เปรียบมวยพลังประชารัฐ-เพื่อไทย l วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ในบรรยากาศที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง คำถามที่ฮิตสุดในวันนี้ไม่พ้นประเด็นระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ ใครจะได้ ส.ส.มากกว่ากัน พรรคไหนจะเป็นอันดับ 1 ที่ได้รับคะแนนเสียงความไว้วางใจจากประชาชน

ในฐานะที่พรรคเพื่อไทยหรือในชื่ออื่นก่อนหน้านี้เป็นแชมป์ในการเลือกตั้งมาตลอด 4 สมัย นับจากการเลือกตั้งในปี 2544 เป็นต้นมา

อีกทั้งผลการสำรวจคะแนนความนิยมรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในต้นปี 2562 พบว่าเพื่อไทยก็ยังมาแรง

แถมยังเตรียมพรรคไทยรักษาชาติไว้เก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ตามเทคนิคของกติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ รวมทั้งยังมีพรรคแนวร่วมอีก 2-3 พรรค ที่พร้อมจะเก็บ ส.ส. เน้นเฉพาะจุดเฉพาะบางภาค

“ดังนั้น สถานะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง 2562 ยังได้รับการจัดไว้เป็นตัวเต็งอยู่”

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ รู้กันดีว่าก่อตั้งขึ้นมาเพื่อผลักดันให้แกนนำ คสช. ยังคงเป็นรัฐบาลต่อไปในการเลือกตั้ง 2562 รวมทั้งนายกฯ ยังชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา

มีการระดมสรรพกำลังมากมาย เพื่อให้พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคหลักสำหรับชิงแชมป์เลือกตั้งหนนี้ อีกทั้งจะเป็นพรรคหลักที่นำคนหน้าคล้ายๆ กับนายกฯ ปัจจุบันให้เป็นนายกฯ อีกครั้ง

รวมทั้งมีแนวร่วมเป็นพรรคที่มีจุดยืนชัดเจนว่าหนุน พล.อ.ประยุทธ์อีก 2-3 พรรค

“แต่ทั้งหมดทั้งมวล เฉพาะเพื่อไทยและพลังประชารัฐนี่แหละ น่าจะเป็นคู่ชิงแชมป์ที่สูสีที่สุด!”

สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ดูจากหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ชัดเจนว่าเป็นทีมงานของขุนพลฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช.

ส่วนมือเดินงานในการกวาดต้อนอดีต ส.ส. ที่ช่ำชองในสนามเลือกตั้งมาเข้าสังกัดเพื่อลงสนามชิงชัยกับเพื่อไทย ก็ดำเนินการโดยกลุ่มสามมิตร ที่เดินสายดูดอย่างเอิกเกริกมาตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา

“วิธีเอาตัวผู้สมัครที่เป็นอดีต ส.ส.หลายสมัยเข้ามาสังกัดเช่นนี้ ดูเหมือนจะเป็นเครื่องการันตีผลการเลือกตั้ง เพราะไม่ใช่หน้าใหม่โนเนม”

แถมดูจากกำลังสนับสนุนที่พร้อมทุกด้าน ในฐานะพรรคการเมืองที่ตั้งโดยรัฐบาลปัจจุบัน

อีกทั้งยังเป็นที่รู้กันว่า มีคนในเครื่องแบบตามพื้นที่ต่างๆ คอยเดินเกมเพื่อทำให้พลังประชารัฐได้รับชัยชนะให้ได้อีกด้วย

“จึงเป็นคู่ท้าชิงแชมป์จากเพื่อไทยที่น่าเกรงขามไม่น้อย!”

ยิ่งมีกฎกติกาให้สมาชิกวุฒิสภาอีก 250 เสียง ร่วมโหวตนายกฯ ด้วย จึงเป็นคะแนนเสียงเพิ่มที่ทำให้คนหน้าคล้ายๆ นายกฯ ปัจจุบัน มีความได้เปรียบเหนือกว่า

จนนักวิเคราะห์มองว่า อุตส่าห์เตรียมเอาไว้ทุกอย่างขนาดนี้แล้ว โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล และมีนายกฯ ในนามของพรรคนี้ จึงมีสูงกว่าเพื่อไทย

แต่ผลการเลือกตั้งของเพื่อไทยก็จะมาอย่างไม่ธรรมดา ชนิดที่เป็นไปได้มากว่า

พลังประชารัฐคงเป็นรัฐบาล แต่ทำงานในสภาผู้แทนฯ ได้ลำบาก เพราะจะเจอฝ่ายค้านที่มีเก้าอี้หนาแน่นคือเพื่อไทย!?!

