คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : พิธีไหว้ครูดนตรีและโขนละคร : ความเข้าใจเบื้องต้น

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมต้องเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ปีละครั้ง เพื่อไปไหว้ครูดนตรีของชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะศิษย์เก่าและพี่ชมรม

นอกจากจะไปร่วมพิธีแล้ว ที่สำคัญคือจะเป็นโอกาสได้เจอกับครูของผม คือ ท่านอาจารย์นัฐพงศ์ โสวัตร หรือครูเฉียบ ครูอาวุโสทางฝ่ายดนตรี จะได้ไถ่ถามศึกษาหาความรู้กับท่านและได้สังเกตพิธีอย่างใกล้ชิดกว่าที่อื่นๆ

ผม “ครอบ” หน้าพาทย์สาธุการกับครูเฉียบในปี 2543 จากนั้นก็ต่อสาธุการกับเพลงชุดโหมโรงเย็นขณะที่อยู่ในชมรม พอจบโหมโรงเย็นก็ไม่ได้ครอบ “ตระโหมโรง” ต่อ เป็นมือสมัครเล่นไม่เป็นโล้เป็นพายอะไร ตีทับตีโทนไปตามเรื่อง หลังๆ ก็มีพี่ชมรมต่อซออู้ให้ก็ยังเป็นมือสมัครเล่นขั้นสุด

ที่พอยังติดตัวมาคือ ฟังดนตรีไทยเป็น ซาบซึ้งกับดนตรีได้ และได้เห็นธรรมเนียมพิธีเก่าแก่มากๆ ที่ยังรักษาไว้ดี

 

ผมคิดว่า ไหว้ครูดนตรีและโขนละครนี่แหละ คือตัวอย่างพิธีกรรมของไทยที่ผสมผสาน “ผี พราหมณ์ พุทธ” อย่างแยบยลและเห็นพัฒนาการมากที่สุดอันหนึ่ง

ไว้จะจาระไนยาวๆ ในคราวต่อๆ ไป

พิธีไหว้ครูของดนตรีไทยและโขนละครนั้นแยกออกจากกันเป็นสองส่วน คนละตำรากัน เพราะเป็นคนละพวก แม้ว่าเทพยเจ้าหรือครูจะตรงกันเป็นส่วนมาก

ทางโขนละครนั้นครูท่านว่า “ไสยศาสตร์กว่า” คือ มีรูปแบบและขั้นตอนซับซ้อนกว่ามาก

ในเวลาไหว้ครู ทางดนตรีนั้น ครูผู้ประกอบพิธียังคงมีสถานะเป็น “ครู” อยู่ เช่นครูเฉียบก็ยังเป็นครูเฉียบ เพียงแต่เป็นตัวแทนหรือสื่อกลางระหว่างโลกศักดิ์สิทธิ์กับโลกสาธารณ์ คือกลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ชั่วคราว ผ่านกระบวนการพิธี เช่น การแต่งกาย มนต์คาถา การสวมมงคลและแหวนนพรัตน์

ส่วนทางโขนละคร จะยกระดับไปอีกขั้นคือกลายเป็นองค์เทพยเจ้าหรือครูในแท่นพิธีนั้นเอง คือขณะอยู่ในพิธี ครูผู้ประกอบพิธีจะกลายเป็น “พระครูฤษี” มีบทพูดและเจรจากับศิษย์ เช่น เมื่อสวมหน้าโขนและใกล้จะสิ้นสุดพิธี ครูจะมีบทพูดว่า “บัดนี้พิธีไหว้ครูได้เสร็จสิ้นแล้ว อาตมภาพขอลาไปก่อน…”

โปรดสังเกตว่า ท่านแทนตัวเองว่า “อาตมภาพ” ซึ่งหมายถึงพระฤษี หรืออธิบายกันว่าเป็นพระภรตมุนี ครูผู้รจนานาฏยศาสตร์

 

