วรศักดิ์ มหัทธโนบล : “หลิวอี้ว์” ขุนศึกผู้ริใฝ่ความเป็นใหญ่

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

หลังพ่ายแพ้ในศึกแม่น้ำเฝยแล้ว เฉียนฉินที่แต่เดิมสามารถยึดครองตอนเหนือของจีนไว้ได้ก็ตกอยู่ในความเสื่อมถอย และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของยุคห้าชนชาติสิบหกรัฐ เพราะหลังพ่ายแพ้ไปแล้ว รัฐของชนชาติอื่นที่เคยขึ้นต่อเฉียนฉินก็ประกาศตนเป็นอิสระ

การแย่งชิงอำนาจของชนชาติต่างๆ ทางตอนเหนือก็หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง จนใน ค.ศ.385 ฝูเจียนก็ถูกจับกุมและถูกสังหารโดยอดีตขุนศึกของตนชื่อเหยาฉัง ที่แยกตนไปตั้งรัฐโฮ่วฉิน หลังจากนั้นทายาทรุ่นหลังๆ ของฝูเจียนก็เป็นผู้นำเฉียนฉินอยู่อีกไม่กี่รุ่น แต่ละรุ่นล้วนถูกศัตรูจากรัฐอื่นฆ่าตาย

โดยผู้นำคนสุดท้ายถูกฆ่าตายใน ค.ศ.394 เฉียนฉินจึงล่มสลายไปในที่สุด

ส่วนจิ้นตะวันออกนั้น หลังศึกแม่น้ำเฝยไปแล้วบุคคลในสกุลเซี่ยมีความดีความชอบเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเซี่ยอันได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางทางการเมืองด้วยตนเอง

และนโยบายหลักของเขาก็คือ ไม่ไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองที่เป็นมาแต่เดิม และรักษาสภาพการณ์เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้มีเสถียรภาพมากที่สุด เพราะเวลานั้นแม้ศึกแม่น้ำเฝยจะผ่านไปแล้วก็ตาม แต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ยังคงคุกรุ่นอยู่ การที่จะขยายนโยบายมากกว่าที่เป็นอยู่จึงมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพไม่น้อย

จากเหตุนี้ จิ้นตะวันออกหลังศึกแม่น้ำเฝยจึงไม่มีสิ่งใดที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถยืนอยู่มาได้อย่างสงบ เพราะทำให้จิ้นตะวันออกว่างเว้นจากศึกภายในและศึกภายนอกได้ยาวนานหลายปี

ตราบจนเซี่ยอันเสียชีวิตไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

 

การล่มสลายของจิ้นตะวันออก

ตอนที่เซี่ยอันเสียชีวิตนั้น จิ้นเซี่ยวอู่ตี้ยังมิได้สิ้นพระชนม์ แต่การเสียชีวิตของเซี่ยอันก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาเช่นกัน เพราะในเมื่อไม่มีเซี่ยอันแล้ว ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาก็ย่อมเป็นที่ดึงดูดใจให้บางบุคคลปรารถนาที่จะเข้ามาแทนที่

และความจริงก็เป็นเช่นนั้นเมื่อปรากฏว่ามีบุคคลในสกุลซือหม่าพยายามที่จะเข้ามามีบทบาท ยิ่งหลังจากที่จิ้นเซี่ยวอู่ตี้สิ้นพระชนม์แล้วก็ยิ่งชัดเจนขึ้น เพราะจิ้นอันตี้ (ค.ศ.382-419) ที่ทรงก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิแทนในขณะที่มีพระชนม์ 15 พรรษากลายเป็นเงื่อนไขอันดีที่จะทำให้เรื่องเช่นว่าเกิดขึ้น

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การเข้ามามีอำนาจเหนือจักรพรรดิดังกล่าวก็ถูกต่อต้านจากเสนามาตย์กลุ่มหนึ่ง

โดยผู้ที่มีบทบาทสูงคนหนึ่งคือขุนศึกที่ชื่อว่าฮว๋านเสีว์ยน (ค.ศ.369-404)

ฮว๋านเสีว์ยนมีบิดาคือ ฮว๋านเวิน (ค.ศ.312-373) เคยเป็นขุนศึกที่มีส่วนร่วมในศึกแม่น้ำเฝยมาก่อน หลังศึกนั้นก็มีความดีความชอบได้มีตำแหน่งที่สูงขึ้น จากนั้นก็มีบทบาทในการทำศึกกับรัฐของชนชาติที่ตั้งตนเป็นใหญ่ในยุคนี้ และได้รับชัยชนะโดยตลอดจนมีความดีความชอบเพิ่มขึ้น

