ยุคนี้เราควรทำงานสัปดาห์ละกี่วันดี ? ทำ4วันแต่ได้งานดีขึ้นโอเคกว่าไหม ?

โลกหมุนเร็ว / เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง [email protected]

ยุคนี้เราควรทำงานสัปดาห์ละกี่วันดี

เรามักจะคิดว่าเทคโนโลยีเป็นอริกับ “ค่าแรงงาน” ของคน

เรามักคิดว่าเทคโนโลยีทำให้ “คน” หมดความสำคัญ เมื่อใดก็ตามที่องค์กรเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนคน คนจะโดนปลดออกจากงาน

ดังนั้น เรามักจะคิดว่าเทคโนโลยีเป็น “คู่แข่ง” ของคน

แต่คนอังกฤษกลับไม่คิดเช่นนั้น หรือจะพูดอีกทีก็คือ สหภาพแรงงานของอังกฤษที่กำลังคิดว่าน่าจะเอาผลงานของเทคโนโลยีมาเป็นผลงานของคน

คนอังกฤษโดยพื้นฐานไม่ใช่คนบ้างาน คนอังกฤษทำงานแต่พอดี เป็นนักสร้างสรรค์ และนักสร้างสรรค์มักจะคิดอะไรแปลกกว่าคนอื่น จะว่าคิดเพี้ยนๆ ก็ไม่ผิดอะไร

คนอังกฤษเขาคิดของเขาแบบนี้ค่ะ เมื่อไหร่ก็ตามที่คนเอาเทคโนโลยีมาใช้งานแล้วได้ผลผลิตมากขึ้น คนควรจะได้เครดิต

การเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในสำนักงานมากมาย ช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น อุปกรณ์ประชุมทางไกลช่วยลดเวลาในการเดินทาง google translate ช่วยให้การแปลงานรวดเร็วขึ้น ไฟล์ใหญ่ใช้ส่งทาง dropbox ไม่ต้องใส่ซีดีให้เมสเซนเจอร์วิ่งไปส่งลูกค้า เป็นต้น

เราก็เลยทำงานกันได้เสร็จเร็วขึ้น

งานที่เคยใช้เวลา 5 วันทำ อาจจะเหลือแค่ 4 วัน

เมื่อเป็นดังนี้ หนุ่มเจ้าของธุรกิจพีอาร์อายุ 30 ปีที่เมืองกลอสเตอร์ ประเทศอังกฤษ จึงลดเวลาทำงานให้ตัวเขาและลูกน้องเหลือเพียง 4 วันต่อสัปดาห์

วันศุกร์เขาก็ใช้เวลาเที่ยวเล่นดูหนัง ใช้เวลากับครอบครัวได้ตามใจ

แม้ยังเป็นเพียงส่วนน้อยอยู่ แต่แนวโน้มก็สูงขึ้น หมายถึงการทำงานสัปดาห์ละ 4 วันโดยที่ยังรับเงินเดือนเท่าเดิม (ไทยควรเอาอย่างหรือไม่ ต้องคุยกันนานค่ะ)

 

สําหรับบริษัทพีอาร์ของคุณริช เลย์ ที่ว่านี้เขาเริ่มทดลองทำงานสัปดาห์ละ 4 วันเป็นเวลา 6 เดือนก่อน ก็ปรากฏว่าได้ผลงานเท่าเดิมเหมือนตอนที่ทำสัปดาห์ละ 5 วัน และดูเหมือนว่าทำท่าจะได้งานมากขึ้นด้วยซ้ำ

คุณริชบอกว่า มันเป็นเพราะพนักงานของเขามีความสุขมากขึ้น เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับธุรกิจพีอาร์แล้ว ธุรกิจจะมีรายได้มากขึ้นขึ้นอยู่กับการรักษาลูกค้าเดิมกับหาลูกค้าใหม่เพิ่ม ซึ่งถ้าพนักงานเหนื่อยล้าก็จะไม่สามารถทำได้ทั้งสองอย่าง

โดยทั่วไปตลาดแรงงานอังกฤษกำลังมีปัญหาเรื่องผลิตภาพ ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปแล้ว อังกฤษนับว่ามีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานกว่าประเทศอื่นๆ เขา โดยเฉลี่ยคนอังกฤษหยุดพักกลางวันเพียง 34 นาที และทำงานเกินเวลา 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยที่ไม่ได้รับโอทีเป็นส่วนใหญ่

เมื่อเร็วๆ นี้ฝรั่งเศสเพิ่งออกกฎว่า การที่นายงานคาดหมายให้ลูกน้องตอบอีเมลนอกเวลางานเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซีกโลกตะวันตกเอาจริงเอาจังกับการล่วงล้ำสิทธิพนักงานมากกว่าโลกตะวันออก วัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกัน

 

ที่ทำงานผู้เขียนซึ่งเป็นบริษัทพีอาร์เหมือนกัน ข้อสังเกตคือพนักงานมีความสุขกับอาหารการกินที่เอามาแบ่งปันกัน และมีความสุขที่ได้มาทำงาน เงินเดือนจะน้อยจะมากไม่ค่อยสำคัญ ขอให้ได้มาทำงานเพื่อเห็นโลกภายนอกบ้าน

