ตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ของนางนพมาศ ไม่ใช่ตำแหน่งของราชสำนักสุโขทัย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

หลักฐานการลอยกระทงที่เก่าแก่ที่สุดในอุษาคเนย์ มีอยู่ในภาพสลักที่ระเบียงคตชั้นนอก ของปราสาทบายน ศูนย์กลางของเมืองพระนครหลวง หรือที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อ “นครธม” ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อราว พ.ศ.1750

ภาพสลักที่ว่าก็คือรูปหมู่นางใน ภายในราชสำนักกัมพูชาโบราณ พากันถือกระทงไปลงในลำน้ำอย่างในรูปที่ผมนำมาประกอบนั่นแหละนะครับ

ดังนั้น “กระทง” ของนางใน (ที่ทรงเครื่องไม่ต่างไปจากนางอัปสรในภาพสลัก) ของราชสำนักกัมพูชา ก็มีรูปร่างหน้าตาไม่ได้ต่างไปจากกระทงที่คนไทยเราใช้ลอยกัน ในเทศกาลเพิ่มมลภาวะให้ลำน้ำ ในนามเทศกาลการขอขมาแม่น้ำคงคาเลยสักนิด

ปัจจุบัน “ลอยกระทง” เขมรเรียก “ลอยประเทียบ” (คือ ลอยประทีป) โดยจะจัดงานเทศกาลติดต่อกันนานสามวัน และไม่ได้เป็นเพียงการนำกระทงลงไปลอยเพื่อขอขมาแม่น้ำลำคลองเหมือนอย่างที่ไทยเราอธิบายเท่านั้น

เพราะยังมีการบูชาพระจันทร์ที่เรียกว่า “สมเปรี๊ยะพระแข” (sampeas pra khe, ขอให้สังเกตด้วยว่าพระจันทร์เกี่ยวข้องกับน้ำ) การตำ “ออก อำบก” (ork ambok) คือข้าวเม่า และที่สำคัญคือมี การแข่งเรือ อีกต่างหาก

เรียกได้ว่า ทางกัมพูชาเขามีหลักฐานของประเพณีการลอยกระทง ที่ต่อเนื่องยาวนานมาอย่างน้อยก็ 800 ปีเลยทีเดียว

 

นครธมของจักรวรรดิขอมโบราณ เก่าแก่กว่าสุโขทัยของนางนพมาศ อย่างน้อยก็เกือบๆ 150 ปี

ดังนั้น ความเข้าใจของคนไทยที่ว่า นางนพมาศเป็นผู้ประดิษฐ์ “กระทง” ขึ้นนั้น จึงไม่สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่มีอยู่เลยสักนิด

เพราะอย่างน้อยๆ กระทงที่อยู่ในตระกองกอดของนางในจากนครธมกลุ่มนี้ ก็มีมาก่อนนางนพมาศนับร้อยปีแล้ว

และอันที่จริงแล้ว “นพมาศ” ก็เป็นนางในจินตนาการ ไม่ได้มีตัวตนจริงอยู่ในประวัติศาสตร์

ดังนั้น ความจริงแล้วกุลสตรีไทยนางนี้จึงไม่เคยลอยกระทงในตระพังที่สุโขทัยเลยสักหน

บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายว่า “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” หรือเรื่องของนางนพมาศ นั้นเป็นงานที่เขียนขึ้นในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 3 นี้เอง

อันที่จริงแล้ว สมเด็จฯ ท่านเชื่อว่า งานชิ้นนี้อาจจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3 ด้วยซ้ำไป

เพราะทรงมีลายพระหัตถ์ ส่งตรงจาก Cinnamon Hall ที่ประทับของพระองค์ขณะลี้ภัยการเมือง อยู่ที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ถึงนักปราชญ์คนสำคัญอีกท่านหนึ่งอย่าง พระยาอนุมานราชธน ที่อยู่ในสยามประเทศ ณ ขณะนั้น ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2479 ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า

“…หนังสือเรื่องนางนพมาศซึ่งฉันเข้าใจว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์…”

 

และถ้าหากว่าจะเชื่อตามที่ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ และโบราณคดีไทย อย่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้แล้ว เรื่องที่อ้างอยู่ในหนังสือเก่าเล่มดังกล่าวว่า “นางนพมาศ” เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์ “กระทง” ขึ้นในกรุงสุโขทัยนั้น ที่จริงก็เป็นเพียงนิยายเรื่องหนึ่ง ที่อาจจะแต่งขึ้นเพื่ออธิบายเหตุ (หรือจะเป็นเหตุผลอื่นก็ไม่ทราบ?) ไม่ต่างไปจากนิยายอีกหลายๆ เรื่องในประวัติศาสตร์ชาติของเราเท่านั้นเองนะครับ

อันที่จริงแล้วชื่อตำแหน่ง “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ของนางนพมาศ อย่างในชื่อของหนังสือเก่าฉบับนี้ (หรือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 3?) ที่เรียกว่า “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ก็ไม่ใช่ตำแหน่งในราชสำนักสุโขทัยด้วยเสียหน่อย

เพราะเราไม่เคยพบชื่อ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ อันเป็นตำแหน่งของสนมเอกที่พระร่วงเจ้า พระราชทานให้แก่นางนพมาศ ตามที่ระบุอยู่ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ในศิลาจารึกหลักใดๆ ของวัฒนธรรมสุโขทัย และปริมณฑลเลยนะครับ

ตรงกันข้ามกันกับในวัฒนธรรมอยุธยา (ที่จะสืบเนื่องต่อมา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์) ที่มีชื่อตำแหน่งนี้ระบุอยู่ในเอกสารเก่าอย่างชัดเจนมันเสียอย่างนั้น

 

ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.1998 ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา มีข้อความระบุถึงชื่อตำแหน่งสนมเอกทั้ง 4 ได้แก่ อินทรสุเรนทร, ศรีสุดาจันทร์, อินทรเทวี และศรีจุฬาลักษณ์

แน่นอนว่าก็คือ ตำแหน่ง “ศรีจุฬาลักษณ์” เดียวกันกับที่พระร่วงพระราชทานให้กับ “นางนพมาศ” นั่นแหละครับ

ตำแหน่งสนมเอกทั้ง 4 ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนฯ มักจะเรียกกันว่า “พระสนมเอก 4 ทิศ” เพราะแต่ละตำแหน่งผูกโยงอยู่กับเครือข่ายเชื้อพระวงศ์ของอยุธยา กับเชื้อพระวงศ์จากกลุ่มเมืองสำคัญต่างๆ คือ ราชวงศ์อู่ทอง จากเมืองละโว้ (ลพบุรี), ราชวงศ์สุพรรณภูมิ จากเมืองสุพรรณบุรี, ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช จากเมืองนครศรีธรรมราช และราชวงศ์พระร่วงจากสุโขทัย

ถึงแม้ว่าจะยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อสนมเอก แต่ละตำแหน่งว่า เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ไหน? จากเมืองอะไร? อยู่บ้าง โดยในส่วนของตำแหน่ง “ศรีจุฬาลักษณ์” นั้น มีทั้งผู้ที่เสนอว่า เกี่ยวข้องกับราชวงศ์พระร่วง จากสุโขทัย และเกี่ยวข้องราชวงศ์สุพรรณภูมิ แห่งสุพรรณบุรี

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตำแหน่งนี้ก็เป็นตำแหน่งสนมเอกในพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ใช่ตำแหน่งของสนมเอกในราชสำนักสุโขทัยเสียเมื่อไหร่?

และหากจะพิจารณาถึงการที่หนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือเรื่องของนางนพมาศ กำหนดให้พระร่วงมอบตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ให้กับนางนพมาศ ก็ชวนให้คิดถึงความสัมพันธ์ของตำแหน่งสนมเอกนี้ กับเมืองสุโขทัย ราชวงศ์พระร่วง ในความรับรู้ของคนสมัยรัตนโกสินทร์ มากกว่าที่จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับราชวงศ์สุพรรณภูมิอยู่ไม่น้อย

 

ดังนั้น เรื่องที่นางนพมาศประดิษฐ์กระทงขึ้นที่กรุงสุโขทัยนั้น จึงเป็นจินตนาการของคนในยุครัตนโกสินทร์ ที่เชื่อมโยงสุโขทัยเข้าด้วยชื่อตำแหน่งในราชสำนักอยุธยา (ที่สืบเนื่องอุดมคติมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์)

ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์พระร่วง แห่งเมืองสุโขทัย เพราะราชสำนักสุโขทัยคงจะไม่เอาชื่อตำแหน่งสนมเอกจากวงศ์พระร่วงของราชสำนักอยุธยา มาใช้กับราชสำนักตัวเองหรอกนะครับ

ชื่อหนังสือ “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ที่เล่าถึงการประดิษฐ์กระทงของนางนพมาศนั่นแหละ เป็นหลักฐานชัดเจนที่สุดแล้วว่า กระทงไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในราชสำนักสุโขทัย