สมหมาย ปาริจฉัตต์ : สานเสวนา กม.การศึกษาชาติใหม่ 20 ปี ปฏิรูปการศึกษาไทย

สมหมาย ปาริจฉัตต์

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ผลักดันกฎหมายเกี่ยวข้องการศึกษาออกมาใช้บังคับต่อเนื่องติดต่อกันตามลำดับ ได้แก่ พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 เป็นฉบับแรก มีผลเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 และเริ่มมีการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว

ฉบับต่อมาคือร่าง พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. … ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 ฉบับที่สามตามมาติดๆ คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … และฉบับที่สี่ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. … ทั้งสองฉบับผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันเดียวกัน วันที่ 24 ตุลาคม 2561 ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปพิจารณาก่อนเสนอกลับมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งเพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สถานะของกฎหมายทั้งสี่ ฉบับใดเป็นหลัก เป็นรอง ควรออกมาก่อนหรือหลัง ถ้าออกมาใช้ได้สำเร็จ จึงไม่น่าสำคัญไปกว่า ทำอย่างไรให้การปฏิบัติเกิดประสิทธิภาพ

คำถามหัวใจก็คือ กฎหมายทั้งสี่หรือที่จะมีตามมาอีกกี่ฉบับก็ตาม สาระที่บัญญัติไว้ตอบโจทย์ได้ถูกต้อง จะนำพาการศึกษาไทยไปสู่ความโชติช่วงชัชวาลได้จริงหรือไม่

ซึ่งจะเป็นคำตอบว่า การวางกรอบ ออกแบบ แนวทาง มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาการศึกษา ที่คณะกรรมการอิสระผลักดันจนมีกฎหมายออกมารองรับนี้ เดินมาและเดินไปถูกทางหรือไม่

ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติต่อไป วันเวลาจะเป็นคำตอบ

 

นับย้อนหลังไปติดตามการปฏิรูปการศึกษาไทยล่าสุด ภายหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540 เป็นจุดกำเนิด พ.ร.บ.การศึกษาชาติ พ.ศ.2542 สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี หากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ออกมาใช้ได้สำเร็จ ปี 2562 รวมเวลา 20 ปีพอดีก็จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการปฏิรูปการศึกษาไทยรอบใหม่อีกครั้ง

ว่าไปแล้วกฎหมายใหม่ทั้งสี่ฉบับล้วนเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ถือว่ากฎหมายต่างๆ ที่ออกตามมานี้เป็นกฎหมายประกอบหรือรองรับรัฐธรรมนูญก็ได้

เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และมีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ

จึงเป็นที่มาของการยกเครื่อง รื้อ ผ่าตัดใหญ่ หรือปะผุการศึกษาไทยครั้งใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อยู่ในขั้นไหน ขึ้นอยู่กับทัศนะของแต่ละคนละครับ

ท่ามกลางความเห็นต่าง มุมมองที่หลากหลาย การมีส่วนร่วม ไม่ปล่อยให้การศึกษา อนาคตของชาติบ้านเมืองและลูกหลานอยู่ในมือของนักร่างกฎหมาย นักเลือกตั้ง นักลากตั้ง ผู้มีอำนาจในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐ อย่างที่พูดกันว่า การศึกษาไม่ใช่เป็นของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่เป็นของทุกฝ่าย

ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สังคม สาธารณชนจะต้องมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของอย่างจริงจัง เอาการเอางานกันอีกครั้งเป็นการใหญ่

จะเริ่มกันตรงไหนก่อนดี ผมเสนอว่าเริ่มตรงที่ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่นี่แหละ

ส่วนผู้สนใจท่านใดจะเทียบเคียงย้อนหลังไปถึงปฏิรูปการศึกษายุคที่แล้ว 20 ปีที่ผ่านมา 2542-2561 การศึกษาไทยผ่านรัฐบาลมากี่นายกรัฐมนตรี กี่รัฐมนตรีว่าการ แต่ละช่วงมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง ก็สุดแล้วแต่จะย้อนลึกลงไปถึงไหน ตามความอยากรู้ อยากมีส่วนร่วม แตกต่างกันไป

 

สําหรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ สาระสำคัญมีอย่างไรบ้าง

ครับ ธรรมชาติสร้างคนให้มี 2 หู 1 ปาก ฟังให้มากกว่าพูด ว่างั้นเถอะ จึงต้องฟังคนร่างก่อน

นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการจัดทำกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ แถลงว่า มีทั้งหมด 101 มาตรา เป็นมาตรการหลัก 93 มาตรา และบทเฉพาะกาลอีก 8 มาตรา มีสาระสำคัญ 3 ด้าน คือ ให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการศึกษา การปฏิรูปครูและการเรียนการสอน และมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นเลขานุการ

โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการการศึกษา ต่อไปนี้สถานศึกษาของรัฐจะเป็นอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษาใน 4 ด้านคือ การบริหารวิชาการ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป อย่างไรก็ตาม ความเป็นอิสระต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

กำหนดให้มีสมัชชาการศึกษาระดับจังหวัดในแต่ละจังหวัดโดยการจัดตั้ง ไม่บังคับ ให้เป็นไปตามความพร้อมและความสมัครใจรวมตัวกันของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและหน่วยงานของรัฐ

เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด

 

การปฏิรูปครูและการเรียนการสอน กำหนดให้รัฐมีโครงการระยะยาวในการผลิตและพัฒนาครู กำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการจัดให้มีระบบและวิธีการที่หลากหลายและเหมาะสมในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้สามารถเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาสมรรถนะและพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญ กำหนดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมและมีความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ โดยให้คำนึงถึงการปฏิบัติงานที่มีความยากลำบาก หรือการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือห่างไกล

กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติในด้านต่างๆ ทั้งด้านงบฯ การจัดอัตรากำลังคน และมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เป็นส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนการศึกษาแห่งชาติ การจัดการศึกษาและระบบการศึกษาตาม พ.ร.บ.นี้

“หาก พ.ร.บ.ประกาศใช้ คิดว่าคุณภาพการศึกษาจะดีขึ้น เพราะกำหนดให้สถานศึกษาเป็นศูนย์กลางของการปฏิรูป ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษาและระบบการศึกษา จะได้คนดีคนเก่งเข้ามายังระบบเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้พิการ เด็กพิเศษ จะได้รับการดูแล และจะไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา ท้ายที่สุดคือ ประหยัดการใช้ทรัพยากรและงบประมาณ ที่ปัจจุบันเสียค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา 25% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ต่อไปนี้จะจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศได้”

โฆษกคณะผู้ยกร่างยืนยัน

 

ฟังแล้วต้องไปดูของจริง ตัวจริง อ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษากันให้ละเอียดทุกมาตรา สนใจเปิดหาได้ที่ www.thaiedreform.org

ครับ ในฐานะแฟนคลับการศึกษา พบประเด็นที่น่าชวนคิด ชวนติดตามสานเสวนาหลายจุดทีเดียว

แยกเป็นสองส่วน

1. มีอะไรใหม่บ้าง ทั้งหลักการ กระบวนการ และกลไกที่จะเกิดขึ้นใหม่

2. มีข้อท้วงติงและเสนอแนะอะไรเพิ่มเติม

ต้องว่ากันต่อไปทีละประเด็น สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป