ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากนานาชาติเป็นใคร เขามาทำอะไรบ้าง ?

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การสังเกตการณ์จากนานาชาติ

ผู้บริหารประเทศที่มีมุมมองในทางลบ มักจะเห็นว่าการมีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งนานาชาติ (International election observers) เป็นการลดศักดิ์ศรีของประเทศ ราวกับว่าประเทศนี้มีการทุจริตการเลือกตั้งมากมายจนต้องมีคนนอกมาเฝ้าสังเกตเพราะคนในจ้องจะตุกติกกัน

ในขณะที่ผู้บริหารประเทศที่มีมุมมองในทางบวกก็จะเห็นว่าการมีผู้สังเกตการณ์นานาชาติ คือโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาเสนอแนะสิ่งที่ยังไม่สมบูรณ์ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์มาจากหลากหลายที่ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

และยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อชาวโลกในผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นว่าสุจริตเที่ยงธรรม ส่งผลถึงการยอมรับในตัวรัฐบาลในอนาคต

ผู้สังเกตการณ์นานาชาติเป็นใคร

เราอาจจำแนกผู้สังเกตการณ์นานาชาติได้เป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ ตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประเทศต่างๆ ในโลกที่เคยมีความสัมพันธ์กับ กกต.ไทย เช่น เคยแลกเปลี่ยนบุคลากร เคยเชิญเราไปร่วมสังเกตการณ์เมื่อเขามีการเลือกตั้ง ลักษณะความสัมพันธ์จึงเป็นความสัมพันธ์ในเชิงการทูต เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างแท้จริง

การได้พบ ได้เห็น ได้เสนอแนะ ได้นำกลับไปปรับปรุงการจัดการเลือกตั้งให้ดีขึ้น โดยผู้สังเกตการณ์จะมีฐานะเป็นผู้จัดการเลือกตั้งในแต่ละประเทศ จึงมีประสบการณ์สูงในทางปฏิบัติและสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์

แต่ข้อสังเกตที่ให้ยังมีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นคำพูดในเชิงทางการทูต แต่ก็ช่วยให้ประเทศที่จัดการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของโลกเนื่องจากมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์

กลุ่มที่สอง เป็นผู้สังเกตการณ์จากประเทศตะวันตกที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและให้ความสำคัญต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรืออียู กลุ่มประเทศเหล่านี้มักจะมีงบประมาณที่ได้รับจากสภาจำนวนมาก และพร้อมส่งอาสาสมัครเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในประเทศต่างๆ ที่ประเมินว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นที่สนใจของชาวโลก

เช่น ในปี 2018 นี้ อียูได้เข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งของติมอร์-เลสเต ตูนิเซีย ปารากวัย เซียร์ราลีโอน และมาลี เป็นต้น

ผู้สังเกตการณ์ของกลุ่มนี้มักจะมาจากหลากหลายอาชีพ

บางคนอาจเป็นศาสตราจารย์ที่สอนทางรัฐศาสตร์

บางคนอาจเป็นภาคเอกชน

บางคนเป็น ส.ส. ส.ว. บางคนเป็นเอ็นจีโอ เป็นสื่อมวลชน ซึ่งหากมองในแง่ความเชี่ยวชาญในการจัดการเลือกตั้งอาจจะมีน้อย ยกเว้นบางคนที่มีประสบการณ์ในการร่วมสังเกตการณ์ในหลายประเทศ

ผู้สังเกตการณ์กลุ่มนี้มักจะเข้ามาในเวลาสั้นๆ เพราะมีจำนวนมากและแต่ละคนมีงานประจำของตน แต่จะมีความกล้าหาญกล้าเสี่ยงภัย กล้าไปในพื้นที่ที่มีอันตราย เช่น มีการสู้รบของฝ่ายต่างๆ ซึ่งบางทีก็สร้างความลำบากใจแก่ประเทศเจ้าภาพที่จัดการเลือกตั้ง