โดยกฎกติกาต่างๆ ที่เขียนขึ้นมาในยุค คสช.นั้น ทำให้พรรคฝ่าย คสช.ดูมีความพร้อมมากมายหลายด้านกว่าแน่นอน แถมคาดกันอีกว่าแม้เพื่อไทยจะมีแนวโน้มได้รับ ส.ส.เข้ามามาก แต่ยังจะต้องฝ่าด่านองค์กรตรวจสอบเลือกตั้งอันหมายถึงโอกาสโดนจับฟาวล์ก็มีอยู่สูงด้วย

มองในด้านสถานะของฝ่ายกุมอำนาจ กับฝ่ายที่เพิ่งถูกโค่นอำนาจเมื่อปี 2557 ถือว่าพลังประชารัฐได้เปรียบอยู่มากโข

แต่สิ่งที่คนของพลังประชารัฐอาจจะยังหวั่นไหว หรือเมื่อสัมผัสกับอารมณ์ความรู้สึกของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ แล้ว ก็ต้องมาขบคิดกันหนัก

เสียงสะท้อนผ่านอดีต ส.ส.ที่ดูดที่ต้อนมาเข้าพรรค หรือหัวคะแนนที่กุมมวลชนในพื้นที่ต่างๆ

“ได้ชี้ให้ผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐได้รับรู้ก็คือ ปัญหาราคาพืชผล ปัญหารายได้ปากท้องชาวบ้าน เป็นเรื่องใหญ่ที่ยังยากจะชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน!?”

เพราะพรรคนี้ก็คือพรรคของรัฐบาลปัจจุบัน พรรคนี้มาจากขุนพลเศรษฐกิจของ คสช.

ผลงานเศรษฐกิจ ราคายางพารา ปาล์ม มะพร้าว และพืชเศรษฐกิจหลักๆ ทำไมจึงตกต่ำ เมื่อเทียบกับยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีตัวเลขเปรียบเทียบชัด

“คำถามจากชาวบ้านก็คือ ตอนนี้เป็นรัฐบาลยังทำไม่ได้ แล้วถ้ามาเป็นรัฐบาลอีก จะดีขึ้นได้หรือ!??”

หนักหนาสาหัสกว่านั้น ผลงานด้านเศรษฐกิจตั้งแต่ยุคเป็นพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาจนถึงพรรคเพื่อไทย ยังติดตรึงใจชาวบ้านอย่างไม่เสื่อมคลาย

ราคายางพาราในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ อาจจะเริ่มตกลงมาจากยุคไทยรักไทย แต่ก็ยังอยู่ที่โลละ 70-80 บาท

ตอนนั้นถึงขั้นลุกฮือปิดถนนไฟลุกโชนเพื่อเรียกร้องให้ได้ 120 บาท แล้วยังเข้าร่วมกับนกหวีดเพื่อชัตดาวน์ จนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องพ้นจากอำนาจ ได้รัฐบาล คสช.เข้ามาแทน

“คราวนี้ยางเหลือ 3 โลร้อย ผ่านมา 4 ปีแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น เริ่มพูดกันว่ากำลังจะเข้าสู่ 6 โลร้อยเข้าไปแล้ว”

เชื่อว่าโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่เลือกตั้ง รัฐบาล คสช. จะต้องทุ่มเทงบประมาณเพื่ออุ้มชาวสวนยางหรือชาวสวนอื่นๆ ทุกวิถีทาง

เพราะถ้าแก้เรื่องราคาพืชผลไม่ได้ ทำให้ชาวสวนรู้สึกดีขึ้นไม่ได้ ทำให้ปากท้องชาวบ้านระดับล่างรู้สึกอุ่นอิ่มขึ้นไม่ได้

