ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 พฤศจิกายน 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ซีรี่ส์ศิลปะ Ghost : 2561 ยังจัดแสดงในพื้นที่เวิ้งศิลปะ N22 ซึ่งเป็นแหล่งรวมพื้นที่แสดงงานศิลปะอันหลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็นหอศิลป์ อาร์ทติส+รัน ที่แสดงผลงานของศิลปินชาวฮ่องกง แซมซัน ยัง อย่าง We Are the World, As Performed by the Hong Kong Federation of Trade Unions Choir (2014)
วิดีโออาร์ตสุดแสบสัน ที่ตั้งคำถามกับขนบธรรมเนียมอันเคร่งครัดของดนตรีคลาสสิคและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยภาพและเสียงการแสดงของคณะประสานเสียงของสมาพันธ์แรงงานฮ่องกงผู้สนับสนุนรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ที่กำลังขับร้องเพลง We Are the World ซึ่งเป็นตัวแทนของมนุษยธรรม ความเท่าเทียม และสันติภาพ ด้วยเสียงกระซิบที่แหบพร่าจนน่าขัน
หรือผลงานในคาร์เทล อาร์ทสเปซ ของนักสร้างหนังสัญชาติฟิลิปปินส์/แคนาดา สเตฟานี โกมิเลง อย่าง Lumapit Sa Akin, Paraiso (Come to Me, Paradise) (2016) สารคดีไซไฟที่นำเสนอภาพชีวิตประจำวันของสาวรับใช้ชาวฟิลิปปินส์สามคนที่มาทำงานและใช้ชีวิตห่างไกลบ้านเกิดเมืองนอนในฮ่องกง พวกเธอมารวมตัวกันในวันหยุดตามแหล่งพักผ่อนหย่อนใจต่างๆ ในฮ่องกง
เรื่องถูกเล่าผ่านสายตาของโดรนติดกล้องบันทึกภาพชื่อ Paradise และเสียงบรรยายของแม่ของศิลปินซึ่งเป็นชาวฟิลิปปินส์ผู้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่แคนาดาในช่วงยุคทศวรรษที่ 70 โกมิเลงนำเสนอประเด็นของแรงงานพลัดถิ่นชาวฟิลิปปินส์ทับซ้อนกับประวัติศาสตร์ส่วนตัวของมารดาผสมผสานเข้ากับเรื่องราวไซไฟได้อย่างลงตัว
และสร้างความรู้สึกแนบชิดให้ผู้ชมด้วยการปูพื้นและผนังห้องแสดงงานด้วยลังกระดาษที่สาวรับใช้เหล่านั้นใช้ปูรองนั่งยามพักผ่อนหย่อนใจ
และผลงานในด็อกซ่า อาร์ท แล็บ ของศิลปินนักทำหนังชาวไทย จุฬญาณนนท์ ศิริผล อย่าง Golden Spiral (2018) วิดีโอจัดวาง หนังสั้นไซไฟที่เล่าเรื่องราวของ “วงก้นหอย” ในช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าต่างๆ ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์, นิยายพื้นบ้าน, การ์ตูนไซไฟ, ในรูปแบบของทฤษฎีสุนทรียศาสตร์, งานศิลปะ, งานสถาปัตยกรรม ไปจนถึงโฆษณาชวนเชื่อที่ล้อเลียนความพยายามในการเอาชนะริ้วรอยและความชราจากกาลเวลาด้วยเมือกหอยทาก
ทั้งหมดถูกเล่าด้วยท่าทีครื้นเครง ตลกร้าย และเสียดสีอย่างเจ็บแสบ โดยขับเน้นความแปลกประหลาดด้วยประติมากรรมรูปก้นหอยสีทองอร่ามขนาดน้อยใหญ่ที่ติดลายพร้อยไปทั่วห้องแสดงงาน
หรือผลงานในแกลเลอรี่เวอร์ของนักทำหนังอาร์ตชาวไทย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล อย่างตะวันดับ (Blue) (2018) วิดีโอจัดวางอันน่าตื่นตะลึง ที่นำเสนอภาพของเจนจิรา พงพัศ ไวด์เนอร์ นักแสดงคู่บุญของอภิชาติพงศ์ ผู้นอนหลับอยู่ในพื้นที่กลางแจ้งในยามราตรี มีฉากลิเกที่เปลี่ยนไปมาโดยอัตโนมัติเป็นฉากหลัง โดยภาพกองไฟฉายเหลื่อมทับบนทรวงอกของเธอจนดูเหมือนมันกำลังลุกไหม้หัวใจของเธออยู่
ภาพถูกฉายลงบนกระจกใสที่แขวนอยู่กลางห้อง จนทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นแสงสะท้อนที่ตกกระทบไปทั่วห้องแสดงงานอย่างงดงามน่าพิศวง
