เพราะทุกวันคือรันเวย์! วิเคราะห์ “บิ๊กตู่” ปรับลุค คุมอารมณ์ #ตู่สู้เลือกตั้ง

หลายเดือนที่ผ่านมา นับจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ยกเครื่องงานพีอาร์ใหม่

โดยได้มือดีอย่าง “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่เป็นโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเพจไทยนิยมยั่งยืนด้วยการใช้ดารา-นักแสดงมาพบ “บิ๊กตู่” ที่ทำเนียบฯ ก่อนประชุม ครม. โกยเรตติ้ง เรียกยอดไลก์-ติดตามเพจพุ่ง

เช่น ทีมออเจ้า นักแสดงละครบุพเพสันนิวาส เกิร์ลกรุ๊ป BNK48 และ AKB48 จากญี่ปุ่น เป็นต้น

ซึ่งเพจสายตรงไทยนิยมนี้เองที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้นำร่องสื่อสารกับประชาชนผ่านโซเชียล

ตามมาด้วยการดึง “รองบี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ตั้งเป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง ซึ่งในเวลานั้นมองกันเรื่อง “พลังดูด” โดย “รองบี” เป็นอดีตแกนนำ กปปส. และอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ เพื่อมาร่วมพรรครัฐบาลหรือพรรคที่สนับสนุนรัฐบาล ซึ่งก็เป็นไปตามคาด คือ มาเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐนั่นเอง

แต่ก็สร้างความเซอร์ไพรส์อีกครั้ง หลัง “บิ๊กตู่” ได้ตั้ง “รองบี” ขึ้นเป็นโฆษกรัฐบาล แทน “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่คาดกันว่าจะไปทำงานกรมประชาสัมพันธ์เต็มตัว หลังนั่งตำแหน่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์มานาน โดยอาจโอนย้ายจากข้าราชการทหารมาเป็นข้าราชการพลเรือนแทน

ซึ่งการปรับย้ายครั้งนี้ว่ากันว่า ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป จึงทำให้ต้องมีการเปลี่ยนโฆษกรัฐบาลที่จะต้องมากรำศึกการเมือง ที่จะเข้ามายังรัฐบาลและนายกฯ ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปลดล็อกพรรคการเมืองช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ โดยไม่ได้เกี่ยวกับการบกพร่องในการทำงาน

และเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันไว้

ที่ผ่านมาการลงพื้นที่ “ครม.สัญจร” ของ พล.อ.ประยุทธ์มีสีสันมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงที่ผ่านมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ถูกสร้างแบรนด์ให้ตัวเองมากขึ้นโดยเฉพาะการเจาะฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” หลังประกาศว่า “ผมสนใจงานการเมือง”

และตามมาด้วยการเปิดช่องทางโซเชียลผ่านแอ็กเคาต์ของตัวเอง ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม โดยมีทีมงานของ “รองบี” ดูแลเพจ 3 ช่องทาง เช่น โพสต์ในสิ่งที่นายกฯ ต้องการจะสื่อสาร ซึ่งภาพถ่ายหลายภาพมาจากการถ่ายของนายกฯ เอง

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ฝึกถ่ายเซลฟี่เพื่อนำภาพมาโพสต์ พร้อมข้อความสั้นๆ ง่ายๆ ทักทายแบบไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่องไม่มากและไม่น้อยเกินไปต่อวัน

โดยภาพถ่ายเน้นความเป็นธรรมชาติและง่ายๆ มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ก็มีการถามว่าทำไมยังต้องพิมพ์ใส่กระดาษให้นายกฯ อ่านข้อความ

ซึ่ง “รองบี” ระบุว่าที่ต้องพิมพ์ใส่กระดาษเพราะข้อความมีจำนวนมากที่มาคอมเมนต์ โดยได้จัดทำเป็นตาราง ได้แก่ ชื่อคนหรือชื่อเฟซ รูปภาพ ข้อความ ซึ่งต้องตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ ก่อนส่งให้นายกฯ เพื่อสั่งการไปช่วยเหลือและแก้ไข

อีกทั้งต้องแยกเป็นประเด็นๆ ด้วย เช่น ความเดือดร้อน ปากท้อง สังคม LGBT เป็นต้น

ถ้าถามว่า นายกฯ ถือแอ็กเคาต์เองหรือไม่นั้น ได้รับการยืนยันว่าถือแอ็กเคาต์เองด้วย ซึ่งสอดรับกับที่นายกฯ เปิดเผยว่าเคยเปิดอินสตาแกรมแล้วมีให้เลือกไลฟ์สด ซึ่งเกือบกดโดนปุ่มนั้น เพราะตอนนั้นแต่งตัวไม่เรียบร้อย

ซึ่งทีมงานนายกฯ ระบุว่ามีแนวคิดให้นายกฯ ไลฟ์สดด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา หลังนายกฯ ประกาศสนใจงานการเมือง ก็มีอารมณ์ที่นิ่งและเย็นลง เห็นได้จากการตอบคำถามสื่อ ที่หลายคำถามหากถามก่อนหน้านี้จะต้องมีหงุดหงิดขึ้นมาแน่นอน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคงยืนยันว่าความอดทนของตนก็มีลิมิตเช่นกัน และขอเลือกใช้ความดีเข้าสู้ มากกว่าจะหน้าด้านหน้าทนแบบนักการเมือง

“แต่ก่อนผมก็หงุดหงิดเรื่องนี้เรื่องโน้น ผมเป็นทหาร ด่าผมมากๆ ผมก็โมโห ทหารมันด่ากันไม่ได้ แต่ผมก็ต้องปรับตัว เพราะเขาบอกว่าเป็นนักการเมืองต้องทน ต้องหน้าด้านกว่าเดิม จะทำได้หรือเปล่ายังไม่รู้เลย ไม่จำเป็นต้องหน้าด้านหน้าทน แต่ผมเอาความดีเข้ามาสู้ อย่าไปเขียนว่าผมว่านักการเมือง ไม่เกี่ยวนะ” นายกฯ กล่าวเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2561

แต่เรื่องอารมณ์เย็น เป็นสิ่งที่นายกฯ รู้ตัวมาตั้งแต่เป็นนายกฯ ใหม่ๆ แล้ว แม้แต่บุคคลในครอบครัวก็ทราบดี เพราะลูกสาวฝาแฝด “พลอย” ธัญญา จันทร์โอชา และ “เพลิน” นิฏฐา จันทร์โอชา เคยมอบกำไลหินสีให้คุณพ่อเพื่อให้อารมณ์เย็นลงตามความเชื่อ แต่สุดท้ายใส่ได้ไม่กี่วันก็ต้องนำไปคืนลูกสาว

“นี่พอใส่ปุ๊บ ก็อารมณ์เสีย โมโหแต่เช้าเลย บอกแล้ว อะไรก็เอาผมไม่อยู่” นายกฯ กล่าวเมื่อมกราคม 2558

สิ่งที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนไปทางการเมืองเรื่องอารมณ์ หนึ่งในนั้นคือประสบการณ์ทำงานที่กรำศึกการเมืองมานาน 4 ปี หากรวมช่วงเป็น ผบ.ทบ. 4 ปีด้วยนั้น เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ท่ามกลางกระแสการเมืองมากว่า 8 ปี เพราะสมัยเป็น ผบ.ทบ. ก็เป็นช่วงรอยต่อหลังเหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดงสมัยปี 2553 การออกมาของกลุ่ม กปปส. ช่วงปี 2557 เรื่อยมาถึงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

รวมถึงสถานการณ์ที่ คสช.สิ้นสุด แต่ “บิ๊กตู่” ยังมีท่าที “ไม่ลงหลังเสือ” แม้จะยังไม่ระบุอนาคตการเมืองไปมากกว่านี้ในเวลานี้ก็ตาม แต่ก็มี 4 รัฐมนตรีไปทำพรรคพลังประชารัฐเรียบร้อยแล้ว จึงเชื่อกันว่าในเวลานี้ “บิ๊กตู่” ยกภูเขาออกจากอกไปแล้วหลายลูก แต่อย่าลืม “บิ๊กตู่” ย้ำแล้วว่ามี “ลิมิตความอดทน” อยู่

อีกสิ่งสำคัญหลัง “บิ๊กตู่” เล่นโซเชียลคือ การสร้างเอกลักษณ์ให้ตนเอง เช่น #ตู่ดิจิทัล พร้อมกับการไปเป็นเกมเมอร์ 1 วันด้วย เล่นเกมมาริโอ้กับเยาวชน รวมทั้งการชื่นชมสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ และได้ฟังเพลงแร็พ Thailand 4.0 ด้วย ที่มาพร้อมเพลงประเทศกูมีของกลุ่ม RAD ที่เปิดโปงสิ่งต่างๆ ในสังคมจนเกิดวาทะ “คลั่งชาติ-ชังชาติ” ขึ้นมา

พร้อมกับจีบสื่อด้วยการมาถ่ายภาพสื่อไปลงโซเชียลเองด้วย ตามมาด้วย #ตู่Healthy หลังเลิกงานจากทำเนียบฯ แล้วไปฝึกซ้อมปั่นจักรยานที่สนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมโพสต์ลงไอจีเชิญชวนประชาชน ต้องติดตามว่าจะมีมุขของ “บิ๊กตู่” ออกมาอีกหรือไม่

ซึ่งการปรับลุคเหล่านี้ เป็นภาพสะท้อนการเข้าสู่ “สนามการเมือง” มากขึ้น และเจาะฐานคนรุ่นใหม่

แต่สิ่งหนึ่งที่ “บิ๊กตู่” ได้เปรียบ “คู่ต่อสู้” ทางการเมืองไม่น้อยคือ “ใจนักเลง” ไม่ใช่ไปขู่เข็ญใคร

แต่เป็นลักษณะ “คนใจใหญ่” เป็นบุคลิกผู้นำที่คนไทยชื่นชอบ ผ่านท่าทางที่เป็นกันเองและการพูดจาตรงไปตรงมา

แต่ “บิ๊กตู่” เคยมีหลุดอารมณ์หงุดหงิดและคำสบถจึงทำให้กลายเป็นผลลบไป

ซึ่งจุดนี้เองเห็นได้ชัดผ่านการลงพื้นที่ ครม.สัญจรของนายกฯ ไปแล้ว

เพราะทุกวันคือรันเวย์ #ตู่สู้เลือกตั้ง