เนื่องจากเป็นประเทศตะวันตกที่มีการยอมรับในด้านความเจริญทางเศรษฐกิจและมีดุลอำนาจทางการเมืองสูง คำแถลง (Statement) หลังการสังเกตการณ์ของกลุ่มนี้จึงค่อนข้างมีน้ำหนัก และมีผลต่อความเชื่อถือของชาวโลก แม้ว่าจะเป็นการเข้ามาในเวลาสั้นๆ ก็ตาม

กลุ่มที่สาม เป็นผู้สังเกตการณ์จากองค์กรเอ็นจีโอที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่จัดตั้งขึ้นในประเทศต่างๆ เช่น เครือข่ายการเลือกตั้งเสรีแห่งเอเชีย หรือ ANFREL เครือข่ายองค์กรตรวจสอบการเลือกตั้งยุโรป หรือ ENEMO เป็นต้น

โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีพันธกิจต่อเนื่องในการส่งเสริมให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรมในแต่ละภูมิภาค มีองค์กรที่มีความรู้ที่ดีในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นมาตรฐาน มีคู่มือในการปฏิบัติงานที่สามารถเป็นแบบอย่างปฏิบัติได้

การเฝ้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งมีทั้งลักษณะ short term และ long term คือ อาจจะเพียง 2-3 วัน หรือยาวถึง 6-8 สัปดาห์ การสังเกตการณ์ของกลุ่มนี้จึงมีลักษณะตรงไปตรงมา กล้าให้ความเห็น กล้าวิจารณ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น

และอาจไม่รื่นหูกรรมการการเลือกตั้งและผู้ปกครองของประเทศที่เข้าไปสังเกตการณ์นัก

เขาสังเกตการณ์ในเรื่องใดบ้าง

การสังเกตการณ์ของผู้สังเกตการณ์นานาชาติให้ความสนใจกระบวนการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งก่อนวันเลือกตั้ง (pre election day) วันเลือกตั้ง (election day) และหลังวันเลือกตั้ง (post election day) โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เข้ามาสังเกตการณ์ ซึ่งหากเป็นทีมขนาดใหญ่ก็ย่อมมีจำนวนวันที่เข้ามาน้อยลงเป็นสัดส่วนเนื่องจากต้นทุน ค่าใช้จ่ายและเวลาที่จำกัดของผู้ร่วมทีม ประเด็นที่อาสาสมัครเหล่านี้เข้ามาสังเกตการณ์จึงประกอบด้วย

1) การศึกษาประเด็นที่เป็นปัญหาในกรอบทางกฎหมาย (Legal framework) หรือกติกาในการเลือกตั้ง

ซึ่งผู้สังเกตการณ์สามารถเก็บข้อมูลได้จากเอกสารเผยแพร่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เช่น ประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง วิธีการลงคะแนนเสียง เวลาในการลงคะแนน กติกาในการนับคะแนน เป็นต้น

โดยอาจมีการนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์นักวิชาการทางรัฐศาสตร์/นิติศาสตร์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ

ข้อสังเกตที่ได้จากความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ของผู้สังเกตการณ์นานาชาติจึงมีประโยชน์ในด้านการเปรียบเทียบหลักของไทยกับหลักมาตรฐานการจัดการเลือกตั้งที่เป็นสากล

2) การสังเกตการณ์การทำหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้ง (Work of election administration) ทั้งในระดับจังหวัด เขต หรือกรรมการประจำหน่วย ว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดหรือไม่

เช่น มีการทำหน้าที่ด้วยความตั้งใจ เปิด-ปิดหน่วยตรงตามเวลา การนับคะแนนเป็นไปอย่างโปร่งใส การวินิจฉัยบัตรเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม ระบบการรวมคะแนนเป็นไปด้วยความรวดเร็วหรือล่าช้า มีปัญหาในกระบวนการจัดส่งคะแนนหรือไม่ เป็นต้น