ผลงานชิ้นนี้นำเสนอพื้นที่อันไร้ความมั่นคง ที่สะท้อนสภาวะของความหมดศรัทธาในชาติและการล่มสลายของดินแดนในอุดมคติ
ต่อด้วยผลงานที่แสดงในศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์ ของเมตาฮาเว่น กลุ่มศิลปินและดีไซเนอร์ชาวอัมสเตอร์ดัมอย่าง Information Skies (2017) วิดีโอแอนิเมชั่นที่ได้แรงบันดาลใจจากการแสดงสดแอนิเมชั่นญี่ปุ่น และสภาวะนามธรรมของโลกดิจิตอล ที่สร้างพรมแดนอันกระจัดกระจายที่น่าดึงดูดและน่าหวาดกลัวไปพร้อมๆ กัน
และผลงานของรักซ์ มีเดีย คอลเลคทีฟ กลุ่มศิลปินและนักปฏิบัติการทางสื่อชาวอินเดีย อย่าง The Capital of Accumulation (2010) วิดีโอจัดวางที่ดำเนินตามรอยโครงสร้างจากงานศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญของโรซ่า ลักเซมเบิร์ก อย่าง การสั่งสมทุน (The Accumulation of Capital) ที่แสดงถึงการแสวงหาผลกำไรของระบบทุนนิยม
และการที่รัฐจักรวรรดินิยมในคราบของรัฐทุนนิยมพยายามควบคุมประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่า
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด กับผลงานของศิลปินอเมริกัน จอน หวัง อย่าง You Belong two Me (2018) วิดีโอจัดวางในพื้นที่เฉพาะ ในพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน ที่ได้แรงบันดาลใจจากประติมากรรม “นัต” (ผีบรรพบุรุษของพม่า)
งานศิลปะในคอลเล็กชั่นที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งนำพาเขาไปพบกับร่างทรงวัยรุ่นข้ามเพศในดินแดนพม่าผู้เป็นร่างทรงให้กับวิญญาณภูตผี แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาเองก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและโซเชียลมีเดียเช่นเดียวกัน
ผลงานชิ้นนี้ของเขาสำรวจตัวตนของคนข้ามเพศในวัฒนธรรมการนับถือผี และการปะทะประสานกันระหว่างวัฒนธรรมสมัยเก่าและใหม่ โดยนำเสนอวิดีโอสองจอที่ฉายภาพห้วงขณะที่ทั้งคู่กำลังเข้าทรงจริงๆ
ภาพและเสียงอันเปี่ยมมนต์ขลังภายในบรรยากาศอันขรึมขลังของบ้านไทยโบราณ สะกดความรู้สึกของผู้ชมได้อย่างทรงพลังราวกับต้องมนต์
ไม่เพียงแต่งผลานวิดีโอจัดวางเท่านั้น แต่ในซีรี่ส์ Ghost:2561 ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ อย่างการฉายภาพยนตร์และภาพเคลื่อนไหว และการบรรยายโดยภัณฑารักษ์และศิลปินผู้ร่วมแสดงงาน
และการเล่าเรื่องโดยอาสาสมัครที่ผ่านห้องเรียนนักเล่าเรื่อง ที่ช่วยเปิดมิติเชิงลึกและขยับขยายความเข้าใจในผลงานแต่ละชิ้นได้เป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้น ในงานยังมีการแสดงสดอันเปี่ยมพลังของศิลปินแสดงสดอย่าง The Retreat : gallery drift ของธนพล วิรุฬหกุล, ผลงานแสดงสดอันน่าตื่นตะลึงของแอชแลนด์ ไมนส์ (โทเทิล ฟรีดอม) และปิดท้ายซีรี่ส์ Ghost : 2561 ด้วย Untitled Lipsync : gana (For Alice) ศิลปะแสดงสดอันสุดขีดคลั่งของบอยไชลด์
ซีรี่ส์ Ghost:2561 จัดแสดงในระหว่างวันที่ 11-28 ตุลาคม 2018 ถึงงานนี้จะจบลงไปเรียบร้อยแล้ว
แต่เราก็รอคอยซีรี่ส์การแสดงศิลปะวิดีโอและศิลปะแสดงสดอันแปลกประหลาด สดใหม่ ล้ำสมัยเหล่านี้ ให้หวนกลับมาอีกครั้งในอีกสามปีข้างหน้าด้วยใจระทึกพลัน!
ขอบคุณภาพจาก Ghost:2561, The Jim Thompson Art Center