คนมองหนัง l “นาคี 2” : ระหว่าง “ความเป็นมนุษย์” กับ “เทพปกรณัม”

คนมองหนัง

“นาคี 2” : ระหว่าง “ความเป็นมนุษย์” กับ “เทพปกรณัม”

ถึงปัจจุบัน ภาพยนตร์ไทยซึ่งต่อยอดมาจากละครโทรทัศน์ยอดฮิตอย่าง “นาคี 2” สามารถโกยรายได้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปแล้วประมาณ 160 ล้านบาท

ขณะที่ค่ายต้นสังกัดประเมินว่ารายได้ทั้งประเทศของหนังไทยเรื่องนี้ น่าจะเกิน 400 ล้านบาท

ผลงานภาพยนตร์ชิ้นล่าสุดของ “พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง” จึงจ่อจะครองตำแหน่งเป็นหนังไทยทำเงินสูงสุดประจำปี 2561 โดยแทบปราศจากคู่แข่ง

ในมุมมองส่วนตัว จุดแข็งมากๆ ของหนังเรื่องนี้ คือ คุณภาพงานคอมพิวเตอร์ กราฟิก (ซีจี) ที่เหนือกว่ามาตรฐานของภาพยนตร์ไทยทั่วไป

แต่อีกมุมหนึ่ง ก็ไม่น่าแปลกใจ หากพิจารณาว่าตากล้องของ “นาคี 2” คือ “สยมภู มุกดีพร้อม” ที่ไปสร้างชื่อในประชาคมหนังนานาชาติมาแล้ว

ขณะที่ผู้ดูแลงานโพสต์โปรดักชั่น ก็เป็น “ไวท์ ไลท์ โพสต์” ซึ่งค่อยๆ ก้าวเคลื่อนจากการทำงานเบื้องหลังให้แก่หนังอินดี้ไทย ไปสู่หนังอาเซียน-หนังเอเชีย และหนังฮอลลีวู้ด ได้อย่างน่าชื่นชม

ในเชิงเนื้อหา อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า “นาคี 2” กำลังนำเสนอภาวะปะทะสังสรรค์-คู่ขนานกัน ระหว่าง “เทพปกรณัม” กับ “ความเป็นมนุษย์”

กล่าวคือ ด้านหนึ่ง หนังได้ยกระดับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เดินดินในชุมชนชนบทแห่งหนึ่ง ให้กลายเป็นความขัดแย้งที่สามารถสืบสาวรากเหง้ากลับไปยัง “เทพปกรณัม” อันยิ่งใหญ่

แต่อีกด้าน ตัวละครนำของหนังก็ปฏิบัติกับรูปปั้น “เจ้าแม่นาคี” ซึ่งเป็นตัวละครในเรื่องเล่าแนวปรัมปรา ประหนึ่งมนุษย์ผู้มีชีวิต จิตใจ และความรัก

ขอเริ่มจากประเด็นการคืน “ความเป็นมนุษย์” ให้แก่ “เจ้าแม่นาคี” กันก่อน

น่าสังเกตว่าเกือบตลอดทั้งเรื่อง “เจ้าแม่นาคี” นั้นปรากฏบทบาทในฐานะรูปปั้น ที่ปราศจากความเคลื่อนไหว การกระทำ ชีวิต และจิตใจ

ในแง่หนังละคร “เจ้าแม่นาคี” ย่อมมีชีวิตไม่ได้เพราะต้องบำเพ็ญเพียรชำระล้างความผิดบาปที่ตกค้างมาจากละครทีวีภาคแรก

ในตรรกะแบบโลกมนุษย์ “เจ้าแม่นาคี” มิอาจมีชีวิต เพราะนางเป็นตัวละครในเรื่องเล่าพื้นบ้านกึ่งเทพปกรณัม และเพราะนางเป็นสัญลักษณ์/ภาพแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ซึ่งต้องตั้งมั่นแน่นิ่งเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวความศรัทธาของผู้คน

อย่างไรก็ดี สำหรับ “มนุษย์” บางราย เขา/เธอกลับหมั่นเพียรขอพรให้เจ้าแม่/รูปปั้นหินสมหวังในความรัก นี่คือความปรารถนาที่จะคืนสถานภาพ “ความเป็นมนุษย์” ให้แก่รูปเคารพ/ตัวละครใน “เทพปกรณัม”

และหนังก็ค่อยๆ สานต่อให้ความปรารถนาดังกล่าวประสบสัมฤทธิผล

ดังจะเห็นได้ว่า “เจ้าแม่นาคี” เริ่มมีชีวิต มีอารมณ์ความรู้สึก (โกรธแค้น-โศกเศร้า-สูญเสีย) ในช่วงปลายภาพยนตร์

และเจ้าแม่น่าจะกลายเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญผู้สามารถมีความรักกับมนุษย์อีกคน โดยไม่ข้องแวะเกี่ยวพันกับปัญหาความขัดแย้ง (ของชุมชน) ใดๆ ได้ในท้ายที่สุด ณ อีกชาติภพ