งานวิจัยที่น่าสนใจบอกว่า คนฝรั่งเศสโดยเฉลี่ยสร้างผลงานในเวลาสิ้นสุดวันพฤหัสมากกว่าผลงานเพื่อนร่วมงานชาวอังกฤษในหนึ่งสัปดาห์ งานวิจัยนี้เขาน่าจะทำในบริษัทเดียวกันที่มีสาขาทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศสนะคะ

มันหมายความว่าอะไรคะ

อยากจะตีความว่า เพราะคนฝรั่งเศสมีความสุขในการทำงานมากกว่า

งานวิจัยยังบอกอีกว่า การทำงานของคนอังกฤษมีผลต่อความสุขและสุขภาพของคนทั้งประเทศ ปีที่แล้วคนอังกฤษครึ่งล้านคนได้แจ้งว่ามีภาวะความเครียดที่เกี่ยวเนื่องมาจากงาน

ประเทศในสหภาพยุโรปได้วางกฎไว้ให้พนักงานทำงานไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง แต่อังกฤษไม่ทำตามกฎนี้ และยังคงมีองค์กรที่พนักงานทำงานมากกว่า 48 ชั่วโมง

 

ตอนนี้กระแส “ทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน” ค่อยๆ บานออกในอังกฤษ คนที่สนับสนุนก็ได้แก่พรรคกรีน และ Trade Union Congress เลขาธิการของ Trade Union บอกว่า ในเมื่อบริษัทต่างๆ มีผลประกอบการที่ดีขึ้นอันเนื่องมาจากเทคโนโลยี ก็ควรเอาผลประกอบการที่ดีนั้นมาเฉลี่ยกับพนักงานด้วยการลดเวลาทำงานลง

มิใช่ว่าให้ผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทได้ผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว

เนื่องจากการทำงานแบบสัปดาห์ละ 4 วันยังเป็นเรื่องใหม่ การปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ยังอยู่ในแบบทดลอง

เช่น ใน 4 วันที่มาทำงานเพื่อให้ได้งานเท่าเดิมก็ต้องลดเวลาพักเที่ยงลงเหลือ 45 นาที และพนักงานสามารถเลือกมาทำงานจันทร์ถึงศุกร์ หรืออังคารถึงพฤหัสฯ ได้ เป็นต้น

การลดวันทำงานลงหมายถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่มีการอู้งาน ไม่ใช้เวลาเปิดเว็บช้อปปิ้งออนไลน์

และมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานมากขึ้น

 

บรรยากาศการทำงานในสำนักงานแบบไทยๆ ที่เป็นบริษัทเอกชนและไม่มีการตอกบัตรมักจะเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ สื่อ งานสร้างสรรค์ พนักงานจะมีความยืดหยุ่นมากๆ เพราะผลิตภาพจะเกิดจากความสุข อารมณ์ที่ผ่อนคลาย พวกเขามักจะมาทำงานสายและกลับหลังเลิกงาน ตัวงานที่ต้องเสร็จหรือสำเร็จจะเป็นตัวกำหนดว่าเขาจะต้องทำงานกี่ชั่วโมง บางครั้งเขาก็หอบเอางานไปทำต่อที่บ้านกันด้วย และเป็นงานที่ไม่มีโอที แต่จะมีค่าตอบแทนสูง

คนอังกฤษในรัฐบาลบางคนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน เช่น Mark Price ที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและการลงทุน เขามีความเห็นว่าควรจะทำที่ทำงานให้มีความสุข งานไหนที่น่าเบื่อก็ให้คอมพิวเตอร์ทำไป งานที่คนอังกฤษควรทำในอนาคตน่าจะเป็นงานที่ทำแล้วสนุกและให้ความสุข

เขายังถามต่อว่า ทำไมถึงต้องมาพูดเรื่อง work-life balance ก็แล้ว life ไม่ใช่ work หรือมันต่างกันตรงไหน

 

ผู้เขียนขอตีความว่า คนพูดเป็นคนรักการทำงานมาก จนเห็นว่าชีวิตก็คือการทำงาน ซึ่งบางคนอาจไม่คิดแบบนี้ เท่าที่รู้คนฝรั่งเศสจะคิดว่า ชีวิตคือ pleasure รีบๆ ทำงานให้เสร็จเพื่อเอาเวลาที่เหลือไปดื่มด่ำกับภาพยนตร์ ดนตรี ภาพเขียน การกินอาหารดีๆ เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นคุณภาพชีวิต

การจราจรที่คับคั่งยังเป็นส่วนหนึ่งของการสูญเสียเวลา และการปรับรูปแบบการทำงาน เช่น การส่งอีเมลจากบ้าน การส่งอีเมลด้วยมือถือ การสั่งงานทางไลน์จากมือถือในขณะเดินทาง การส่งไลน์ หรือวอตส์แอพพ์หากันนอกเวลางาน เป็นต้น ซึ่งก็น่าจะถือว่าคือการทำงานเหมือนกัน

ในที่สุดแล้ว ทุกสิ่งก็ควรได้รับการประเมิน ปรับปรุงตามวันเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป การมองเห็นความเปลี่ยนแปลงและเข้าใจมันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด กฎเกณฑ์ที่วางไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้วจะเหมาะหรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิด