังเกตในท้ายบทบางบท ซึ่งฉาบฉวยและดึงเข้าเอาความมากๆ ในบางกรณี (เช่น เห็นว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็น “ผู้ที่มีอำนาจเผด็จการเด็ดขาดซึ่งมีคุณธรรม” – ลองเปรียบเทียบมโนภาพของบุคคลผู้นี้กับ ร.5 ซึ่งเป็นวีรบุรุษของคน “สมัย” เดียวกัน) มีอยู่บทเดียวที่นำเอาบุคคลจริงและเหตุการณ์ “จริง” ในประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์ คือบทที่ 8 เกี่ยวกับพระเจ้าปราสาททอง แม้ว่าจะเป็นบทที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แต่ก็มิได้แสดงว่าการกระทำของพระองค์สอดคล้องอย่างไรกับแนวความคิดทางการเมืองไทยดังที่แสดงมาใน 7 บทแรก ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้น่าสงสัยขึ้นไปอีกว่า ความคิดทางการเมืองไทยดังที่ได้แสดงมานั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญจริงนักในวิถีชีวิตทางการเมืองของไทยอยุธยาเลยด้วยซ้ำ พระเจ้าปราสาททองทรงปฏิบัติพระองค์ห่างไกลจากแนวคิดเรื่องธรรมราชาและจักรพรรดิอย่างค่อนข้างเปิดเผย แต่ก็ทรงเป็นกษัตริย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างดี (อย่างน้อยก็ตามทัศนะของฟาน ฟลีต) ด้วยเหตุที่ไม่มีการเชื่อมโยงความคิดทางการเมืองกับประวัติศาสตร์นี้เอง ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าความคิดทางการเมืองทั้งหมดที่กล่าวในหนังสือนี้เป็นสิ่งที่อยู่ลอยๆ เป็นเหมือนอุดมคติ”

“สิ่งที่เป็นเพียงอุดมคติและไม่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตเลยก็เกือบจะเท่ากับสิ่งที่ไม่เป็นจริง (real)”

 

คําวิจารณ์ของอาจารย์นิธิข้างต้นยังสะท้อนให้เห็นถึงการเน้นให้ความสำคัญกับบริบททางประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องประหลาด เพราะอาจารย์นิธิเป็นนักประวัติศาสตร์ และย่อมเห็นความ “ไม่เป็นประวัติศาสตร์” ในงานของนักรัฐศาสตร์อย่างอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติ และคำวิจารณ์ของอาจารย์นิธิที่ว่า

“หนังสือเล่มนี้ไม่พยายามเชื่อมโยงความคิดเห็นทางการเมืองเข้ากับประวัติศาสตร์ นอกจากข้อสังเกตในท้ายบทบางบท ซึ่งฉาบฉวยและดึงเข้าเอาความมากๆ ในบางกรณี (เช่น เห็นว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็น “ผู้ที่มีอำนาจเผด็จการเด็ดขาดซึ่งมีคุณธรรม”…)”

จึงน่าสนใจที่เราควรจะกลับไปดูบริบทของข้อความดังกล่าวในหนังสือ “ความคิดทางการเมืองไทย” เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่า เหตุใดจอมพลสฤษดิ์ถึงเป็น “ผู้ที่มีอำนาจเผด็จการเด็ดขาดซึ่งมีคุณธรรม”?

ข้อความดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในหน้าที่ 23 ของบทที่ 1 ว่าด้วย “ลักษณะสำคัญของความคิดทางการเมืองไทย”

และในบทนี้ยังได้กล่าวถึง “ความคิดทางการเมืองอินเดียโบราณและความคิดทางการเมืองไทย”

และในหน้าที่ 23 ได้มีความสรุปของบทที่ 1 ว่า

 

“โดยสรุป ลักษณะเด่นของความคิดทางการเมืองไทยโบราณได้แก่ การนำเอาความคิดทางฮินดูและพุทธมาใช้ในการกำหนดโลกทัศน์ และรูปแบบทางการปกครอง ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง การผสมผสานระหว่างความคิดทางการเมืองของฮินดูกับพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพราะความคิดของทั้งสองปรัชญานี้ ต่างเอื้ออำนวยต่อระบอบการปกครองไทยโบราณ ซึ่งเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้ว่าศาสนาพุทธจะมีอิทธิพลต่อคนไทยส่วนใหญ่มาเป็นเวลานาน แต่โดยลักษณะของศาสนาพุทธนั้นเป็นปรัชญาทางสังคม มากกว่าจะเป็นปรัชญาการเมือง ดังนั้น การยึดหลักของพุทธศาสนาทั้งหมดมาเป็นเครื่องมือทางการปกครองสมัยโบราณจึงกระทำได้ยาก เพราะสังคมไทยโบราณต้องการควบคุมคนในอาณาจักรด้วยอำนาจเด็ดขาด และในสังคมดั้งเดิมนั้น วิธีการที่จะทำให้ผู้อยู่ใต้ปกครองยอมรับอำนาจของผู้ปกครองได้ง่ายที่สุด ได้แก่ การสร้างความเชื่อในหมู่ผู้อยู่ใต้ปกครองว่าผู้ปกครองมีคุณลักษณะพิเศษบางประการที่เหนือบุคคลอื่นในสังคม