แต่องค์ประกอบที่ทั้งแปลก ไม่รู้ว่าแย่หรือดี? ทว่าน่าสนใจมากๆ ของ “นาคี 2” ก็คือ การยกระดับความขัดแย้งภายในหมู่บ้านอีสานแห่งหนึ่ง (เปรียบเสมือนภาพแทนของสังคมไทย?) ให้หลุดพ้นไปจากเรื่องราวรักโลภโกรธหลงของมนุษย์

หากกลายเป็นปัญหาระดับรากเหง้าพื้นฐาน/ปัญหาสูงส่งเกินความสามารถ-ความเข้าใจของคนปกติ ที่สืบย้อนไปได้ถึง “เทพนิยายปรัมปรา”

เหตุการณ์ฆาตกรรมต่อเนื่องในชุมชนที่ควรเป็นปัญหาซึ่งแก้ไขได้โดยศักยภาพของมนุษย์ จึงมิใช่ “ฆาตกรรมธรรมดา”

เพราะเมื่อมองผ่านสายตาของหนังเรื่องนี้ บรรดาชาวบ้านที่งมงายไร้เหตุผล บรรดาชาวบ้านที่เชื่อในกฎหมู่ยิ่งกว่ากฎหมาย บรรดาชาวบ้านที่มีแนวโน้มจะก่อความรุนแรงด้วยการเผาผลาญผู้บริสุทธิ์ นั้นไม่คู่ควรที่จะเข้าไปคลี่คลายคดีฆาตกรรมตามท้องเรื่อง

แต่เรา (คนทำหนัง-คนดู) จะสามารถทำความเข้าใจและคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าวได้ ด้วยการอ้างอิงสภาพปัญหาทั้งหมดทั้งมวลเข้ากับมหาสงครามระหว่าง “ครุฑ” กับ “นาค” ใน “เทพปกรณัม”

การสู้รบระหว่าง “นาคดี” (สีเงิน) และ “นาค/วิญญาณร้าย” (สีแดง) ผู้เกรี้ยวกราดเปี่ยมฤทธาจนน่าหวาดหวั่น (ดูเหมือนหนังจะบอกเป็นนัยว่าพวกชาวบ้านนั้นรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของ “นาค/ผีร้าย” ตนหลัง แต่แสร้งทำเป็นเพิกเฉยเสียด้วยซ้ำ) ทำให้ผู้ชมตระหนักว่าความบาดหมางความรุนแรงทั้งหมดใน “นาคี 2” ช่างยิ่งใหญ่ไพศาลเกินกำลัง-การรับรู้ของมนุษย์ตัวเล็กๆ

ขณะที่การปรากฏตัวของ “ครุฑสีทองอร่าม” ซึ่งเป็นร่างจำแลงของเจ้าหน้าที่ตำรวจหนุ่มจากส่วนกลาง กลับสำแดงให้เห็นว่าปัญหาเดียวกันสามารถถูกแก้ไข/ตัดตอน/หาทางลงได้อย่างง่ายดายเพียงใด ด้วยอำนาจแห่ง “เทพปกรณัม”

ภาวะปะทะสังสรรค์-คู่ขนานใน “นาคี 2” คือ ภาพแทนของโลกสองใบ

โลกใบแรก เป็นโลกแห่งความรักที่ดำรงอยู่ได้ด้วยความสัมพันธ์เรียบง่ายระหว่างมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล มนุษย์ผู้ต้องปลดเปลื้องตนเองออกจากสถานภาพอันศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง

โลกใบหลัง เป็นโลกแห่งความขัดแย้งในระดับมหภาค ที่จักคลี่คลายหรือยุติปัญหาหลักลงได้ด้วยพลังของ “เทพปกรณัม”

เพราะต้องการตอกย้ำให้ผู้ชมตระหนักถึงความสำคัญหรือการคงอยู่ของโลกใบหลัง “นาคี 2” จึงทำตัวเป็น “หนังจักรๆ วงศ์ๆ” ที่อนุรักษ์จารีตการเล่าเรื่องแบบ “จักรๆ วงศ์ๆ” เสียยิ่งกว่า “ละครจักรๆ วงศ์ๆ” ช่อง 7 ยุคใหม่

เผลอๆ นี่อาจเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกสุดในรอบ 2-3 ทศวรรษ ที่ตั้งใจ จงใจ มั่นใจ และภูมิใจจะเลือกเดินบนเส้นทางสายดังกล่าว

จนบางคนนิยามให้หนังเรื่องนี้เป็น “ภาพยนตร์จักรๆ วงศ์ๆ ไทย ยุคหลัง-สมโพธิ แสงเดือนฉาย”

นี่ไม่ใช่การเดินย้อนกลับหลังแบบมั่วๆ หรือการมีพฤติกรรมย้อนยุคแบบเชยๆ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

หากคนทำหนังเรื่องนี้น่าจะขบคิดเลือกสรรมาเป็นอย่างดีแล้ว ว่าพวกเขาต้องการจะมุ่งมั่นเผชิญหน้ากับชุดปัญหา (ทางสังคมการเมือง) ในปัจจุบัน ด้วยเครื่องมือที่หลายคนมักประเมินว่า “ล้าสมัย”

แต่สำหรับพวกเขาแล้วนี่คือเครื่องมือหรือโลกทัศน์อันทรงพลานุภาพสูงสุด