พหูสูต 5 ระดับ กับ ทรรศนะ ท่าน ปยุตฺโต / เสถียร โพธินันทะ

การประยุกต์พุทธธรรม มาใช้กับการบริหาร (5)

พหูสูต 5 ระดับ

โดยหลักทฤษฎีจริงๆ แล้ว การเกิดของปัญญาที่เรียกว่า พหูสูต มี 5 ระดับ ผู้ที่เป็นพหูสูตต้องทำถึง 5 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 พหุสฺสตา แปลว่า ฟังมาก เรียนมาก ท่องมาก รวบรวมข้อมูลได้มาก ขั้นนี้เป็นการศึกษาเล่าเรียนจากข้อมูลต่างๆ จากครูอาจารย์ จากตำรา การใฝ่หาความรู้ต่างๆ ขั้นนี้ทุกคนสามารถทำได้

ขั้นที่ 2 ธตา แปลว่า จำได้ จำสาระสำคัญให้ได้ว่าสิ่งไหนที่ควรจะจำเมื่ออ่านหนังสือจบเล่มๆ หนึ่ง ต้องจับประเด็นหลักให้ได้

พระเทพเทวี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) นั้น สมัยท่านอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์มีลูกศิษย์เรียนอยู่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เป็นเด็กที่ดีมาก

เวลาผมไปหาท่าน ถ้าหากท่านไม่อยู่ก็นั่งคุยกับเด็กคนนี้

ผมถามว่า ท่านสอนอะไรบ้าง เด็กบอกว่า ท่านบอกให้อ่านหนังสืออย่างช้าๆ แล้วทำความเข้าใจไปด้วย เมื่ออ่านจบให้สรุปสาระสำคัญให้ได้ แล้วนำหนังสือไปเก็บโดยไม่ต้องนำกลับมาอ่านอีก ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้ แสดงว่าเป็นผู้แสวงหาความรู้ที่ถูกทาง ถูกต้อง ขั้นนี้เรียกว่า ธตา คือควรจำได้ในสาระที่ควรจำ

ขั้นที่ 3 วจสา ปริจิตา คือ ท่องให้คล่องปาก เมื่อสมัยก่อนมีบทอาขยานให้ท่อง ในปัจจุบันไม่มีแล้ว ให้เรียนแบบฝรั่งเพื่อสอนให้คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น แต่ครูยังสอนเหมือนเดิม เด็กก็ยังคิดไม่เป็น แถมยังจำอะไรไม่ได้อีก โง่กว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น หลักขั้นที่ 3 คือ ต้องท่องให้คล่องปาก จนสามารถจำได้ ไม่ว่าจะเป็นคำสุภาษิต คติ หรือพุทธวจนะ เมื่อต้องการสามารถหยิบมาใช้ได้ทันที

ขั้นที่ 4 มนสานุเปกฺขิตา คือ เพ่งให้ขึ้นใจจนสามารถสร้างภาพพจน์ขึ้นในใจ เป็นวิธีการเรียนหนังสืออย่างหนึ่งสมัยผมเป็นสามเณร เปรียญ 8 เปรียญ 9 ผมใช้เวลาในการอ่านหนังสือ 1 ถึง 2 เที่ยวก็จำหมด เพราะผมใช้วิธีสร้างภาพในใจจนกระทั่งมองเห็นว่าข้อความนั้นๆ อยู่บรรทัดเท่านั้น หน้านั้นได้

อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ท่านเคยเล่าว่า เมื่ออ่านประวัติศาสตร์ไทยตอนพระนเรศวรรบกับพระมหาอุปราชา

ท่านมองเห็นภาพว่าพระนเรศวรยืนตรงไหน พระมหาอุปราชายืนตรงไหน ตอนรบกันท่าอย่างไร เวลาท่านพูดเหมือนกับบรรยายภาพ ไม่ใช่พูดจากความจำ ท่านผู้นี้ไม่รู้ภาษาบาลี