พิธีไหว้ครูทางนาฏศิลป์และดนตรียังแบ่งออกเป็นอีกสองแบบ คือแบบ “หลวง” ซึ่งหมายถึงสืบทอดตำราไหว้ครูและแบบแผนทางราชสำนัก ปัจจุบันคือแบบที่ปฏิบัติในหน่วยราชการ เช่น วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร ฯลฯ

กับแบบ “เชลยศักดิ์” หรือแบบชาวบ้าน ที่กระทำตามชุมชนทางดนตรีและโขนละคร

แต่ไม่ว่าจะแบบไหนมักมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ที่สำคัญต่างมีระบบระเบียบหลายอย่างตรงกัน เช่น ครูผู้ที่จะประกอบพิธีได้นั้นจะต้องผ่านการ “รับมอบ” ให้มาเป็นผู้ประกอบพิธีจากครูในรุ่นก่อน สืบลงมาไม่ขาดสาย

คนอื่นนอกนั้นจะเก่งกาจในทางดนตรีและรำแค่ไหนก็มิอาจเป็นผู้ประกอบพิธีได้

ว่ากันว่าให้คนที่ไม่ได้รับมอบมาทำพิธี จะทำให้เป็น “จัญไร” ทั้งตัวคนทำและศิษย์

ความ “สันตติ” หรือการสืบทอดไม่ขาดสายนี้ เป็นลักษณะสำคัญทั้งศาสนาผี (สืบผี) พุทธและพราหมณ์ ซึ่งถือว่าความศักดิ์สิทธิ์นั้นอาจสืบลงมาเป็นชั้นๆ ได้ เนื่องมาแต่บรรพบุรุษหรือเทพเจ้าต้นกำเนิดของวิชาชีพนั้น

เพราะถือว่าวิชาชีพ โดยเฉพาะทางศิลปะ ไม่ใช่ของมนุษย์ แต่เป็นของสูง เป็นของทิพย์

 

เนื่องจากแบบแผนการไหว้ครูของโขนละครและนาฏศิลป์สง่างามและเป็นที่รู้จักกันดี จึงถูกหยิบยืมรูปแบบไปใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำหนักทรงต่างๆ และในวงการไสยศาสตร์เครื่องรางของขลัง

ทำให้เกิดอะไร “แปลกๆ” ขึ้นมาในทางพิธีกรรมมากมาย และการปั้นแต่งหัวโขนสารพัดแบบสารพัดเทพขึ้นมา ที่จริงจะทำอะไรก็เรื่องของเขา แต่เราก็ควรทราบว่าคติความเชื่อเรื่องนี้มีที่มาอย่างไร และมีขนบอย่างไรที่ชุมชนทางนาฏดุริยศิลป์เขายึดถือ

เชื่อไหมครับ ปัจจุบันมีหัวโขนเจ้าแม่กาลีกันแล้ว แม้หัวโขนพระพุทธเจ้าผมยังเคยเห็นมีคนทำ

ที่จริงพิธีไหว้ครูไม่ได้มีเพียงวิชานาฏศิลป์และดนตรีเท่านั้น งานช่างและ “วิชาชีพ” ต่างๆ ล้วนแต่มีการไหว้ครู เช่น งานช่าง วาดแกะศิลปะไทย ทำบายศรีเครื่องสด ทำเครื่องราง ราชเลขยันต์ต่างๆ ทำยารักษาโรคไปยั้นอาชีพสัปเหร่อ

และต่างก็มีระเบียบพิธี “ไหว้ครู” และ “ครอบ” ของตัว ไม่เหมือนกัน

เพราะ “ครู” มิได้หมายถึงคนสอนสั่งและเทพเจ้าจากอินเดีย มีความหมายถึง “ผี” บรรพชนที่สอนสั่งสืบทอดวิชาชีพลงมาให้

ไปดูแท่นพิธีไหว้ครูก็ได้ครับ นอกจากเทพเจ้า บรรดาครูที่เสียชีวิตไปแล้วต่างขึ้นไปอยู่บนแท่นนั้นทั้งสิ้น (คือมีรูปไปวาง) รวมทั้งเครื่องมือในการทำอาชีพ เช่น เครื่องดนตรี ไปสถิตรวมกันเป็น “ครู” ทั้งหมด

ในคำไหว้ครูศิลปะพื้นบ้านล้านนา เช่น ฟ้อนและซอ ท่านจึงออกคำเรียกครูว่า “ครูเก๊าครูป๋ายครูต๋ายครูยัง” คือครูที่เป็นต้นเค้าครูที่ตายเรื่อยมาจนที่ยังมีชีวิตอยู่

ที่น่าสนใจคือการไหว้ครูทางพื้นบ้านนั้น ยังไม่ค่อยมีเทพเจ้าทางอินเดียปะปนมาก ที่จำได้คือมีการกล่าวถึงพระอินทร์บ้างนิดหน่อย

 

พิธีไหว้ครูมักทำเป็นประจำปี แต่พิธี “ครอบ” ซึ่งเป็นพิธีคู่กันกับไหว้ครูนั้นแต่ละคนทำเพียงครั้งเดียวในชีวิตก็พอ เช่น เมื่อไปครอบดนตรีในเพลงหน้าพาทย์สาธุการ ครูครอบให้แล้วก็ได้รับอนุญาตให้เรียนเพลงในลำดับที่ครอบ ครั้นจะเรียนในขั้นสูงขึ้นไปจึงค่อยครอบในลำดับถัดไปต่อ ไม่ครอบซ้ำไปซ้ำมาในลำดับเดิม

บางวิชาครอบครั้งเดียว เช่น วาดจิตรกรรมไทย ครูจับมือครอบก็สำเร็จได้รับสิทธิ์เรียนไปตลอดชีวิต

การครอบจึงมิได้หมายถึงเอาอะไรมาครอบๆ บนศีรษะอย่างเดียว แต่หมายถึงครูได้ทำการ “ประสิทธิ์ประสาท” ตามวิชาชีพนั้นๆ เช่น จับมือตีเพลง จับมือให้วาดเขียนรูป ส่วนสัปเหร่ออาจให้จับมีดหมอ “เฉือน” เป็นต้น

ทางนาฏศิลป์เขาวางระเบียบให้ครอบโดยใช้หน้าโขนครอบลงบนศีรษะ เป็นการประสิทธิ์ประสาท

ผมเห็นเวลาครูเฉียบท่านครอบ ท่านจะบอกผู้ที่ได้รับครอบเสมอว่า ให้หาครูและเรียนซะ อย่าครอบทิ้งไว้เฉยๆ

ส่วนใครจะครอบในลำดับสูงๆ เช่นหน้าพาทย์ชั้นสูง ต้องมีการสอบทาน เช่น เรียนกับใคร ลำดับไหน มีใครรับรองได้หรือไม่

แต่ด้วยอิทธิพลของวงการบันเทิง ดาราภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์แม้จะไม่ได้เล่นโขนละคร แต่ก็นับตนเองเป็นวิชาชีพเดียวกัน ที่จริงขนบละครแบบไทยก็ดูจะมีอะไรคลี่คลายมาจากละครแบบเก่ามากจึงนิยมไหว้ครูแบบเดียวกับโขนละคร

คือรูปแบบการแสดงเป็นอย่างแบบใหม่ แต่ค่านิยมที่ปรากฏในละครคล้ายการแสดงอย่างเก่า และมีความเชื่อเรื่องเทพเรื่องผีครูอย่างเดิม

ดาราจึงมักร่วมพิธีครอบ แต่ครอบแล้วครอบเล่า ครอบซ้ำไปมาทุกปี คนอื่นๆ ก็เอาอย่าง ก็พากันครอบไปมาโดยเข้าใจแค่ว่า “เป็นสิริมงคล”

ความหมายของพิธี “ครอบ” ในการรับรู้ของคนในสังคมจึงเลือนไป สุดท้ายก็คิดแค่ว่าต้องหาหัวโขนหรืออะไรสักอย่างมาครอบศีรษะเท่านั้น ครอบแล้วก็แล้วกันไปไม่ได้เรียนอะไรต่อ

เลือนๆ ไปทั้งรูปแบบและความหมาย