คำ ผกา l สิทธิวิปลาส

คำ ผกา

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีข้อถกเถียงหนึ่งที่ฉันเห็นว่าน่าสนใจและเป็นเรื่องที่ดีมากที่สังคมไทยจะได้ “คุย” กันเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นั่นคือ การตั้งคำถามว่า การสนับสนุนเผด็จการ หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนรัฐประหาร ถือเป็น “สิทธิ” หรือไม่?

ซึ่งตัวฉันเองเขียนในเฟซบุ๊กไปว่า

“การเป็นเผด็จการและสนับสนุนเผด็จการไม่ใช่สิทธิ เพราะโดยตัวมันเองจะก่อให้เกิดการลิดรอน ทำร้ายสิทธิของผู้อื่น เป็นต้นธารของความรุนแรงอีกหลายประการ

กล่าวโดยย่อ การสนับสนุนเผด็จการไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นอาชญากรรมทางอ้อม

โดยหลักการแล้วระบอบเผด็จการไม่ให้สิทธิใครเลย เผด็จการคือการกระทำตามอำเภอใจ ไม่ชอบใครก็เอาไปขัง ฆ่า ขู่ ดังนั้น สิทธิที่จะสนับสนุนการทำลายสิทธิจึงไม่มีอยู่จริง

ในระบอบ ปชต. จะมีกระบวนการยุติธรรมที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จึงไม่ทำลายคนคิดต่าง ไม่ลงโทษคนที่เชื่อหรือสนับสนุนเผด็จการ ทั้งยังเปิดโอกาสให้พูดและแสดงออกในขอบเขตของกฎหมาย แต่จะไม่พูดว่าการสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิ”

อาจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ เขียนอธิบายเรื่องนี้ในเฟซบุ๊กของอาจารย์ว่า

“ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีผู้แทนไทยนำโดยหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เป็นผู้ลงนาม จึงมีในมาตราสุดท้าย คือมาตรา 30 ว่า Nothing in this Declaration may be interpreted as implying for any State, group or person any right to engage in any activity or to perform any act aimed at the destruction of any of the rights and freedoms set forth herein.

แปลว่า “ไม่มีบทบัญญัติใดในปฏิญญาฉบับนี้ที่จะตีความไปได้ว่า มีนัยยะว่ารัฐใด หรือกลุ่มใด หรือปัจเจกชนใด จะมีสิทธิในการมีส่วนร่วมในการใดๆ หรือทำการใดๆ ที่มุ่งทำลายสิทธิหรือเสรีภาพข้อใดข้อหนึ่งที่บัญญัติไว้ในปฏิญญานี้” https://www.facebook.com/search/top/?q=soraj%20hongladarom

และด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ ท่ามกลางข้อถกเถียงนี้มีคนเอาไปโยงกับเรื่องซ้ายและขวา ซึ่งทำให้เราได้รู้ต่อไปอีกว่า ความเข้าใจเรื่องฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในสังคมไทยยังค่อนข้างสับสนอยู่มาก

เพราะสังคมไทยไปเข้าใจว่า คนที่สนับสนุนประชาธิปไตยคือ “ซ้าย” และคนที่สนับสนุนการรัฐประหารคือ “ขวา” ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงเสียทีเดียว

สำหรับฉัน สังคมไทยเท่าที่ปรากฏให้เห็นอยู่ตรงหน้า อาจพูดได้ว่า เราไม่มี “ฝ่ายซ้าย” อยู่ในสังคมเลยเสียด้วยซ้ำ และคนไทยส่วนใหญ่สมาทานอุดมการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแบบ “ขวา” เกือบทั้งหมดเลยก็ว่าได้

ในท่ามกลางความเป็น “ขวา” กันเกือบทุกคน (รวมทั้งตัวฉันเองด้วย) ก็แบ่งออกเป็นกลุ่มฝ่ายขวาที่อยากมีประชาธิปไตย กับกลุ่มฝ่ายขวาที่อยากล้มประชาธิปไตย หรืออยากอยู่กับระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ง่ายๆ เท่านี้เลยสำหรับเมืองไทย เราทุกคนล้วนแต่เป็นขวา แต่เป็นขวาเอาเลือกตั้ง กับเป็นขวาที่อยากอยู่กับรัฐบาลทหาร-เท่านั้น

พูดให้ง่ายกว่านั้นอีกคือ ในเมืองไทยมีแต่ฝ่ายขวาสนับสนุนประชาธิปไตย vs ฝ่ายขวา (กับฝ่ายขวาบางคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายซ้ายเพราะเคยเข้าป่า) สนับสนุนเผด็จการ