ฮว๋านเวินก็ตั้งตนเป็นใหญ่เหนือจักรพรรดิ

แต่ก็ดังเช่นก่อนหน้านี้ที่เขาถูกต่อต้านจากเสนามาตย์สกุลเซี่ยและสกุลหวังจนสิ้นอำนาจไปในที่สุด ครั้นมาถึงยุคของฮว๋านเสีว์ยนผู้เป็นบุตร ก็เป็นช่วงที่เขาได้เข้ามาคานอำนาจบุคคลในสกุลซือหม่าที่วางตนเหนือจักรพรรดิ

ถึงแม้สภาพการณ์จะเป็นเช่นก่อนหน้านี้ก็จริง แต่ที่ต่างออกไปก็คือ ในห้วงเวลาที่ว่านี้จิ้นอันตี้กลับไม่ทรงอนาทรร้อนใจแต่อย่างไร สิ่งที่พระองค์และวงศานุวงศ์ทรงกระทำก็คือ การใช้ชีวิตเสพสุขโดยไม่ไยไพต่อชีวิตของราษฎรที่กำลังเดือดร้อนจากภัยสงคราม และเพราะเหตุนั้น เค้าลางแห่งความยุ่งยากจึงก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นขบวนการกบฏอีกครั้งหนึ่ง

กบฏที่ว่านี้คือกบฏซุนเอิน (ค.ศ.399-403) กับกบฏหลูสวิน (ค.ศ.398-410)

 

ชื่อกบฏทั้งสองขบวนการนี้เรียกตามผู้เป็นหัวหน้า โดยซุนเอินเป็นนักพรตลัทธิเต้าสังกัดนิกายข้าวสารห้าถัง ก่อนก่อกบฏซุนเอินใช้วิธีไม่ต่างกับกบฏนิกายเดียวกันในห้วงก่อนยุคสามรัฐ นั่นคือ รับผู้คนเข้ามาในนิกายของตนโดยคิดค่าสมาชิกเป็นข้าวสารห้าถัง

และด้วยการปลุกระดมให้สมาชิกเห็นถึงสาเหตุของความเดือดร้อน ว่ามาจากการไม่ใส่ใจของราชวงศ์จิ้นตะวันออก สมาชิกก็เห็นคล้อยตาม จนเมื่อสมาชิกเพิ่มขึ้นนับแสนคนจึงได้ก่อตัวเป็นกบฏ และทำการเคลื่อนไหวโค่นจิ้นตะวันออกใน ค.ศ.399 กบฏซุนเอินต่อสู้กับทัพจิ้นตะวันออกจนถึง ค.ศ.402 ก็พ่ายแพ้ไป

โดยซุนเอินได้โดดลงแม่น้ำกระทำอัตวินิบาตกรรมถึงแก่ชีวิต

ส่วนกบฏหลูสวินนั้น ตัวหลูสวินผู้เป็นหัวหน้าคือน้องเขยของซุนเอิน ก่อกบฏขึ้นก่อนซุนเอินไม่นาน แต่ยืนอยู่ได้นานกว่า คือยืนหยัดต่อสู้กับจิ้นตะวันออกได้นาน 12 ปี และเป็นกบฏที่เคลื่อนไหวอยู่ทางตอนใต้บริเวณมณฑลกว่างตงในปัจจุบัน แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้แก่ทัพจิ้นตะวันออก

จุดจบที่เหมือนกับกบฏซุนเอินก็คือ หลูสวินผู้เป็นหัวหน้ากบฏได้กระทำอัตวินิบาตกรรมโดดลงแม่น้ำเสียชีวิตเช่นกัน

ส่วนขุนศึกผู้มีบทบาทโดดเด่นในการปราบกบฏทั้งสองก็คือ หลิวอี้ว์ (ค.ศ.363-422)

 

อย่างไรก็ตาม แม้กบฏจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ก็จริง แต่กบฏก็ได้สร้างความเสียหายให้แก่จิ้นตะวันออกไม่น้อยเช่นกัน จากความเสียหายที่กบฏสร้างให้แก่จิ้นตะวันออกนี้เอง ที่ทำให้ฮว๋านเสีว์ยนฉวยโอกาสนำกำลังบุกเข้ายึดเจี้ยนคังใน ค.ศ.402

จากนั้นก็สังหารขุนศึกในสกุลซือหม่าที่ทรงอิทธิพลแล้วตั้งตนเป็นจักรพรรดิ

การยึดอำนาจในครั้งนี้ของฮว๋านเสีว์ยนถือเป็นการสานต่อภารกิจของฮว๋านเวินผู้เป็นบิดา ที่ว่าเคยยึดอำนาจเช่นนี้เหมือนกันแต่ไม่สำเร็จ ถึงกระนั้นก็ตาม การยึดอำนาจของเขาได้สร้างความไม่พอใจให้แก่เสนามาตย์ที่จงรักภักดีต่อจิ้นตะวันออก โดยเฉพาะหลิวอี้ว์ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา

หลิวอี้ว์จึงเคลื่อนไหวต่อต้านฮว๋านเสีว์ยนด้วยการซ่องสุมกำลังฝ่ายตนอย่างลับๆ ครั้นเวลาผ่านไปสองปีจนกองกำลังพร้อมแล้ว หลิวอี้ว์จึงยกกำลังบุกเจี้ยนคัง ฮว๋านเสีว์ยนซึ่งสู้กองกำลังของหลิวอี้ว์ไม่ได้จึงบีบบังคับจิ้นอันตี้ไปยังเมืองอื่นกับตน แต่ก็ยังคงถูกหลิวอี้ว์ตามเข้าตีไม่ลดละ

จนเมื่อถอยร่นไปถึงซื่อชวนนั่นแล้ว ฮว๋านเสีว์ยนจึงถูกฆ่าตาย หลังจากนั้นหลิวอี้ว์จึงเชิญเสด็จจิ้นอันตี้กลับคืนสู่เมืองหลวงเจี้ยนคังเพื่อครองราชย์ต่อ จากเหตุนี้ หลิวอี้ว์จึงได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นจนกลายเป็นขุนศึกผู้ทรงอิทธิพลในที่สุด

หลิวอี้ว์มีภูมิหลังมาจากครอบครัวที่ยากจน ครั้นโตขึ้นก็สมัครเป็นทหาร ขณะที่เกิดกบฏซุนเอินและกบฏหลูสวินนั้น เขาได้ร่วมอยู่ในทัพที่ปราบกบฏด้วย ตอนนี้เองที่หลิวอี้ว์ได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญในการรบ การบริหารจัดการกองทัพที่ดี การมีวินัยที่เข้มแข็ง และมีความเที่ยงธรรม

ที่สำคัญ เขาสามารถใช้กำลังที่น้อยกว่าเอาชนะกำลังที่มากกว่าได้อยู่เสมอ จนได้รับการแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นนายทหารที่มียศสูงขึ้น จากนั้นมาหลิวอี้ว์ก็ค่อยๆ โดดเด่นขึ้นมา และเมื่อเข้ามามีบทบาทในการปราบกบฏฮว๋านเสีว์ยนจนมีความดีความชอบแล้ว หลิวอี้ว์ก็ยังคงเป็นขุนศึกที่เอางานเอาการ

เช่น ใน ค.ศ.410 เขานำทัพไปปราบรัฐหนันเอียนจนได้รับชัยชนะ หรือ ค.ศ.416 ปราบรัฐโฮ่วฉินได้สำเร็จ เป็นต้น ชัยชนะแต่ละครั้งทำให้เขามีตำแหน่งที่สูงขึ้นตามลำดับ จน ค.ศ.418 เขาก็ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำมาตย์ที่มีฐานะสูงกว่ากษัตริย์ผู้ครองรัฐ

ถึงตอนนี้หลิวอี้ว์จึงคิดอ่านที่จะตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นมา

 

การคิดอ่านตั้งตนเป็นใหญ่ของหลิวอี้ว์ในครั้งนี้แม้จะไม่ต่างกับขุนศึกก่อนหน้านี้ แต่ที่ดูต่างออกไปก็คือ คราวนี้สถานการณ์ไม่เหมือนกับคราวก่อน ด้วยในคราวนี้หลิวอี้ว์มีอิทธิพลโดยแทบจะไร้คู่แข่งในราชสำนัก ส่วนขุนศึกที่เป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่นก็อ่อนแรงลงมาก ที่ยังแข็งแกร่งมีเหลือเพียงไม่กี่คนไม่กี่กลุ่ม

ดังนั้น หากละชนชาติที่มิใช่ฮั่นออกไปก่อนแล้ว สิ่งที่หลิวอี้ว์ได้กระทำในเบื้องแรกจึงคือการยึดอำนาจในราชสำนักเอามาให้ได้

กล่าวกันว่า เวลานั้นมีคำพยากรณ์ว่าหลังสิ้นจักรพรรดิจิ้นเซี่ยวอู่ตี้ไปแล้ว จิ้นตะวันออกจะมีจักรพรรดิสืบต่อไปอีกสององค์ หากคำพยากรณ์นี้เป็นจริงก็หมายความว่า หลังสิ้นจิ้นอันตี้ไปแล้วก็จะยังมีจักรพรรดิอีกหนึ่งองค์สืบราชวงศ์ต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้หลิวอี้ว์ย่อมต้องรอให้จิ้นตะวันออกสิ้นวงศ์ไปก่อนเขาจึงสามารถตั้งตนเป็นใหญ่ได้

และความจริงก็คือว่า หลิวอี้ว์รอให้เป็นเช่นคำพยากรณ์ไม่ได้