เทศมองไทย : พิพิธภัณฑสถาน กับ การครอบครองวัตถุโบราณ

หากข้อมูลที่ “ฮาเวียร์ เพส” แห่ง “อาร์ตเน็ตนิวส์” เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของสำนักข่าวเพื่อแวดวงศิลปะและโบราณคดีแห่งนี้เมื่อ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมาไม่ผิดพลาด

ทางการไทยกำลังอยู่ระหว่างการปฏิบัติการตามภารกิจ “ทวงคืน” ทรัพย์สินของแผ่นดิน จากบรรดาพิพิธภัณฑสถานและหอศิลป์ตะวันตกครั้งใหญ่

หน่วย “เฉพาะกิจ” เพื่อการนี้ มีวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหัวเรือใหญ่

เป้าหมายคือการทวงคืนโบราณวัตถุทรงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และมีความหมายสูงยิ่งทางจิตใจของคนไทยมากกว่า 700 ชิ้นคืนมาจากตะวันตก

ที่ฮาเวียร์ เพส ให้รายละเอียดไว้ เป็นเรื่องของโบราณวัตถุชุดแรก รวม 23 ชิ้น ซึ่งพบว่าจัดแสดงอยู่ในสถานที่ 3 แห่ง ล้วนแล้วแต่ขึ้นชื่อลือชาเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงศิลปะและโบราณวัตถุนานาชาติ

หนึ่งคือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะมหานคร หรือเมโทรโพลิแทน มิวเซียม ออฟ อาร์ต ในนครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่คนอเมริกันเรียกกันสั้นๆ ว่า “เม็ต”

หนึ่งคือ นอร์ตัน ไซมอน มิวเซียม ในเมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

สุดท้ายคือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย หรือเอเชียน อาร์ต มิวเซียม ซึ่งตั้งอยู่ในนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

 

ยังมี “สถาบันต่างๆ ที่ยังไม่มีการระบุชื่ออีกหลายแห่งทั้งในสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ในสายตาของรัฐบาลไทย ที่เริ่มยกระดับความพยายามในการเรียกคืน ประติมากรรมและโบราณวัตถุอื่นๆ ซึ่งอ้างว่าถูกเคลื่อนย้ายออกจากวิหารและแหล่งโบราณคดีต่างๆ ของไทยอย่างผิดกฎหมาย” และไปลงเอยเป็นชิ้นงานในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ และ/หรือหอศิลป์ในต่างแดน

เรียกง่ายๆ ตามภาษาชาวบ้านว่า เป็นของเก่าแก่โบราณทั้งหลายที่ถูก “ปล้น” ถูก “ลักขโมย” เอาไปจากวัดวาอารามและโบราณสถานทั้งหลายในประเทศไทยนั่นแหละ

ตามข้อมูลของฮาเวียร์ เพส เป้าหมายลำดับแรกสุดในการเรียกคืนของทางการไทยก็คือ ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สี่กรประทับยืนเต็มองค์ “ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะมหานครจัดซื้อเข้ามาเมื่อปี 1967”

ประติมากรรมชิ้นนี้ มีความงดงาม สมบูรณ์พร้อมยิ่งกว่าประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรองค์ที่อยู่ในครอบครองของทางการไทยในเวลานี้มาก ถูกจัดแสดงไว้ในส่วนแกลเลอรี่แห่งศิลปะอุษาคเนย์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในปัจจุบัน

นอกเหนือจากประติมากรรมดังกล่าวแล้ว ยังมี “ทับหลัง” หินสลักอีกหลายชิ้นซึ่งเชื่อว่าเป็นของวัดหลายแห่งทางภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งในเวลานี้เป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ในนครซานฟรานซิสโก

“รวมทั้งงานชิ้นหนึ่งซึ่งเอฟเวอรี่ บรันเดจ นักอุตสาหการจากชิคาโก ซึ่งเดิมเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสหรัฐอเมริกาเคยได้ไว้ครอบครอง และเป็นคนที่บริจาคคอลเล็กชั่นที่สะสมไว้จำนวนมหาศาลให้กับนครซานฟรานซิสโกในช่วงระหว่างทศวรรษ 1950-1960 ภายใต้เงื่อนไขเดียวว่า ทางนครซานฟรานซิสโกต้องสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดเก็บและจัดแสดงงานเหล่านั้น”

 

อาร์ตเน็ตนิวส์ติดต่อขอความเห็นไปยังพิพิธภัณฑ์ทั้ง 3 แห่ง ได้คำตอบจากนอร์ตัน ไซมอน มิวเซียม มาเพียงแห่งเดียว โฆษกหญิงของที่นั่นอ้างว่า งานในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ “จัดซื้อมาอย่างเหมาะสมในทศวรรษ 1970 และ 1980 หรือไม่ก็ได้รับการบริจาคมา”

ตรงนี้แหละที่ผมติดใจนักหนา เพราะผมไม่เชื่อว่า นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะโบราณวัตถุ ขนาดดำรงตำแหน่งภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ระดับนี้ได้ ย่อมต้องรู้ซึ้งอยู่แก่ใจดีว่า งานอย่างองค์พระอวโลกิเตศวร หรือทับหลังเขาโล้นที่ไทยตามหาอยู่ในเวลานี้ ไม่มีวันที่จะถูกวัด หรือทางการ หรือผู้ที่มีความชอบธรรมใดๆ นำออกขาย “อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” ได้แน่นอน

ถึงจะซื้อหามาอย่างถูกต้อง รับบริจาคมาอย่างถูกต้อง ก็ต้องผิดกฎหมายอยู่วันยังค่ำ ภาษาแถวบ้านผมเขาเรียกลักษณะนี้กันว่า “รับของโจร” ครับ

 

ผมเห็นด้วยพันเปอร์เซ็นต์กับคำให้สัมภาษณ์ของจอยซ์ ไวต์ นักวิชาการด้านโบราณคดีที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารสถาบันโบราณคดีแห่งอุษาคเนย์ ในนครฟิลาเดลเฟีย ที่บอกกับอาร์ตเน็ตนิวส์ว่า ถึงเวลาแล้วที่พิพิธภัณฑ์ทั้งหลายทั่วโลกจะต้องช่วยกันทำให้ “พื้นที่สีเทา” ของการได้มาในครอบครองของโบราณวัตถุเหล่านี้ใสกระจ่างเสียที

แจงกันให้หมด เปิดเผยให้กระจะๆ เสียทีว่าใครคือคนที่นำมาขายให้ ใครคือคนที่เอามาบริจาคให้ และคนเหล่านั้นได้มาอย่างไร

ร้อยทั้งร้อย ผมเชื่อว่าสืบลึกลงไปในทุกๆ ชิ้นเมื่อใด ก็จะลงเอยด้วยการเผยโฉม “ไอ้ตัวร้าย” ออกมาให้เห็นกันเมื่อนั้น

ถึงเวลาที่พฤติกรรมลัก ปล้น ยักยอกทรัพย์สมบัติของชาติอื่นต้องยุติลง และต้องขจัด “ไอ้ตัวร้าย” ที่ทำลายวงการโบราณคดีและโบราณวัตถุทั้งหลายออกไปให้หมด

ก็อย่างที่คุณไวต์เธอว่าไว้นั่นแหละครับ นี่มันศตวรรษที่ 21 แล้ว เลิกภาคภูมิใจกับการได้อวดโอ่ “ของโจร” กันได้แล้วครับ