แต่พูดภาษาบาลีได้คล่อง มีความจำดี ชอบอ่านพระไตรปิฎก รู้ข้อความสำคัญๆ หมดโดยไปถามอาจารย์สุชีพปุญญานุภาพในสมัยที่ท่านยังเป็นพระภิกษุอยู่ว่าตรงนี้ภาษาบาลีว่าอย่างไร อาจารย์สุชีพได้ไปเปิดภาษาบาลีมาให้ดู ท่านก็ท่อง 2-3 เที่ยวจำได้เลย

ขั้นที่ 5 ทิฏฐิยา สุปฎิวิทฺยา คือ ขบให้แตก ด้วยทฤษฎี หมายถึง สิ่งที่เรียนที่จำมาแล้ว สิ่งที่ท่องจนคล่องปากแล้ว สิ่งที่คิดในใจ วาดภาพออกมาชัดเจนแล้ว สิ่งเหล่านี้จะต้องจำมาขบมาคิดตีให้แตก แล้วสามารถนำมาสรุปเป็นแนวคิดของตัวเองได้ นำไปประยุกต์ใช้ได้ ภาษาการศึกษาเรียกว่าได้ข้อสรุปรวบยอดแล้วนำมาประยุกต์ใช้ได้

การอ่านหนังสือ เมื่ออ่านจบแล้วให้เก็บหนังสือเล่มนั้นได้เลย ถ้าหากมีใครถามว่าหนังสือเล่มนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร เราสามารถสรุปออกมาได้โดยไม่ต้องคัดลอกคำพูดของเขาและประยุกต์ใช้ให้เกิดแนวความคิดใหม่ๆ ได้ ถ้ารู้แล้วยังประยุกต์ไม่ได้ก็ไม่เป็นพหูสูต ไม่เรียกว่าพหูสูต

ฉะนั้น การที่พวกเรามาที่นี่ก็เพื่อต้องการจะเป็นพหูสูตเพื่อนำไปใช้กับระบบการบริหาร การนำไปใช้ต้องนำมาสรุปให้เป็นความคิดรวบยอดให้ได้ ประยุกต์ใช้ได้ ไม่ใช่แค่จำได้ท่องได้เท่านั้น

ทฤษฎีของความรู้

ถ้าพูดถึงทฤษฎีของความรู้ คำว่า “ความรู้” คำนี้ในภาษาบาลีมีอยู่มากและแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ คือ

ระดับที่ 1 ความรู้ระดับวิญญาณ ระดับที่ 2 ความรู้ระดับสัญญา ระดับที่ 3 ความรู้ระดับทิฐิ และระดับที่ 4 ความรู้ระดับญาณ ความรู้ในระดับนี้ยังแบ่งออกเป็นระดับต้นและระดับสูง ระดับต้นเรียกว่า ยถาภูตญาณ คือความรู้ตามความเป็นจริง ระดับสูงเรียกว่าสัมมาสัมโพธิญาณ หรือ อาสวักขญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ หรือหมายถึงความรู้ตรัสรู้ และยังมีชื่อเรียกหลายอย่าง

ความรู้ระดับแรกนั้นเป็นจุดเปิดการรับรู้ภายนอกรับรู้ข้อมูลต่างๆ คำว่า วิญญาณ หมายถึงการรับผ่านประสาทสัมผัสคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 นี้แหละรวมเรียกว่าวิญญาณ ซึ่งได้แก่

จักขุวิญญาณ (วิญญาณทางตา) ความรู้ที่เกิดขึ้น เพราะรูปกระทบตามันเกิดขึ้นเร็วมาก การรับรู้ในสิ่งที่ตาเห็นหรือ “การเห็น” นั้นแหละคือ วิญญาณ

โสตวิญญาณ (วิญญาณทางหู) ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะเสียงกระทบหู หรือ “การได้ยิน”

ฆานวิญญาณ (วิญญาณทางจมูก) ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะกลิ่นกระทบจมูก หรือ “การสูดกลิ่น”

ชิวหาวิญญาณ (วิญญาณทางลิ้น) ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะรสกระทบลิ้น หรือ “การลิ้มรส”

กายวิญญาณ (วิญญาณทางกาย) ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะโผฏฐัพพะ หรือสัมผัสกระทบกาย หรือ “การสัมผัส”

มโนวิญญาณ (วิญญาณทางใจ) ความรู้ที่เกิดขึ้นเพราะธรรมารมณ์กับใจ หรือ “การคิดคำนึง”