“ในด้านนี้ ศาสนาฮินดูสามารถมีบทบาทสำคัญในการป้อนความคิดเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ และความเป็นอภิมนุษย์ของผู้ปกครองได้ จากการที่ศาสนาฮินดูมีพระเจ้าหลายองค์ เช่น พระอินทร์ พระนารายณ์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ศาสนาพุทธไม่มี ดังนั้น โครงสร้างทางการเมืองและวิธีการปกครองที่จะเอื้ออำนวยให้ผู้ปกครอง ทำการปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีลักษณะคล้ายความคิดของฮินดู ซึ่งความคิดนี้ย้ำอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ของผู้ปกครอง ในทางปฏิบัติ ระบบการเมืองไทยโบราณ จึงดูเหมือนว่าจะอาศัยความคิดทางการเมืองของฮินดูเป็นเกณฑ์ ส่วนในทางจริยธรรมของการปกครองนั้น ได้ใช้หลักของพุทธศาสนาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดขอบเขตของการใช้อำนาจของผู้ปกครอง การผสมผสานระหว่างความคิดฮินดูกับพุทธ มีผลต่อความคิดทางการเมืองไทยอีกประการหนึ่ง นั่นคือ การเน้นอำนาจเด็ดขาด (ฮินดู) แต่การให้อำนาจนั้นจะต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม (พุทธ) ดังนั้น ผู้ปกครองที่คนไทยนิยมยกย่องจึงได้แก่ ผู้ที่มีอำนาจเผด็จการเด็ดขาด ซึ่งมีคุณธรรม ดังที่เรียกกันว่า Benevolent Dictator อิทธิพลของความคิดนี้มิได้มีอยู่เฉพาะในสมัยโบราณเท่านั้น แม้ในสมัยหลังๆ ก็ยังปรากฏว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยนิยมผู้นำประเภทนี้ (เช่น จอมพลสฤษดิ์ เป็นต้น) ความยอมรับในเรื่องอำนาจเด็ดขาดของผู้นำในหมู่คนไทยมีมาช้านานและต่อเนื่องกัน จะเห็นได้ว่าเมื่อคนไทยต่อต้านผู้ปกครอง เขาจะไม่ต่อต้านผู้ปกครองในแง่ที่ว่าผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาด แต่จะเป็นปฏิปักษ์กับการใช้อำนาจเด็ดขาดนั้นอย่างไม่เป็นธรรม กล่าวอีกทางหนึ่ง ตราบใดที่ผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาด และไม่ดำเนินการปกครองที่กดขี่ประชาชน ประชาชนจะไม่เรียกร้องสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมในการปกครอง เพราะความเชื่อที่ว่า อำนาจสิทธิ์ขาดทางการปกครองอยู่ที่ผู้ปกครองเท่านั้น ประชาชนมีหน้าที่ที่จะปฏิบัติตามคำสั่ง เพื่อแลกกับการปกป้องชีวิตและความปลอดภัยอื่นๆ”

“สำหรับผู้ปกครองก็เช่นกัน ผู้ปกครองไทยมีลักษณะเป็นผู้อุปถัมภ์มากกว่าเป็นผู้รับใช้ประชาชน และใช้อำนาจเด็ดขาดเพื่อประโยชน์ของประชาชน”

 

แม้ว่าข้อความดังกล่าวนี้จะไม่ได้ “เชื่อมโยงความคิดเห็นทางการเมืองเข้ากับประวัติศาสตร์” ตามที่อาจารย์นิธิวิจารณ์ อีกทั้งก็ยังเป็นที่สงสัยด้วยว่า แม้ว่าจอมพลสฤษดิ์จะมีอำนาจเผด็จการเด็ดขาดจริง แต่ที่ว่า “ซึ่งมีคุณธรรม” นั้น “มีคุณธรรม” ตามหลักพุทธศาสนาอย่างไร?

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบทสรุปดังกล่าวจะไม่ได้มีหลักฐานประวัติศาสตร์ว่า คนไทยที่เป็นผู้ใต้ปกครองมีความคิดความเชื่ออย่างนั้น

แต่บทสรุปที่ว่า

เมื่อคนไทยต่อต้านผู้ปกครอง เขาจะไม่ต่อต้านผู้ปกครองในแง่ที่ว่าผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาด แต่จะเป็นปฏิปักษ์กับการใช้อำนาจเด็ดขาดนั้นอย่างไม่เป็นธรรม กล่าวอีกทางหนึ่ง ตราบใดที่ผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาด และไม่ดำเนินการปกครองที่กดขี่ประชาชน ประชาชนจะไม่เรียกร้องสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมในการปกครอง จะเป็นความจริงและถูกต้องแค่ไหนในสมัยจอมพลสฤษดิ์และรวมทั้งใน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบันนี้ ?

เราคงต้องถามตัวเราเอง และคอยติดตามผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า!!