จัตวา กลิ่นสุนทร : อัตลักษณ์ไทย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านคลองสาน

ทุกวันนี้ กรุงเทพฯ แออัดไปทุกแห่งแหล่งที่ มีความรู้สึกว่าไม่ว่าจะเดินทางไปย่านไหนล้วนแล้วแต่การจราจรติดขัดเหมือนๆ กันหมด

หันมองไปยังเส้นทางใดเห็นแต่รถยนต์และยานพาหนะต่างๆ

ตามตรอกซอกซอยกลายเป็นที่จอดรถเป็นทิวแถว ดูเหมือนถนนหลายสายก่อสร้างขึ้นมาใช้ได้เพียงแค่เลนเดียว 2 เลน เนื่องจากรถยนต์ส่วนตัวจากข้างในบ้านได้ออกมาจอดเรียงบนถนนยาวเหยียดไปเสีย 1 เลนเต็มๆ ทั้งๆ ที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศเราได้ขยายออกไปทุกทิศทาง แต่ดูเหมือนว่ามันไม่เคยเพียงพอกับความต้องการของผู้คน

เมื่อจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน นักลงทุนทั้งหลายได้กลายเป็นผู้ที่ไวต่อการรับรู้ คือ รู้ข้อมูลล่วงหน้าเสมอเพื่อที่จะได้ไปกว้านซื้อที่ดินไว้สำหรับทำโครงการ

เพราะฉะนั้น ตามแนวรถไฟฟ้าแทบไม่ต้องไปหาที่ดินเป็นผืนใหญ่ๆ เพื่อสร้างอาคารสูงได้อีกต่อไป

เนื่องจากได้ตกไปอยู่ในการถือครองของนักลงทุนหมดแล้ว

 

จากอดีต “ถนนเจริญนคร” ได้ชื่อว่ากว้างขวางทันสมัยยาวเหยียด แต่ทุกวันนี้ได้แคบลงอย่างถนัดใจ การจราจรซึ่งเคยลื่นไหลได้อย่างสบายกลายเป็นเคลื่อนตัวได้ช้าลงเมื่อมี “สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน” พาดเชื่อมสองฝั่งเจ้าพระยา เชื่อมกรุงเทพฯ ธนบุรี เกิดถนนพุ่งสู่โครงการต่างๆ ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ เชื่อมต่อถนนเพชรเกษมอันยาวเหยียดจนถึงภาคใต้

เกิดถนนวงแหวนรอบนอกเชื่อมต่อกันหมดทั้งราชพฤกษ์ กาญจนาภิเษก บรมราชชนนี ถนนสายหลักสองข้างทางที่กล่าวมานี้ได้ก่อเกิดโครงการที่อยู่อาศัยซึ่งมีราคาสูง ไกลออกไปสักหน่อยก็สร้างอาคารชุด 2-3 ชั้น ที่เรียกว่า ทาวน์โฮม ตั้งราคาขายอย่างต่ำ 4 ล้านบาทขึ้นไป

ตามแนวรถไฟฟ้าฝั่งธนบุรี บริเวณถนนกรุงธนบุรี เจริญนคร ตากสิน เกิดอาคารสูง อาคารชุดที่เรียกว่า คอนโดมิเนียม เรื่องราคาไม่ต้องถาม คนที่จะมีกำลังซื้อเพื่อการอยู่อาศัยได้ต้องมีรายได้ขนาดดารานักแสดงดังๆ หรือนักธุรกิจรายได้สูงๆ รวมทั้งชาวต่างชาติจึงจะสามารถเข้ามาซื้ออาคารชุดเหล่านี้ เนื่องจากว่าค่าเงินของเขาค่อนข้างสูงกว่าเงินบาท

 

ด้วยสายตาที่เห็นการณ์ไกลของนักลงทุนระดับสมองเพชรและเศรษฐีอย่าง “ชฎาทิพ จูตระกูล” ผู้ก่อสร้าง “สยามพารากอน” ที่บอกว่าทุ่มเททั้งใจและสติปัญญาแบบเทหมดหน้าตัก ระดมสุดยอดฝีมือทั้งหมดเพื่อก่อสร้าง “ไอคอนสยาม” (Icon Siam) บนถนนเจริญนคร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีพันธมิตรร่วมลงทุนเป็น “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (CP) และแมกโนเลีย

คุณชฎาทิพ จูตระกูล ให้สัมภาษณ์สื่อก่อนวันเปิด “ไอคอนสยาม” ถึงการลงทุนขนาดใหญ่ (54,000 ล้านบาท) ริมแม่น้ำเจ้าพระยาว่า คุณพ่อของเธอท่านบอกว่า “เธอทำสยามพารากอนสำเร็จแล้ว ถ้าเธอมีบุญจะได้ที่ดินริมแม่น้ำ แต่ต้องเป็นที่ดินผืนใหญ่ และอยู่ในทำเลไม่ไกล ขอให้ทำโครงการที่เชิดชูความเป็นไทย แต่อย่าทำแบบสยามพารากอน

เพราะวันนี้สยามพารากอนอาจชนะ แต่ในอนาคตคนจะไม่อยากไปศูนย์การค้าแล้ว สิ่งที่เธอทำคือต้องเชิดชูอัตลักษณ์ไทย ไม่ใช่สร้างศูนย์การค้า แต่ต้องสร้างความเป็นไทยสู่อนาคต ต้องทำให้คนทั้งโลกอยากมาเที่ยวประเทศไทย–

คุณพ่อ (พล.อ.เฉลิมชัย จารุวัสตร์) เป็นผู้ก่อตั้ง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” ท่านเชื่อว่าเราจะชนะคนทั้งโลกได้ด้วยอัตลักษณ์ความเป็นไทย ท่านพูดว่าคนไทยในอนาคตจะอยากเข้าพิพิธภัณฑ์ เพราะเป็นองค์ความรู้ เราจะต้องเอาคัลเจอร์สเปซมาอยู่ในคอมเมอร์เชียลสเปซให้ได้ ฉะนั้น ควรสร้าง “พิพิธภัณฑ์ระดับโลก” ในโครงการด้วย–”

ถึงวันนี้ ความฝัน ความตั้งใจของท่านได้เป็นความจริงขึ้นมาที่ “ไอคอนสยาม” (Icon Siam) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ

 

ที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านคลองสานจากสะพานพุทธฯ ถึงสะพานกรุงเทพ ฝั่งธนบุรีผืนใหญ่ๆ คงเหลือไม่มากนัก แต่เดิมตามริมฝั่งดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นโกดังสินค้า ซึ่งการขนส่งเพื่อการค้าขายส่วนใหญ่จะเป็นทางน้ำ และแม่น้ำเจ้าพระยาคือเส้นเลือดใหญ่สายหลักในการเดินทางเพื่อทำมาค้าขายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะว่าไปมีการเดินเรือเข้ามาค้าขายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีโน่น

ช่วงหลังๆ นิยมนำคลังสินค้าซึ่งเป็นอาคารเก่าเหล่านี้เพื่อมาทำธุรกิจ โดยเอามาดัดแปลง ตกแต่งเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ แม้กระทั่งเป็นสถานที่แสดงงานศิลปะ (Gallery) ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่มีบรรยากาศน่านั่งพักผ่อนสนทนาพูดคุยแบบสบายๆ พร้อมที่ดินบริเวณดังกล่าวมีราคาพุ่งพรวดขึ้นมากทีเดียว อาคารที่พักอาศัยราคาแพงผุดเกิดจนแทบหาที่ดินผืนใหญ่ๆ ขนาดจะก่อสร้างศูนย์การค้าได้ยากยิ่ง

ถึงจะยังพอหาได้แต่ราคาย่อมแทบจับไม่ลง

 

คุณชฎาทิพ จูตระกูล ได้ย้อนถึงการได้มาซึ่งที่ดินผืนใหญ่ โดยท่านบอกว่า “ได้รับโทรศัพท์จากคุณทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ ชักชวนให้ไปซื้อที่ดินผืนหนึ่งเพื่อทำคอนโดมิเนียม แต่ที่ดินผืนใหญ่มากทำคนเดียวไม่ไหว จะสนใจลงทุนร่วมกันไหม ซึ่งพอรู้ว่าเป็นที่ดินผืนนี้ซึ่งเธอขับเรือผ่านบ่อยๆ และหมายตาไว้ด้วยความชอบพอจึงเกิดอาการขนลุก เธอขอมาเดินเหยียบที่ดินผืนนี้ซึ่งเป็นโกดังเก็บข้าวเก่าไม่มีใครอยู่เลย

คุณชฎาทิพบอกว่า ได้พยายามเดินหา “ศาลพระภูมิ” แต่หาไม่เจอ จึงกำธูป 9 ดอกเดินไปริมแม่น้ำเจ้าพระยาอธิษฐานกับเจ้าที่ว่าเราอยากทำโครงการเชิดชูอัตลักษณ์ไทย อยากให้เรื่องราวของประเทศไทยไปสง่างามบนเวทีโลก ถ้ามีบุญได้ทำ และมีคนมาช่วยทำให้สำเร็จก็ขอให้เจ้าของที่ดินยอมขายที่ดิน ปรากฏว่าเราสามารถซื้อที่ดินได้ภายในเวลาไม่ถึงเดือน–”

ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนถึงวันเปิด “ไอคอนสยาม” (Icon Siam) การจราจรติดขัดพอสมควร แต่ไม่ถึงกับหนักหนาสาหัส ถ้าไม่มีการปิดถนนบางเลนเพื่อก่อสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีทอง”

คนที่เดินทางโดยรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) และแวะต่อเปลี่ยนเส้นทางสู่สถานีตลาดหมอชิต บางนา ย่อมทราบดีว่าสถานีสยามเป็นชุมชนใหญ่ และสามารถเดินเข้าห้างสยามพารากอนได้ เช่นเดียวกันกับสถานีพร้อมพงศ์ ก็สามารถเดินเข้าห้างเอ็มควอเทียร์ (Emquartier) และดิ เอ็มโพเรียม (Emporium) ซ้ายขวาได้ทั้ง 2 ห้าง ที่เอ่ยชื่อมานั้นก็เป็นเครือ “สยามพิวรรธน์” เกี่ยวพันกับสยามพารากอน จนถึงไอคอนสยาม

“ใน 10 ปีที่ผ่านมาศักยภาพของฝั่งธนบุรีเติบโตมากกว่ากรุงเทพฯ รถไฟฟ้ามากกว่า 10 สายมุ่งไปสู่ฝั่งธนบุรีทั้งหมด เราทำโครงการย่อมไม่ประสงค์ให้ใครเดือดร้อน แต่เราต้องประสานประโยชน์กับคนทั้งแม่น้ำแล้วก็เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันให้มากที่สุด

เราเล็งเห็นปัญหาของการจราจรบนถนนเจริญนคร จึงทุ่มงบฯ 4,000 ล้านบาทสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองให้กรุงเทพมหานคร เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีแดง และสีม่วงเข้าด้วยกันในอนาคต ขณะเดียวกันได้สร้างท่าเทียบเรือ 4 ท่าเพื่อรองรับการสัญจรทางน้ำ ทำให้ไอคอนสยามเป็นจุดเชื่อมโยงการสัญจรทางรถ ทางราง ทางเรือ ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศ–”

ต้องยอมรับว่าท่านเป็นนักลงทุนที่กล้าหาญชาญชัย เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ เพราะสิ่งที่ทุ่มลงทุนไปนั้นมันไม่ไปไหนเสีย ทางรถ ทางราง และทางเรือ จะไปจอดเทียบ “ไอคอนสยาม” (Icon Siam) อย่างคล่องตัวสะดวกสบาย เติบโตไปด้วยกันนั่นเอง