พรรคอนาคตใหม่อาจมีกลิ่นอายของความ “ซ้าย” อยู่อย่างเจือจางมาก จากการที่มีคนอย่างอาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ไปผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการเท่านั้นเอง

และในเรื่องรัฐสวัสดิการนี้ก็ถือว่าเป็นแค่กลิ่นอายของความเป็นซ้ายอย่างละมุนละไมที่สุด แนวนโยบายที่เหลือทั้งหมดเท่าที่ดูก็เป็น “ขวา” คือเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบธรรมดาๆ เพลนๆ ไม่ต้องพูดถึงนโยบาบเรื่องเพศสภาพ เรื่องเฟมินิสต์ ที่ทุกพรรคการเมืองรวมถึงพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นแนวนโยบายแบบ “ขวา” หมด ไม่มี “ซ้าย” เลย

ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด และฉันเองก็สนับสนุนด้วย

แต่ที่ต้องยกมาเพื่อ clarify ความเป็นซ้าย เป็นขวากันให้เคลียร์ ไม่อย่างนั้นในทุกการถกเถียงเรื่องจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองของไทย มันก็จะมั่วซั่ว จับแพะชนแกะไปหมด จนดูเหมือนว่า อะไรที่แตกต่างไปจาก norm หรือบรรทัดฐานของไทย ก็จะถูกแปะป้ายให้เป็น “ซ้าย” ไปกันหมด

ถามว่า ขวาที่เอาที่เชียร์รัฐประหารก่อให้เกิดอะไรในสังคมนี้?

ความรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นของการรัฐประหารคือ การที่สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทุกคนสูญสิ้นไป

นั่นคือ สิทธิในการปกครองตนเองผ่าน “ตัวแทน” ที่มาจากการเลือกตั้ง

ตามมาด้วยระบบถ่วงดุลอำนาจของนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ก็จบลง เนื่องจากทั้งสามอำนาจคือเนื้อเดียวกัน และที่เป็นสากลของรัฐบาลอำนาจเบ็ดเสร็จคือ การมีอำนาจไร้ขีดจำกัดอยู่ในมือ จะใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้ และเมื่อ “ไม่ใช้” อำนาจเบ็ดเสร็จนั้นก็สามารถเอาไปเคลมได้อีกว่า เราใจดีนะ เห็นไหม? เราให้เสรีภาพคุณมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสียอีก ดูสิ ไม่เห็นมีการปิดกั้นอะไรเลย

เมื่ออ้างเช่นนี้ ก็จะมี so called ปัญญาชน ผู้มีการศึกษาสูงแต่ไร้เดียงสาจำนวนหนึ่งออกมาขานรับว่า “เห็นไหม ในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนี้ ประชาชนเรายังไม่โดนกดขี่บีฑาเท่าประชาชนในประเทศที่มีการเลือกตั้ง มีประชาธิปไตยเลย”

จากนั้นเคสคลาสสิคที่ปัญญาชนไร้เดียงสาจะชอบเอามาอ้างคือ อยากได้นักเหรอ ประชาธิปไตยน่ะ ไปดูดูแตร์เตสิ ไปดูอีทรัมป์สิ อี๋ๆ แหวะๆ – นี่ไง ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง อยากได้นักไม่ใช่เหรอ?

ปัญญาชนไร้เดียงสาแต่คิดว่าตัวเองฉลาดสุดๆ เหล่านี้ ลืมคิดหรือเอ๋อไปหรืออย่างไรไม่ทราบว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่ผู้นำในรัฐบาลเผด็จการกระทำสิ่งดีหรือสิ่งเลว ทว่าสิ่งที่ “อันตราย” คือ การอยู่ใต้เผด็จการนั้น เราไม่มีวันรู้ว่าวันไหนเขาจะดี วันไหนเขาจะโหด และเขาเลือกจะดีกับใคร หรือเลือกจะโหดกับใคร

ดังนั้น สิ่งอันน่ากลัวคือ อำนาจอันเป็นล้นพ้น ปราศจากการตรวจสอบ ถ่วงดุล และเป็นนิรันดรต่างหากที่คนเขากลัว

ตลกกว่านั้นคือ มีคนที่มีการศึกษาดีๆ จำนวนไม่น้อยถามคำถามที่ไร้เดียงสาอย่างไม่น่าเชื่อว่า หากการสนับสนุนเผด็จการเท่ากับสนับสนุนอาชญากรรม คนที่สนับสนุนรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ทำสงครามกับยาเสพติด ก่อให้เกิดการเข่นฆ่าประชาชนจำนวนมาก ก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนอาชญากรรมด้วย ใช่หรือไม่?