สิ่งที่พบเห็นจึงเป็นการสะท้อนถึงปรากฏการณ์ที่เขาเข้ามาแล้วพบจริง ซึ่งในอดีตการสังเกตการณ์หลายครั้งของผู้สังเกตการณ์นานาชาติที่มาประเทศไทยจบลงด้วยคำนิยมว่า ประเทศไทยมีการจัดการและเตรียมการได้ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่เขาไปสังเกตการณ์

3) สังเกตการณ์ในด้านบรรยากาศการเลือกตั้ง (Campaign environment) เช่น มีการใช้อิทธิพลข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ มีการใช้อำนาจรัฐเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเอาเปรียบผู้สมัครหรือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรือไม่

การรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองเป็นไปอย่างเท่าเทียมหรือไม่

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีเสรีในการใช้สิทธิ์โดยไม่ถูกคุกคามจากผู้มีอิทธิพล มีการใช้เงินซื้อเสียงหรือจูงใจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่

ซึ่งผู้สังเกตการณ์อาจนัดหมายสัมภาษณ์ผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ การสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน เครือข่ายเอ็นจีโอในพื้นที่ สัมภาษณ์ชาวบ้าน สื่อมวลชนในพื้นที่ เพื่อให้บรรยากาศที่เสรีและเป็นธรรมว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ปัญหาที่ผู้สังเกตการณ์เหล่านี้มักจะพบในหลายประเทศที่เข้าไปสังเกตการณ์คือ การพยายามใช้อำนาจรัฐเพื่อให้เกิดความได้เปรียบเหนือฝ่ายตรงข้าม และการใช้อิทธิพลในการข่มขู่ผู้สมัคร หัวคะแนน และประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง มีการทุ่มใช้เงินซื้อเสียงจากประชาชน ซึ่งเป็นธรรมชาติของการเมืองการเลือกตั้งในประเทศกำลังพัฒนา

4) การทำงานของสื่อและสถานการณ์ของสื่อในประเทศ (Media situation) สิ่งที่ผู้สังเกตการณ์สนใจคือ สื่อภายในประเทศมีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นต่อสาธารณะหรือไม่ มีความเอนเอียง มีการปลุกระดมให้ชอบหรือไม่ชอบพรรคการเมืองฝ่ายใด มีการใช้สื่อของรัฐให้เกิดประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่ มีการข่มขู่คุกคามสื่อที่เสนอข้อเท็จจริงต่อสังคมหรือไม่

ซึ่งผู้สังเกตการณ์อาจนัดหมายสื่อมวลชนในประเทศเพื่อให้ข้อมูลถึงบรรยากาศดังกล่าว หรืออาจสัมภาษณ์นักวิชาการ เอ็นจีโอในประเทศ เพื่อประกอบความเห็นเพิ่มเติม

โดยสรุปแล้ว ในภาวะที่คนในโลกติดต่อสื่อสารถึงกันหมด ข่าวคราวทุกมุมของโลกสามารถส่งถึงกันได้ทันที การเข้ามาสังเกตการณ์ของผู้สังเกตการณ์นานาชาติไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เป็นสิ่งดีด้วยซ้ำที่เขาสนใจประเทศไทยและมาช่วยประเทศไทย “ถ่ายทอดสด” ถึงสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีของการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยไทย

ดังนั้น จะมากี่คน เป็นสิบ เป็นร้อย หากเราต้อนรับไหวก็มาเถิดครับ ทีนักท่องเที่ยวเป็นล้านเมืองไทยยังยิ้มต้อนรับและสร้างความประทับใจกลับไปมากมาย แค่ไม่กี่ร้อยคนของผู้สังเกตการณ์นานาชาติ ต้องให้เขามีรอยยิ้มกลับไปให้ได้

ยกเว้นว่าเรามีเรื่องมากมายที่ไม่อยากให้เขารู้