ฉัตรสุมาลย์ : วิจารมหากุมภ์

นายนเรนทร โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย

ในขณะที่ในเมืองอุชเชนคลาคล่ำฝูงชนและสาธุ คือพระในศาสนาฮินดูที่มาร่วมงานมหากุมภ์กว่า 5 แสนคนนั้น เป็นนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่จะให้เป็นที่รับรู้ในหมู่นักวิชาการนานาชาติด้วย

คณะทำงานของมุขมนตรีรัฐมัธยประเทศ คือ นายศิวราช เจาหัน ได้จัดงานวิจารมหากุมภ์ขนานกันไปกับการฉลองงานทางศาสนาในเมืองอุชเชน โดยเลือกตำบลนิโนรา ซึ่งหากมาจากสนามบินอินดอร์ ก็จะถึงตำบลนิโนราก่อนถึงเมืองอุชเชน 15 ก.ม.

นิโนราอยู่ห่างจากอินดอร์ประมาณ 45 ก.ม. พวกเราที่ได้รับเชิญพักในโรงแรมที่เมืองอินดอร์ แล้วเดินทางไปกลับทุกวัน

งานประชุมนานาชาติ วิจารมหากุมภ์ ต้องการพื้นที่รับรองผู้คน 5,000 คน ไม่สามารถจัดในเมืองอุชเชนได้ พื้นที่ริมถนนสายหลักที่ตำบลนิโนราเป็นพื้นที่เกษตร รัฐบาลยอมจ่ายเงินค่าเสียหายทดแทนให้แก่ชาวนาเจ้าของที่ดินแถบนั้น เพื่อขอใช้สถานที่จัดงานนานาชาติครั้งนี้

แปลว่า งานวิจารมหากุมภ์นี้ จัดขึ้นบนพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นผืนนาผืนใหญ่ อยู่ริมถนนที่จะเข้าเมืองอุชเชน

ไม่รู้คิดได้อย่างไร

สถานที่ที่ใช้เป็นที่ประชุมที่จะจุคน 5,000 คนนั้น แม้สร้างชั่วคราว แต่ก็ต้องเป็นโครงเหล็กขนาดใหญ่ ทำเป็นห้องโถงใหญ่ 3 ห้อง ด้านบนขึงด้วยผ้าใบ ด้านในดาดด้วยผ้าขาว แถมมีระบายเพื่อความสวยงาม

ความร้อนภายนอก 45 องศา แต่ภายในเดินท่อแอร์ขนาดยักษ์ ติดแอร์เย็นฉ่ำ

พระสาธุที่อยู่บนเวที
พระสาธุที่อยู่บนเวที

ห้องโถง 3 ห้องนี้ เข้าไปห้องแรก เป็นประชาสัมพันธ์ลงทะเบียน มีนิทรรศการเรื่องราวของพระศิวะ และมหากุมภ์ อยู่ด้านขวา ทางด้านซ้ายเป็นการแสดงศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ตั้งแต่ ทอผ้า ปั้นดิน ทำลายพิมพ์ผ้า ฯลฯ

เดินเข้าไปในห้องโถงส่วนกลาง ตรงนี้สวยมาก เพราะรักษาต้นมะม่วงของจริงที่อยู่กับพื้นดินของชาวนาเดิมไว้ มีพระพุทธเจ้าองค์สีขาวนั่งอยู่ใต้ต้นมะม่วง มีไฟประดับ เราใช้จุดนี้เป็นจุดนัดหมาย เพราะผู้คนมากหน้าหลายตา หากจะนัดพบกันก็นัดพบกันที่จุดนี้

ด้านขวาเป็นห้องนิทรรศการเรื่องผู้หญิง เขาเน้นเรื่องการเพิ่มพลังสตรี มีเรื่องราวของสตรีในประวัติศาสตร์อินเดียที่เป็นผู้นำชุมชน ผู้นำทางความคิด จำนวนหลายสิบคน ตรงด้านหน้า เป็นรูปผู้หญิงทลายกำแพงออกมา ศิลปินที่ออกแบบใช้ได้ทีเดียว

ตรงทางเข้าโถงในสุด ต้องเดินผ่านการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เพื่อความปลอดภัย เป็นห้องประชุมขนาดยักษ์ มีเวทีถึง 3 เวที เฉพาะเวทีกลางเป็นพื้นที่สำหรับวิทยากร

ในขณะที่เวที 2 ข้างนั้น ในวันสุดท้าย คือวันที่ท่านนายกรัฐมนตรีมาร่วมงานปิดงานประชุม จึงเห็นว่าเขาเชิญบรรดาสาธุ คือพระผู้นำของศาสนาฮินดูในนิกายต่างๆ มาทั้ง 13 นิกาย หรือที่เขาเรียกว่า อขระ ขึ้นไปนั่งแสดงตัวบนเวที 2 ข้างนั้น

เนื่องจากห้องประชุมนั้นใหญ่มาก ผู้เข้าร่วมประชุมจะมองไม่เห็นคนที่นั่งอยู่บนเวที จึงมีจอขนาดยักษ์อีก 4 จอ มีกล้องวงจรปิดคอยถ่ายทอดพิธีบนเวทีขยายขึ้นจออีกทีหนึ่ง

บรรรยากาศผู้ฟัง
บรรรยากาศผู้ฟัง

แขกผู้มีเกียรติจะนั่งบนเก้าอี้ในล็อกกลาง ส่วนพระนั้น มีที่นั่งให้ด้านหน้า อยู่ทางขวามือของเวที เขียนว่า Sant ภาษาฮินดีหมายถึงพระ

ท่านธัมมนันทาก็ไปนั่งในโซนนี้ ก็เป็นพระผู้หญิงคนเดียวนั่นแหละ เป็นตัวแทนของพระทั้งศาสนาพุทธและฮินดู สักครู่เดียวก็มีพระหนุ่มๆ จากศรีลังกามานั่งด้วย จึงทราบว่าในวันปิดงาน ประธานาธิบดีของศรีลังกาจะมาร่วมงานด้วย

มุขมนตรีของรัฐมัธยประเทศนี้ โดยเฉพาะคนปัจจุบัน ดูจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับศรีลังกา อาจจะเป็นเพราะลักษณะภูมิภาค กล่าวคือ สาญจี ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ พระมหินท์เถระ ทรงนำพระพุทธศาสนาไปศรีลังกาโดยออกจากเมืองสาญจี

คราวก่อนที่มีงานวางศิลาฤกษ์มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่สาญจี ประธานาธิบดีของศรีลงักาก็มาเหมือนกัน จนนำไปสู่การเซ็นหนังสือตกลงเปิดเส้นทางการบินตรงจากสาญจีไปโคลัมโบ ดังที่ผู้เขียนเคยเล่าไปเมื่อ 2 ปีก่อนแล้ว

ในความพยายามของรัฐบาลที่จะเชิญนักวิชาการต่างประเทศมาร่วมงานในเวลาจำกัดนั้น ก็ทำได้ยาก เพราะในความเป็นจริงคณะทำงานของมัธยประเทศก็ไม่ได้มีความมักคุ้นกับนักวิชาการต่างประเทศ จึงต้องอาศัยดึงเอาอาจารย์ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีความคุ้นเคยในระดับนานาชาติ เช่นที่เดลลีมาช่วยในการคัดกรอง ออกจดหมายเชิญ ฯลฯ

เท่าที่เห็นหน้ากันในหมู่นักวิชาการต่างประเทศ ก็มีท่านซานสุแบร์ อาจารย์จากเขมร ท่านเกเชสามเท็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยของทิเบตจากสารนาถ อาจารย์ฝรั่งจากอเมริกา และยุโรปประมาณ 10 ท่าน

ทราบจากผู้จัดว่า รัฐบาลจองห้องพักในโรงแรมเมืองอินดอร์ไว้ 2,000 ห้องเพื่องานนี้ ถ้าเป็นแขกที่มาจากต่างรัฐแต่อยู่ในอินเดียเอง ก็จะอยู่ที่โรงแรมสายาจี โรงแรมที่ดีที่สุดมาตรฐานแขกในเมืองอินดอร์ ส่วนที่โรงแรมแรดิสันนั้น จองไว้เพียง 10 ท่าน

สำหรับแขกวีไอพี ท่านรัฐมนตรีจากภูฐาน อาจารย์ซานสุแบร์ จากเขมร ท่านอธิการมหาวิทยาลัยสาญจี และท่านธัมมนันทา อยู่ที่โรงแรมนี้ แต่ละท่าน รัฐบาลท้องถิ่นจัดคนดูแลให้ 1 คน และรถใช้ส่วนตัว 1 คัน เรียกว่า ให้การดูแลที่ดีเป็นพิเศษ

ระดับทูตที่เห็นมีท่านรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของภูฐาน ทางโรงแรมถามว่าท่านธัมมนันทามาในคณะทูตไทยหรือไม่ แสดงว่าท่านทูตไทยประจำอินเดียก็น่าจะได้รับเชิญ แต่ไม่เห็นในงาน

การจัดงานใหญ่เช่นนี้ ทุกงานในอินเดีย จะมีกลิ่นอายของการเมืองอยู่มาก ผู้มีเกียรติที่มาปราศรัยร่วมกับท่านมุขมนตรีนั้น สังเกตว่าจะจัดตัวแทนนักการเมืองทั้งสองฝ่าย คือทั้งพรรคคองเกรส และพรรคภารติยะชนตะ (พรรคประชาชน) สำหรับพระก็นิมนต์ทั้งพระในศาสนาพุทธและฮินดู พระภิกษุที่เป็นตัวแทนศาสนาพุทธเป็นชาวศรีลังกาที่ไปดำเนินงานเป็นท่านอธิการบดีของมหาวิทยาลัยสาญจีนั่นเอง

หลังจากเสร็จพิธีเปิด มีเจ้าหน้าที่มานิมนต์ท่านธัมมนันทาไปเก็บตัวไว้ในห้องรับรองด้านหลังเวที เพราะต้องเป็นคนบรรยายคนแรกในเวทีถัดไป เวทีช่วงเช้านี้ มีชาวต่างประเทศที่เป็นแขกที่ได้รับเชิญจากตะวันตกทั้งสิ้น ยกเว้นท่านธัมมนันทา

เนื่องจากพื้นที่เป็นพื้นที่ของชาวฮินดู ท่านธัมมนันทาจึงเลือกที่จะขึ้นต้นโดยการสวดนโม 3 จบ เป็นการแสดงความนอบน้อมต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นการเคลมพื้นที่ของความเป็นชาวพุทธ ก่อนที่ท่านจะบรรยาย ท่านขอบคุณการสืบสายการอุปสมบทของท่านที่มาจากศรีลังกา เป็นการให้เกียรติพระภิกษุชาวศรีลังกาที่มาร่วมในงาน

ท่านพูดให้กำลังใจสตรีชาวฮินดูในประเด็นศักติ ว่าเป็นสิ่งที่สตรีมีอยู่แล้ว เพียงแต่ถูกปิดกั้นทั้งพื้นที่การแสดงออก และถูกครอบงำโดยประเพณีที่ผู้ชายเป็นคนกำหนด

จบท้ายด้วยเรื่องขำขัน ที่มีผู้ชายคนหนึ่ง สมมุติว่าชื่อจอห์น เมื่อตายไปแล้วมีปัญหาค้างใจอยู่ 3 ข้อ เมื่อขึ้นไปบนสวรรค์ จึงขอโอกาสเข้าพบกับพระเจ้าเพื่อถามปัญหาคาใจ

จอห์น : โอ พระผู้เป็นเจ้า ข้าฯ ขอถามปัญหาสัก 3 ข้อที่ข้าฯ คิดไม่ตก

พระเจ้า : ว่ามาได้ เจ้ามีปัญหาอะไร

จอห์น : ทำไมพระองค์จึงสร้างผู้หญิงให้สวยเหลือเกิน

พระเจ้า : เพื่อให้เจ้าได้รักนาง

จอห์น ถามต่อว่า : พระผู้เป็นเจ้า ทำไมพระองค์จึงสร้างนางให้ขยันเหลือเกิน

พระเจ้า : อ้าว ก็เพื่อให้นางได้ช่วยงานเจ้าไงเล่า

จอห์น : คำถามสุดท้ายจริงๆ แต่ทำไมพระองค์จึงสร้างให้นางนั้นโง่นัก

พระเจ้า : เพื่อให้นางรักเจ้าไงล่ะ

ท่านธัมมนันทา เล่าทิ้งไว้แค่นี้ ให้คิดเอาเอง

ในตอนบ่าย และในวันต่อมา เวทีการนำเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการต่างๆ แยกย้ายไปตามห้อง อีก 4 หัวข้อ เป็นเรื่อง การเพิ่มพลังให้ผู้หญิง การทำการเกษตรที่จะไม่ทำลายคุณภาพดิน การรักษาศิลปวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ในแต่ละห้อง นักวิชาการจากต่างประเทศที่ได้รับเชิญมานั้น ดูจะไม่มีการประสานงานติดต่อกันล่วงหน้า คนที่ทำหน้าที่เป็นพิธีกร ก็ไม่รู้จัก ไม่มีข้อมูลแขกรับเชิญ ก็เลยแนะนำไม่ได้ แขกรับเชิญที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมา ได้พูดเพียงท่านละ 7 นาที

ดูว่า การจัดการยังไม่ค่อยบรรลุเป้าหมายนัก

วันปิดงาน ท่านนายกรัฐมนตรี นเรนทร โมดี มาร่วมบนเวทีเอง จะเห็นว่า ผู้ฟังคึกคักมาก ที่นั่ง 5,000 ที่นั่งนั้นเต็มหมด

เวทีสองข้างก็มีสาธุมากันมากพอสมควร บางคนถือคทา บางคนถือหม้อน้ำ บางคนถือไม้เท้า บางคนถือตรีศูล ลูกประคำเต็มคอ

บางคนก็ไว้ผมที่เรียกว่า matted hair ไม่หวีเลย ผมเป็นสังกะตังเกล้าทูนไว้บนศีรษะ

นายกรัฐมนตรีท่านนี้ อยู่พรรคภารติยะชนตะ (พรรคประชาชน) น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในยุคนี้ที่ได้ใจประชาชนมากๆ ผู้เขียนเองก็ประทับใจท่านเป็นพิเศษ

หลังจากที่กล่าวปราศรัยปิดงานแล้ว ท่านเดินไปทางฝั่งซ้าย เพื่อกล่าวคำอำลาบรรดาสาธุ แล้วก็เดินข้ามเวทีมาทางฝั่งขวาเพื่อมายกมือขึ้นทำความเคารพสาธุที่นั่งอยู่ฝั่งขวาด้วย ท่านบอกกับบรรดาพระในศาสนาฮินดูว่า อย่าสอนแต่เรื่องความหลุดพ้น คือ โมกษะ เท่านั้น ให้สอนเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และการดูแลผู้หญิงด้วย

โดนใจผู้เขียนเช่นกัน