ถ้าหากใช้ตรรกะนี้ เราอาจพูดได้ว่า คนทุกคนในโลกใบนี้สนับสนุนอาชญากรรม เพราะผู้นำของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจล้วนพัวพันกับการทำสงคราม การค้าอาวุธ หรืออาจพูดได้แม้กระทั่งว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ น้ำตาล ไปจนถึงการใช้สมาร์ตโฟนของเรา และการกินอาหารทะเลของเรา มีส่วนสนับสนุนอาชญากรรม จากการทำให้เกิดการใช้แรงงานทาสทางอ้อม

คำถามเช่นนี้ สิ้นคิดพอๆ กับคำถามที่ว่า ระหว่างเผด็จการที่มีคุณธรรม กับผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่เลวชาติ ไร้ศีลธรรม คุณธรรม เราจะเลือกอะไร?

จะตอบให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ว่า

ระบอบเผด็จการเป็นอาชญากรรมด้วยตัวของมันเอง เพราะมันพรากเอาสิทธิพื้นฐานของพลเมืองไปไว้ในมือของคนหนึ่งคนหรือหนึ่งกลุ่ม และคนนั้นหรือกลุ่มนั้นสามารถใช้อำนาจนั้นตามใจชอบ ตามอำเภอใจ อันอาจก่อให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพ ความอยุติธรรมที่ไร้หนทางจะท้าทายโดยสิ้นเชิง หรือหากจะท้าทายก็ต้องแลกด้วยชีวิตหรือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

นี่คือต้นธารของอาชญากรรมและความรุนแรงที่ indefinite ในแบบที่เราไม่มีวันรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเรา เช่น วันนี้มีทีวี 5 ช่อง พรุ่งนี้อาจจะไม่มีสักช่อง แล้วอีกหนึ่งเดือนก็มี 10 ช่อง หรืออะไรๆ ที่มากกว่านั้น อันจะไม่ขอพูดมาก เพราะเจ็บคอ

เวลาที่มีคนบอกว่า เขาต้องการประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง เขากำลังพูดถึงเรื่อง “ที่มาของอำนาจ” นั่นคือ รัฐบาลได้อำนาจมาจาก “ประชาชน” และต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบ ถ่วงดุล วิพากษ์วิจารณ์ หรืออย่างน้อยที่สุด มีฝ่ายค้านในสภา และมีวาระของการครองอำนาจ เช่น อยู่ได้ 4 ปี แล้วต้องคืนอำนาจไปให้ประชาชนแล้วเลือกตั้งใหม่ ในทางกลับกัน

ทีนี้ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปทำระยำตำบอนใดๆ ไปเข่นฆ่าประชาชน ไปก่ออาชญากรรมในนามของรัฐ แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นฉวยใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ ยึดสภา ปิดปากสื่อ อุ้มคนที่วิจารณ์ ตามฆ่าฝ่ายค้าน – รัฐบาลนั้นย่อมกลายเป็น “เผด็จการ” – และหากมีคนสนับสนุนการกระทำของรัฐบาลนั้น ก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนเผด็จกา รและเท่ากับเป็นการสนับสนุนการก่ออาชญากรรมอยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าทุกอย่างอยู่ในกระบวนการและวิถีที่เป็นประชาธิปไตย-รัฐจะไม่สามารถก่ออาชญกรรมไปได้เรื่อยๆ แล้วลอยนวลพ้นผิด

จากตรงนี้ทำให้ฉันอยากจะตอบคำถามคุณสฤณี อาชวานันทกุล ที่เขียนไว้ในเฟซบุ๊กของเธอที่ว่า

“การสนับสนุนเผด็จการทหาร (ในความหมายชอบ เชียร์ อยากให้อยู่ต่อ ไม่ใช่ลงมือไปช่วยอุ้มใคร) = อาชญากรรม (แปลว่าอยากให้ผู้สนับสนุนถูกลงโทษ) แล้วการสนับสนุนรัฐบาลที่มีประวัติการฆ่าตัดตอน = อาชญากรรมด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร”