วิญญาณเป็นความรู้ระดับการรับรู้ ส่วนขั้นที่รู้ว่ามันเป็นอะไร เป็นขั้นที่ 2 (ขั้นสัญญา) มันมีความต่อเนื่องกันมาก เช่น ผู้หญิงเดินมา เมื่อเห็น เป็นวิญญาณ เรารู้ว่าเป็นผู้หญิงรูปร่างอย่างไร ใส่เสื้อสีอะไร เป็นต้น เป็นขั้น แยกแยะให้เห็นความแตกต่างได้ จำได้

ขั้นนี้ เป็นสัญญา ความรู้ระดับนี้คือ ความรู้ที่ได้จากข้อมูล จากการอ่านหนังสือหรือจากการศึกษาเล่าเรียน ความรู้ทิฐิ เป็นเรื่องความเห็น หรือรวบรวมข้อมูลได้มากๆ แล้วนำมาจัดเป็นความเห็นเป็นทฤษฎี คือเทียบได้กับขั้นที่ 5 ของหลักพหูสูต คือสามารถสรุปรวบยอดได้เป็นความคิดเห็นของตัวเอง แล้วนำมาประยุกต์ใช้ได้ ถ้าหากเกิดความรู้ถึงขั้นนี้แล้ว จัดเป็น ทิฏทิยา สุปฏิวิทฺยา

ขอยกตัวอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อเห็น คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ทรงนำมาคิดพิจารณา จนกระทั่งเกิดทิฐิ คือ สรุปรวบยอดได้ว่าโลกนี้เป็นทุกข์ ทันทีที่เห็นสมณะก็ได้ข้อสรุปรวบยอดว่า การจะออกจากทุกข์ได้ต้องยึดถือรูปแบบชีวิตแบบนี้ เมื่อเกิดความรู้ระดับทิฐิแล้ว ย่อมพร้อมที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมทันที

เพราะฉะนั้น ความรู้ขั้นทิฐิเป็นขั้นสุดยอดของความเป็นพหูสูต

ขั้นสูงสุดเรียกว่า ขั้นญาณ แปลว่าการหยั่งรู้ ไม่ใช่การเรียนรู้ระดับธรรมดา แต่เป็นขั้นสูงสุด ฝรั่งเรียกว่า Realizalion บ้าง insight บ้าง enlightenment บ้าง พระปัญจวัคคีย์ 5 องค์ ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่องอริยสัจสี่จากพระพุทธเจ้า เมื่อฟังเทศน์จบ ท่านอัญญาโกณทัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรม (จกฺขํ อุทปาทิ) คือ เกิดตาใสสว่างวาบขึ้นมา

ท่านอธิบายความรู้แบบนั้นว่า วิชฺชาอุทปาทิ (เกิดความรู้แจ้ง) ปญฺญา อุทปาทิ (เกิดความรู้ทั่วถึง) อาโลโก อุทปาทิ (เกิดความสว่าง) แสงสว่างวาบขึ้นในใจเป็นการหยั่งรู้ เป็นประสบการณ์ตรง

ญาณอันนี้เป็นญาณขั้นต้น เรียกว่า “ยถาภูตญาณ” หรือ “ธรรมจักษุ”

ธรรมจักษุ คือ ญาณขั้นต้น เป็นความรู้ของโสดาบันเป็นยถาภูตญาณ คือรู้ความจริงเป็นจริง รู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

ส่วนโพธิญาณ คือ ญาณขั้นสูงสุด อาจจะขึ้นอยู่กับความรู้ที่เรียนมาหรือไม่ก็ได้ เพราะฉะนั้น คนที่เรียนมาน้อยก็อาจจะเกิดญาณแบบนี้ได้

การเกิดความรู้ขั้นญาณนี้ยากมาก บางครั้งความรู้ที่ได้เรียนมาอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการตรัสรู้ได้ หรือบางทีถ้านำมาใช้ถูกก็จะเสริมในตัวโดยตรง เช่น ชาวนาอยู่อย่างง่ายๆ อยู่อย่างพื้นๆ อาจจะได้ญาณง่ายกว่าผู้ที่ร่ำเรียนมาสูงๆ ในทางโลก เพราะอาจเป็นผู้เต็มไปด้วยความสงสัย

เพราะฉะนั้น ความรู้ที่ได้มาแบบพหูสูต อาจจะเป็นไปในลักษณะเส้นผมบังภูเขาก็ได้

ตัวอย่างเช่น พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะออกบวชพร้อมกัน

พระสารีบุตรเป็นนักปรัชญาเป็นผู้ลึกซึ้งกว่าพระโมคคัลลานะ เมื่อบวชได้ 7 วัน พระโมคคัลลานะท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระสารีบุตรบวชได้ 14 วัน จึงบรรลุ

โดยปกติพระสารีบุตรน่าจะบรรลุก่อน และการที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์นั้นไม่ได้รับฟังคำสอนโดยตรง พระพุทธเจ้าทรงสอนคนอื่น

กล่าวคือ ท่านพิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนหลานของท่าน พระสารีบุตรนั่งฟังไปพร้อมกับถวายงานพัดพระพุทธเจ้าไปด้วย เมื่อฟังไปพิจารณาไป ในที่สุดท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงความรู้ในภาษาไทยหมายถึงสิ่งเดียวกัน แต่ถ้าพูดในแง่ศาสนาต้องแยกออกว่าเป็นความรู้ชนิดใดกันแน่

ท่านเจ้าคุณพระเมธีธรรมาภรณ์ กล่าวว่า จุดสำคัญของการสอนธรรมะจะต้องสอนให้ถูกกับจริตของผู้เรียน ถ้าหากสอนไม่ตรงกับจริตแล้วการสอนก็ไม่สัมฤทธิผล เช่น ตัวอย่างพระสารีบุตรสอนกรรมฐานแก่พระภิกษุรูปหนึ่งใช้เวลาถึง 3 เดือน แต่ก็ไม่สามารถทำให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เมื่อพระภิกษุรูปนั้นได้เข้าเฝ้าและรับฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ท่านได้นั่งพิจารณาดอกบัวสด จนกระทั่งดอกบัวเหี่ยวเฉาด้วยการเพ่งกระแสจิตมองเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และ บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด

เพราะฉะนั้น การสอนธรรมะจะต้องสอนให้ถูกกับลักษณะจริต คนหนึ่งๆ อาจจะมีหลายจริตรวมอยู่ เช่น สัทธาจริตกับราคจริตมีลักษณะคล้ายกัน ส่วนพุทธิจริตมีลักษณะใกล้เคียงกัน

ในหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาระดับมัธยมศึกษาจัดให้เรียนพระไตรปิฎกในแง่ต่างๆ

เช่น พระสุตตันตปิฎก เรียกว่า อนุโลมเทศนา เป็นการแสดงตามอุปนิสัยหรือพื้นเพเดิมตามความถนัดของแต่ละบุคคล การสอนธรรมะจึงต้องมีเทคนิคการสอนหลายวิธี ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับผู้ฟัง พระพุทธเจ้าก่อนจะแสดงธรรมะแก่ใครนั้นพระองค์ทรงตรวจดูจริตของบุคคลนั้นเสียก่อน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับจริตของบุคคลนั้นๆ ดังนั้น พระพุทธเจ้าแสดงธรรมะแก่ใครแล้วบุคคลนั้นก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้เร็ว

สำหรับในเรื่องนี้มีตัวอย่างคือ เรื่องพระจูฬปันถก ท่านออกบวชตามคำแนะนำของพระมหาปันถกซึ่งเป็นพี่ชายท่าน ท่องคาถาเพียงคาถาเดียวอยู่ 4 เดือนแต่ก็ไม่สามารถจำได้ คาถานั่นคือ

“ปทฺมํ ยถา โกกนุทํ สุคนฺธํ

ปาโต สิยา ผุลฺลมวีตคนฺธํ

องฺคีรสํ ปสฺส วิโรจมานํ

ตปนฺตมาทิจฺจมิวนฺตลิกเข

ดอกบัวโกกนุท มีกลิ่นหอม

บานแต่เช้า และหอมหวนอยู่นาน