จะเป็นดังที่เหล่าอดีต ส.ส.และหัวคะแนนที่กวาดต้อนกันเข้ามา สะท้อนให้ได้รับรู้กัน

คนจะคิดถึงพรรคเพื่อไทยมากกว่าแน่ๆ

แม้ว่าระยะนี้ราคาข้าวจะกลับมาพุ่งสูงขึ้น แต่ก็รู้กันดีว่าสาเหตุเพราะฝนฟ้าไม่ตกตามฤดู ทำให้ผลผลิตข้าวมีน้อย ราคาก็ต้องแพงขึ้นตามกลไกตลาด ไม่ใช่เพราะรัฐมีโครงการอะไรดีๆ ออกมา รวมทั้งราคาข้าวที่ดี ก็แทบจะไม่มีผลต่อรายได้ของชาวนา เพราะผลผลิตในมือชาวนาแทบจะไม่มีเหลืออยู่แล้ว

ราคาข้าวก็เป็นอีกจุดแข็งของฝ่ายเพื่อไทย โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าว

“ขณะที่ชนชั้นกลางในเมืองหลวงและชนชั้นสูงจะพากันสะใจ ที่จำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ล้มคว่ำ และกลายเป็นคดีทุจริตคดโกง โคตรโกง จนทำให้ยิ่งลักษณ์ต้องหนีไปต่างประเทศ”

แต่ถ้าไปถามชาวนาในชนบท จะได้คำตอบว่า โครงการจำนำข้าวที่มีทุจริตโคตรโกงหรือไม่ก็ตามที แต่ทำไมต้องทำให้โครงการที่ชาวนาได้ลืมตาอ้าปากต้องล้มคว่ำไป แล้วไม่เห็นมีอะไรมาทดแทนอีกเลย

“นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าหนักใจของบรรดาคนของพรรคพลังประชารัฐที่จะต้องลงสู่สนามพบปะชาวบ้าน”

เหตุผลในด้านราคาผลิตผลต่างๆ และเศรษฐกิจระดับรากหญ้า เป็นส่วนสำคัญทุกครั้งที่ชาวบ้านใช้ตัดสินใจในการเลือกตั้ง

กล่าวกันว่า นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544 เป็นต้นมา การซื้อเสียงจากชาวบ้านด้วยเงินทอง ทีละ 200-300 บาท หรือเป็นพัน ก็เหลือน้อยนิดเต็มที และแทบจะไม่มีผลต่อภาพรวมของการเลือกตั้งใหญ่

เนื่องจากโครงการของรัฐบาลตั้งแต่ยุคไทยรักไทย ได้กลายเป็นจุดขายที่สำคัญกว่า เนื่องจากนโยบายของพรรคการเมืองตอบสนองต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างเป็นรูปธรรมกว่า เช่น การรักษาพยาบาล การสร้างเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ไปจนถึงการผลักดันเศรษฐกิจระดับชาติ

“จนกล่าวกันว่า การเมืองหลังปี 2540 ได้ทำให้ประชาชนในชนบทรู้สึกว่าประชาธิปไตยทำให้ปากท้องดีขึ้นอย่างเป็นจริง และไม่ใช่แค่เงินไม่กี่ร้อยบาทที่ซื้อเสียงอีกต่อไปด้วย!”

Thaksin Shinawatra, the tycoon tipped to become Thailand’s next prime minister, joins his supporters, 15 November 2000 after filing his application for his Thai Rak party for January 6, 2001 elections at an indoor sport stadium in Bangkok. The telecom magnate has been accused of failing to disclose his holdings in 17 companies, and has also been investigated over dubious transfer of shares in several other companies to a number of his relatives and servants. AFP PHOTO/Chaiwat SUBPRASOM / AFP PHOTO / CHAIWAT SUBPRASOM

ปัญหาของพลังประชารัฐคือ มีภาพของไทยรักไทยและเพื่อไทยเป็นตัวเปรียบเทียบ

อีกทั้งพลังประชารัฐยังโดนเปรียบเทียบในสายตาชาวบ้าน

“โดยเปรียบกับผลงานของรัฐบาลปัจจุบันที่เห็นๆ กันทุกวันนี้นั่นเอง”

เหตุผลทางการเมืองที่ประชาชนใช้ตัดสินใจเลือกตั้งก็เป็นอีกส่วน ครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคฝ่ายเสรีประชาธิปไตย กับพรรคฝ่าย คสช. ฝ่ายที่เคยมาด้วยการรัฐประหาร

อุดมการณ์การเมืองจึงเป็นส่วนหนึ่ง

แต่เศรษฐกิจปากท้องก็เป็นส่วนสำคัญ ที่พอมองได้ไม่ยากว่าใครจะได้ความนิยมมากกว่า!