ขอตอบว่า

1. การพูดว่า การสนับสนุนเผด็จการทหาร เท่ากับอาชญากรรม แปลว่า อยากให้ผู้สนับสนุนถูกลงโทษ นั้นผิด – ผิดเพราะการสนับสนุนเผด็จการเท่ากับการสนับสนุนอาชญากรรมก็จริง แต่ในสังคมประชาธิปไตยที่มีกระบวนการยุติธรรมที่มีอารยะ เราย่อมไม่ลงโทษผู้สนับสนุนการก่ออาชญากรรม แต่เราต้องการให้มีการเอาผิด ลงโทษผู้ก่ออาชญากรรม

2. การสนับสนุนรัฐบาลที่มีประวัติการฆ่าตัดตอน = อาชญากรรมด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ไม่ใช่เพราะอะไร”

คำถามนี้ต้องแยกว่า

1. คนที่สนับสนุนรัฐบาลที่มีประวัติการฆ่าตัดตอน เขาสนับสนุนรัฐบาลนั้นในประเด็นที่รัฐบาลนั้นมาจากการเลือกตั้ง และเขามั่นใจว่าการเอาผิดรัฐบาลนั้นต้องกระทำในกระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่ใช่การรัฐประหารรัฐบาลนั้น พูดให้ง่ายคือ เขาสนับสนุนรัฐบาลนั้นจากที่มาของอำนาจอันชอบธรรม และพร้อมจะยืนยันความชอบธรรมของพรรคการเมืองทุกพรรคที่เข้ามามีอำนาจตามกระบวนการประชาธิปไตย

2. หากเห็นว่าการฆ่าตัดตอนเป็นอาชญากรรม สิ่งที่เราต้องทำ เอาผิดผู้กระทำ และผู้สั่งการตามกระบวนการของกฎหมาย และเราจะทำอย่างนี้ได้ก็ต่อเมื่อเรายังสามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยในสังคมเอาไว้ได้

3. การที่เรายังไม่สามารถใช้กระบวนการยุติธรรมเอาผิดรัฐบาลที่ทำการฆ่าตัดตอนได้ เพราะมีคนจำนวนมากไปออกบัตรเชิญให้เผด็จการครองอำนาจผ่านการทำรัฐประหาร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว นอกจากข้อกล่าวหาว่ารัฐที่มาจากการเลือกตั้งก่ออาชญากรรมจะไม่ได้รับการสะสาง ค้นหาความจริง มันยังเปลี่ยนสังคมไทยทั้งหมดให้ต้องไปอยู่ใต้อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดและเป็นอำนาจตามอำเภอใจ อันเป็นอาชญากรรมด้วยตัวของมันเองดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ไม่อยากจะต้องพูดอะไรซ้ำๆ ให้ปากฉีกไปถึงมดลูก ถ้ารัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยทำสิ่งที่ระยำตำบอน เรายิ่งต้อง “ต้านเผด็จการ” เพื่อรักษา “ระบบ” และ “กระบวนการยุติธรรม เพื่อสะสางความระยำตำบอนนั้น ไม่ใช่มาตีโวหารสวยๆ ว่า สนับสนุนเผด็จการเป็น “สิทธิ” เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ฆ่าคน

จึงขอยืนยันอีกครั้งว่า การสนับสนุนเผด็จการเท่ากับเป็นการสนับสนุนการก่อให้เกิดอาชญากรรม

แต่ถามว่า ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย กฎหมายปฏิบัติต่อพลเมืองทุกคนอย่างเสมอภาคและให้ความเป็นธรรมกับทุกคนด้วยมาตรฐานเดียว หากจะมีใครลุกขึ้นมาป่าวประกาศว่า ประชาธิปไตยแย่จัง เผด็จการดีกว่า อยากให้บ้านเมืองปกครองด้วยระบอบเผด็จการ – เราย่อมปล่อยให้เขาพูด – และหากคำพูดหรือการกระทำของเขาละเมิดกฎหมายก็ย่อมเป็นเรื่องทางกฎหมาย แต่ไม่มีใครสามารถไปปาหิน ลงโทษ ใช้ศาลเตี้ย หรือลากเขามาประจานใดๆ ได้

ตรงกันข้าม ในสังคมที่เป็นเผด็จการอยู่แล้ว และมีความรุนแรงของการใช้อำนาจแฝงฝังอยู่ในทุกอณูของลมหายใจ มีคนถูกลงโทษ ข่มขู่ ละเมิดสิทธิต่างๆ เป็นอาจิณ การพูดว่า การสนับสนุนเผด็จการเป็น “สิทธิ”

นอกจากจะเท่ากับการสนับสนุนการก่ออาชญากรรมแล้ว ยังถือเป็นความวิปริต วิปลาส แทบจะกลายเป็นความวิตถารด้วยตัวของมันเอง